รศ. ดร.วรากรณ์ ชี้การศึกษาไทยมีแอบแฝงยาพิษ 8 อย่าง อันตรายเทียบได้กับ “ปรอท” เพราะให้เด็กไทยตายลงช้าๆ ซึ่งต้องแก้ปัญหาร่วมกันทั้งครู พ่อแม่ สังคม และสื่อ พร้อมเสนอว่าทักษะวิชาชีพ และทักษะ 4C จะช่วยให้เด็กไทยปลอดยาพิษ ในงาน 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 6
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
รศ. ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ได้กล่าว เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558 เนื่องในโอกาส คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงาน 100 ปี ชาตกาล ศ. ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 6 “การศึกษากับยาพิษแอบแฝง” ณ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
รศ. ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ปาฐกถาว่าด้วยเรื่องการศึกษาว่า “ถ้าไม่รู้ว่าการศึกษาคืออะไร ก็ให้ดูว่าอะไรที่ไม่ใช่การศึกษา” ซึ่งการศึกษาในที่นี้คือการศึกษาทั้งในระบบซึ่งมีอยู่ 9 ล้านคน และการศึกษานอกระบบซึ่งมีอยู่ 61 ล้านคน ทั้งนี้ เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีผู้ที่มีการศึกษาในระบบน้อยมาก โดยเปรียบเทียบได้ว่า ถ้ามีผู้เข้าเรียนอนุบาล 100 คน จะพบว่ามีผู้เรียนจบมัธยมปลายเพียง 42 คน หายไประหว่างทางถึง 58 คน นั่นคือหากดูจากจำนวนคนที่มีการศึกษาในระบบแล้วพบว่าประเทศไทยขาดคนที่มีการศึกษาตลอดชีพจำนวนมาก
ขณะนี้ประเทศไทยมีคนในระบบการศึกษาเพียง 9 ล้านคนเท่านั้น เพราะประชากรลดน้อยลง โดยระหว่างปี 2506-2526 มีเด็กเกิดปีละมากกว่า 1 ล้านคนต่อเนื่องตลอด 20 ปี แต่ตั้งแต่หลังปี 2526 เป็นต้นมา คนไทยเกิดต่ำกว่า 1 ล้านคน และลดจำนวนเกิดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2527 มีจำนวนเด็กเกิด 7.7 แสนคนเท่านั้น ในขณะที่มีคนตาย 4 แสนคนต่อปี เพราะฉะนั้น ประเทศไทยมีประชากรเพิ่มขึ้นประมาณ 3 แสนคนเท่านั้นเอง นี่คือคำตอบที่ว่า “คนไทยหายไปไหน ทำไมต้องนำแรงงานต่างชาติเข้ามา”
สำหรับแรงงานไทยในอดีตมีแรงงานเข้าสู่ตลาดร้อยละ 1.2 ต่อปี ปัจจุบันเหลือร้อยละ 0.2 ต่อปีเท่านั้น นี่คือปัญหาของอุตสาหกรรมไทยที่จะไม่มีคนทำงาน ซึ่งอีก 20 ปีข้างหน้าแรงงานไทยจะเหลือเพียงครึ่งเดียวของแรงงานไทยในปัจจุบันเท่านั้น
การท่องจำไม่ใช่การศึกษา
การท่องจำเพียงอย่างเดียว ในบางกรณีการศึกษาต้องมีการท่องจำประกอบ เช่น การศึกษาของแพทย์ แต่การศึกษาไม่ใช่ “รู้หรือไม่รู้” การศึกษาไม่ใช่ “เครื่องมือยกฐานานุภาพ” ที่ทำให้คนมุ่งแต่จำนวนปริญญา การศึกษาไม่ใช่ “เกณฑ์ในห้องเรียนเพื่อสอบให้ผ่าน”
จากประสบการณ์การเป็นอาจารย์ นักศึกษาจำนวนมากถามว่า “อาจารย์ครับ ตรงนี้ออกข้อสอบหรือเปล่า” ซึ่งผมบอกเลยว่า “ฟังให้ดีนะ เราไม่ได้เรียนเพื่อสอบ แต่สอบเพื่อกดดันให้คุณตั้งใจเรียนเท่านั้นเอง” แต่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเรียนเพื่อสอบในห้อง และเข้าใจว่าการศึกษาคือการเรียนรู้ในห้องเรียน จนลืมไปว่าเส้นอุปสงค์ (demand) อุปทาน (supply) ที่เคลื่อนไปมาในเศรษฐกิจนั้นคือ สิ่งที่อยู่นอกห้องเรียนแต่จำลองมาไว้ในห้องเรียนเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจนอกห้องเรียนมากขึ้น แต่การศึกษาไทยจำนวนมากยังขาดการเชื่อมโยงระหว่างในห้องเรียนกับนอกห้องเรียน
“กระบวนการคิด” ไอน์สไตน์กล่าวว่า “การศึกษาไม่ใช่การเรียนเกี่ยวกับความจริง แต่เป็นการฝึกฝนใจให้คิด” นี่คือคำพูดของบุรุษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 เพราะว่าคนที่ปลุกวิญญาณการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ตลอดช่วง 100 ปี และในปี พ.ศ. 2448 (ค.ศ. 1905) ไอน์สไตน์ได้เขียนบทความหนึ่งที่ ณ ตอนนั้นคนยังไม่ค่อยเชื่อว่าเป็นความจริงว่า “แรงโน้มถ่วงของโลกไม่ได้เกิดจากแรงดึงดูดของโลกเหมือนที่นิวตันเคยบอก แต่เกิดจากความโค้งของจักรวาลที่ทำให้เกิดแรงเหวี่ยงให้ทุกอย่างตกลงบนโลก ซึ่งสังเกตได้จากแสงจากดวงอาทิตย์ที่ไม่เดินทางตรงแต่โค้ง” จนมีศาสตราจารย์ท่านหนึ่งพิสูจน์ได้ว่าแสงเดินทางเป็นเส้นโค้ง จากแสงของดวงจันทร์เวลาเกิดสุริยุปราคา นอกจากนี้ ไอน์สไตน์ยังปลุกจิตวิญญาณเรื่องของสังคม ปรัชญา การศึกษา และการดำรงชีวิตของคนด้วย
เช่นเดียวกัน อาจารย์ป๋วยก็ได้ปลุกความคิดเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งหากย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2513-2514 คนไทยยังไม่ได้คิดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำและเรื่องการพัฒนาชนบท แต่อาจารย์ป๋วยเป็นผู้ที่บอกว่า “ภาคชนบทสำคัญที่สุดและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งตราบใดที่ไม่เกิดการกระจายรายได้ที่ดี ประเทศลำเอียงแน่นอน”
ไอน์สไตน์กล่าวว่า “การศึกษาไม่ใช่การเรียนเกี่ยวกับความจริง แต่เป็นการฝึกฝนใจให้คิด” นี่คือคำพูดของบุรุษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 ที่ปลุกวิญญาณการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ตลอดช่วง 100 ปี
“กระบวนการสร้างความใฝ่รู้”ไม่ใช่การตักน้ำใส่ถัง
“กระบวนการสร้างความใฝ่รู้” การศึกษาไม่ใช่การตักน้ำใส่ถัง แต่เป็นการจุดไฟให้ใฝ่รู้ เพราะการสอนบทเรียนสอนได้แค่วันละ 1 บท แต่หากให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเองเด็กจะเรียนรู้ได้วันละเป็น 100 บท รวมถึงฝึกการอ่านความคิดซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม และการสร้างทัศนคติของคน เพราะการศึกษาทำให้คนมีทัศนคติที่กว้างและเข้าใจโลกได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะทัศนคติที่เป็นบวก ซึ่งขณะนี้มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากระบุว่า คนที่มีความคิดเป็นบวก ทำให้วงจรสมองบันดาลให้เกิดความกล้าและประสบความสำเร็จ ส่วนคนที่คิดลบทำอะไรก็จะล้มเหลว
“กลไกการสร้างคุณธรรมและจริยธรรม” ถ้าการศึกษาไม่มีกลไกนี้ก็จะไม่มีประโยชน์ โดยความหมายตามพจนานุกรมระบุว่า 1. คุณธรรม คือ เรื่องความดีและเป็นธรรม 2. จริยธรรม คือ ธรรมที่เป็นข้อควรปฏิบัติ 3. ธรรม คือ คุณความดี ความจริง และความถูกต้อง ส่วน 4. จรรยาบรรณเป็นระเบียบที่ต้องประพฤติของผู้ประกอบอาชีพต่างๆ ซึ่งถ้ายึดตามความหมายนี้แล้วแน่ชัดว่าการศึกษาเป็นกลไกที่สร้างคุณธรรม จริยธรรม นอกเหนือจากกระบวนการคิด การอ่าน และการใฝ่รู้
นอกจากนี้ ไอน์สไตล์ยังกล่าวว่า “การศึกษาคือสิ่งที่หลงเหลืออยู่หลังจากรื้อทุกอย่างที่เรียนที่โรงเรียนเรียบร้อยอยู่ การศึกษาคือสิ่งที่หลงเหลืออยู่ในตัวคน หลังจากลืมทุกอย่างที่เรียนในโรงเรียนเรียบร้อยแล้ว” ซึ่งผมคิดว่าเป็นความจริง เพราะส่วนตัวผมจำการพิสูจน์ทฤษฎีต่างๆ ทางคณิตศาสตร์ไม่ได้แล้ว ทั้งเรขาคณิต พีทากอรัส ตรีโกณมิติฯลฯ และก็ไม่รู้ว่าจะจำไปทำไม แต่อย่าลืมว่าการศึกษาคือกระบวนการที่ทำให้เกิดศรัทธาในสิ่งที่เป็นความจริง และฝึกฝนทักษะการใช้ตรรกะการคิด
“เป้าหมายการศึกษาประกอบด้วย 1. ต้องมีความรู้ คือ การจดจำไอเดีย เนื้อหา ปรากฏการณ์ 2. ความเข้าใจ 3. การนำไปใช้ การใช้หลักการหรือกฎเกณฑ์ในสถานการณ์ใหม่ 4. การวิเคราะห์ คือ การแยกแยะสารสนเทศ จับประเด็นความสัมพันธ์ส่วนต่างๆ ของสารสนเทศ 5. การสังเคราะห์ นำองค์ประกอบต่างๆ มารวมกันเพื่อสร้างภาพใหม่ และ 6. การประเมิน”
การศึกษาอาบยาพิษ
สำหรับ “ยาพิษ” ในการศึกษาเปรียบได้กับ “ปรอท” เพราะว่าไม่ได้ทำให้ตายทันที แต่ตายทีละน้อย ซึ่งการศึกษาที่แฝงยาพิษนี้ไม่ใช่การศึกษาจากในโรงเรียนเพียงอย่างเดียว เพราะคนจะเป็นอย่างไร มีการศึกษาแค่ไหน มีจริยธรรม มีความคิด มีความใฝ่รู้หรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับโรงเรียนเท่านั้น แต่มาจากครอบครัว สิ่งแวดล้อมรอบข้าง และสังคมด้วย
ถ้าเปรียบครูเป็นหมอจะเห็นชัดเจนมากว่า ครูไม่เคยถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเป็นครูเลย ในขณะที่หมอรักษาคนไข้แล้วคนไข้ตายหมอจะถูกฟ้องร้องได้ นั่นคือ ครูอาจจะให้ยาพิษฆ่าคนทีละน้อยๆ เช่น สอนหนังสือก็ไม่ดี ไม่ตั้งใจสอน ฯลฯ แต่ไม่เคยถูกฟ้องร้องเลย เพราะว่าใช้เวลานานมากกว่ายาพิษจะแสดงอาการ ทำให้ครูมีลักษณะพิเศษ คือ ทำร้ายคนโดยที่ตัวเองไม่รู้
“การศึกษาเป็นยาพิษได้ ถ้าการศึกษาที่ให้นั้นเป็นการศึกษาที่ไม่สมควรจะเป็น และการศึกษาที่เป็นยาพิษอย่างดี คือ การศึกษาที่ไม่ได้ทำให้คนเห็นสิ่งที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่กลับทำให้เห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เสมือนเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นความเลวเป็นความดี คุ้นเคยกับความเลว ซึ่งยิ่งเป็นยาพิษมากขึ้นเพราะฝังอยู่ในใจเด็ก เช่น เด็กเห็นทุกวันว่าครูคอร์รัปชันในโรงเรียน, พ่อแม่ทำสิ่งไม่เหมาะสมทางศีลธรรม ฯลฯ และสุดท้ายกลายเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดคือ เด็กเห็นความเลวร้ายนั้นเป็นของธรรมดา แล้วคนเลวก็กลายเป็นเพื่อนกันได้ เห็นอกเห็นใจกัน และมีข้อยกเว้นสำหรับคนเลวได้”
8 ยาพิษที่แอบแฝงในการศึกษา
1. Parent/teacher center คือ การศึกษาที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้เรียน (student center) แต่พ่อแม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของลูก ทั้งนี้ พ่อแม่มีลูกเพื่อให้ความทรงจำที่ดีกับลูก เพราะถ้าวันหนึ่งข้างหน้าพ่อแม่ตายไปแล้วเด็กเติบโตขึ้นมาโดยที่พ่อแม่ทำหน้าที่เต็มที่ตั้งแต่เด็กๆ ก็จะทำให้เด็กมีความทรงจำที่ดี แต่ถ้าพ่อแม่หรือครูไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ปัญหาก็จะเกิดขึ้น เป็นเสมือนยาพิษในใจเด็ก
เช่น “ผลประโยชน์ผู้สอนเป็นสำคัญ” คือ เวลาสอนในห้องเรียนครูสอนไม่เต็มที่ เพื่อที่จะได้สอนพิเศษ ซึ่งการกระทำอย่างนี้ของครูเด็กก็รู้เพียงแต่จะพูดหรือไม่เท่านั้น อย่างโรงเรียนมัธยมของไทยหลายแห่งมีเด็กจำนวนมากที่เรียนพิเศษต่อหลังเลิกเรียน เพื่อเป็นรายได้ให้กับครู
แต่การศึกษาไทยไม่ค่อยพูดประเด็นนี้ เพราะว่าแสลงใจ แต่ ณ สถานศึกษาแห่งนี้เราพูดได้เพราะเป็นความจริง และเป็นอุปสรรคของการศึกษา เนื่องจากเด็กและผู้ปกครองหลายคนไม่ได้อยากเรียนพิเศษ แต่ไม่อยากให้มีปัญหาที่ทำให้เด็กกลายเป็นคนแปลกแยก เช่น ครูไม่ชอบหน้า แปลกแยกจากเพื่อน ดังนั้นจึงตัดสินใจให้เรียนพิเศษที่โรงเรียน ซึ่งราคาอาจจะเดือนละ 300-400 บาทต่อคน แต่ความจริงมูลค่าเงินไม่ใช่แค่หลักร้อย เพราะโรงเรียนมีนักเรียนหลักพัน บางแห่งมีถึง 4,500 คน ซึ่งปัญหานี้ครูใหญ่ก็ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไรเพราะปฏิบัติกันมาแบบนี้ตลอด
“สำหรับผมนี่คือยาพิษ เพราะเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง แต่เด็กเคยชินกับความไม่ถูกต้องแล้ว ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือความไม่ถูกต้องนั่นเอง แล้วไม่มีอะไรที่เป็นยาพิษมากกว่าเห็นผิดเป็นถูก เด็กและประชาชนเห็นคอร์รัปชันในโรงเรียน ในสังคม ซึ่งสิ่งที่สำคัญไม่ใช่แค่เพียงทรัพยากรหายไป แต่คอร์รัปต์จิตใจของคนให้เห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องกลายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องน้อยลง หรือเคยชินกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง”
เรื่องครูหารายได้จากสอนพิเศษเป็นปัญหาที่ต้องพูดคุยกันและหาทางแก้ไข แม้ว่าบางโรงเรียนอาจจะไม่มีการสอนพิเศษหลังเลิกเรียน แต่บางโรงเรียน โดยเฉพาะในต่างจังหวัด มีจำนวนมาก และช่วงปิดเทอมจะมีเด็กจากอำเภอไกลๆ มาอยู่ในตัวจังหวัดโดยมีหอพักรองรับจำนวนมาก เพื่อมาเรียนพิเศษกับครูที่สอนในโรงเรียนประจำจังหวัด ซึ่งเรื่องนี้ไม่เป็นไรเพราะว่าเป็นงานพิเศษของครู แต่ที่แปลกคือนักเรียนในโรงเรียนที่ครูสอนประจำต้องมาเรียนพิเศษด้วย เพราะถ้าไม่เรียนก็จะกลายเป็นคนแปลกแยก ซึ่งเป็นปัญหาแน่นอนเพราะสังคมไทยเป็นสังคมของคนที่ต้องน่ารัก ถ้าใครคิดนอกกรอบ ไม่ว่านอนสอนง่ายจะเป็นปัญหา
รศ. ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ยังกล่าวให้ข้อคิด
รศ. ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
นอกจากนี้ ยาพิษในใจเด็กยังเกิดจากพ่อแม่ที่ละเลยศีลธรรม เช่น หลายปีก่อนมีกลุ่มพ่อแม่จากโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่งมาฟ้องกระทรวงศึกษาธิการให้ย้ายเด็กคนหนึ่งออกจากโรงเรียน ชอบเปิดกระโปรงผู้หญิงเป็นประจำ แต่ปรากฏว่าย้ายไม่ได้ เพราะกระทรวงศึกษาธิการไม่มีกฎไล่เด็กออกจากโรงเรียนนานแล้ว เนื่องจากเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน โรงเรียนจึงไม่สามารถย้ายเด็กออกได้
ดังนั้น จึงเชิญแม่ของเด็กมาที่โรงเรียน ปรากฏว่า แม่บอกว่าลูกไม่ผิดเพราะการเปิดกระโปรงเป็นเรื่องปกติของเด็ก หลังจากนั้นโรงเรียนจึงสืบพฤติกรรมของเด็กต่อไปพบว่าแม่ไม่เคยอยู่กับลูก เพราะหลังจากเลิกรากับพ่อของเด็กแล้วไปมีแฟนใหม่ ทุกวันก็ปล่อยลูกดูแต่โทรทัศน์ หลังจากนั้นก็เรียกผู้ปกครองมาพบอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ทั้งแม่และยายของเด็กมาด้วยกัน ปรากฏว่า ยายของเด็กแรงยิ่งกว่าแม่เสียอีก จนครูควบคุมการสนทนาไม่ได้เลย ณ วันนี้ผ่านมา 10 ปีแล้ว เด็กคนนั้นอายุ 17-18 ปี ซึ่งผมจินตนาการไม่ได้เลยว่าจะน่ากลัวแค่ไหน
“กรณีนี้สิ่งที่ประทับบนตัวเด็กคือการกระทำของแม่และยาย เพราะฉะนั้น พ่อแม่ที่นึกถึงความสุขส่วนตัวโดยละเลยศีลธรรมนั้นจะกลายเป็นยาพิษในใจของเด็ก”
2. ครอบงำความคิดของศิษย์ เป็นธรรมชาติของการสอนที่อยากให้คนอื่นคิดเหมือนตัวเอง โดยนักเขียนชาวอเมริกันคนหนึ่งกล่าวว่า
“วัตถุประสงค์ของการศึกษาคือการทำให้กระจกนั้นกลายเป็นหน้าต่าง” คำว่ากระจกคือ สอนเด็กให้คิดเหมือนตัวเองแต่ต้องการให้ความหลากหลายเป็นหน้าต่าง ซึ่งเป็นธรรมชาติการสอนของมนุษย์ เช่น พ่อแม่สอนลูกถ้าใจกว้างก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าใจแคบก็จะอคติ เอาเรื่องส่วนตัวไปใส่ลูก อาทิ การไม่ชอบบางอย่าง ทั้งคนบางชนชั้น คนบางชาติ บางสีผิว คนที่คิดไม่เหมือนกัน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะอยู่ที่ตัวเด็กทั้งหมด เพราะว่าพ่อแม่หรือครูไปครอบงำ
สังคมก็เช่นเดียวกัน บางสังคมครอบงำแรงมาก เช่น ญี่ปุ่น ต้องการให้คนคิดเหมือนกัน เพราะต้องการสังคมที่มีความราบรื่น สังเกตจากการที่เด็กนักเรียนใส่เครื่องแบบเหมือนกัน เป้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ใครที่คิดหรือทำอะไรแปลกแยกจะใช้ชีวิตลำบากมาก
“ครู หรือพ่อแม่ที่ครอบงำศิษย์หรือลูกมากเกินไป ผมเชื่อว่าเป็นยาพิษในใจ ยกเว้นอย่างเดียวที่ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่สืบทอดมานานแล้วคือ ศาสนาของลูกที่พ่อแม่เป็นคนเลือกให้ลูกตั้งแต่เกิด ลูกไม่ได้เลือกด้วยตัวเอง”
นักปราชญ์ชาวอเมริกันกล่าวว่า
“ความลับของการศึกษาอยู่ที่การเคารพนักเรียน” หมายถึง เคารพสิทธิ์ความเป็นศิษย์ เคารพความคิด ไม่ยัดเยียด เพราะคนเราต้องเป็นตัวเองในขอบเขต ฉะนั้น ครูและพ่อแม่ที่จะต้องมั่นใจว่าลูกจะต้องเหมือนตัวเองนั้นคิดผิดสมัยแล้ว และเป็นยาพิษต่อเด็กด้วย
3. จงใจล้างสมอง ซึ่งมีจำนวนมากในการศึกษาทั่วโลก อาทิ “ชาตินิยม” ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้คำจำกัดความเชิงประวัติศาสตร์และประเทศไทยเชิงชาตินิยมที่สืบทอดมาจนทุกวันนี้ เช่น การบอกว่าในสังคมไทยมีคนไทย 2 ประเภท คือ ไทยแท้กับไทยไม่แท้ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด คนไทยแท้ไม่มีจริง เพราะชาติพันธุ์มนุษย์มาจากคนแอฟริกาเพียง 3,000 คน เมื่อ 150,000 ปีที่แล้ว ดังนั้น ทุกชาติในโลกนี้ล้วนเป็นชาติอพยพทั้งนั้น และชาติไม่ได้ประกอบด้วยคนชาติพันธุ์เดียวกัน แต่ประกอบด้วยคนที่มีความเชื่ออย่างเดียวกัน มีผลได้ผลเสียเหมือนกัน
“คนใส่ยาพิษเรื่องชาตินิยมเข้าไป โดยที่ไม่รู้ว่าความเป็นชาตินิยมคืออะไร จริงๆ แล้วเราต้องนิยมชาติ รักชาติแบบที่อาจารย์ป๋วยทำ คือรักคนในชาติด้วยกันเอง รักเอกราช รักพรมแดนและทรัพยากรของตนเอง รักผลประโยชน์ของชาติ ดังนั้น ชาตินิยมจึงเป็นยาพิษสำคัญที่ทำให้เด็กมองโลกผิดไปจากที่ควรจะเป็น แต่ถ้ามองอย่างถูกต้องแล้วจะพบว่าทุกคนเป็นคนไทยเหมือนกันหมด เพียงใครอพยพมาก่อนเท่านั้นเอง”
นอกจากนี้ ชาตินิยมยังทำให้ประวัติศาสตร์ไทยไม่เป็นสากล เช่น คนไทยไม่เคยรู้เลยว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 ไทยเคยไปเผาเวียงจันทน์ถึง 2 ครั้ง และเอาพระบางมาไว้ที่วัดบางขุนพรมที่กรุงเทพฯ แต่คืนกลับไปลาวในสมัยรัชกาลที่ 4
“คนไทยไม่รู้เพราะว่าไม่ได้เรียน ในประวัติศาสตร์คนไทยต้องเป็นพระเอกเสมอ เรารู้อย่างเดียวว่าเจ็บใจพม่า แม้จะผ่านมา 250 ปีแล้ว ในขณะที่ชาวเวียดนามลืมหมดแล้วว่ารบกับอเมริกาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ชาวญี่ปุ่นก็ลืมหมดแล้วว่าโดนชาวอเมริกาทิ้งระเบิดเมื่อ 60 ปีที่แล้ว”
เพราะฉะนั้น ประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องต้องมองโลกอย่างสากล อย่างกรณีนครวัด นครธมพังพินาศไปเมื่อ 800-900 ปีที่แล้ว ก็เพราะกองทัพเจ้าสามพระยาในสมัยอยุธยาตีแตก 2 หน และเอาเทวรูปทั้งหลายมาไว้ที่วัดพนัญเชิงด้วย แล้วพออยุธยาแตกพม่าก็ขนกลับไปอีกต่อหนึ่ง ซึ่งตอนนี้อยู่ที่มัณฑเลย์
“สิ่งเหล่านี้เป็นยาพิษที่ใส่เข้าไป แล้วทำให้มองคนชาติอื่นรอบบ้านด้วยสายตาที่บอกว่าเขาด้อยกว่าเรา ทั้งๆ ที่ทุกคนทุกชาติเท่าเทียมกันหมด”
นอกจากนี้ยังมี “ลัทธิการเมือง ศาสนา ความเชื่อ สังคม” ที่จงใจล้างสมอง เช่น แมวออกลูกเป็นลิง กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งเพื่อให้คนแทงหวย อย่างนี้ถือเป็นการมอมเมาล้างสมองเช่นกัน คือ แทนที่สื่อจะทำให้เกิดความคิดเชิงวิทยาศาสตร์กลับสร้างความงมงายมากขึ้น รวมถึง “อุดมการณ์” ซึ่งทุกวันนี้ถ้ามองในเชิงนามธรรมแล้วคือการต่อสู้ของอุดมการณ์ทั้งสิ้นเพียงแต่มองไม่เห็น และทั้งหมดนี้เป็นการใส่ยาพิษแฝงเข้าไปในการศึกษา และทำให้คนตายทีละน้อยหรือไม่เติบโตเท่าที่ควรจะเป็น และบางครั้งสังคมเรา โรงเรียนเรา พ่อแม่เรา ใส่ยาพิษเข้าไปผ่านการศึกษาอย่างจงใจ
4. การศึกษาที่ half-baked/misinformation/disinformation คือ การศึกษาที่ให้ข้อความที่ผิด หรือข้อความที่จงใจให้ผิด และสิ่งเหล่านี้อยู่ภายในสังคมของเรา และเราก็เข้าใจผิดกันต่อๆ มา ตั้งแต่ความเชื่อผิดๆ เช่น เว็บข่าวระบุว่ามันหมูเป็นสิ่งที่ควรกินอย่างยิ่ง แต่ความจริงคืออันตรายถ้ากินเข้าไปมากๆ ซึ่งจากการศึกษาทั่วโลกระบุชัดว่าครึ่งหนึ่งของจานอาหารควรเป็นผักหรือผลไม้ และส่วนหนึ่งเป็นโปรตีน ส่วนไขมันสัตว์เป็นสิ่งสุดท้ายที่ควรบริโภค
หรือบางเรื่องก็พูดต่อๆ กันมา ซึ่งตัวชี้วัดเหล่านี้ไม่ใช่ครูอย่างเดียว แต่รวมถึงพ่อแม่และสังคมด้วย ที่ให้ยาพิษนี้ต่อๆ กันไป เพราะเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่าไขมันเป็นอันตรายเนื่องจากสะสมคลอเรสตอรอล หรืออย่างแอลกอฮอล์ มีงานวิจัยว่า ไวน์แดงกับเนื้อ ถ้าเพียงเล็กน้อยจะดีต่อร่างกาย แต่ก็สำหรับเพียงบางคน ส่วนยาพิษอื่นๆ ที่ไม่ร้ายแรงมากแต่อยู่ในสังคมไทยคือ การออกเสียงอักษร H ในภาษาอังกฤษผิด ซึ่งความผิดพลาดนี้น่าจะเกิดจากการสอนผิดพลาดใน 20-30 ปีก่อน
ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ กล่าวต่อ
5. การศึกษาที่ทำให้เกิดเด็กลักษณะพิเศษที่ “เชื่อง” และ “หงอย” นั่นคือเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย ซึ่งถือเป็นยาพิษอย่างหนึ่ง เช่น การประเมินเด็กในสมุดพกว่า “ไม่ดื้อ” สะท้อนค่านิยมคนไทยว่า ต้องการเด็กที่เชื่อง ซึ่งเด็กที่เชื่องมากเกินไปไม่ดี เพราะทำให้คิดอะไรไม่เป็น คงไม่มีใครชอบลูกที่เชื่องจนคิดอะไรไม่เป็น เกาะหรือเดินจูงพ่อแม่ตลอดเวลา แต่ต้องการคนที่ยืนบนขาตัวเองในขอบเขตหนึ่ง
ส่วนเด็ก “หงอย” เพราะว่าเรียนมากเกินไป ไม่รู้ว่าเรียนอะไรกันมากมาย จะเห็นว่าเด็กแบกกระเป๋าหนักมาก และที่สำคัญคือหลักสูตรไม่ได้ทำให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็น และโรงเรียนที่ดีต้องทำให้เด็กอยากไปโรงเรียนทุกวัน ไม่ใช่กลัวโรงเรียน
ยาพิษที่สำคัญอีกอย่างคือ “ความงมงายอย่างขาดความคิดเชิงวิทยาศาสตร์” โดยสังคมทำให้เกิดผลประโยชน์ด้วยการทำให้คนงมงาย เช่น การดูดวง ที่ปัจจุบันทำธุรกิจกันอย่างเปิดเผย ซึ่งหากสังคมไม่คิดเชิงวิทยาศาสตร์แล้วก็จะทำให้คนคิดไม่เป็นและเกิดปัญหาตามมามากมาย คนที่คิดไม่เป็นอันตรายยิ่งกว่ามีปรอทในร่างกายหลายๆ กรัมเสียอีก เพราะสุดท้ายจะตายเพราะความไม่ทันคน”
นอกจากนี้ เด็กยังมีลักษณะ “เก่งจดจำมากกว่าคิดวิเคราะห์ และโง่ตลอดไป” เพราะมีความสามารถในการคิดที่อ่อนแอ เขาพูดกันว่า ทักษะการคิดสำคัญมาก เพราะทุกคนเกิดมาไม่ได้คิดเป็นแต่กำเนิด แต่มีทักษะการคิด ซึ่งถ้าคิดบ่อยๆ อาจด้วยมีวิธีการต้องคิดหรือถูกบังคับให้ต้องคิด จะทำให้มีทักษะการคิดที่เข้มแข็ง แต่ถ้าถูกบังคับด้วยการท่องจำหรือความเชื่องมงาย โอกาสในการคิดจะเกิดขึ้นไม่ได้
6. การศึกษาขาดคุณภาพ ซึ่งชัดเจนว่าบังคับให้เด็กเข้าโรงเรียนถึง 12 ปี แต่เด็กก็ไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ แม้ประเทศไทยเสียงบประมาณสูงสุดให้กระทรวงศึกษาธิการ เงินเกือบ 5 แสนล้านบาทต่อปี แต่ผลิตคนคุณภาพไม่ได้ดั่งใจ
เรื่องที่หลายคนเข้าใจผิดว่าทำไมเด็กไทยไม่เรียนอาชีวะ คือ สาเหตุที่เด็กไม่อยากเรียนเพราะได้เงินเดือนน้อยแค่ 8,000 บาท นั่นก็เพราะผู้ประกอบการให้คุณค่าเด็กอาชีวะเพียง 8,000 บาท เนื่องจากสอนในโรงเรียนให้คุณค่ากับโรงงานเพียงเท่านั้น ซึ่งวิธีแก้ปัญหาคือ การทำให้เด็กอาชีวะมีคุณภาพ มีคุณค่ามากกว่า 15,000 บาท
คนไทยเรียนมหาวิทยาลัยจำนวนมากเพราะเรียนแบบหลับๆ ตื่นๆ จบมาก็มีงานทำ เนื่องจากสังคมยังดูดซับคนทำงานได้ตลอดเวลา แต่ช่วงการดูดซับแรงงานได้อย่างนี้ใกล้จะจบสิ้นแล้ว เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีปัญหาการลงทุนจากต่างชาติลดน้อยลงอย่างน่ากลัวมาก แต่ต่างชาติไปลงทุนมากที่เวียดนาม อินโดนีเชีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ซึ่งอุตสาหกรรมหลายอย่างย้ายจากประเทศไทยไปเพราะค่าจ้างที่สูงขึ้น และขาดแคลนคนที่มีความรู้ในราคาที่จ่ายได้
และที่สำคัญคือ ระบบราชการที่ขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เช่น กรณีน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ราชการรู้ล่วงหน้าแล้วว่าน้ำจะท่วมแต่จัดการให้น้ำไม่ท่วมนิคมอุตสาหกรรมไม่ได้ ทำให้วุ่นวายกันไปหมด แล้วใครจะอยากมาลงทุนในประเทศที่วุ่นวายและไม่รู้จะจบเมื่อไร
นอกจากนี้ ยังเป็นการลงทุนที่เสียทรัพยากรอย่างไร้ประโยชน์ เพราะงบประมาณเกือบ 5 แสนล้านบาท ร้อยละ 75 คือเงินเดือนครูและบุคลากรทางการศึกษา และถึงตัวเด็กเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น ซึ่งถ้าไม่แก้ไขระบบราชการให้มีประสิทธิภาพอย่างเป็นระบบแล้ว จะทำให้ประเทศไทยมีปัญหามาก
7. พ่อแม่รังแกฉัน ซึ่งเป็นยาพิษแน่นอน โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เขาบอกว่าเป็นเจเนอเรชั่นสตรอว์เบอร์รี คือ ชอกช้ำง่ายมาก เนื่องจากพ่อแม่เลี้ยงดูเหมือนไข่ในหิน พ่อแม่คิดว่าลูกจะตายก่อนพ่อแม่ ที่พ่อแม่สามารถดูแลลูกได้ตลอด แต่ความเป็นจริงคือพ่อแม่ตายก่อนลูก แล้วลูกจะอยู่ได้ยังไง
จากการสังเกตพบว่า ลักษณะหนึ่งที่พ่อแม่รังแกลูก คือ ขาดวินัย พ่อแม่ที่มีลูกแล้วกลัวลูกลำบาก เมื่อต้นชีวิตไม่มีวินัย ตื่นเมื่อไรก็ได้ ทำอะไรก็ตามใจชอบ จะทำให้ลูกสบายตอนต้นของชีวิตแต่จะลำบากไปตลอดชีวิต แต่พ่อแม่ที่มีวินัยกับลูกจะลำบากตอนต้นชีวิตแต่ช่วงชีวิตที่เหลือจะสบาย เพราะปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จคือ วินัย เพราะคนที่มีวินัยจะบังคับตัวเองได้ ควบคุมตัวเองได้ แต่คนที่ล่องลอยไปเรื่อยๆ ตามใจชอบคือคนขาดวินัย ซึ่งไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จได้
“พ่อแม่รังแกฉัน คือ รังแกด้วยความรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมของพ่อหรือแม่คนเดียว (single parent) ที่ด่าอดีตสามีหรืออดีตภรรยาให้ลูกฟังทุกวัน นี่คือการเอายาพิษใส่น้ำให้ลูกกิน ทั้งๆ ที่การด่าโทษพ่อโทษแม่ให้ลูกฟังนั้นไม่มีประโยชน์อะไร ในที่สุดแล้วคนที่กินยาพิษเข้าไปก็คือลูก ส่วนที่ถูกด่าถึงนั้นไม่ได้รับรู้อะไรด้วยแล้ว บางทีลูกก็อาจจะไม่เคยเห็นหน้าด้วยซ้ำ”
8. หลักสูตรที่แอบซ่อน (hidden curriculum) โดย Samuel Bowles และ Herbert Gintis ได้ศึกษาเรื่องโรงเรียนในระบบทุนนิยมของอเมริกา (Schooling in Capitalist America) พบว่า การศึกษาในอเมริกาสอนให้ลูกจากชนชั้นกลางมี work ethics คือ ขยัน ทำงานหนัก ทุ่มเท มาตรงเวลา เพื่อให้เป็นแรงงานที่มีคุณค่าจนมองข้ามความคิดริเริ่มและความคิดอิสระ เพราะต้องการคนกลุ่มนี้ไปเป็นแรงงานที่ส่งเสริมอุตสาหกรรม และพบอีกว่า ทุนนิยมในอเมริกาที่ดำรงอยู่ได้เพราะว่าการศึกษาเป็นรูปแบบหนึ่งที่ควบคุมให้สังคมอยู่ในระบอบที่เป็นไปได้
“อเมริกาเป็นประเทศเดียวที่ไม่ว่าจะแข่งกีฬาอะไรก็แล้วแต่ ร้องเพลงชาติ มือขวาแตะอกซ้ายน้ำตาซึม ซึ่งมีชนชาติเดียวที่เป็นแบบนี้ และเป็นที่ขบขันของคนแคนาดา นั่นเพราะอเมริกาต้องการให้คนที่มาจากหลากหลายเชื้อชาติหลอมรวมเป็นคนอเมริกันเหมือนกัน และอเมริกาประสบความสำเร็จอย่างมากในการหล่อหลอมคนจากหลากหลายวัฒนธรรมให้หลายเป็นคนอเมริกันได้ภายในชั่วคนเดียวเท่านั้น
สำหรับประเทศไทยก็มีหลักสูตรที่แอบซ่อนเช่นกัน เพราะต้องการให้คนไทยเป็นคนไทย คิดอะไรไม่มาก เป็นชาตินิยม ซึ่งหลักสูตรเหล่านี้ไม่ได้ต้องการให้คนไทยมีความคิดริเริ่ม แต่ต้องการให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการหล่อหลอมชาติเอาไว้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่ดี แต่ดีโดยมีต้นทุนต้องจ่าย
เด็กปลอดยาพิษ
เด็กในศตวรรษใหม่ ต้องเป็นเด็กที่มีทักษะวิชาชีพ แต่คนมีความรู้ในวิชาชีพมากไม่ได้หมายความว่าประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ต้องมีทักษะอื่นเพิ่มเติม คือ ทักษะชีวิต ที่สื่อสารกับผู้อื่นรู้เรื่อง สามารถทำให้คนอื่นชอบตัวเองได้ สามารถโน้มน้าวคนอื่นตามที่ตัวเองต้องการ
นอกจากนี้ต้องมี 4C ประกอบด้วย 1. การสื่อสาร (Communication) คือมีทักษะการสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้ 2. การคิด (Critical Thinking) คือ การคิดเป็นตาม 4 ขั้นตอน คือ เข้าใจสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เห็นแนวโน้มของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไปได้ แก้ไขปัญหาได้ และเรียนรู้และจดจำไว้สำหรับในอนาคต 3. การร่วมมือ (Collaboration) คือ ทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม และ 4. การคิดอย่างสร้างสรรค์ (Creativity) ซึ่งทักษะทั้ง 4 ข้อนี้บวกกับวิชาชีพแล้วจะสามารถต้านทานการศึกษาชนิดยาพิษแอบแฝงได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าใครคิดว่าเป็นการศึกษาที่เหมาะสมแล้วก็ไม่ควรมียาพิษมากขนาดนี้
“การศึกษาไม่ใช่ของที่ดีเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีแง่มุมยาพิษด้วย ถ้าการศึกษานั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนหรือประชาชนอย่างแท้จริง”
ที่มา:: http://thaipublica.org/2015/09/varakorn-14-9-2558/