ตะลึงเด็กเร่ร่อนไทยเกือบ30,000 คน วอนของบประมาณมาดูแลเด็กเพิ่มเติม ก่อนที่หลายหน่วยงานอาจต้องยุติการดำเนินการ
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 มี.ค. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวชั่น มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเวทีนโยบายสาธารณะเรื่อง “ปลดล็อคระบบดูแล: สู่การแก้ไขปัญหาเด็กเร่ร่อนที่ยั่งยืน”
น.ส.ทองพูล บัวศรี มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าวว่า จากการวิจัยเรื่องการถอดบทเรียนบ้านแรกรับและบ้านพัฒนาสำหรับเด็กเร่ร่อนพบว่า บ้านพัฒนาเด็กและสถานสงเคราะห์จำนวน 22 แห่งใน12 จังหวัด ขาดแคลนงบประมาณ บุคลากรและองค์ความรู้ โดยทุกแห่งดำเนินการโดยองค์กรพัฒนาเอกชน ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด งบที่ได้จำนวนมากมาจากเงินบริจาคซึ่งไม่แน่นอนและไม่ยั่งยืน ส่งผลกระทบต่อการดูแลช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนในภาครวม
น.ส.ทองพูลกล่าวว่า ทั่วประเทศมีบ้านพัฒนาเด็กและสถานสงเคราะห์ทั่วประเทศกว่า 40 แห่ง เป็นของรัฐ 17 แห่ง ที่เหลืออีก 23 แห่งเป็นของเอกชน มีถึง 6 แห่งที่สถานการณ์การเงินวิกฤต มีแนวโน้มต้องยุติการดำเนินงาน ได้แก่ มูลนิธิอาสาพัฒนาเด็ก ดูแลเด็ก 140 คน มูลนิธิช่วยเหลือเด็กขอนแก่น จำนวน 50 คน บ้านนานา มูลนิธิพันธกิจเพื่อเด็กและชุมชน 120 คน มูลนิธิบ้านนกขมิ้น จำนวน 220 คน บ้านครูจา พัทยา 35 คนและสถานบ้านรับเลี้ยงเด็กบ้านครูมุ้น จ.สมุทรปราการ จำนวน 20-30 คน ทั้งหมดนี้เผชิญปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ผ่านมา ทำให้ยอดเงินบริจาคลดลงถึง 50% หากต้องยุติการดำเนินงาน จะส่งผลกระทบต่อเด็กกว่า 600 คนจะเกิดปัญหาไร้ที่พักพิงทันที
“ดังนั้นอยากให้กองทุนคุ้มครองเด็ก กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่มีงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท นำงบดังกล่าวมาสนับสนุนแบบถาวร เพราะค่าใช้จ่ายขั้นต่ำที่เหมาะสมแก่การดูแลเด็กอยู่ที่ 73-83 บาทต่อคนต่อวัน หรือ 27,000-37,000 บาทต่อคนต่อปี ใช้งบเพียง 20-40 ล้านบาทต่อปี โดยบ้านแรกและบ้านพัฒนาเด็กขององค์กรเอกชนจะรวบรวมข้อมูลนำเสนอกระทรวงฯพิจารณาต่อไป” น.ส.ทองพูลกล่าว
ด้านนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กกล่าวว่า บ้านแรกรับเป็นบ้านหลังที่สองรองรับเด็กที่มีปัญหา เพื่อช่วยพัฒนาเด็กให้สามารถพึ่งตนเองได้ ดังนั้นงบประมาณจึงเป็นสิ่งสำคัญ การนำงบฯจากกองทุนมาสนับสนุนจะเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้บ้านแรกรับดำเนินการต่อไปได้ แต่จะต้องครอบคลุมถึงตัวเด็กจริง ๆ ทั้งตัวเด็กและบุคลากรที่ดูแล ดังนั้นหากมองให้ดีจะพบว่างบฯดังกล่าวเป็นการลงทุนที่ถูกมากสำหรับเรื่องของมนุษย์
รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดเผยว่า สถานการณ์เด็กเร่ร่อนในประเทศไทยกำลังขยายตัวอย่างเงียบ ๆ ทั้งในเชิงปริมาณและปัญหา รวมถึงเด็กจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่เข้ามาขอทานและถูกใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก เบื้องต้นพบว่าสถานการณ์น่าเป็นห่วง เพราะเรายังมองปัญหาแบบมิติเดียว ทั้ง ๆ ที่ต้องมองหลายมิติ อีกทั้งยังเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนในเชิงปัญหาที่ขยายตัวขึ้นอย่างเรื่อย ๆ รัฐบาลควรดูแลและให้ความสำคัญในปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังและต่อเนื่องทั้งในนโยบาย งบประมาณ เพื่อให้เด็กเหล่านี้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างสมบูรณ์
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติกล่าวว่า ประเทศไทยมีเด็กเร่ร่อนประมาณ 30,000 คน เด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการถูกใช้ประโยชน์ จากยาเสพติด การค้าบริการทางเพศ แม้แต่ถูกบังคับขู่เข็ญจากกลุ่มอาชญากรต่าง ๆ อีกทั้งหากอนาคตประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จะทำให้ปัญหาเด็กเร่ร่อนขยายตัวเพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อเกิดการไหลเวียนของประชากรในภูมิภาค จะกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม จะทำให้ประเทศไทยต้องชี้แจงต่อประชาคมอาเซียนว่า ทำไมไม่สามารถดูแลเด็กภายในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติใดได้ เพราตามหลักสากล บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี มีสิทธิที่จะมีชีวิตรอดและปลอดภัย รวมทั้งสามารถเติบโตในสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างเต็มศักยาภาพ
นพ.ชูชัยกล่าวอีกว่า การดูแลเด็กเร่ร่อนไม่ให้ไหลออกจากชนบทเข้าสู่เมืองใหญ่ จำเป็นที่จะต้องเน้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น รัฐต้องสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ทำงานอย่างมีอิสระ บริการสาธารณะ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจปัญหาในพื้นที่เพื่อสกัดการไหลของเด็กจากชนบทเข้ามาเป็นเด็กเร่ร่อนในเมือง
::ตะลึง เด็กเร่ร่อนในไทยเกือบ 30,000 หวั่นเปิดประชาคมอาเซียนจะเพิ่มขึ้น © 2554 บริษัท เดลินิวส์ เว็บ จำกัด วันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม 2555
No comments:
Post a Comment