ต้องทำภายในหนึ่งปี --กฎหมายข้างตัว
ที่กล่าวกันว่าข้าราชการเกษียณอายุราชการแล้วเป็นอันพ้นพงหนามได้ใช้ชีวิตอันสงบสุขหมดเรื่องเครียดต่อไป
สมัยนี้น่าจะไม่ใช่นะขอรับ
ดังความที่มีท่านผู้อ่านซึ่งเคยเป็นข้าราชการในมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่งถามมาที่กฎหมายข้างตัว
เนื้อหาสาระอันน่าจะเป็นทั้งประโยชน์และสร้างความเครียดต่อข้าราชการที่เกษียณอายุไปแล้ว ดังต่อไปนี้
ข้าพเจ้าเป็นอดีตข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ๗ ในมหา วิทยาลัยของรัฐพ้นจากราชการเพราะเกษียณอายุราชการ เมื่อ ๓ ปีที่แล้ว ต่อมามีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและมีมติให้ ดำเนินการสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงต่อไป อยากทราบว่า มหาวิทยาลัย เจ้าสังกัดเดิมจะสั่งลงโทษทางวินัยขั้นร้ายแรงแก่ข้าพเจ้าได้หรือไม่ เพราะข้าพเจ้าพ้นจากราชการไปแล้ว
เห็นแมะ พ้นพงหนามเสียที่ไหน อยู่บ้านเลี้ยงหลานสบายใจมาสามปีดันมีเรื่องจากการทำการทำงานมากวนใจอีก
ข้าราชการในสังกัดมหาวิทยาลัยของรัฐต่าง ๆ นั้น เขาเรียกว่าข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา
มีกฎหมายใช้บังคับเฉพาะแตกต่างไปจากข้าราชการพลเรือนโดยทั่วไปที่ใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๘ ที่รู้จักกันดี
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗
กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา หรือ ก.พ.อ.
ทำหน้าที่วางกรอบนโยบายและมาตรฐานการบริหารงานบุคคล การพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ การดำเนินการทางวินัย การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ เป็นแนวทางสำหรับสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ มีอิสระในการดำเนินการบริหารงานบุคคล การพิจารณาตำแหน่งวิชาการ การดำเนินการทางวินัย การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ให้มีความคล่องตัวและสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติของ สถาบันอุดมศึกษา
การดำเนินการทางวินัยมีบัญญัติในหมวด ๖ ตามมาตรา ๕๓ ซึ่งบัญญัติความว่า ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งพ้นจากราชการอันมิใช่เพราะเหตุตายอาจ ถูกดำเนินการทางวินัยเพราะมีการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงก่อนพ้นจากราชการ ได้ แต่ต้องดำเนินการทางวินัยภายในหนึ่งปีนับแต่วันพ้นจากราชการ ทั้งนี้ตามที่กำหนดในข้อบังคับที่ออกตามมาตรา ๑๗
แล้วรวบรัดมาที่ ประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง มาตรฐานการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งพ้น จากราชการไปแล้วอันมิใช่เพราะเหตุตาย ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑
กรณีตามคำถามมีคำตอบอยู่ที่ ข้อ ๓ ของประกาศฯ ซึ่งกำหนดว่า ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาผู้ใดถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิดวินัยอย่าง ร้ายแรงหรือความปรากฏต่อผู้บังคับบัญชาว่าข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดม ศึกษาผู้ใดกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงแม้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดม ศึกษาผู้นั้นจะพ้นจาก ราชการไปแล้วอันมิใช่เพราะเหตุตายผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ต้องดำเนินการทาง วินัยแก่ข้าราชการผู้นั้นภายในหนึ่งปี นับ แต่วันที่พ้นจากราชการ
จากคำถามของท่านผู้ถามต้องดูว่ามีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนท่านอันน่าจะเป็น จุดเริ่มต้นของการดำเนินการทางวินัยเมื่อใด ถ้าเพิ่งตั้งกันหมาด ๆ ในปีที่สามที่ท่านพ้นจากราชการก็ถือว่าเรื่องราวเป็นอันจบแล้วครับนาย
กรณีนี้ถือว่า ไม่อาจดำเนินการทางวินัยกับท่านได้ตามมาตรา ๕๓ แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาฯ ดังกล่าว
เรื่องนี้ถ้ากระผมฟันธงวืด หรือคอนเฟิร์มเข้าป่าเข้าดงเหมือนโหรหนุ่ม ๆ รุ่นใหม่ ก็ขอความกรุณาท่านผู้เชี่ยวชาญรู้ลึกรู้จริงในเรื่องนี้ได้โปรดชี้แนะให้ ความรู้มาด้วย จะเป็นวิทยาทานอย่างยิ่งขอรับ.
พิสิษฐ์ พลรักษ์เขตต์
praepim @ yahoo.com
ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์ วันเสาร์ ที่ 10 ตุลาคม 2552
http://dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=337&contentID=25082
No comments:
Post a Comment