แทบทุกเดือน เราจะพบเห็นข่าวโศกนาฏกรรม ความสูญเสียที่เกิดกับนิสิตนักศึกษาที่ขับรถยนต์และเกิดการชน และเกือบทุกครั้งสาเหตุที่เกี่ยวข้องก็จะเป็นเรื่องของ "ขับรถเร็ว ดื่มฉลอง เมาแล้วขับ และหลับใน" ล่าสุด ช่วงเทศกาล "ฮาโลวีน" เกิดเหตุสลด "นศ.เมาซิ่งเก๋งดับ 4 ศพ" ตามข่าวระบุว่า นักศึกษาม.รังสิต ไปเที่ยวย่านเอกมัยและประสบเหตุในช่วงตี 4 บริเวณแยกหลักสี่...
และก่อนหน้านี้ก็มีข่าวสลดของนิสิตนักศึกษาที่สำคัญ ได้แก่ นศ.ซิ่งแหกด่านขยี้ตร. เมียท้อง 7 เดือนสุดโศก โดยเกิดเหตุในช่วง 02.30 น. และนักศึกษา ม.หอการค้าไทย อายุ 21 ปี มีอาการคล้ายคนเมา พริตตี้สาวชะตาขาด เหยียบแมวเสียหลักอัดก๊อบปี้ต้นไม้ไฟลุกเผาร่างเกรียม ในข่าวระบุว่าทั้งคู่เป็นนักศึกษา อายุ 22 ปี คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มารับงานให้ค่ายรถแห่งหนึ่ง และขับกลับด้วยความเร็วสูง นศ.รามซิ่งวีออสดับ 2 ศพ ในข่าวระบุว่าช่วงเกิดเหตุ 22.00 น. ฝนตกและขับด้วยความเร็วลงสะพานข้ามแยก
นักศึกษาม.กรุงเทพซิ่งแจ๊ซชนจยย. ดับสยอง 2 ศพ เป็นเหตุการณ์ในช่วงเช้า และนักศึกษาที่ชนมีอาการคล้ายคนเมา และระบุว่าจำไม่ได้ว่าขับออกมาจากที่ไหน และเหตุการณ์เกิดขึ้นได้อย่างไร ช่วงที่เกิดอุบัติเหตุขับรถชนก็จำไม่ได้ มารู้สึกตัวและตั้งสติได้อีกทีก็ตอนที่อยู่โรงพักแล้ว นศ.มหิดลอินเตอร์ ซิ่งเก๋งชนเสาไฟขาดสองท่อน ดับ 1 เจ็บ 3 ทั้งหมดเป็นนักศึกษาปี 1 และผู้ตายอายุเพียง 19 ปี
มีคำถามตามมามากมายว่า ทำไมนิสิต-นักศึกษาที่กำลังก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัย และเพิ่งครบวัยทำใบอนุญาตขับรถยนต์ (อายุ 18 ปีขึ้นไป) ถึงต้องรีบร้อนใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งสถานศึกษาบางแห่งโดยเฉพาะของเอกชน ผู้นำรถยนต์มาใช้เกือบจะมากกว่าผู้ที่เดินทางด้วยรถสาธารณะ และถือเป็นแหล่งรวมรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ในขณะที่ระบบการให้ใบอนุญาตขับรถของประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจาก อุบัติเหตุทางถนนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ (เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย) จะเข้มงวดกับผู้ขับขี่หน้าใหม่ โดยมีการออกใบอนุญาตอย่างเป็นขั้นเป็นตอน (Graduate licensing) ได้แก่ การเรียนและสอบขอใบอนุญาตไม่ต่ำกว่า 30 ชั่วโมง เมื่อสอบผ่านได้ใบอนุญาตขับรถยนต์ชั่วคราวแล้ว ยังต้องขับโดยมีผู้มีประสบการณ์นั่งไปด้วย ห้ามขับเวลากลางคืน ฯลฯ และที่สำคัญคือ ถ้ามีการเมาแล้วขับ จะถูกยึดใบอนุญาตขับรถยนต์ทันที ปัจจัยสำคัญของความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุในกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่ขับรถ ยนต์คือ การใช้ชีวิตของนักศึกษาในยุคปัจจุบันเองก็อยู่ในวัฒนธรรมของความเร่งรีบ ทุกอย่างดูต้องรวดเร็ว จึงจะถือว่าเก่ง เช่น ใครจะเรียนจบเร็ว ใครจะมีมือถือ มีคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ก่อน และที่สำคัญคือใครจะออกรถรุ่นใหม่ได้ก่อนกัน
ถ้ายังจำโฆษณารถรุ่น ใหม่ ของค่ายรถยุโรปแห่งหนึ่ง ที่ใช้แนวคิด (concept) เรื่องความเร่งรีบ-ความเร็ว เป็นจุดขาย “รีบไปรับแฟน รีบไปรับแม่ รีบไปทำงาน ชีวิตที่เร่งรีบ ต้องใช้รถ...” แสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่กับชีวิตที่เร่งรีบ ถือเป็นของคู่กัน นอกจากการมีชีวิตที่เร่งรีบของนิสิตนักศึกษาแล้ว การใช้ชีวิตด้วยความสนุกสนาน การเฉลิมฉลอง และเพื่อนฝูง ก็เป็นอีกจุดขายหนึ่งของ “ธุรกิจสุรา” ที่ใช้เป็นอาวุธเจาะตลาดกลุ่มนี้อย่างได้ผล
ดูจากตัวเลขของสำนัก งานสถิติแห่งชาติ ที่ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2539-2550 เยาวชนอายุ 15-19 ปี มีอัตราการดื่มประจำเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 โดยปี 2550 พบว่า เยาวชนที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มสุรามากถึง 19.3 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงถึง 2.3 ล้านคน นอกจากนี้ ผลสำรวจของเครือข่ายเยาวชนฯพบว่า มีร้านเหล้าเพิ่มขึ้นมากถึง 1,522 ร้าน จาก 45 สถาบัน หรือรอบมหาวิทยาลัย 1 แห่ง จะมีร้านเหล้ามากถึง 34 ร้าน ซึ่งข้อมูลจากการศึกษาของประเทศนิวซีแลนด์ และในหลายประเทศ บ่งชี้ให้เห็นว่า ยิ่งอายุน้อย ยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ โดยพบว่าระดับแอลกอฮอล์ของผู้ดื่มที่เป็นเยาวชน (15-19 ปี) จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าอายุ 20-25 ปี และ 30 ปีขึ้นไป
นอก จากนี้ยังพบว่า นักดื่มส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงอันตรายในการขับรถเมื่อดื่มสุรา ดังจะเห็นได้จากเอแบคโพลล์เคยสำรวจและพบว่า 1/3 ของคนที่ดื่มเบียร์ 2 ขวด (ซึ่งจะเกินกว่า 50 mg/dl) ยังคิดว่าตัวเองขับขี่ได้เช่นเดียวกับคนดื่มสุรา 1 แบน ครึ่งหนึ่งระบุว่าตัวเองคิดว่าขับได้ สำหรับผู้ดื่มที่ดื่มหนักมากจะต้องใช้เวลาในการกำจัดแอลกอฮอล์ที่ยาวนานหลาย ชั่วโมง โดยพบว่า ผู้ที่ดื่มในปริมาณสูงในช่วงกลางคืน ก็อาจจะมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูง และมีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุในช่วงเช้าสำหรับเพื่อนๆ ที่ไปเที่ยวด้วยกัน ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการนั่งรถที่คนเมาขับ แต่ส่วนใหญ่ไม่ตระหนัก และบางส่วนไม่สามารถปฏิเสธการเดินทางได้
โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ศึกษาผู้พิการ 200 รายจากอุบัติเหตุทางถนนที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุรา พบว่า 3/4 อยู่ในวัย 13-30 ปี โดยกลุ่มผู้ชายระบุว่า ต้องฝืนขับทั้งๆ ที่เมา เพราะกลัวเสียหน้า บางส่วนจะหวงรถ ไม่ยอมให้คนอื่นขับ ส่วนกลุ่มหญิง จะเกรงใจในการปฏิเสธการเดินทางกับคนที่ดื่มและเมา ดังนั้น กลุ่มนิสิตนักศึกษาที่ขับรถยนต์ ถือเป็นกลุ่มที่มีทั้ง 3 ปัจจัยเสี่ยงประกอบกันคือ (1) การขาดประสบการณ์ในการขับขี่ และวุฒิภาวะในการตัดสินใจ แต่มานั่งหลังพวงมาลัยรถยนต์ที่เครื่องยนต์มีกำลังสูง (2) การขับรถเร็ว และ (3) ดื่มแล้วขับ ซึ่งโอกาสที่ทั้ง 3 ปัจจัยจะมารวมกัน เกิดขึ้นได้ตลอด โดยเฉพาะสถานการณ์ที่จะมีการเฉลิมฉลอง ได้แก่ ปิดภาคเรียน รับปริญญา วันเกิดเพื่อน เทศกาลต่างๆ (ปีใหม่ วาเลนไทน์ สงกรานต์ ฮาโลวีน ลอยกระทง ฯลฯ)
คำถามท้ายสุดคือ นอกจากให้นิสิตนักศึกษาที่มีรถยนต์ขับขี่ ต้องเกิดจิตสำนึกความปลอดภัย และเรียนรู้ทักษะขับขี่ที่สำคัญแล้ว ใครจะช่วยพวกเขาได้ และคำตอบที่ผู้เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันรับผิดชอบคือ 1. กรมการขนส่งทางบก ควรทบทวนและพัฒนาระบบการออกใบอนุญาตขับรถยนต์ที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ระบบ graduate licensing ในกลุ่มเยาวชนเหล่านี้ 2. สถานศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัย วิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ควรทบทวนเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางของนิสิตนักศึกษา ว่าจะมีมาตรการหรือแนวทางที่เป็นรูปธรรมอย่างไร มิใช่เมื่อเกิดเหตุการณ์ ก็มารณรงค์กวดขันแบบไฟไหม้ฟาง เพราะถ้าสกอ.และสำนักงานคณะกรรมการอาชีวะศึกษา ได้มีการรวบรวมข้อมูลนิสิตนักศึกษาที่เสียชีวิตและพิการจากอุบัติเหตุทางถนน ตัวเลขไม่น่าจะต่ำกว่า 100 คนในแต่ละปี หรือคิดง่ายๆ ว่า ทุกๆ ปี จะมีนิสิตนักศึกษา หายไป 2 ห้องเรียน 3. ผู้ปกครองควรคิดให้รอบคอบก่อนสนับสนุนให้บุตรหลานใช้รถยนต์ และถ้าจำเป็นต้องมี ก็ควรมีเงื่อนไขหรือระบบการเรียนรู้ขับขี่ที่สำคัญคือ การกำกับช่วงเวลาใช้ โดยเฉพาะการขับขี่กลางคืน เดินทางต่างจังหวัด หรือการต้องไปเที่ยวฉลองในงานต่างๆ 4. เพื่อนๆ นิสิตนักศึกษาจะช่วยกันสร้างวัฒนธรรมใหม่ในสถานศึกษา ไม่ตกเป็นเครื่องมือบริโภคนิยม ที่ส่งเสริมการใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ การมีรถขับขี่เป็นเรื่องสำคัญ โดยที่ยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม และที่สำคัญคือ ช่วยกันลดพฤติกรรมขับรถเร็ว และดื่มแล้วขับ (เหมือนที่มีอาจารย์ท่านหนึ่งเขียนข้อความในกระทู้ ดังนี้ นักศึกษาหญิงต้องช่วยเพื่อนนักศึกษาชาย โดยประกาศในมหาวิทยาลัยเลยว่า ฉันจะไม่มีแฟนเป็นคนขับรถเร็ว ดื่มเหล้าเก่ง เที่ยวดึก เป็นอันขาด ฉันเกลียดพวกนี้ แบบนี้พวกโชว์แมนจะลดจำนวนลง เพื่อนผู้ชายจะตายน้อยลง)
สุดท้าย ถ้าทุกฝ่ายไม่มองข้ามเรื่องเหล่านี้ และหันมาช่วยกัน พวกเขาเหล่านี้ ซึ่งบางส่วนอาจจะเป็นคนใกล้ชิดหรือญาติของเรา คงจะมีชีวิตยืนยาว และเป็นอนาคตของครอบครัว และสังคมต่อไป
นพ. ธนะพงศ์ จินวงษ์
ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ที่มา: 'นักศึกษา' กับการขับรถยนต์ 'เหยื่อ' อุบัติเหตุทางถนนที่ทุกคนมองข้าม ไทยรัฐออนไลน์ 2 พฤศจิกายน 2553
No comments:
Post a Comment