น่าเสียดายที่วันนี้ ผมไม่ได้อยู่ที่กรุงเทพฯ วันเสาร์ผมมาที่ขอนแก่น เมื่อวานพูดอยู่ที่กาฬสินธุ์ จันทร์วันนี้มาประชุมที่วิทยาลัยการบินของ ม.นครพนม ขณะที่จันทร์วันนี้มีงานสำคัญที่กรุงเทพฯ 08.00-12.00 น. คุณอลงกรณ์ พลบุตร ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ จะพาบรรดาผู้คนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม กว่า 200 คน ล่องเรือไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อขับเคลื่อนให้นโยบาย "เจ้าพระยาสร้างสรรค์"
ผู้อ่านท่านที่เคารพที่ชอบตระเวนเมืองจีน ก็คงจะเคยมีประสบการณ์เหมือนผมนะครับ ในอดีตเราเห็นสภาพบ้านเรือนและถนนหนทางของจีนสุดโทรม มีสีมอๆ ผู้คนแต่งกายคล้ายกันทั้งเมือง เมื่อวันเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป บ้านเมืองและผู้คนก็ค่อยๆ ทยอยมีสีสันและมีชีวิตชีวาขึ้นมาเรื่อยๆ กระทั่งปัจจุบันทุกวันนี้ เราเห็นเมืองจีนที่มีสีสันเต็มที่ ไม่แพ้ชาติอื่นเมืองใดในโลก
พ.ศ.2549 ผมเทียวเที่ยวไปในยามค่ำคืนที่เมืองกุ้ยหลิน เมืองสำคัญของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ตามริมแม่น้ำ ริมคลอง ผู้บริหารท้องถิ่นจัดที่ไว้ให้ชาวบ้านออกมารวมกลุ่มชุมนุมสุมหัวร้องรำฮัม เพลงเป็นระยะๆ น่ารักมากครับ ตามริมแม่น้ำ ริมคลอง ก็มีการใช้แสงไฟสีต่างๆ เล่นอย่างสวยงาม ยามค่ำคืนเมืองกุ้ยหลินสวยจริงๆ ไม่ใช่สวยเพราะธรรมชาติสร้าง แต่สวยเพราะผู้บริหารท้องถิ่นสร้าง
พ.ศ.2550 ผมไปประชุมที่เมืองลี่เจียง มณฑลหยุนหนาน ยามค่ำคืนก็ออกตระเวนไปตามถนนหนทางสายต่างๆ ยอมรับครับว่า ออกมาแล้วไม่อยากกลับโรงแรม เพราะริมคลองสองข้าง รัฐบาลท้องถิ่นของลี่เจียงประดับประดาและตกแต่งได้อย่างสวยงามจริงๆ วันต่อมา ผมมีโอกาสเข้าประชุมกับรองนายกเทศมนตรีและคณะผู้บริหารเมืองลี่เจียง ผมจึงถึงได้ความรู้ว่า ชาวบ้านที่นี่ไม่มีสิทธิ์ติดไฟฟ้านอกบ้านได้เอง ต้องเทศบาลเป็นคนติดตั้งให้เท่านั้น เพราะเทศบาลต้องการสร้างทรัพยากรการท่องเที่ยวทางเดิน ถนนแต่ละสายจะอบอวลไปด้วยแสงไฟที่ให้ความสว่างต่างอารมณ์กัน บางสายนวลแดง บางแห่งนวลเขียว บางสายนวลเหลือง ฯลฯ ยามค่ำคืน ประชาชนและผู้คนที่มาเยือนเมืองจะได้ออกมาเดินเล่นเพ่นพ่านไปตามถนนหนทาง ต่างๆ ด้านนอกอาคารสถานที่ก็เหมือนกัน ต้องให้เทศบาลอนุมัติแบบแปลนที่จะต้องสอดคล้องกับคอนเซปต์ของเมืองลี่เจียง เจ้าของจะมาสุ่มสี่สุ่มห้าตกแต่งไม่ได้
จากนั้น ผมก็ยอมควักสตางค์ไปเที่ยวตามแม่น้ำที่ไหลผ่านเมืองต่างๆ ที่ใดมีข่าวว่าผู้บริหารเมืองเอาทัศนียภาพสองฝั่งแม่น้ำและฝั่งทะเลมาทำ ทรัพยากรการท่องเที่ยวได้ดี ผมเดินทางไปเยือนหมด ที่เห็นว่าน่าจะใช้ได้ก็มีกรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน (บรูไน) กรุงทบิลิซี (จอร์เจีย) เมืองปาเล็มบัง (อินโดนีเซีย) กรุงโซล (เกาหลีใต้) นครดูไบ (สหรัฐอาหรับ-เอมิเรตส์) กรุงปารีส (ฝรั่งเศส) กรุงบูดาเปสต์ (ฮังการี) กรุงวัลเลตตา (มอลตา) กรุงอัมสเตอร์ดัม (เนเธอร์แลนด์) กรุงมอสโก (รัสเซีย) กรุงลอนดอน (อังกฤษ) สิงคโปร์ ฯลฯ ผู้บริหารเมืองแม่น้ำผ่ากลางเหล่านี้ก็มีความคิดคล้ายกับที่คุณอลงกรณ์กำลัง ทำโครงการ "เจ้าพระยาสร้างสรรค์"
คุณอลงกรณ์จะขึ้นเรือที่ท่าเรือ โรงแรมริเวอร์ไซด์ เชิงสะพานซังฮี้ การสำรวจตรวจตราจะเริ่มที่สะพานกรุงธนไปจนถึงสะพานแขวนพระราม 9 โดยมีผู้คนช่วยกันคิดว่าจะแต่งเติมสีสัน สร้างแลนด์มาร์ค ทาสีสะพาน และอาคารบ้านเรือนริมแม่น้ำ ติดไฟส่องสีสันสวยงามยามค่ำคืน ออกแบบโป๊ะใหม่ เสริมความงามตามสถานที่ว่างด้วยแมกไม้หลากหลายพันธุ์ นำทรัพยากรการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ วรรณคดี ทางตำนาน ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ฯลฯ
เขียนให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ คุณอลงกรณ์และคณะตั้งใจจะดีไซน์ให้สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีสีสัน มีชีวิตชีวา สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างมูลค่า และสร้างคุณค่าให้กับมรดกตกทอดที่บรรพบุรุษให้เรามาอยู่แล้ว มาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ ไม่ต้องมามัวพึ่งแต่โรงงานจากต่างประเทศที่นำมาแต่เรื่องมลภาวะ มลพิษ
ผม ชอบการมี 2 สถานะนะครับ คือ ทั้งสถานะนก และสถานะหนอน เป็นนกก็คือ การบินขึ้นไปบนที่สูง และมองลงมาเห็นป่าทั้งป่า เห็นว่าตรงนั้นเป็นหนองน้ำ เป็นถนนหนทาง เป็นเรือกสวนไร่นาป่าเขา ฯลฯ ส่วนสถานะหนอนก็คือ ผมชอบลงไปคลุกกับเรื่องจริง บุคคลจริง เหตุการณ์จริง บางท่านวิจารณ์ผู้คนจากการบอกเล่าเอามาจากปากของคนอื่น แต่ผมชอบวิจารณ์จากการสัมผัสจริง อย่างคุณอลงกรณ์นี่ผมเคยวิจารณ์มาหลายครั้ง ว่าเป็นรัฐมนตรีที่ขยันจนตัวเป็นเกลียว หัวเป็นนอต เป็นรัฐมนตรีที่ใช้งบประมาณน้อย แต่ได้งานมาก รู้จักขอความร่วมมือจากผู้คน บริหารคนบริหารเครือข่าย และความสัมพันธ์ได้เก่งพอสมควร
ไล่ดูราย ชื่อผู้คนที่เข้าร่วมโครงการเจ้าพระยาสร้างสรรค์แล้ว ผมรู้สึกว่า งานนี้คุณอลงกรณ์น่าจะทำให้สำเร็จได้ไม่ยาก เจ้าพระยาแม่น้ำของเรามีโอกาสสวยงามขึ้นแน่ ผู้ที่ร่วมโครงการมีคุณกานต์ ตระกูลฮุน (SCG) คุณตัน ภาสกรนที (ตัน โออิชิ) คุณวิกรม กรมดิษฐ์ (กลุ่มอมตะ) คุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ (ปตท.)
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ (ทรู) ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ (อดีตปลัดกระทรวงการคลัง) คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี (เบียร์ช้าง) และอีกมากมายหลายท่าน หลายหน่วยงานครับ ไม่ว่าจะประธานธนาคารกรุงไทย รองผู้ว่าฯ กทม. ททท. กรมเจ้าท่า บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา ม.ศิลปากร ม.มหิดล ฯลฯ กว่า 200 คน ที่จะมาช่วยกันสำรวจแม่น้ำเจ้าพระยา อันนี้เป็นสไตล์การบริหารแนวใหม่ เน้นการมีส่วนร่วม ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันสร้าง การนำเรื่องดี ๆ มากันบ้าง ครับ
นิติภูมิ นวรัตน์
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ วันจันทร์ที่ 17 มกราคม 2554
.
No comments:
Post a Comment