Tuesday, December 27, 2011

โจทย์ท้าทายเศรษฐกิจปี 55 หลังวิกฤติน้ำท่วม

หลายฝ่ายต่างประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้าว่า จะเดินหน้าอย่างไร? หลังประเทศไทยเจอผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติอุทกภัยครั้งร้ายแรง มูลค่าความเสียหายมหาศาล โดยเฉพาะกระทบต่อจีดีพี และยิ่งภาคส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติหนี้ยุโรป แน่นอนประเทศไทยจะหวังรายได้ส่วนนี้ประมาณ 70% อย่างในอดีตคงไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องหามาตรการอื่นเข้ามาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ...

แต่ด้วยปัจจัยลบที่มีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย แต่ด้วยการลงทุนภาครัฐในปี 2555 ในหลายโครงการเพื่อฟื้นฟู เยียวยา และป้องกันการเกิดน้ำท่วมซ้ำ โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐานก็เป็นสิ่งที่น่าจับตา กับประสิทธิผลในการกระตุ้นการใช้สอยในประเทศ และในส่วนเงินชดเชยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งจะนำมาซ่อมแซมบ้านเรือน ซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทดแทนที่เสียหายจากน้ำท่วม การนำเงินสะสมมาซ่อมแซมบ้านเรือน หรือภาคอุตสาหกรรมนำเงินมาฟื้นฟูโรงงาน ย้ายโรงงานหนีน้ำท่วม ก็เป็นสิ่งที่ควรจับตาในปีหน้า เพราะฉะนั้นเรื่องของอุปสงค์ในส่วนของสินค้าฟุ่มเฟือย จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการต้องคิดพิจารณา เมื่ออุปทานอาจจะลดลงจากการรัดเข็มขัด เพราะต้องนำเงินไปใช้ซ่อมแซมบ้านเรือนแทน ?

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2555 จะเป็นอย่างไร ในมุมมองของรองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งได้นำปัจจัยที่ผ่านมานำมาพิจารณา โดยเฉพาะปลายปี 2554 เมื่อเศรษฐกิจไทยถูกโจมตีจากมหาอุทกภัยอย่างหนัก สร้างความเสียหายให้กับภาคธุรกิจอย่างมหาศาล โดยมองว่า ได้ฉุดจีดีพีของประเทศเหลือไม่ถึง 2% ตามที่สำนักต่างๆ คาดการณ์กัน ดังนั้นต้นปี 2555 ถือเป็นช่วงของการฟื้นฟูประเทศ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินไว้ว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะโตประมาณ 4.8 % ซึ่งข้อเท็จจริงตัวเลขจะเป็นอย่างไร ต้องดูจากปัจจัยต่างๆ ที่เป็นตัวแปรสำคัญเป็นองค์ประกอบ ตั้งแต่การดำเนินนโยบายของรัฐบาล แนวโน้มการบริโภคของประชาชน การจับจ่ายใช้สอยของประชาชน เพราะที่ผ่านมา การบริโภคของประชาชนมีความสำคัญมากถึง 55% ในการกระตุ้นจีดีพีของประเทศ


นอกจากนี้ ในปีหน้าประชาชนส่วนใหญ่ต้องซ่อมบ้าน ซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ทั้งทีวี ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ โดยประเมินจากความเสียหายจากน้ำท่วม มีประมาณ 600,000-700,000 เครื่อง คาดว่าจะมีการจับใช้จ่ายสอยในส่วนนี้มากขึ้น ส่วนการลงทุนของภาคเอกชน (Investment) ถือเป็นตัวแปรที่สำคัญในปีหน้า ซึ่งน่าจะมีการลงทุนใหม่เพิ่มขึ้น เพราะจะมีการฟื้นฟูโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ และที่มากกว่านั้น บางโรงงานจะย้ายไปอยู่ในพื้นที่อื่นของประเทศ เพื่อหนีปัญหาน้ำท่วม ดังนั้นจึงต้องมีการลงทุนใหม่เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง

สำหรับตัวแปรที่เชื่อว่ามีบทบาทมากที่สุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เกี่ยวกับการใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งปกติจะมีน้ำหนักประมาณ 14-15% แต่ในปีหน้านี้ จะมีน้ำหนักมากขึ้น เพราะงบประมาณส่วนหนึ่งต้องนำมาจ่ายในเรื่องการให้เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วม ครัวเรือนละ 5,000-10,000 บาท และการซ่อมแซมกิจการสาธารณูปโภคที่ถูกกระทบจากภัยธรรมชาติดังกล่าว อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการลงทุนป้องกันไม่ให้เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เกิดขึ้นอีกในปีหน้า หากเกิดขึ้นก็ให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด ถือเป็นอีกจุดหนึ่งที่จะทำให้การลงทุนในส่วนของภาครัฐมีการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับตัวแปรที่น่าเป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจในปีหน้า คือ เรื่องของการส่งออก ซึ่งในปีนี้เติบโตประมาณ 15-16% แต่ในปีหน้ามีความเป็นไปได้สูงว่า ตัวเลขจะปรับลดลงมาเหลือเพียงหลักเดียวเท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกมีปัญหา เพราะทั้งยุโรปและอเมริกาเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่มากของเอเชีย ประเทศไทยจะส่งออกสินค้าไปขายในจีน ญี่ปุ่นได้ในจำนวนมากก็ต่อเมื่อประเทศเหล่านี้มีการส่งออกไปยุโรป อเมริกาในปริมาณที่สูง ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหาก็ทำให้การส่งออกของประเทศแถบเอเชียชะลอตัวลง เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2554 เพราะตัวเลขเริ่มติดลบ อันเป็นผลจากห่วงโซ่อุปทาน ไม่ว่าจะเป็นการผลิตในจีนลดลง การส่งออกในจีนชะลอตัวลง ในขณะที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน

"ด้วยเหตุนี้ พลังของการส่งออก ซึ่งในอดีตช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากถึง 70% ของจีดีพี ก็อาจจะลดลงไปอย่างมาก ยิ่งในปีหน้านี้ เศรษฐกิจในโซนอเมริกาและยุโรปยังคงตกต่ำต่อเนื่อง อเมริกาจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ ในยุโรปก็ไม่แตกต่างกัน มีการเลือกตั้งในหลายแห่ง ทั้ง รัสเซีย กรีก อิตาลี เมื่อสถานการเป็นเช่นนี้ รัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องหาวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจ เหมือนกับที่โอบามา ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้อัตราการว่างงานในประเทศลดลง โดยใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (QE) อัดฉีดเงินออกมา ซึ่งตอนนี้มีตั้งแต่ QE1 QE2 และ QE3"



เช่นเดียวกับยุโรป ได้ใช้วิธีการเดียวกับสหรัฐอเมริกา ในการเพิ่มปริมาณเงิน พิมพ์แบงก์ออกมาเพื่อทำให้สถานการณ์ต่างๆ นิ่ง ทำให้มีเงินออกมาหมุนเวียนในวงจรเศรษฐกิจโลกมากขึ้น และเงินจำนวนมากก็ไหลเข้ามาในแถบเอเชีย เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเอเชียเวลานี้ดีกว่าที่อื่นๆ เงินเหล่านี้ไปดันให้ตลาดเงิน ตลาดทุนมีการขยายตัวมากขึ้น เช่น ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ ซึ่งก็มีส่วนช่วยกระตุ้นจีดีพีของประเทศให้กระเตื้องมากขึ้น"

อย่างไรก็ตาม เมื่อหุ้นขยายตัว ผู้ประกอบการสามารถจะระดมทุนเพื่อนำมาขยายการลงทุนได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของเงินลงทุน และยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับผู้ที่มาลงทุนในตลาดหุ้นไปพร้อมๆ กันด้วย ทำให้คนเหล่านี้มีพลังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น การจัดเก็บภาษีของภาครัฐก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนั้นยังมีตัวแปรที่สำคัญ ที่ส่งผลให้การผลิตชะลอตัว จากการที่คนส่วนหนึ่งของประเทศรัดเข็มขัด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เงินส่วนหนึ่งนำใช้จ่ายในการปรับปรุงบ้านเรือน ดังนั้นทำให้ในส่วนของการจับจ่ายซื้อสินค้าอย่างอื่นอาจจะลดลง เช่น เสื้อผ้า สินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ ด้านผู้ประกอบการ ส่วนหนึ่งอาจจะมีการลงทุนใหม่ทันที แต่อีกด้านหนึ่ง อาจจะชะลอรอดูแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลก่อนว่าเป็นอย่างไร เพื่อวางแผนลงทุนในทิศทางที่ถูกต้องยิ่งขึ้น

จากการประมวลสถานการณ์ทั้งหมด ดูปัจจัยบวกและลบต่างๆ จึงคาดว่า จีดีพีของประเทศในปี 2555 จะปรับขึ้นจากปี 2554 เป็น 4-5% เพราะตัวแปรหลายตัวที่คาดว่า จะเลวร้ายในแง่ของเศรษฐกิจโลกบางทีอาจจะไม่รุนแรง เพราะสหรัฐฯและยุโรปกำลังแก้ไขปัญหาอยู่ แต่สิ่งที่น่าห่วงในปีหน้าเป็นเรื่องของปัญหาแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีแนวโน้มจะกลับบ้านสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะแรงงานพม่า เนื่องจากวันนี้พม่าเริ่มตั้งหลักได้แล้ว กลายเป็นประเทศเนื้อหอม ทุนต่างชาติจำนวนมากไหลเข้าไปในลงทุนในประเทศพม่าอย่างรวดเร็ว ในขณะที่รัฐบาลพม่าได้ปรับมาตรการต่างๆ เพื่อจูงใจให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในประเทศพม่าได้คล่องตัวมากขึ้น

ดังนั้นเมื่อมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ความต้องการแรงงานจะเพิ่มสูงขึ้น แรงงานพม่าที่เคยเข้ามาทำงานในประเทศไทย เช่น ในโรงงานแปรรูปอาหาร สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือธุรกิจบริการอื่นๆ ซึ่งเป็นแรงงานฝีมือที่พม่าต้องการ ดังนั้นแรงงานพม่าจึงมีแนวโน้มที่จะกลับไปทำงานในประเทศตัวเองมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแรงงานพม่าเท่านั้นที่จะกลับบ้าน แต่แรงงานที่มาจากเวียดนาม เขมร ลาว ต่างมีแนวโน้มกลับประเทศของตนเช่นกัน เพราะวันนี้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

"สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายของนักธุรกิจไทยที่จะต้องเตรียมรับมือในอนาคตอันใกล้ เศรษฐกิจไทยต้องเปลี่ยนจากเศรษฐกิจการผลิต(Production based economy) เป็นเศรษฐกิจที่อิงกับภาคบริการ (Service based economy) เช่น การค้าปลีก โลจิสติกส์ เฮลท์แคร์ ฯลฯ ความต้องการแรงงานภาคบริการย่อมเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ถ้าผู้ประกอบการไม่สามารถรักษาแรงงานของตนเองไว้ได้ ธุรกิจของไทยก็จะมีปัญหา เพราะฉะนั้นวันนี้ไม่ต้องมานั่งเถียงกันว่า ค่าแรงควรจะเป็น 300 บาทหรือเท่าไร เพราะไม่มีประโยชน์ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการจะดูแลแรงงานเหล่านี้อย่างไร ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สูงขึ้น"

ที่มา: โจทย์ท้าทายเศรษฐกิจปี 55 หลังวิกฤติน้ำท่วม ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ วันพุธที่ 28 ธันวาคม 2554

No comments:

Post a Comment