สมาคมผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ แฉเล่ห์ สปสช.หวังฮุบกองทุนประกันสังคม ด้านกลุ่มประกันฯสธ.ชี้ บัตรทองควรปรับปรุงระบบบริหารกองทุนย่อย ปี 54 มีเงินตกค้างมากกว่า 4 พันล้าน...
นพ.บัญชา ค้าของ ผู้แทนกลุ่มประกันสุขภาพ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) กล่าวถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพของประเทศ ในงานประชุมภาคีเครือข่ายเพื่อระบบสุขภาพที่ดีกว่าของคนไทย หรือ 2011 Thailand Healthcare Summit หัวข้อ “ระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพที่ยั่งยืนของประเทศไทย” เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ปัญหาของระบบการเงินการคลังในระบบสุขภาพของประเทศไทย จะเห็นได้ว่า มีการผลักภาระความเสี่ยงค่าใช้จ่ายจากกองทุนประกันสุขภาพไปให้หน่วยบริการ ขณะเดียวกันอำนาจอิสระที่ขาดสมดุลของกองทุนในการกำหนดหลักเกณฑ์จัดสรรภายใน และระหว่างกองทุน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดบริการประชาชน มีปัญหาความไม่เท่าเทียมและเป็นธรรม
"จากปัญหาต่างๆ ได้มีการสำรวจโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัด สธ.กว่า 840 แห่ง โดยมุ่งไปที่ระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ซึ่งพบว่า ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา กองทุนนี้มีการผลักภาระไปให้หน่วยบริการตลอด แม้จะได้รับงบประมาณที่เพิ่มขึ้นทุกปี แต่กลับกัน เงินจำนวนมากที่กองกลางตั้งเป็นกองทุนย่อย ทั้งกองทุนส่งเสริมสุขภาพ กองทุนผู้สูงอายุ ฯลฯ ทำให้งบบริการพื้นฐานของหน่วยบริการไม่เพียงพอ ที่สำคัญยังทุ่มงบไปในงบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่กลับไม่เพิ่มงบโครงสร้างพื้นฐาน และงบในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทั้งๆ ที่หากป้องกันโรคได้มากเท่าใด ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า การกันงบส่วนนี้ ทำให้มีเงินเหลือค้างท่อ หรืออยู่ในกองกลางอีกนับหมื่นล้านบาท แต่ได้มีการทยอยจ่ายให้แก่ รพ. ผ่านกองทุนย่อยต่างๆ กระทั่งข้อมูลล่าสุด ปี 2554 พบว่า ยังเหลือเงินค้างท่ออีก 4,200 ล้านบาท ซึ่งปัญหาเงินค้างท่อมาจากการที่ รพ.แต่ละแห่ง ต้องทำรายละเอียดยุ่งยาก อย่างกรณีการตรวจเยี่ยมผู้ป่วยตามบ้าน หากไม่ทำก็ไม่ได้เงินส่วนนี้ ดังนั้น สปสช.ควรปรับปรุงระเบียบการบริหารงบ ลดขั้นตอนยุ่งยากในกองทุนย่อย เพราะไม่เช่นนั้นก็จะมีปัญหาเบิกจ่าย" นพ.บัญชา กล่าว
พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) เปิดเผยว่า ปัญหาเงินค้างท่อเกิดจากระบบบริหารเงินของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่ดี รายละเอียดยุ่งยาก ต้องผ่านเกณฑ์ต่างๆ ซึ่ง รพ.ส่วนใหญ่รักษาผู้ป่วย ก็แทบไม่มีเวลาในการจัดทำขั้นตอนเบิกจ่ายแล้ว ตรงนี้บางแห่งก็ไม่ได้รับงบไปเลยก็มี ซึ่งก่อนหน้านี้ สพศท.ได้เปิดเผยเรื่องนี้ โดยระหว่างปี 2551-2553 พบเงินค้างท่อถึง 39,000 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนั้น สปสช.ก็มีการตามจ่ายเร่งด่วน ทำให้เงินค้างท่อลดลง และเหลือ 18,000 ล้านบาท กระทั่งล่าสุดเหลือ 4,200 ล้านบาท ซึ่งก็ยังมากอยู่ดี แต่ข้อมูลตรงนี้ไม่มีหลักฐานว่า มีการตามจ่ายให้ รพ. ไปแล้วจริงหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงควรตรวจสอบด้วย ไม่ใช่ให้ สปสช.พูดฝ่ายเดียว
ด้าน ภก.ธีระ ฉกาจนโรดม นายกสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) กล่าวว่า สปสช.เป็นหน่วยงานที่มีความอิสระมาก ทั้งๆที่มีอายุเพียง 9 ขวบ แต่สามารถเข้าไปดำเนินการต่างๆ ได้ อย่าง รพ.เอกชน มีการทำงานก่อตั้งมาร่วม 21 ปี แต่ปรากฏว่า ขณะนี้กำลังถูกเด็กอายุ 9 ขวบ ไล่เตะก้น ด้วยความพยายามดึงผู้ประกันตนออกจากกองทุนประกันสังคม และไปอยู่ในกองทุนบัตรทอง ซึ่งโดยข้อเท็จจริง แต่ละกองทุนต้องแข่งขันกัน เพื่อสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยมากกว่า เรียกได้ว่าขณะนี้ สปสช.กำลังแผ่อิทธิพลเข้าสู่ สปส. ดังนั้น จึงอยากฝากลูกจ้างผู้ประกันตนทั้งหลาย ออกมาเรียกร้องสิทธิของตน เพราะอย่าลืมว่า ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินทุกๆ เดือน ก็ควรได้สิทธิประโยชน์การบริการที่ดีกว่าสิทธิอื่น และ สปส.ควรใช้วิธีทำสัญญากับประกันสุขภาพเอกชน เพราะหากใช้บริษัทประกันสุขภาพ ย่อมได้รับการดูแลดีกว่าไปประสานกับ รพ.เอง
ขณะที่ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ทุกๆ วันที่ 30 กันยายน สปสช. จะกันเงินสำหรับให้ รพ. ทำการเบิกจ่ายกรณีกองทุนต่างๆ รวมถึงค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน ตามการวินิจฉัยโรคร่วมหรือ DRG ซึ่งในปีงบประมาณ 2554 จะกันไว้กว่า 4 พันล้านบาท ซึ่งทุกปีไม่เคยถึงหมื่นล้านบาทแน่นอน โดยงบส่วนนี้ตั้งเป้าว่าต้องกันไว้ไม่เกินร้อยละ 5 ของงบกองทุนทั้งหมด และในปีงบประมาณ 2555 ตั้งเป้าไว้ว่าต้องกันไว้ไม่เกินร้อยละ 4 ส่วนที่ใครจะมีการพูดถึง สปสช.ในการเข้าไปดึงผู้ประกันตนนั้น ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า สปสช. ทำตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งเป็นการทำตามกฎหมาย ตามมาตรา 10 แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากยังไม่พร้อม
ที่มา: แฉเล่ห์ สปสช.หวังฮุบเงินกองทุนประกันสังคม ไทยรัฐออนไลน์ วันพุธที่ 28 ธันวาคม 2554
---------------------------
ตัวอย่างที่เห็นชัด ๆ คือ โีรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (ศิริราช 2) คลองหลวง ปทุมธานี ต้องยกเลิกการให้บริการ บัตรทอง เพราะขาดทุนกว่า 10 ล้านบาท รับเฉพาะส่งต่อฉุกเฉินที่โรงพยาบาลท้องที่ไม่สามารถรักษาได้เท่านั้น แต่ตอนนี้พอยกเลิกบัตรทองปรากฏว่า คนไข้มากกว่าเดิมเกือบครึ่ง คนไข้พร้อมเสียเงินแต่อยากได้รับการรักษาที่ดี ได้ยาดี ดีกว่าใช้บัตรทองซะอีก ..งงละซิ
No comments:
Post a Comment