รัฐขายฝันสร้างฟลัดเวย์เป็นถนน 2 เส้นขนานกัน 8 เลน ยาว 322 กม. จากนครสวรรค์ส่งน้ำตรงถึงทะเลระยะรองรับน้ำหลากได้ 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที พัฒนาพื้นที่ริมถนนเป็นเมืองใหม่โกลเด้นเพลส พร้อมแหล่งท่องเที่ยว
นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) เปิดเผยว่า แนวคิดในการสร้าง ทางน้ำหลากหรือฟลัดเวย์ที่อยู่ในแผนการบริหารจัดการน้ำในระยะยั่งยืน งบประมาณ 120,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ได้มีการศึกษาแนวทางการทำฟลัดเวย์ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยเบื้องต้นจะสร้างถนน 2 เส้นทางฝั่งตะวันตกขนานกันไปวิ่งจากทะเลไปถึง จ.นครสวรรค์ ความยาว 322 กิโลเมตร (กม.) ระยะห่างตรงกลางซึ่งจะเป็นที่สำหรับทางน้ำผ่านมีระยะทาง 2 กม. จะช่วยระบายน้ำได้ 2,000 ลูกบาศก์ เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที
ทั้งนี้ ได้นำสถิติน้ำไหลสูงสุดที่ จ.นครสวรรค์ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 5,000 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ปริมาณที่ลำน้ำรับได้จะไม่ล้นตลิ่งมาท่วมบ้านเรือนอยู่ที่ 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที จึงเหลืออีก 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ที่จะต้องบริหารจัดการ ถ้าสามารถตัดยอดน้ำได้ที่ จ.นครสวรรค์ ไม่ให้น้ำไหลลงมามาก ให้เหลือเพียง 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือ 3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที น้ำก็จะไม่ท่วมพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาทั้งหมด จึงเกิดแนวคิดที่จะนำน้ำที่เหลือ 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ไหลเข้าฟลัดเวย์ไปลงทะเลโดยตรง เหมือนการขุดแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ แต่ฟลัดเวย์ที่จะทำนี้ไม่ได้ขุดแม่น้ำสายใหม่ แต่เป็นลักษณะที่บังคับให้น้ำไหลผ่านพื้นที่บนดินแล้วไหลลงไปในทะเล
สำหรับถนน 2 เส้นที่จะสร้างขนานกันนั้น จะมีเส้นหนึ่งเป็นถนนมาตรฐานเส้นหลักกว้าง 8 เลน ส่วนถนนอีกเส้นจะเป็นถนนไว้ใช้บำรุงรักษากว้าง 4-5 เลน แต่ถ้ามีงบประมาณมากพอก็จะสร้าง 8 เลนทั้ง 2 เส้น ถนนจะมีความสูงประมาณ 2 ม. เมื่อน้ำมีปริมาณมากจะขอปล่อยน้ำเข้าฟลัดเวย์ให้มีความสูงประมาณ 1.50 ม. ใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน ช่วงระหว่างเดือน ส.ค.-ต.ค. ช่วงที่น้ำไม่มาประชาชนก็ดำรงชีวิตตามปกติ แต่ในช่วงที่จะขอใช้ระบายน้ำ จะจ่ายค่าชดเชยให้ 2-3 เดือนเป็นการรอนสิทธิ์ ถ้าประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ฟลัดเวย์และไม่ต้องการอยู่ในช่องฟลัดเวย์ รัฐบาลจะหาที่อยู่ให้ใหม่โดยจะไปสร้างคอนโดฯให้อยู่ แต่ถ้าจะอยู่ที่เดิม กรมโยธาธิการกำลังออกแบบบ้านที่สามารถชักผนังขึ้นไปชั้นบนได้ เหลือแต่เสาอยู่ข้างล่าง ให้พ้นความลึกของน้ำที่ระดับ 1.50 ม. มีเรือสำหรับเดินทางได้ เมื่อน้ำหมดก็ปล่อยผนังลงมาอยู่ได้เหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม ยังมีแนวคิดที่จะสร้างฟลัดเวย์ฝั่งตะวันออกควบคู่กันไปด้วย เผื่อมีเหตุฉุกเฉินที่ไม่สามารถใช้งานฟลัดเวย์ฝั่งตะวันตกได้ ซึ่งขึ้น อยู่กับรัฐบาลว่าจะตัดสินใจอย่างไร และแนวฟลัดเวย์ต้องกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด อาจจะสร้างฟลัดเวย์ฝั่งตะวันตกเส้นเดียวเพื่อให้ระบายน้ำได้ 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือ อาจสร้างฟลัดเวย์ฝั่งตะวันออกให้ระบายน้ำได้ 500 ลบ.ม.ต่อวินาที และฝั่งตะวันตก 1,500 ลบ.ม. ต่อวินาที แต่ฝั่งตะวันออกค่อนข้างมีโรงงานอุตสาห-กรรมมาก อาจติดปัญหามากกว่าฝั่งตะวันตก “เวลาพูดถึงฟลัดเวย์ ผู้คนจะคิดถึงการสร้างแม่น้ำ แต่นี่ไม่ใช่ เพราะเป็นโครงการสร้างถนน 2 เส้น ที่ใช้ประโยชน์ในการขนส่งจากภาคเหนือไปภาคใต้ได้โดยตรง ทดแทนสายเอเชียได้เลย และเมื่อสร้างถนนเสร็จต้องทำให้พื้นที่ระหว่างกลางสามารถทำการชลประทานได้ด้วย โดยจะมีคลองอยู่ข้างถนนที่เก็บน้ำได้ลึก 10 ม. กว้าง 20 ม. ทำการเกษตรได้ สามารถปลูกข้าวได้ 2 รอบ ขณะเดียวกัน ริมถนนจะทำเป็นที่พัก สวนสาธารณะดีๆ มีต้นไม้ที่ไม่ผลัดใบ มีใบไม้หลากสีปลูกยาวตลอด 322 กม. ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ เหมือนเมืองใหม่ หรือโกลเด้นเพลส มีการสร้างพัฒนาพื้นที่ให้ได้ประโยชน์มากกว่าพื้นที่เดิม ทุกคนก็อยากเข้ามาอยู่ในโครงการนี้ มีทั้งชุมชน เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม สาธารณูปโภคครบครัน”
:: รัฐเคาะไอเดียสร้างถนน 8 เลนทำฟลัดเวย์ ขายฝันผุดเมืองใหม่ทำเลทอง ไทยรัฐออนไลน์ วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม 2555
No comments:
Post a Comment