Wednesday, April 20, 2011

ตรวจดู ฟอร์มาลินในปลาหมึกสด + สารหนูในปลาหมึกแห้ง

ตรวจดูฟอร์มาลินในปลาหมึกสด

สถานการณ์ในบ้านเมืองเรา ยังต้องจับตามองกันอย่างต่อเนื่องว่า อาทิตย์นี้สินค้าอุปโภค บริโภคตัวไหนจะปรับราคาตามภาวะของราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

การหันมาใช้ วิถีชีวิตอย่างพอเพียง น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่เราสามารถทำกัน ได้ เช่น เรื่องของอาหารการกิน ลองหันมาปรุงพืชผักสวนครัว ผลไม้ และทำทานกันเองที่บ้านแทนการซื้อข้าวนอกบ้านที่มื้อหนึ่งๆ มีสนนราคาไม่ต่ำกว่า 500-1,000 บาท

การทำอาหารทานเองที่บ้าน อย่างแรกที่ต้องคำนึงถึงคือ วัตถุดิบ ซึ่งต้องสด ใหม่ และได้คุณภาพ

ที่สำคัญไม่มีสารพิษหรือยาฆ่าแมลงตกค้าง หรือจุลินทรีย์ ก่อโรคปนเปื้อน

ฉะนั้น ไม่ใช่ราคาถูกแล้วก็เลือกซื้อได้เลย เพราะวันนี้ อะไรๆก็ไม่อาจไว้ใจกันได้ อย่างเช่น ปลาหมึกสด หรือปลาหมึกแปรรูป ที่ขายอยู่ทุกวันนั้นอาจมีสารฟอร์มาลินปนเปื้อน เป็นที่รู้กันดีว่า ฟอร์มาลิน เป็นสารเคมีที่ใช้ฉีดศพเพื่อไม่ให้ศพเน่า

ซึ่งอาจมีพ่อ ค้าหัวใสบางราย นำ ฟอร์มาลิน มาแช่ปลาหมึก เพื่อให้ปลาหมึกที่ขายดูสด ใหม่ น่ากิน ดึงดูดลูกค้าให้มาซื้อ แต่หารู้ไม่ว่า นอกจากจะไม่ได้ ประโยชน์แล้ว ยังผิดกฎหมายด้วย

กระทรวงสาธารณสุขกำหนดว่า ผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้น เกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์

หากตรวจพบการกระทำดังกล่าว จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เพราะอันตรายจาก ฟอร์มาลิน มีมาก

นอก จากทำให้ระคายเคืองต่อผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหารแล้ว ถ้ารับประทานเข้าไปก็จะทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะไม่ออก กดประสาทส่วนกลาง ทำให้หมดสติได้

วันนี้ คอลัมน์มันมากับอาหารได้สุ่มตัวอย่างปลาหมึกกรอบ 5 ตัวอย่าง จากตลาดในกรุงเทพฯ เพื่อวิเคราะห์หาสารฟอร์มาลินปนเปื้อน

พบว่า ทุกตัวอย่างไม่พบตกค้างเลย แต่อย่าชะล่าใจ

วันนี้มีวิธีสังเกตอาหารที่ซื้อว่ามีฟอร์มาลินหรือไม่?

ถ้า เป็นอาหารประเภทเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ต้องดูความสด ถ้าวางขายตั้งแต่เช้าจนเย็น ยังคงดูสดใสเหมือนเดิม อันนี้ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า อาจแช่ฟอร์มาลิน เราก็ควรหลีกเลี่ยง


------
ที่มา ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย 4 มีนาคม 2554


ตรวจสารหนูในปลาหมึกแห้ง


ความปลอดภัยของผู้บริโภคถือได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ผลิตอาหาร จะผลิตได้มากหรือน้อย ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเสมอ

ถ้าเมื่อใดขาดการรักษาความสะอาดหรือความใส่ใจในเรื่องความปลอดภัย ผู้บริโภคอาจตกอยู่ในอันตรายได้ทุกวินาที

อันตรายที่ว่านั้นอาจมาจากทั้งเชื้อก่อโรคปนเปื้อนอยู่ในอาหารหรือสารพิษ สารเคมีต่างๆ หรือสิ่งแปลกปลอมที่ตกค้างในอาหาร

สำหรับ อาหารทะเลโดยทั่วไปนั้นจะพบอันตรายจากโลหะหนักตกค้าง ซึ่งโลหะหนักที่เราได้ยินกันบ่อยๆ เห็นจะเป็นสารหนู ซึ่งพบตกค้างปริมาณมากในปลาหมึกและสาหร่ายทะเล ทั้งสารหนูในรูป อินทรีย์ (Organic Arsenic) และสารหนูที่อยู่ในรูป อนินทรีย์ (Inorganio Arsenic)

สำหรับ พิษภัยของสารหนูตกค้างในอาหาร มาจากสารหนูที่อยู่ในรูปอนินทรีย์ ถ้าร่างกายได้รับเข้าไปมาก จะสะสมที่ตับและทำลายระบบการทำงานของตับ และบางส่วนไปอยู่ที่ผม เล็บ และผิวหนัง ทำให้หนังเป็นรอยจ้ำและเกิดมะเร็งผิวหนัง

นอกจากนั้น ยังทำลายประสาทสัมผัสของร่างกาย โดยปกติร่างกายจะกำจัดสารหนูอยู่แล้ว แต่ถ้าทานอาหารที่มีสารหนูตกค้างเข้าไปมากเกินจะทำให้เกิดการสะสมและเกิด อันตรายได้

สารหนูไม่ได้มีโทษเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์โดยต้องการในปริมาณที่ต่ำมาก

วันนี้ คอลัมน์มันมากับอาหารได้สุ่มตรวจปลาหมึกแห้งเพื่อวิเคราะห์หาการปนเปื้อนสาร หนู จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่านการค้าในเขตกรุงเทพฯ

ผลการวิเคราะห์พบว่า มีสารหนูปนเปื้อนทุกตัวอย่าง

แต่ในปริมาณที่ไม่สูงมาก และไม่เกินประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดให้สารหนูในรูปอนินทรีย์ปนเปื้อนในสัตว์น้ำและอาหารทะเลได้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม

วันนี้ ยังทานปลาหมึกแห้งได้ แต่ขอเตือนว่าไม่ควรทานให้บ่อยนัก


ที่มา: ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย 28 มกราคม 2554

No comments:

Post a Comment