Monday, June 7, 2010

ยกทรัพย์สินให้คู่สมรส

การที่สามีภริยาแต่งงานและจดทะเบียนสมรสด้วยกันแต่ไม่มีลูก ต่อมาสามีได้ซื้อผ่อนบ้านพร้อมที่ดินในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง โดยอยู่ร่วมกันที่บ้านหลังนี้ และเมื่อผ่อนหมดสามีได้ไปสำนักงานที่ดินและจดทะเบียนโอนบ้านพร้อมที่ดินแปลง นี้ให้แก่ภริยา

ขณะนี้มีปัญหาครอบครัวซึ่งอาจต้องหย่ากัน เพราะดิฉันจับได้ว่าสามีมีผู้หญิงคนใหม่และมีลูกด้วยกัน สามีจึงทวงบ้านและที่ดินคืนจากดิฉัน อยากทราบว่าตามกฎหมายบ้านและที่ดินหลังนี้เป็นสิทธิขาดของภริยาแล้วหรือยัง หรือว่ายังเป็นสินสมรสที่เมื่อเราหย่ากันจะต้องแบ่งกันคนละครึ่ง
====
กฎหมายแพ่งได้บัญญัติเกี่ยวกับระหว่างสมรส ถ้าสามีหรือภริยาได้รับทรัพย์มรดกจากญาติพี่น้องไม่ว่าจะได้รับในฐานะทายาท ของเจ้ามรดกหรือได้รับจากพินัยกรรม หรือบิดามารดายกทรัพย์สินให้โดยเสน่หา ทรัพย์สินเหล่านี้ถือว่าเป็นสินส่วนตัวของสามีหรือของภริยาผู้ที่ได้รับมา ไม่ถือว่าเป็นสินสมรส และบทบัญญัติดังกล่าวมาแล้วนั้นมิได้ใช้เฉพาะกรณีบุคคลภายนอกยกทรัพย์สินให้ แก่สามีหรือภริยาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกรณีที่สามีภริยายกทรัพย์สินให้แก่กันด้วย

ดังนั้นถ้าทรัพย์สินนั้นเป็นสินส่วนตัวของสามียกให้แก่ภริยา ทรัพย์สินนั้นจะกลายเป็นสินส่วนตัวของภริยา ถ้าทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรสของคู่สมรส หากคู่สมรสฝ่ายใดยกสินสมรสให้แก่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง สินสมรสนั้นจะกลายเป็นสินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายที่เป็นผู้รับ คู่สมรสที่ยกให้จะไม่มีสิทธิในทรัพย์สินดังกล่าวอีกต่อไป อย่างไรก็ตามคู่สมรสที่ยกให้ต้องมีเจตนาอย่างแท้จริงที่จะยกสินสมรสให้แก่ คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าเป็นทรัพย์สินที่โอนกรรมสิทธิ์อาจชัด เช่น ไปจดทะเบียนโอนทรัพย์สินยกให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง

แต่กรณีที่ทรัพย์สินนั้นไม่ต้องมีการโอนเพียงแต่การส่งมอบก็อาจเป็นการโอน กรรมสิทธิ์ได้ ดังนั้นจึงต้องระวังเรื่องการ อนุญาตให้ใช้ชั่วครั้งชั่วคราว หรือการถือวิสาสะเอาไปใช้ กรณีไม่ถือว่าเป็นการยกให้ เช่น สามีเอาชุดเครื่องเพชรประจำตระกูลของตนให้ภริยาใส่ไปออกงานเลี้ยงหลายครั้ง โดยมีเจตนาเพียงให้ยืมใช้มิได้มีเจตนายกให้แต่อย่างใด เช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าสามีได้ส่งมอบทรัพย์สินให้อย่างแท้จริง เครื่องเพชรประจำตระกูลยังเป็นสินส่วนตัวของสามี เป็นต้น

กรณีที่กล่าวมาแล้วเป็นเรื่องการยกสินส่วนตัวของตนให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น ถึงแม้เป็นสินสมรสที่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างสามีภริยา ซึ่งหากการสมรสสิ้นสุดลงด้วยการตาย การหย่า หรือศาลพิพากษาให้หย่า ตามหลักสินสมรสต้องนำมาแบ่งกันคนละครึ่งนั้น แต่ถ้าคู่สมรสแสดงเจตนายกสินสมรสที่ตนมีกรรมสิทธิ์ด้วยแก่คู่สมรสอีกฝ่าย หนึ่งไปแล้ว แม้จะยกให้ในระหว่างที่ยังเป็นคู่สมรสก็ตาม ทรัพย์สินนั้นก็พ้นสภาพจากการเป็นสินสมรส กลายเป็นสินส่วนตัวของคู่สมรสผู้ได้รับการยกให้ แม้ต่อมาการสมรสอาจต้องสิ้นสุดลงด้วยการหย่า คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่อาจขอให้แบ่งทรัพย์สินที่กลายเป็นสินส่วนตัวได้อีก ต่อไป

ที่มา: ยกทรัพย์สินให้คู่สมรส คลีนิกกฏหมาย เดลินิวส์ออนไลน์ วันอังคาร ที่ 18 พฤษภาคม 2553

No comments:

Post a Comment