ดอกส้มสีทอง เป็นเรื่องราวของตัวละครเอก ’เรยา“ ลูกสาวคนใช้กับยาม ซึ่งไปพัวพันผู้ชายหลายคน และมีพฤติกรรมกราดเกรี้ยวกับผู้เป็นแม่ ซึ่งละครเรื่องนี้นัยว่าเป็นละครภาคต่อของละครเรื่อง ’มงกุฎดอกส้ม“ ที่เป็นเรื่องราวของ ’เจ้าสัว“ อายุประมาณ 60 ปีคนหนึ่ง ซึ่งมีคุณนายหรือ ’มีเมียถึง 5 คน“ และทำให้มีเรื่องวุ่น ๆ รวมถึงมีการ ’ฆ่าเมีย“ บางคนหมกบ่อน้ำด้วย ซึ่งในรายละเอียดนั้น คอละครไทยก็คงทราบ ๆ กันดี
ละคร ’ดอกส้มสีทอง“ สร้างกระแสวิพากษ์อึงมี่
แล้วก็มีคนตั้งปุจฉาว่าที ’มงกุฎดอกส้ม“ ล่ะ??
ในขณะที่เรื่องของ เรยา ในละคร ดอกส้มสีทอง กระหึ่ม ทาง “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ได้รับเสียงสะท้อนเผ็ดร้อน ที่ก็น่าพิจารณา กล่าวคือมีการตั้งข้อสังเกตประมาณว่า... สังคมไทย โดยเฉพาะบุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องแบบนี้ ทำไมเพิ่งจะมาตื่นเต้น? ที่ผ่านมาหายไปไหน? ทำไมกรณี เจ้าสัว ตอนละคร มงกุฎดอกส้ม ออกอากาศจนจบ ถึงไม่มีการออกมาเต้น? ทั้งที่เจ้าสัวมีเมียตั้ง 5 คน เจ้าสัวจะไปนอนห้องเมียคนไหนจะมีโคมแดงไปแขวนหน้าห้องเมียคนนั้น ถ้าไม่มีโคมแสดงว่าไม่ไป เจ้าสัวไม่พอใจเมียคนไหนก็ไม่ไปนอนด้วย เมียที่เจ้าสัวไม่ได้ไปหาเกิดอาการหัวใจสลายที่เจ้าสัวไม่ให้ความรัก แถมในเรื่องยังมีบทที่รุนแรงถึงขั้นมีการ “ฆ่า”
มีการตั้งข้อสังเกตประมาณว่า... หรือนี่สะท้อน ’สังคมชนชั้น“ คือเจ้าสัวรวย ทำอะไรผิดแต่ก็ดูไม่ผิด? ถ้าเรยาเป็นคนรวย เอาแต่ใจตัวเอง ชอบผู้ชายก็เอาเงินซื้อ จะมีกระแสด่าทออย่างวันนี้หรือไม่? หรือว่าที่มีกระแสเพราะเรยาเป็นลูกคนใช้กับยาม เพราะเป็นคนจน? หรือนี่สะท้อน ’ชาย-หญิง ไม่เสมอภาค“ กรณีเจ้าสัวเป็นผู้ชาย...เลยดูว่าธรรมดา แต่เรยาเป็นผู้หญิง...เลยดูว่าไม่ถูกต้อง หรือตอนนี้ที่นักการเมืองออกมาเต้นเป็นการ ’โหนกระแสหาเสียง“ หรือเปล่า? ก็แล้วตอน เจ้าสัว - มงกุฎดอกส้ม นักการเมืองหายหน้าไปไหนหมด?
เสียงสะท้อนยังมีอีกว่า... หรือว่าสังคมไทยเป็นอย่างที่มีนักมานุษยวิทยาบางคนที่ทำวิจัยและชี้ไว้ว่า เป็น ’สังคมลิเก“ หรือเป็น ’สังคมดัดจริต“ เป็น ’สังคมตอแหล“ ...ใช่หรือไม่???????
ทั้งนี้ กับกระแสวิพากษ์ละครในระยะนี้ และกับประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกต ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน บอกว่า... เรื่องนี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องชนชั้น หรือสิทธิสตรีอะไร ถามว่าเป็นเรื่องการทำตามกระแสหรือไม่? เนื่องจากเรื่องนี้มีผู้จุดประกาย จุดกระแสขึ้นมา แน่นอนที่สุด ก็มีคนร่วมสร้างกระแสแน่นอน “คล้ายกับมีคนจัดงานปาร์ตี้ ก็ต้องมีผู้ร่วมงานเป็นธรรมดา เพราะพฤติกรรมของตัวละครเรื่องนี้ (ดอกส้มสีทอง) มันโหด และแรงเกินไป จึงเป็นกระแสสังคมขึ้นมา” ...ดร.เสรี ระบุ
ขณะที่ รศ.วิระดา สมสวัสดิ์ ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า... ในประเด็นสิทธิหญิง-ชาย หรือชนชั้นนั้น มองในมุมมองของสตรีศึกษาแล้ว คิดว่าละคร 2 เรื่องที่ว่ามีเรื่องเวลาที่ต่างกัน มงกุฎดอกส้มเป็นยุคที่สตรีไม่มีทางเลือกทางเศรษฐกิจและสังคม และสังคมยุคนั้นไม่เปิด ผู้หญิงทำอะไรมากไม่ได้ ต้องอยู่ในภาวะจำยอม ส่วนดอกส้มสีทองเป็นสังคมยุคใหม่ สังคมเปิด ผู้หญิงสามารถแสดงออกได้
ในแง่ของความเท่าเทียมชาย-หญิง ระหว่างการแสดงออกทางเพศของเจ้าสัว กับเรยา ในมุมของสตรีศึกษานั้น นักสิทธิสตรีเชื่อเรื่องสิทธิทางเพศ เพศวิถี คือสามารถแสดงออกทางเพศได้ เริ่มต้นได้ แต่ ต้องไม่ใช่การสำส่อนทางเพศ หรือละเมิดสิทธิคนอื่น แนวคิดสตรีนิยมไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมสำส่อนของผู้ชายโดยการใช้เนื้อตัวร่าง กายของผู้หญิงเป็นที่ระบายความใคร่ และผู้หญิงก็ต้องไม่ทำแบบนั้นเช่นกัน
’เรื่องชนชั้น รวย-จน ก็เช่นกัน ซึ่งก็ใช่ เพราะ เพศชาย หากมีอำนาจ มีเงิน มีฐานะทางสังคม สิ่งนี้จะเป็นส่วนส่งเสริมให้ผู้ชายมีเมียกี่คนก็ได้ตามใจต้องการ ต่างกับผู้หญิงจน ๆ ลูกแม่บ้านอย่างเรยา ที่ต้องดิ้นรนด้วยวิธีการหาผู้ชายรวย ๆ เพื่อสร้างฐานะและหน้าตา ให้กับตนเอง แต่แนวคิดสตรีนิยมก็ไม่เห็นด้วย เพราะไม่ใช่วิธีที่ถูก เพราะเป็นการลดคุณค่าและศักดิ์ศรีในตัวเอง” ...รศ.วิระดา ระบุ
ด้าน นัยนา สุภาพึ่ง ผอ.มูลนิธิธีรนารถ กาญจนอักษร เห็นว่า... เพราะสังคมคาดหวังบทบาทของชาย-หญิงต่างกัน จึง มีการเดือดเนื้อร้อนใจกับพฤติกรรมของเรยามากกว่าพฤติกรรมของเจ้าสัว ทั้งที่เป็นพฤติกรรมเดียวกัน และในเรื่องฐานะเศรษฐกิจชนชั้น ก็ไม่มีการตั้งคำถามกับกรณีเจ้าสัว ดูเป็นเรื่องธรรมดา ยอมรับได้ เข้าใจได้ แต่อาจมีการสรุปว่าผู้หญิงหลายคนยอมเป็นเมียเจ้าสัวเพราะอยากมีฐานะ รักสบาย
นัยนา ทิ้งท้ายว่า... ถ้าในทางกลับกัน หากเรยาเป็นผู้ชาย และใช้วิธีเดียวกัน หาผู้หญิงรวย ๆ เป็นเมีย ก็อาจจะไม่มีการต่อว่า แถมอาจจะเห็นใจอีกด้วย ซึ่งก็มองว่า ’อย่าว่ากล่าวแต่กรณีเรยาเพียงด้านเดียว...
อยากจะให้ย้อนคิดในมุมกลับด้วย!!“.
ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์ วันศุกร์ ที่ 06 พฤษภาคม 2554
นี่คือสังคมไทย
- 'สังคมตอแหล' - นักการเมืองตอแหล
- ’สังคมลิเก' - นักการเมืองลิเก
- ’สังคมดัดจริต' - นักการเมืองดัดจริต
No comments:
Post a Comment