หลายฝ่ายร่วมช่วยกู้เรือน้ำตาลล่มที่อยุธยาิ ทั้งนี้ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา อาจารย์ธเนศ วีระศิริ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมโยธา) และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมปฏิบัติการกู้เรือน้ำตาลล่มที่อยุธยาิร่วมกับกรมเจ้าท่า และกองทัพเรือ โดยวันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน 2554 รองศาสตราจารย์ ดร.นคร ภูวโรดม และ รองศาสตราจารย์ ดร.บุญทรัพย์ วิชญางกูร พร้อมด้วยนักศึกษาปริญญาตรีและนักศึกษาปริญญาโท จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมสังเกตุการณ์การกู้เรือโดยการอัดพอนทูน(โป๊ะเหล็ก)
สนธิกำลังงัดแผนใช้ 'พอนทูน' ปฏิบัติการกู้เรือบรรทุกน้ำตาล
กลายเป็นเรื่องที่สร้างวิกฤติให้กับแม่น้ำเจ้าพระยาไปจนได้ หลังจากเกิดอุบัติเหตุเรือเหล็กบีเอ็ม 6 บรรทุกน้ำตาล 2,400 ตัน ประสบเหตุกระแทกกับตอม่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา (สะพานหัวดุม) ที่ หมู่ 2 ต.ภูเขาทอง อ.พระนครศรี อยุธยา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 พ.ค. เป็นเหตุ ให้ตัวเรือมีรอยแตกน้ำทะลักเข้าไป สุดท้ายจมอยู่ริมตลิ่ง ส่งผลกระทบทำให้ปริมาณน้ำตาลทรายจำนวนมหาศาลได้ละลายออกมาจากเรือ ถูกกระแสน้ำพัดพาไปไกลหลายจังหวัด ตั้งแต่พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทร ปราการ ต่างได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้กันถ้วนหน้า บรรดาสัตว์น้ำและปลาน้อยใหญ่ทั้งที่ชาวบ้านเลี้ยงเอาไว้ตามกระชังและตาม ธรรมชาติ ลอยตายเกลื่อน
หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ต่างพยายามหาทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งดูดน้ำตาลออกและกู้เรือแต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ แม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี รวมไปถึงนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ นายวิทยา ผิวผ่อง ผวจ.พระนคร ศรีอยุธยา จะลงไปกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด แต่การกู้เรือก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ
หนำซ้ำตัวเรือที่ขวางทิศทางน้ำยังส่งผลทำกระแสน้ำพุ่งเปลี่ยนทิศทางเข้าใส่ ริมตลิ่งที่อยู่ใกล้ ๆ จนพังทลายยาวกว่า 60 เมตร กัดเซาะลึก 13 เมตร ทำให้ชาวบ้านที่อยู่บริเวณดังกล่าวต่างหวาดผวาเป็นอย่างมาก จึงต้องมีการระดมทหารช่างพัฒนา อาสาสมัครรักษาดินแดนนับร้อยนาย มาช่วยกันระดมเสาเข็มและกระสอบทรายมาสร้างแนวเขื่อน 2 ชั้นเพื่อป้องกันตลิ่งพังลงมาอีก เนื่อง จากมีอุปสรรคเรื่องปริมาณน้ำที่ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย
อย่างไรก็ดีล่าสุดทาง นายวิทยา ผวจ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งไปอำนวยการในที่เกิดเหตุทุกวัน โดยมีการระดมหน่วยงานหลายชุด ไม่ว่าจะเป็นทหารเรือ ทหารช่าง กรมเจ้าท่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภาคเอกชน มาร่วมหารือในการวางแผนปฏิบัติการกู้เรือ โดยทางกรมเจ้าท่าร่วมกับบริษัทอัลฟ่า มารีน ซัพพลาย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเรือที่บรรทุกน้ำตาล เร่งจัดทำ “โป๊ะเหล็ก” ขนาดใหญ่หรือเรียกว่าพอนทูน (Pontoon ) จำนวน 4 ตัว ขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 6 เมตร ลึก 1.2 เมตร ซึ่งเป็นของกรมเจ้าท่าเพื่อจะนำไปใช้กู้เรือขึ้นให้ได้ภายในวันที่ 11 มิ.ย.นี้
นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า พอนทูน เป็นอุปกรณ์ที่สามารถใช้กู้เรือในทะเล มีหลักการทำงานง่าย ๆ คือ จะใช้เครนยกพอนทูนไปวางยึดติดไว้ภายในตัวเรือจากนั้นจะเติมน้ำเข้าไปเพื่อ ให้พอนทูนจมกระทั่งได้ระดับแล้วก็จะสูบน้ำออกอัดอากาศเข้าไปภายใน เมื่อพอนทูนลอยตัวขึ้นก็จะช่วยยกเรือน้ำตาลที่จมขึ้นมาด้วย จากนั้นเจ้าหน้าที่จะใช้เครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำภายในเรือน้ำตาลออกทันที แล้วจะใช้เรือยนต์ 3 ลำลากเรือน้ำตาลออกไปทางวัดพนัญเชิงวรวิหาร เนื่องจากตรงจุดเกิดเหตุกระแสน้ำค่อนข้างเชี่ยว ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ของการทำงาน จึงต้องจัดทีมประดาน้ำ 2 ชุด ชุดละ 20 คน คอยเกาะติดการทำงานแบบใกล้ชิด
ด้าน น.อ.สุริยะ ภิญโญ รอง ผอ.กองประดาน้ำและถอดทำลายอมภัณฑ์ (กปถ.สพ.ทร.) กล่าวว่า หลังจากทีมนักประดาน้ำลงไปสำรวจในเรือแล้ว สรุปว่าแนวทางที่ทำได้จริงคือการนำเอาพอนทูน อุปกรณ์การกู้เรือทำจากเหล็กเป็นกล่องหรือแคปซูลขนาดใหญ่ ทำงานคล้ายการขึ้น-ลงของเรือดำน้ำ เนื่องจากภายในพอนทูนเป็นสุญญา กาศ สามารถสูบน้ำอัดเข้าไปด้านในได้ และเมื่อสูบดึงน้ำออกจากพอนทูนแล้ว จะทำให้เกิดสุญญากาศและเกิดการยกตัวขึ้น โดยพอนทูน 1 ใบสามารถยกน้ำหนักได้ประมาณ 100-150 ตัน แต่หากเกิดน้ำวนและแรง อาจนำพอนทูนไปเกาะด้านนอกเรือลำบาก ดังนั้นต้องนำพอนทูนเกาะด้านในท้องเรืออย่างน้อย 4 พอนทูน เพื่อให้พอนทูนยกกราบเรือพ้นขอบผิวน้ำก็จะถือว่าเป็นผลสำเร็จ
“เมื่อกราบเรือยกพ้นขอบผิวน้ำจะสามารถสูบน้ำออกจากท้องเรือเพื่อให้เรือลอย ขึ้นมาอีก จากนั้นจะต้องรีบอุดรอยรั่วของเรือไปพร้อมกัน และยังสามารถสูบน้ำออกจากท้องเรือเพื่อให้เรือลอยขึ้นมาอีก แต่หากพอนทูนไม่สามารถยกกราบเรือพ้นขอบผิวน้ำ ก็จะใช้วิธีให้พอนทูนเป็นตัวยกท้องเรือด้านล่างสุดให้พ้นพื้นผิวก้นแม่น้ำก็ เพียงพอที่จะนำแคปซูลของกองทัพเรือลงไปสอดในพื้นที่ว่างระหว่างท้องเรือและ ก้นแม่น้ำเพื่อลากเรือออกมาให้ได้”
สถานการณ์ล่าสุด นายถวัลย์รัฐ อธิบดีกรมเจ้าท่า ยังได้ลงนามในประกาศกรมเจ้าท่าเรื่องการกำหนดให้แม่น้ำเจ้า พระยา และแม่น้ำป่าสัก เป็นพื้นที่ควบคุมการเดินเรือสำหรับเรือลำเลียงและเรือลากจูงเป็นการเฉพาะ คราว เพื่อเพิ่มความปลอดภัยต่อการเดินเรือลำเลียง เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงน้ำหลากและกระแสน้ำแรง ขณะที่ในปัจจุบันมีการขนส่งทางน้ำโดยใช้เรือลำเลียงเพิ่มมากขึ้นและเรือ ลำเลียงมีขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนสถานการณ์การกู้เรือน้ำตาลจะประสบผลสำเร็จหรือไม่นั้น ยังต้องรอลุ้นติดตามชมกันต่อไป.
.............................................................
8 โค้งอันตรายเจ้าพระยา
เมื่อตรวจสอบบริเวณลำน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่จ.พระนครศรีอยุธยา ไล่ลงมาจนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา จ.สมุทรปราการ จะพบว่ามีโค้งอันตรายอยู่หลายโค้งที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือด้วยการลาก จูงซึ่งจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ทางกรมเจ้าท่า จึงได้มีการรวบรวมโค้งน้ำอันตรายที่ต้องใช้ความระวังมากกว่าปกติ ประกอบด้วย 1. สามแยกหน้าวัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นบริเวณที่แม่น้ำเจ้าพระยามาบรรจบกับแม่น้ำป่าสัก 2.โค้งน้ำบ้านแหลม ถึง สะพานวัดกษัตราธิราชวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา 3. โค้งน้ำวัดลาดบัวขาว ถึง สะพานหัวคุม จ.พระนครศรีอยุธยา 4. บริเวณเกาะเกร็ด แม่น้ำอ้อมเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นจุดทางแยก 5. โค้งน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาชั้นใน บริเวณหน้ากรมเจ้าท่า กรุงเทพมหานคร 6. โค้งน้ำ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ 7. ทุ่นจอดเรือบริเวณ ต.บางหัวเสือ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ และ 8. โค้งโรงเรียนนายเรือ จ.สมุทรปราการ
สัมฤทธิ์ เจียมเจริญพรกุล
ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน 2554
=============
ภารกิจกู้เรือน้ำตาลทรายล่มในแม่น้ำเจ้่าพระยาที่อยุธยา ผ่านไปกว่า 10 ชั่วโมง ยังไม่สามารถกู้เรือขึ้นมาได้ เพราะมีอุปสรรคหลายอย่าง รมช.คมนาคม ระบุ ต้องทำงานอย่างใจเย็น ขณะที่บรรดาไทยมุงเพียบ…
เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 11 มิ.ย.2554 บริเวณจุดเกิดเหตุเรือบรรทุกน้ำตาลทรายน้ำหนัก 2,400 ตัน ล่มที่ ม.2 ต.ภูเขาทอง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา กินเวลานานถึง 11 วันเข้าไปแล้ว ในที่เกิดเหตุพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.พระนครศรีอยุธยา กว่า 30 คน คอยยืนดักรอที่ปากทางเข้า ไม่อนุญาตให้รถของชาวบ้าน รวมทั้งนักข่าวจากทุกสำนักเข้าไปในพื้นที่โดยเด็ดขาด โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ต้องทำงานกู้เรือ มีความอันตรายมาก นักข่าวจึงอ้อมไปถ่ายภาพฝั่งตรงข้าม บริเวณ ม.4 ต.บ้านป้อม
จากนั้นในเวลา 08.00 น. นายวิทยา ผิวผ่อง ผวจ.พระนครศรีอยุธยา นางวาสินี ผิวผ่อง นายกเหล่ากาชาด จ.พระนครศรีอยุธยา นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกอบจ.พระนครศรีอยุธยา และพระครูโสภณสุทธิปัญญา เจ้าอาวาสวัดท่าการ้อง นำเครื่องบวงสรวงบูชาเซ่นไหว้ ประกอบด้วย ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ผลไม้มงคล 9 ชนิด ไข่ต้ม สับปะรด และบายสีปากชม ตั้งไว้บนโต๊ะกลางเรือท่องเที่ยว ล่องสวนน้ำไปยังบริเวณจุดที่เรือน้ำตาลล่ม ห่างไปประมาณ 500 เมตร โดยนายวิทยาได้จุดธูป 16 ดอก กล่าวคำบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นเดินไปที่หัวเรือ นำกระทงใส่ผลไม้ 9 อย่าง 9 กระทง และขนมหวาน หย่อนลอยไปกับสายน้ำ เพื่อเป็นการบูชาพระแม่คงคาและพญานาคราช
ด้านพระครูโสภณสุทธิปัญญา เปิดเผยว่า พิธีกรรมดังกล่าวเป็นการแสดงความเคารพบูชาพญานาคราชที่เป็นเจ้าคุ้มครองสาย น้ำ นอกจากจะเป็นการขอขมาที่ทำล่วงเกิน และยังขอพึ่งบารมีพญานาคราช ช่วยดลบันดาลการกู้เรือให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่กระทำกันมาแต่ในอดีต เพราะเราเห็นว่าการกู้เรือน้ำตาลเป็นไปอย่างยากลำบาก ผ่านมาหลายวันยังกู้ไม่ได้ เชื่อว่าทำแล้วจะเป็นการดี จะทำให้กู้เรือได้สำเร็จ
ส่วนนายทวี นริสศิริกุล รองผวจ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า การกู้เรือครั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่า วิศวกรรมธรรมศาสตร์ และกองทัพเรือดำเนินการ โดยทราบว่าพอนทูน หรือโป๊ะเหล็ก ที่มีขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร และสูง 1.20-1.50 เมตร ได้ออกจากอู่ต่อเรือบริษัท อัลฟ่า มารีน ซัพพลาย จำกัด ที่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี มาถึงจุดเกิดเหตุเรือล่มที่อยุธยาประมาณเที่ยงคืน ซึ่งจังหวัดได้อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ ทีมกู้เรือ โดยอุปสรรคการกู้เรือในวันนี้ พบว่ามีกระแสน้ำไหลแรงและปริมาณน้ำเหนือไหลมามาก ประเมินสถานการณ์แล้ววันนี้น่าจะกู้เรือได้สำเร็จ
จากนั้นเรือกรมเจ้าท่า ย.1 ขนาดใหญ่ บรรทุกรถเครนขนาดใหญ่ และลากโป๊ะเหล็ก 2 ลูก แล่นเข้ามาเทียบเรือบีเอ็ม 6 ที่ล่มอยู่ โดยบนเรือเจ้าท่า มีนายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม, น.ท.รชต ผกาฟุ้ง หัวหน้าสำนักงานเจ้าท่าสาขาอยุธยา, น.ท.สุริยะ ภิญโญ รองผอ.กองประดาน้ำฯ กรมสรรพาวุธทหารเรือ พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง คอยบัญชาการบนเรืออย่างใกล้ชิด โดยทีมกู้เรือกว่า 50 คนกระจายอยู่ทั้งบนบกและในน้ำ เริ่มทำงานโดยใช้รถเครนยกเศษเหล็กและอุปกรณ์ต่างๆ ที่จมอยู่ในเรือออก จากนั้นได้ลากโป๊ะเหล็กลูกที่ 1 เข้าไปในเรือ ใส่น้ำให้จมลงไปที่ท้องเรือ แล้วยึดพอนทูนไว้กับกาบเรือให้แน่น จึงใช้ลมเป่าให้น้ำในพอนทูนออกมา ก็จะยกเรือส่วนท้ายให้ลอยขึ้นมา แต่เดิมเรือขวางทางน้ำไว้ ก็ใช้เครนดึงเรือให้ตรงกับทางน้ำ แล้วจึงนำพอนทูนลูกที่ 2 ใส่ที่หัวเรือ ทำเช่นเดียวกัน เรือก็จะลอยขึ้นแล้วจึงลากไปได้
ขณะที่นายเกื้อกูล กล่าวว่า ในการกู้เรือครั้งนี้ต้องทำอย่างระมัดระวัง คำนึงถึงความปลอดภัยของคนงานก่อน จากการทำงานจะเห็นได้ว่า ทีมงานจะประสานกันหลังจากนำพอนทูนลงไปแล้ว ครั้งแรกยกเรือสูงขึ้นได้ประมาณ 5 เซนติเมตร กรมเจ้าท่าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ใช้เวลาเป็นตัวกำหนด และขอให้ทุกคนอย่ากดดันทีมกู้เรือ ทุกอย่างต้องทำอย่างระมัดระวัง แม้แต่การจะขยับหรือยกเครนแต่ละครั้ง ต้องมีการคำนวณอย่างละเอียดรอบคอบ
ตามแผนการกู้เรือครั้งนี้ เจ้าหน้าที่จากกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า ขั้นตอนเริ่มจากเมื่อช่วงเช้าได้นำพอนทูน ขนาด 12 เมตร กว้าง 6 เมตร ลึก 1.5 เมตร ใช้เรือเครนยักษ์เข้าไปใส่ด้านท้ายเรือ แล้วสูบน้ำอัดลงไปจมใต้ท้องเรือด้านหลัง จากนั้นใช้เครนลากอย่างช้าๆ มาไว้ด้านหัวเรือ เพื่อให้นักประดาน้ำ 4 คน ดำลงไปสำรวจและทำการยึดกับระวางของเรือ
จากขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนนี้ ใช้เวลาไปนานเกือบ 10 ชั่วโมง นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยถึงแผนการกู้เรือน้ำตาลว่า เป็นไปตามแผนที่วางไว้ทุกประการ เพียงแต่ว่าการทำงานต้องล่าช้า ซึ่งมีสาเหตุมาจากน้ำแรง และเรือมีน้ำหนักมาก การทำงานต้องระมัดระวังทุกอย่างพอนทูนลูกแรกได้วางยึดติดกับระวางทดลองยก แล้ว สามารถรับน้ำหนักไหว จึงได้ปรับแผนเล็กน้อย โดยเคลื่อนย้ายพอนทูนลูกที่ 1 ไปไว้ที่หัวเรือ และขณะนี้กำลังจะนำพอนทูนลูกที่ 2 นำไปยึดไว้ที่ระวางด้านท้ายเรือ ทำการอัดลมพร้อมกัน ถ้าพอนทูน 2 ลูกสามารถพยุงเรือลอยขึ้นได้ ก็จะทำการย้ายเรือออกไปยังที่ปลอดภัย แต่ถ้าไม่ไหวจะนำพอนทูนมาเพิ่มอีก เพื่อทำการกู้เรือต่อไป
ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. ทางทีมงานได้อัดพอนทูนลูกที่ 2 ลงไปเป็นผลสำเร็จ แต่เนื่องจากสภาพอากาศเริ่มมืดค่ำแล้ว หากปฏิบัติภารกิจต่ออาจเกิดอันตรายได้ จึงต้องหยุดไว้รอดำเนินการต่อในวันที่ 12 มิ.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อข่าวการกู้เรือแพร่สะพัดออกไป พบว่ามีประชาชนจากทั่วสารทิศเดินทางมาดูการกู้เรือบริเวณฝั่งตรงข้ามจำนวนมาก ทำให้ริมตลิ่งเต็มไปด้วยประชาชนที่มานั่งรอลุ้นการกู้เรืออย่างใจจดใจจ่อ โดยตลอดทั้งวัน มีบรรดาพ่อค้าแม่ค้าเปิดแผงตั้งร้านขายของ สร้างรายได้อย่างงดงาม
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน 2554
No comments:
Post a Comment