ผลพวงของอุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศ นอกจากจะทิ้งร่องรอยของการสูญเสีย แต่ก็ยังมีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ช่วยกันฟื้นฟูและเยียวยาให้ผู้ประสบภัยสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ดังเดิม
อย่างเช่น ความร่วมมืออย่างเร่งด่วนของนักวิจัยในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโน โลยี ที่พัฒนานวัตกรรมแก้น้ำเน่าเสียที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาให้ กับพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังจนเน่าเสีย โดยใช้ชื่อโครงการว่า “น้ำใส หายเหม็น ออกซิเจนสูง” หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่าระบบ “เอ็น-ค่า”(nCA)
“ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บอกว่า ผลงานนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์เทคโนโลยี โลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. และกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ในการพัฒนาระบบเอ็น-ค่า ขึ้นมา โดยระบบดังกล่าวประกอบด้วย สารจับตะกอนเพื่อให้น้ำใส หรือสารเอ็น-เคลียร์ (nCLEAR) และเครื่องเติมอากาศด้วยปั๊มที่ออกแบบอย่างง่าย ราคาประหยัด ที่เรียกว่า เอ็น-แอร์ (nAIR )
ระบบดังกล่าวผ่านการทดสอบใช้งานจริงแล้วในระดับหมู่บ้าน คือ ที่หมู่บ้านทรงพล ชุมชนคลองสอง ลำลูกกา ในพื้นที่กว่า 9,000 ลูกบาศก์เมตร และได้รับ การยืนยันจากผู้ใช้งานจริงในชุมชนว่า หลังจากทดสอบกับน้ำสีดำ ๆ ที่ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วหมู่บ้าน ปรากฏว่าภายใน 30 นาที ตะกอนสีดำจะจับตัวเป็นก้อน ทำให้น้ำใสและมีออกซิเจนสูงขึ้น วันต่อมายุงก็ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เมื่อน้ำดีขึ้นทำให้สามารถสูบน้ำออกจากชุมชนได้โดยไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ด้าน “ดร.วรรณี ฉินศิริกุล” ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยพอลิเมอร์ เอ็มเทค หัวหน้าทีมวิจัยพัฒนาระบบเอ็น-ค่า เปิดเผยถึงที่มาของนวัตกรรมนี้ว่า เป็นงานวิจัยเร่งด่วน ทำในช่วงปลายเดือนตุลาคม ซึ่งกำลังเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยได้ลงพื้นที่เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงชวนเพื่อน ๆ นักวิจัยมารวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งทางเอ็มเทค มีพื้นฐานเกี่ยวกับสารจับตะกอนอยู่แล้ว เมื่อรวมกับการออกแบบเครื่องเติมอากาศจากนักวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ทำให้เกิดเป็นระบบนี้ขึ้นมา
โดยเอ็น-เคลียร์ หรือสารจับตะกอนเพื่อให้น้ำใส จะผลิตจากสารสกัดธรรมชาติและผงถ่าน ไม่มีอะลูมิเนียมหรือโลหะหนักผสมอยู่ สามารถจับตะกอนในน้ำได้อย่างรวดเร็ว และสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ จึงมีความปลอดภัยในการนำไปใช้งานและไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
น้ำที่ได้หลังจากตกตะกอนและกรองตะกอนออก จะเป็นน้ำใส กลิ่นไม่เหม็น ดังนั้นหากต้องการนำน้ำนี้ไปใช้อุปโภค หรือบริโภคจำเป็นต้องผ่านกรรมวิธีในการฆ่าเชื้อโรคที่ถูกต้อง เช่น การฆ่าเชื้อด้วยความร้อนโดยการต้ม หรือการผสมสารคลอรีนเจือจาง
ส่วนเอ็น-แอร์ หรือปั๊มเติมอากาศขนาดเล็กนั้น “ดร.กรธรรม สถิรกุล” นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ โครงการฟิสิกส์และวิศวกรรม จากกรมวิทยาศาสตร์บริการ บอกว่า เป็นการเพิ่มออกซิเจนในน้ำ ซึ่งหลังจากเติมสารจับตะกอนแล้ว ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องเติมออกซิเจน ซึ่งมีหลายประเภท
แต่ทีมวิจัยเลือกพัฒนาเป็นเครื่อง สูบน้ำ หรือไดโว่ขนาดเล็ก ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มักจะเตรียมไว้ป้องกันน้ำท่วมอยู่แล้ว ซึ่งเครื่องเติมอากาศที่ผลิตขึ้นนี้จะผลิตฟองขนาดเล็ก ที่มีพื้นผิวสัมผัสในการแลกเปลี่ยนอากาศมากกว่าฟองขนาดใหญ่
ระบบเอ็น-ค่า สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยของเสีย แก้ปัญหาเรื่องมลพิษและ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ชุมชนหรือผู้สนใจระบบดังกล่าวสามารถติดต่อได้ที่งานประชาสัมพันธ์เอ็มเทค 0-2564-6500 ต่อ 4673.
นาตยา คชินทร
nattayap@dailynews.co.th
ที่มา: 'เอ็น-ค่า' นวัตกรรมแก้น้ำเน่า - ฉลาดคิด เดลินิวส์ เว็บ วันพุธที่ 28 ธันวาคม 2554
No comments:
Post a Comment