เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2554 ที่โรงแรมริชมอนด์ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางการวิจัยและพัฒนาระบบยา สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) แถลงข่าว “ผลวิจัยและการพัฒนาระบบการจัดทำบัญชีรายจ่ายยาแห่งชาติ” ว่า ปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากเมื่อ 20-30 ปีที่ผ่านมาพบเพียงร้อยละ 3-4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือค่าจีดีพี (GDP) แต่ขณะนี้สูงขึ้นถึงร้อยละ 6.5 ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนา อย่างสหรัฐอยู่ที่ร้อยละ 11
อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพส่วนใหญ่มาจากการบริโภคยา ซึ่งล่าสุด สวรส. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนาระบบการจัดทำบัญชียา จากการสำรวจการขึ้นทะเบียนยาของผู้ประกอบการต่างๆ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552-มิถุนายน 2554 พบมูลค่าการบริโภคยาในประเทศสูงถึง 134,482,077,585 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วจะไม่เกินร้อยละ 20
นพ.สุวิทย์กล่าวอีกว่า ตัวเลขการบริโภคยาชี้ให้เห็นว่าค่อนข้างสูง โดยตัวเลขส่วนใหญ่เป็นกลุ่มยานำเข้า 99,663.8 ล้านบาท เป็นยาภายในประเทศ 46,895.7 ล้านบาท และเมื่อนำมาหักตัวเลขส่งออกอีก 12,077.5 ล้านบาท จะทำให้ได้มูลค่ายาที่บริโภคในประเทศทั้งสิ้นกว่า 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อนำมาแยกเป็นกลุ่มๆ จะพบยา 3 กลุ่มที่มีมูลค่าสูงสุด คือ 1.ยาต้านการติดเชื้อ ทั้งเชื้อไวรัสเอชไอวี เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา มีมูลค่าประมาณ 26,000 ล้านบาท
“สาเหตุของมูลค่าการใช้ยาที่สูงขึ้น คือ 1.ผลจากการผูกขาดด้านยา จากการนำเรื่องระบบสิทธิบัตรยาเข้ามาใช้ 2.เรื่องของการเปลี่ยนแปลงของโรค ซึ่งปัจจุบันคนเป็นโรคเรื้อรังกันมากขึ้น ส่งผลให้จำเป็นต้องมีการบริโภคยาโดยตลอด 3.ระบบหลักประกันสุขภาพ โดยเฉพาะสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการมีการใช้จ่ายยามากที่สุด และ4.การใช้ยาที่ไม่สมเหตุสมผล ทั้งหมดเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น” นพ.สุวิทย์กล่าว
ที่มา: มติชนออนไลน์ วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554
No comments:
Post a Comment