ไข้ไทฟอยด์ระบาดสงขลา ป่วยกว่า 100 ราย สั่งคุมเข้มแหล่งน้ำดื่ม ระดับคลอรีนต่ำ...
6 พ.ค. 2553 นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนก.ย.52-ม.ค.53 พบว่ามีการระบาดของโรคไข้ไทฟอยด์ หรือโรคไข้รากสาดน้อย หรือที่ในอดีตเรียกกันว่า โรคไข้หัวโกร๋น ในจ.สงขลา โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียนในโรงเรียนของเทศบาลเมืองสงขลา แต่ไม่พบการดื้อยา ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคเพื่อหาสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงของการระบาด ซึ่งจากการเฝ้าระวังโรคของฝ่ายแบคทีเรียลำไส้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าหลังจากการระบาดเมื่อปี 2517-19 ไม่มีรายงานการระบาดเป็นกลุ่มใหญ่ของโรคไข้ทัยฟอยด์ในประเทศไทยอีก จนกระทั่งปลายปี 2540 พบการระบาดในศูนย์อพยพชาวกัมพูชา จ.ตราด มีผู้เสียชีวิตร้อยละ 4 และมีการระบาดมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับมีการดื้อยาหลายชนิดอีกด้วย
ด้านนพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า การดูแลและป้องกันไม่ให้เป็นโรคไข้ไทฟอยด์ได้ โดยการฉีดวัคซีน ซึ่งจะฉีดให้กับคนที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อที่เกิดจากการประกอบอาชีพ หรือคนที่เดินทางไปในพื้นที่เกิดโรคเป็นประจำ รวมถึงคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการเป็นโรคมาก อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนอาจไม่สามารถป้องกันโรคได้ถ้าได้รับวัคซีนหลังจากได้รับเชื้อเป็นจำนวนมาก ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีสุดคือ การรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ดื่มน้ำต้ม หรือน้ำที่ฆ่าเชื้อแล้ว ล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงหรือจับอาหาร และหลังจากเข้าส้วม การกำจัดสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขลักษณะ เพียงเท่านี้ก็สามารถหลีกเลี่ยงโรคไข้ไทฟอยด์ได้
ขณะที่นพ.ภาสกร อัศวเสวี ผู้อำนวยการระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การระบาดของโรคไข้ไทฟอยด์ในพื้นที่จ.สงขลา เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา โดยประชาชนในพื้นที่อ.เมือง ป่วยประมาณ 130-140 คน จากการสอบสวนโรค สงสัยว่าเกิดจากการบริโภคน้ำที่ไม่สะอาด ระดับคลอรีนในน้ำต่ำ จึงเกิดการปนเปื้อนของเชื้อเข้าสู่อาหารที่เลี้ยงในโรงเรียนเด็กเล็กและสถานพินิจ
ทั้งนี้ โรงพยาบาลในพื้นที่ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 ดำเนินการเก็บตัวอย่างประชาชนที่ต้องสงสัยติดเชื้อเพิ่มเติม จำนวน 2 พันตัวอย่างไม่พบเชื้อ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ถือว่าสถานการณ์ไม่น่าเป็นห่วง สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้เรียบร้อยแล้ว และยังไม่น่ากังวลว่าโรคจะแพร่ระบาดไปในพื้นที่อื่น ภายหลังเกิดการระบาด กรมได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 ดำเนินการแจ้งเตือนให้ผู้ประกอบอาหาร เพิ่มระดับการระมัดระวังเรื่องความปลอดมากขึ้น รวมถึงตรวจอุจจาระและอาหารของพ่อค้าแม่ค้าที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งขอความร่วมมือการประปาและโรงน้ำแข็ง เติมคลอรีนในน้ำให้มีปริมาณที่เพิ่มขึ้น ตรวจสอบและล้างทำความสะอาดตลาดในพื้นที่ และให้ความรู้เกี่ยวกับสุขศึกษาแก่ประชาชน เช่น การเก็บอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสม เป็นต้น
ที่มา: ทีมข่าวการศึกษา ไทยรัฐออนไลน์ 6 พฤษภาคม 2553
No comments:
Post a Comment