“ว่านสาวหลง” สุดยอดสมุนไพรล้านนา มีสรรพคุณเมตตามหานิยม มช.ต่อยอดผลิตน้ำมันหอมระเหย
วันนี้ 1 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศูนย์วิจัยสมุนไพรภาคเหนือ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้วิจัยทำน้ำมันหอมระเหยจากว่านสาวหลง สมุนไพรพื้นบ้านได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบที่ทำน้ำมันหอมระเหยตามอัตลักษร์ล้านนา มีประโยชน์ในการบำรุงผิวพรรณ ได้จากผลของการต้านอนุมูลอิสระ ไม่ระคายเคืองต่อผิวหนัง และเมื่อสูดดมทำให้ผ่อนคลายมีกลิ่นหอม จัดทำน้ำมันสำหรับจุดตะเกียง น้ำมันนวดตัว และสครับ ต่อยอดใช้ในธุรกิจสปาล้านนาเชียงใหม่
ผศ.ดร.สุนีย์ จันทร์สกาว หัวหน้าศูนย์วิจัยสมุนไพรภาคเหนือ คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ว่านสาวหลง หรือ แหน่ง ในภาษาล้านนา เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ ขิง ข่า (Family Zingiberaceae) อยู่ในสกุลเดียวกับกระวาน (Genus Amomum) เป็นพืชที่ใบ และเหง้ามีกลิ่นหอม เป็นพืชพื้นบ้านที่มีประวัติการใช้มายาวนาน โดยตามความเชื่อพบว่า ว่านสาวหลงเป็นว่านที่ทรงคุณค่าทางเมตตามหานิยมอยู่สูง ใช้ปลูกในบ้านเรือนเป็นเสน่ห์ และสิริมงคลแก่สถานที่ เหมาะสำหรับร้านค้า เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยเรียกลูกค้า หากเอาเหง้ามาฝนผสมกับสีผึ้งทาปาก หรือน้ำมันจันทน์ทาตัว ทาผม หรือเพียงแต่เอาเหง้าถือติดตัวไป ผู้คนทั้งปวงก็จะงงงวย หลงรักใคร่ นอกจากนี้ ยังใช้ทำพระเครื่อง เป็นส่วนผสมของน้ำยาว่าน 108 และเหง้ายังมีการนำไปใส่ในตู้เสื้อผ้า เพื่อกันแมลง และอบเสื้อผ้าให้กลิ่นหอม
ในปัจจุบันมีการนำไปใช้เพื่อเตรียมน้ำมันหอมระเหย หรือเป็นองค์ประกอบในผลิตภัณฑ์บางชนิด และเป็นที่สนใจในการนำไปใช้ประโยชน์ในธุรกิจสปา แต่ยังเป็นพืชที่รู้จักกันในวงจำกัด เนื่องจากยังขาดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนการใช้ประโยชน์ ทางศูนย์วิจัยภาคเหนือ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงทำการวิจัยน้ำมันหอมระเหยจากว่านสาวหลง โดยศึกษาคู่ขนานไปกับการศึกษาองค์ประกอบทางเคมี ฤทธิ์ต้านอ๊อกซิเดชั่น และการศึกษาฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางโดยวิธีโอเพ่นฟิลว์ ทั้งของน้ำมันหอมระเหยทั้งส่วนใบ และราก รวมทั้งมีการศึกษาเบื้องต้นถึงความระคายเคืองต่อผิวหนัง
จากการวิจัยผลพบว่า ค่าเฉลี่ยของร้อยละน้ำมันหอมระเหยของใบ และลำต้นใต้ดิน มีค่าเท่ากับ 0.98 และ 0.41 ตามลำดับ โดยองค์ประกอบสำคัญของน้ำมันหอมระเหยจากแต่ละส่วน ผลการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของน้ำมันหอมระเหยจากส่วนใบ และลำต้นใต้ดินให้ผลที่ดี เมื่อศึกษาฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางพบว่า น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ในทางผ่อนคลาย ส่วนการทดสอบด้วยวิธีการทดสอบเหนี่ยวนำการนอนหลับ น้ำมันหอมระเหยจากว่านสาวหลงไม่มีผลต่อการทดลองนี้ ซึ่งจากผลการศึกษานี้แสดงว่าน้ำมันหอมระเหยจากทั้งส่วนใบ และราก มีแนวโน้มในการให้ประโยชน์ในการบำรุงผิวพรรณได้จากผลของการต้านอนุมูลอิสระ และเมื่อสูดดมมีแนวโน้มที่จะให้ผลผ่อนคลาย และนอกจากจากไม่พบความระคายเคืองต่อผิวหนัง
ด้าน รศ.พิมพร ลีลาพรพิสิฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชสำอาง อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า จากผลการวิจัยที่ออกมา นำไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในสปา ทางศูนย์วิจัยสมุนไพรภาคเหนือ คณะเภสัชศาสตร์ จึงร่วมกับสมาคมไทยล้านนาสปา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จึงจัดทำโครงการจัดทำต้นแบบผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยอัตลักษณ์ล้านนาที่ใช้ ผสมผสานในการให้บริการนวด โดยใช้น้ำมันหอมระเหยจากใบว่านสาวหลงเป็นองค์ประกอบ โดยงบประมาณสนับสนุนจากงบพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ได้ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบใน 3 รูปแบบ คือ น้ำมันสำหรับจุดตะเกียง น้ำมันนวดตัว และสครับ ซึ่งได้ผ่านการทดสอบความพึงพอใจเบื้องต้น ในกลุ่มผู้ประกอบการสปาเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความคงสภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งหากว่านสาวหลงสามารถนำไปใช้ในธุรกิจสปา ย่อมส่งผลถึงความต้องการวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาในกลุ่มผู้ผลิตต่อไป
ที่มา: มช.เจ๋งผลิตน้ำมันหอมระเหยจาก“ว่านสาวหลง” เดลินิวส์ออนไลน์ วันพุธที่ 01 กันยายน 2553
No comments:
Post a Comment