สาเหตุที่ทำให้อุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง คือ นอกจากความมีวินัยของผู้ขับขี่ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเสมอภาคของเจ้าพนักงานแล้ว ตัวบทกฎหมายเองยังมีความเข้มงวดอย่างยิ่งอีกด้วย
กฎหมายเมาแล้วขับ ตามมาตรา 65 ของ พรบ การจราจร ของญี่ปุ่น ถูกยกร่างขึ้นใหม่ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน คศ.2007 เป็นต้นมา สรุปสาระสำคัญ คือ
วรรคหนึ่ง
ห้ามขับขี่ยานพาหนะในขณะที่มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย
วรรคสอง
ห้ามให้ยืมหรือให้ใช้ยานพาหนะ แก่ผู้ที่น่าวิตกว่าจะกระทำผิดตามวรรคหนึ่ง
วรรคสาม
ห้ามให้สุรา หรือสนับสนุนการดื่มสุรา แก่ผู้ที่น่าวิตกว่าจะกระทำผิดตามวรรคหนึ่ง
วรรคสี่
ห้ามร้องขอหรือไหว้วานให้ผู้อื่นขับขี่ยานพาหนะไปส่งตนเอง โดยที่รู้อยู่แล้วว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย อีกทั้งห้ามร่วมโดยสารไปในยานพาหนะที่ขับขี่โดยบุคคลที่กระทำผิดตามวรรคหนึ่งด้วย
บทลงโทษ
ผู้ขับขี่เมาแล้วขับ
พิจารณาตามสภาพ ว่าไม่อยู่ในอาการที่จะควบคุมการขับขี่ได้ตามปกติ เช่น เดินเซ ตาปรือ หน้าแดงก่ำ ฯลฯ
โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน (3.6 แสนบาท)
หักคะแนน 35 แต้ม และเพิกถอนใบขับขี่ 3 ปี
หากก่ออุบัติเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต จะมีความผิดในโทษฐานขับขี่อันตรายอันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 20 ปี ซึ่งเป็นโทษที่หนักกว่าการขับขี่โดยประมาทอันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งกำหนดโทษไว้ไม่เกิน 7 ปี
หรืออาจกล่าวได้ว่า การเมาแล้วขับและทำให้มีผู้เสียชีวิต มีโทษรุนแรง รองจากความผิดฐานฆ่าคนตายเลยทีเดียว
มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย
มีแอลกอฮอล์เกินกว่า 0.15 mg ต่อลมหายใจ 1 ลิตร
โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนเยน (180,000 บาท)
หักคะแนน 13-25 แต้ม และยึดใบขับขี่ตั้งแต่ 90 วัน ไปจนถึงเพิกถอนใบขับขี่ 2 ปี
ผู้ให้ยืมหรือให้ใช้ยานพาหนะ
มีโทษจำคุกและโทษปรับเท่ากับผู้ขับขี่
ผู้จำหน่ายสุรา ผู้สนับสนุนให้ดื่ม หรือผู้ร่วมโดยสารมาด้วย
กรณีผู้ขับขี่เมาแล้วขับ
โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนเยน (180,000 เยน)
กรณีผู้ขับขี่มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย
โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนเยน (108,000 เยน)
ยกตัวอย่างเช่น ร้านอาหารแห่งหนึ่ง มีที่จอดรถให้บริการ และทราบได้ชัดเจนว่า ลูกค้าขับรถมาที่ร้าน ร้านอาหารนี้จะต้องไม่เสิร์ฟเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ให้กับผู้ขับขี่ อีกทั้งผู้ที่นั่งรถมาด้วยก็ต้องไม่สนับสนุนให้ดื่ม และจะต้องไม่นั่งรถกลับไปด้วย มิฉะนั้น ทุกฝ่ายจะมีความผิดทั้งหมด
Cr: หมอ สารภี
----------------------------
ถอดบทเรียนญี่ปุ่น พลิกวิกฤต ลดอุบัติเหตุทางถนน 4 เท่า
นายทาคาชิ นากาสึจิ อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮอกไกโด ซึ่งเข้าร่วมเป็นวิทยากรหลักในการพูดคุยในเวทีสัมมนาระดับชาติเรื่อง ความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ 10 “ทศวรรษแห่งการลงมือทำ : Time For Action” ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไปเทคบางนา กรุงเทพ ที่ผ่านมา ในหัวข้อ “การเดินทางปลอดภัย ไม่ไกลเกินฝัน”
นายทาคาชิ บอกเล่าถึงการจัดการความปลอดภัยทางถนนในประเทศญี่ปุ่นว่า “ก่อนหน้านี้ประเทศญี่ปุ่นก็ประสบกับปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ต่างจากประเทศอื่นในแถบเอเชีย ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ คือการเมาแล้วขับ โดยเมื่อก่อน กฎหมายที่ใช้ลงโทษคนเมาแล้วขับของประเทศญี่ปุ่นไม่ได้มีบทลงโทษที่รุนแรง แต่มีเหตุอุบัติเหตุครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นอุบัติเหตุที่คนขับรถบรรทุก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถขึ้นทางด่วนโทเมต์ (TOMEI) ชนท้ายรถเก๋งที่มากันทั้งครอบครัว ส่งผลให้รถคันนั้นเกิดไฟลุกไหม้ ทำให้ลูกสาววัย 1 ขวบและวัย 3ขวบของครอบครัวที่ถูกรถสิบล้อชน ถูกไฟคลอกจนเสียชีวิต แต่ผู้ก่อเหตุกลับถูกลงโทษจำคุกแค่ 4 ปี ในข้อหาประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
นอกจากนี้ยังมีอุบัติเหตุที่คนเมา ไม่มีใบอนุญาตขับรถ รถไม่มีประกันอุบัติเหตุ และไม่มีการตรวจสภาพ ขับรถชนนักศึกษาที่เดินอยู่บนทางเท้าเสียชีวิต ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ ผู้ก่อเหตุถูกตัดสินจำคุก 5 ปี 6 เดือน ในข้อหาเดียวกันกับกรณีก่อนหน้านี้
จาก 2 กรณีหลักที่เกิดขึ้น และอีกหลายๆ กรณีของอุบัติเหตุที่เกิดจากการเมาแล้วขับ ผู้ก่อเหตุกลับรับโทษเพียงน้อยนิด ทำให้กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมญี่ปุ่น จนนำมาสู่การปรับปรุงและแก้ไขกฏหมายการเมาแล้วขับจาก “ข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นข้อหา “ก่ออาชญากรรมที่เกิดจากความประมาท Crime of Negligence” ซึ่งผู้ก่อเหตุมีโทษจำคุก 15 ปี ในกรณีที่ทำให้เหยื่อบาดเจ็บ และจำคุกอีก 20 ปี ในกรณีที่ทำให้เหยื่อเสียชีวิต ทั้งนี้ผู้ที่โดยสารมาด้วย ก็จะถูกจำคุกลดหลั่นลงไปในข้อหาให้ความช่วยเหลือการขับรถที่อันตรายโดยไม่ยับยั้งและให้การสนับสนุน นอกจากนี้ เจ้าของร้านอาหารที่คนเมาแล้วขับไปใช้บริการ ก็จะถูกดำเนินคดีด้วยในข้อหาเสิร์ฟเหล้าไม่ยังยั้ง อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮอกไกโดกล่าว
นายทาคาชิ ยังให้ข้อมูลอีกด้วยว่า หลังจากที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายเมาแล้วขับ ทำให้สถิติของอุบัติเหตุจราจรที่เกิดจากเมาและขับลดลง จากเดิมในปี 1960 มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมด 25,400 คนต่อปี แต่ในปี 2,000 มีผู้เสียชีวิตเพียงแค่ 7,558 คนต่อปี นายทาคาชิ ยังบอกอีกด้วยว่า สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดในประเทศไทย คือสถิติการดื่มแอลกอฮอล์ ที่คนไทยนั้นเป็นนักดื่มระดับต้นๆ ในภูมิภาค เฉลี่ยสถิติของสิงห์นักดื่ม 8 ลิตรต่อคนต่อปี ซึ่งเท่ากับว่าคนไทยทั้งประเทศจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละ 560 ล้านลิตร ซึ่งเป็นสถิติที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ดังนั้นหากประเทศไทยแก้ปัญหาตรงส่วนนี้ได้ก็จะสามารถลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในท้องถนนได้
ทั้งนี้กฎหมายที่เกี่ยวเนื่องในการดำเนินความผิดกับบุคคลที่เมาแล้วขับในประเทศไทย คือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 ที่ลงโทษจำคุกบุคคลที่เมาแล้วขับจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และในมาตรา 300 ก็ลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6 พันบาท สำหรับบุคคลที่เมาแล้วขับ จนส่งผลให้บุคคลอื่นบาดเจ็บสาหัส ซึ่งเป็นโทษที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับกฏหมายของประเทศญี่ปุ่น
ขณะที่นายสิทธา เจนศิริศักดิ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ม.อุบลราชธานี ได้กล่าวถึงทางออกในระยะยาวเกี่ยวกับรูปแบบของเมืองกับการขนส่งมวลชน และทางเลือกเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนว่า จากสถิติที่ตนได้รวบรวมมานั้น พบจำนวนอุบัติเหตุทั่วประเทศไทย เกิดจากรถจักรยานยนต์มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการใช้รถจักรยานยนต์นั้น เป็นพาหนะที่ใช้อย่างแพร่หลายทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท ดังนั้นหากจะจัดการเรื่องการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน จะต้องแก้ไขระบบขนส่งมวลชนให้พร้อม เพียงพอและเหมาะสมกับวิถีชีวิตของประชาชนทั้งสองกลุ่มด้วยการออกแบบและวางโครงสร้างพื้นฐานของเมือง ที่สามารถใช้ประโยชน์การเดินทางทั้งทางรถและทางเท้าได้
นายสิทธา ได้ยกตัวอย่างที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ที่มีการปรับปรุงช่องการจราจรเป็นพื้นที่ถนนคนเดิน และเปลี่ยนระบบขนส่งมวลชนเป็นระบบราง ทำให้อุบัติเหตุลดน้อยลง ส่งผลให้การสัญจรไปมาสะดวกมากขึ้น นอกจากนี้หลายประเทศในแถบยุโรป ยังปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้ได้มาตรฐาน ซึ่งทางออกของประเทศไทยคือ ต้องพัฒนาทางเลือกการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย รวมถึงต้องมีระบบขนส่งสาธารณะที่ได้มาตรฐาน รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งสาธารณะให้ชัดเจน และไม่ควรลืมการปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะกับการเดินเท้า การใช้จักรยาน และเหมาะกับรถโรงเรียน “อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ม.อุบลราชธานีกล่าว
อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้าง “การเดินทางปลอดภัย ไม่ไกลเกินฝัน” ให้เกิดขึ้นจริง คือการปลูกจิตสำนึกให้เกิดขึ้นกับคนไทยในการเฝ้าระวังใช้รถใช้ถนนให้ถูกต้องตามกฏระเบียบวินัยจราจร เพื่อนำไปสู่การลดอุบัติเหตุไม่ใช่เพื่อตัวเราเองและเพื่อสังคมที่จะใช้รถใช้ถนนด้วยความปลอดภัย.-
Cr:: matichononline วันที่ 07 ตุลาคม พ.ศ. 2554
No comments:
Post a Comment