Thursday, October 20, 2011

ใช้หลักการ 'น้ำดันน้ำ' คำแนะนำจากผู้รู้ ป้องกันน้ำท่วม กทม.

เวลานี้ชาวกทม.ต่างใจจดใจจ่อ ลุ้นระทึกว่าน้ำจะท่วมตามหลายๆจังหวัด และหลายๆนิคมอุตสาหกรรมหรือไม่ ขณะที่รัฐบาลโดยศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ศปภ.) และกรุงเทพมหานคร(กทม.) ออกมาให้ความมั่นใจว่าสามารถป้องกันได้ แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครเชื่อถือเท่าใดนัก เพราะมีบทเรียนจากนิคมอุตสาหกรรม 6 แห่ง ที่รัฐบาลมั่นใจว่าเอาอยู่ แต่ปรากฏว่าแตกหมด

ล่าสุด ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เผยแพร่คลิปวีดิโอแนะนำวิธีการป้องกันน้ำท่วม กทม. โดยนายอภิชาติ สุทธิศีลธรรม อดีตนิสิตวิศวกรรมเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ซึ่งทำงานภาคเอกชนมาทั้งชีวิต มีประสบการณ์ตรงมากมาย โดยได้เผยแพร่บนเว็บไซต์ยูทูบและเฟซบุ๊กส่วนตัว http://facebook.com/mtaneewong

คุณอภิชาติ แนะนำวิธีการป้องกันโดยเน้นไปที่ปัญหาเรื่องเขื่อน พนัง หรือคันกั้นน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถป้องกันได้ ล้วนถูกน้ำซัดพังในทุกๆพื้นที่ วิธีสู้กับมวลน้ำมหาศาลนี้คือ ใช้ "น้ำดันน้ำ" โดยแยกเป็น 3 กรณี

กรณีที่ 1 ใช้วิธีสร้างเขื่อน 2 ชั้น


คุณอภิชาติ อธิบายว่า ที่ผ่านมามีการสร้างเขื่อนหรือคันกั้นน้ำป้องกัน โดยหวังจะให้พื้นที่นั้นๆแห้ง ซึ่งความเป็นจริงแล้วไม่สามารถเป็นไปได้ เพราะเขื่อนที่สร้างขึ้นมาเป็นเขื่อนกั้นน้ำชั่วคราว แรงดันน้ำจำนวนมหาศาลจะทำให้น้ำค่อยๆซึมเข้าไปตามด้านล่างของเขื่อนที่อยู่ติดกับพื้นดิน เซาะฐานล่างจนทำให้เขื่อนพังในที่สุด

กรณีถ้ามีเวลาเตรียมตัว วิธีที่ทั่วโลกทำกันก็คือ ทำเขื่อน 2 ชั้น อาจจะให้มีระยะห่างระหว่างแนวเขื่อนชั้นแรกกับชั้นที่ 2 ประมาณ 2-3 เมตร จากนั้นค่อยๆพร่องน้ำให้เข้ามาอยู่ระหว่างแนวเขื่อน ซึ่งแรงดันน้ำที่อยู่นอกเขื่อนกับในแนวเขื่อนก็จะดันกันเอง ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำซึมเข้ามาตามพื้นด้านล่าง หรือมีก็จะน้อยมาก นอกจากนั้นให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำคอยสูบน้ำที่อยู่ในแนวเขื่อนกลับออกไป เพื่อรักษาระดับสมดุลไว้ เขื่อนก็จะไม่พัง

กรณีที่ 2 "ยอมแพ้ แต่ไม่ทั้งหมด"


คุณอภิชาติ อธิบายต่อว่า กรณีนี้จะเหมาะกับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่อยู่นอกเมืองที่ยังไม่จม แต่มวลน้ำมาจ่อแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะมีแนวเขื่อนกั้นอยู่ด้านนอก จุดอ่อนที่น้ำจะโจมตีคือที่บริเวณประตูทางเข้าอาคาร วิธีนี้จะใช้ผนังอาคารเป็นตัวกั้น โดยบริเวณประตูให้ก่ออิฐขึ้นมาและอาจจะมีแนวกระสอบเป็นตัวช่วย จากนั้นใช้เครื่องสูบน้ำ กาลักน้ำ หรือเปิดประตูระบาย เพื่อพร่องน้ำเข้ามาภายในแนวระหว่างเขื่อนกับตัวอาคาร วิธีนี้จะยอมให้พื้นที่รอบนอกอาคารถูกท่วมเสียหายเล็กน้อย เสียหายไม่เกิน 5% แต่จะสามารถป้องกันภายในตัวอาคารไว้ได้ ดีกว่ากั้นไว้จนเขื่อนพังแล้วน้ำทะลักเข้ามาจนเต็มพื้นที่ทั้งหมด

"อย่าเอาชนะน้ำ เราต้องยอมแพ้มัน แต่เราไม่ยอมแพ้ทั้งหมด เรายอมให้มันเข้ามา มันต้องการที่อยู่เราก็ให้มันเข้ามาอยู่ แต่ให้เข้ามาครึ่งเดียว ที่เหลือให้อยู่ข้างนอก"

กรณีที่ 3 "ต้องมีคนเสียสละ"


คุณอภิชาติ ระบุว่า กรณีนี้สำหรับ กทม.โดยเฉพาะ ที่มั่นใจว่าเขื่อนเอาอยู่นั้น ในที่สุดก็จะพังเหมือนกับทุกๆที่ วิธีนี้ก็จะเหมือนกับวิธีที่ 2 คือ ต้องยอมให้ท่วมพื้นที่ กทม.ชั้นนอก เช่น ดอนเมือง สายไหม เชื่อว่าความเสียหายจะไม่เกิน 20% ของพื้นที่ กทม.ทั้งหมด โดยเราค่อยๆปล่อยให้น้ำเข้ามาท่วม โดยแจ้งประชาชนให้ทราบล่วงหน้า ให้มีเวลาเตรียมการขนย้าย ป้องกันตัวเอง น้ำอาจจะท่วมขังอยู่ 15-20 วัน แล้วจะค่อยๆลดลง เพราะไม่มีฝนตกแล้ว แต่ยังมีมวลน้ำเหนือมหาศาลก็พร้อมที่จะถล่ม กทม.

"กรณีนี้มันต้องมีคนเสีย มันต้องมีคนได้ และมันต้องมีคนกล้าถูกด่า เราต้องทำให้ประชาชนเชื่อว่า มันพังแน่ มันท่วมแน่ เพราะมันพิสูจน์แล้วว่า มันพังมาหมดแล้ว และพังแล้วไม่เคยอุดได้ อันนี้ต้องรีบตัดสินใจทำภายใน 1-2 วันนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นนายกฯ ทีม ศปภ. หรือผู้ว่าฯ กทม.ต้องร่วมกันตัดสินใจ"

วิธีคือ เราค่อยๆปล่อยน้ำเข้ามาทางประตูน้ำให้เข้ามาในพื้นที่ กทม.ชั้นนอก พอได้ระดับซัก 1-1.50 เมตรก็ปิด หากฝนตกลงมาหรือซึมเข้ามามากก็สูบออกไปนอกแนวเขื่อน เพื่อให้แรงดันน้ำดันกันเอง กทม.ต้องยอมท่วมบ้าง ต้องยอมรับ หากทุกคนบอกว่าไม่ต้องการท่วมเลยสักคน มันก็จะท่วมทุกคนเลย แล้วใครจะมาช่วยเรา แต่ถ้าเราทำแบบนี้ คนที่ไม่ถูกท่วมก็จะมาช่วยได้

และเพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหาย ตอบแทนผู้ที่เสียสละ รัฐบาลหรือกทม.อาจจะใช้วิธีเก็บภาษีจากพวกที่ไม่ถูกท่วม อาจจะเป็นภาษีโรงเรือน จะเพิ่มขึ้นจาก 12.5% เป็น 15% เป็นเวลา 3 ปี เพื่อเอาเงินส่วนนี้มาช่วยเหลือฟื้นฟูพวกที่ยอมถูกน้ำท่วม หรือจะมีวิธีอะไรก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องทำ ที่สำคัญคือ จะต้องกล้าหาญ กล้าตัดสินใจ ปล่อยให้น้ำท่วม โดยมีคำอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ไม่สับสน

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม 2554

No comments:

Post a Comment