เรียนทุกท่านที่ผมส่งเมล์ผ่านมานี้
ก่อนอื่นกระผมขออภัยที่รบกวนเวลา แต่การสร้างวัฒนธรรมให้มุ่งสู่ความเป็นธรรม
ต้องใช้เวลารุ่นแล้วรุ่นเล่าถึงกระนั้นก็ยังสำเร็จยาก
เราได้เงินเดือนจากภาษีของประชาชน บุคคลที่ได้รับเกียรติสูงสุดในสังคมนี้กลับ ไม่ใช่คนทำงานเก่ง ไม่ใช่คนทำงานเป็น ไม่ใช่คนที่รู้ปัญหาและวิธีแก้ หากแต่เป็นคนที่จบการศึกษาสูงสุดเป็นดอกเตอร์ลูกมะพร้าว(อาหารหนอน,2551)
รู้อยู่แต่โมเดลทางคณิตศาสตร์ที่ใช้วิเคราะห์สังเคราะห์ในเนื้อในน้ำและจาว หามีน้อยท่านนักที่รอบรู้และมีประสบการณ์ในการปลูกมะพร้าวให้เป็นคุณแก่ประเทศชาติบ้านเมือง ดีแต่คอยไหลลอยไปแช่เน่าข้าง ๆ รัฐสภาเพื่อเฝ้าหาโอกาสได้เป็นใหญ่เป็นโต ทั้งที่คุณสมบัติไม่มีเมื่อเทียบกับชาวสวนด้วยซ้ำแต่สังคมเห็นว่าท่านสูงส่งเหล่านั้นเป็นคนที่เรียนเก่งจบสูงซึ่งเหนือชาวบ้านธรรมดา ๆ ในสังคม สังคมจึงให้เกียรตืและเฝ้าแหงนมองให้ลูกหลานเอาเยี่ยงอย่าง แต่ในความเป็นจริงแล้ว
เริ่มเผยโฉมที่แท้จริงออกมา....โดยเฉพาะระดับบนซึ่งเป็นยอดสามเหลี่ยมมาสลอว์ที่ต้องนำพาสังคมไปสู่เป้าหมายอัน
ดีงามให้สังคมอยู่รอดได้ให้ประเทศชาติยืนหยัดได้นานเท่าที่การเกิดขึ้นการตั้งอยู่และการดับไปจะเอื้ออำนวยให้ได้แค่ไหน
กระผมติดตามและจ้องดู"ผู้ใหญ่มาโดยตลอด...ผู้ใหญ่จริงก็มีผู้ใหญ่ที่เป็นเด็กก็มีขอให้จบดอกเตอร์เป็นใช้ได้" ประชาชนศรัทธาเพราะการศึกษาท่านสูงสุด สังคมให้ความเคารพนับถือมากมายในเปลือกนอก แต่น้ำใจที่จะรักษาลูกหลานเป็นที่ปรึกษาให้นักศึกษาอย่างจริงจังสอนสั่งให้เขาช่วยรักษาบ้านเมืองสืบแทนต่อไปแทบจะหาน้อยมาก ซึ่งส่วนน้อยนี้พูดไปเสนอไปมีหรือ"พวกดอกเตอร์ลูกมะพร้าวเขาจะฟังเพราะเขาเก่งคับบ้านคับเมืองคับลูกมะพร้าวจะออกมาก็ไม่เป็นยังต้องอาศัยชาวบ้านผ่าออกถึงออกได้..แต่เนื้อก็ยังยึดติดอยู่ดี " อุปมาอุปมัยนี้เป็นเพียงอุทาหรณ์สะท้อนให้เห็นว่าหากไม่เป็นอยู่เช่นนี้มีหรือสังคมเราจะป่วนหนักขนาดนี้ แล้วใครจะรับผิดชอบต่อไปถ้าไม่ใช่พวกเราต้องช่วยกันดึงเอาความจริงออกมาพูดกันไม่ใช่ใส่ร้ายป้ายสี อาศัยดอกเตอร์พูดมีน้ำหนักกว่าแล้วพรรคพวกก็แห่ตามกัน ผู้มีปัญญาย่อมสืบค้นหาความจริง ตามหลักกามสูตร ด้วยการปฏิบัติจริง ไม่ใช่เพียงหลงจมกับทฤษฏีที่ท่านเหล่านั้นเฝ้าบูชาอยู่
ขออภัยอย่างยิ่งที่รบกวนเวลาทุกท่าน แต่ก็ยังคิดเสมอว่าน่าจะเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งที่ทุกท่านคงมีส่วนร่วม
และต้องร่วมบนเส้นทางที่ถูกต้องด้วยศีลธรรมคุณธรรมจริยธรรมเท่านั้นถึงจะก้าวเข้าสู่ความเป็นธรรมภิบาลได้
ด้วยความเคารพทุกท่านนับถืออย่าง
จากผู้ที่รอมะพร้าวคืนกลับเข้าครัวเข้าสวน(อยู่นอกครัวนอกสวนจะเกิดประโยชน์ได้อย่างไร)
ที่มา: forwarded mail ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
==ส่วนที่ 2==
ควันหลง การลงคะแนนเสียงสรรหาอธิการบดีธรรมศาสตร์
โดย Public Intellectual
ไม่เคยมีการลงคะแนนสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองครั้ง ใดอีกแล้วในสายธารประวัติศาสตร์ 76 ปีของมหาวิทยาลัยแห่งปวงชนที่จะฉาวโฉ่เท่ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดวัน พุธที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา
เพราะเหตุใดจึงฉาวโฉ่พอกับการเมืองภายนอกมหาวิทยาลัย
ประการแรก ก่อนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งราว 1 สัปดาห์ มีใบปลิวโจมตีคู่แข่งในการสรรหาอย่างสกปรกที่สุด โดยวางไว้ทุกคณะอย่างโจ๋งครึ่มราวกับได้รับฉันทานุมัติจากผู้เป็นใหญ่ของคณะ คือ คณบดี
ผู้เขียนเองพอเห็นใบปลิว ก็ถึงกับผงะ เพราะนึกไม่ถึงว่าการเมืองในระดับครูบาอาจารย์ของปัญญาชนในรั้ว ของมหาวิทยาลัยอันดับแรกๆ ของประเทศจะเลียนแบบการเมืองระดับประเทศได้อย่างงดงามถึงเพียงนี้
ประการที่สอง ในวันเลือกตั้ง ก็มีปรากฏการณ์ที่ไม่เคยปรากฏมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การสรรหาอธิการบดีของ มธ.อันยาวนานมาถึง 76 ปี กล่าวคือ มีอาจารย์ท่านหนึ่งจากคณะศิลปศาสตร์ตัดสินใจฉีกบัตรลงคะแนนสรรหาออกเป็น เสี่ยงๆ เพื่อคัดค้านการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ การใช้ระบบอุปถัมภ์ค้ำชูในการเลือกตั้งโดยไม่สนใจเสียงของประชาคมเลย ทั้งนี้ เพราะไม่ว่าคะแนนเสียงจะออกมาเช่นไร ก็จะไปจบสมบูรณ์แบบที่สภา ซึ่งจะเป็นผู้ที่ชี้ขาดทุกสิ่งทุกอย่าง
ประการที่สาม ในวันเลือกตั้ง มีบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวันที่แฉให้เห็นการใช้อำนาจบาตร ใหญ่ของสภามหาวิทยาลัยซึ่งแทนที่จะมีหน้าที่ "กรอง" และคัดสรรบุคคลโดยอิงคะแนนเสียงส่วนมากการเลือกตั้งจากหน่วยงานภายใน มหาวิทยาลัยเป็นหลัก
ตรงกันข้าม สภาได้ทำหน้าที่ "กลับ" คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งนั้นเสีย เช่น วิทยาลัยนวัตกรรมของ มธ. ผู้อำนวยการคนใหม่ได้คะแนนเสียงเพียง 1 เสียง ขณะที่คู่แข่งขันอีกคนหนึ่งได้คะแนนถึง 84 เสียง
สถาบันประมวลผลและข้อมูล (สปข.) ได้ผู้อำนวยการคนใหม่ที่มีคะแนนเลือกตั้งจากลูกหม้อในหน่วยงานเพียง 1 เสียง ขณะที่อาจารย์อีกท่านหนึ่งได้ถึง 37 เสียง
และขณะที่ท่านอาจารย์ ผอ.คนใหม่แสดงวิสัยทัศน์ของ สปข. ลูกหม้อทั้งห้องประชุมตัดสินใจวอล์กเอ๊าต์ออกจากที่ประชุมทั้งหมด
ใช่แต่เท่านั้นคณบดีของคณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน กับคณบดีของคณะศิลปศาสตร์ เมื่อ 3 ปีที่แล้วและล่าสุดนี้ก็หาใช่ผู้ที่ชนะทั้งสาย อาจารย์ ข้าราชการ และนักศึกษาไม่ หากเป็นคนที่ไม่ชนะแม้แต่สายเดียวของการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
แล้วเช่นนี้ การลงคะแนนเสียงสรรหาจะมีความหมายอะไรนอกจากการผลาญงบประมาณแผ่นดินเพียง เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนและภาพลักษณ์ของความเป็นประชาธิปไตย เท่านั้น
เพราะถึงที่สุดแล้ว ใครที่สามารถล็อบบี้สภาให้เห็นคล้อยมาทางตนเองได้ ก็จะเป็นผู้ที่ได้รับการชูมือชนะโดยไม่สนใจไยดีต่อเสียงสวรรค์ของลูกหม้อ ของหน่วยงาน ของประชาคมในมหาวิทยาลัยเลย
จากข้อมูลที่ได้รับมาข้างต้นทั้งหมด ผู้เขียนจึงเลือกสุ่ม (Randomize) เข้าไปหาข้อมูลในวันลงคะแนนสรรหาอธิการบดีของคณะหนึ่งใน มธ.ศูนย์รังสิต ซึ่งถ้าพิจารณาจากสิทธิในการออกเสียงทั้งหมดจะพบว่า ในสายเจ้าหน้าที่มี 107 เสียง ในสายอาจารย์มี 172 เสียง ในสายอาจารย์ชาวต่างประเทศ 16 เสียง รวมความแล้วมีถึง 295 เสียงที่สามารถมาใช้สิทธิได้
แต่จากการนับคะแนนเสียงทั้งหมด ปรากฏว่า มีเพียง 100 คนเท่านั้นที่มาใช้สิทธิ ประมาณ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้นจากยอดรวมทั้งหมด
และที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งกว่านี้ก็คือมีจำนวนถึง 16% ของ 101 ท่านที่มาลงคะแนนและตัดสินใจทำบัตรลงคะแนนเสียงสรรหาให้เสียไป เท่ากับว่า เหลือบัตรที่สามารถใช้นับคะแนนได้เพียง 85 ใบเท่านั้น
เหตุผลที่ปรากฏบนบัตรเสียเหล่านั้นได้แก่
- ให้สภาเลือกเองไปเลย
- มาใช้สิทธิโดยไม่ประสงค์เลือกผู้ใดดำรงตำแหน่งอธิการบดี
- ตามใจสภาครับ
- เว้นว่าง ไม่เติมข้อความใดๆ
- ไม่ประสงค์จะเสนอชื่อ
- เว้นว่างที่ชื่อ นามสกุลทั้งของผู้ใช้สิทธิ และชื่อของอธิการบดี
เพียงเท่านี้จากการสุ่มตัวอย่างข้อมูลเพียง 1 คณะ ก็พอจะหยั่งท่าทีของประชาคมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองว่า พวกเขาเอือมระอากับระบบการบริหารระบบการเลือกตั้งในมหาวิทยาลัยเพียงไร
ผู้เขียนได้ไปรับประทานอาหารเย็นร่วมกับศิษย์เก่า มธ.ท่านหนึ่งที่สำเร็จจากคณะนิติศาสตร์ รั้วเหลืองแดงมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 ในวันหนึ่ง ท่านนั้นถึงกับเอ่ยหลังจากที่ได้วิสาสาปรมาญาติกับผู้เขียนบทความนี้ว่า เหตุการณ์แบบนี้ไม่มีวันที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนในรั้วของมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ.2515-2519 อันเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ ในบ้านเมืองถึง 2 เหตุการณ์คือ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519
ท่านผู้ใหญ่ท่านนั้นถึงกับถอนใจ หน้าถอดสี และออกอาการปลงด้วยความเสียใจกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในรั้วแดงกำแพงเหลือง มหาวิทยาลัยที่เคยได้ชื่อว่า เป็นแม่แบบ เป็นผู้นำ เป็นตัวอย่างที่ดีงาม สูงส่งของการเมืองระดับประเทศในอดีตกาลนานโพ้น
ปัจจุบันนี้ ธรรมศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปมากในลักษณาการที่ว่า ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าใด ก็ยิ่งห่างไกลจากจิตวิญญาณธรรมศาสตร์และการเมืองที่มุ่งให้การศึกษาที่เป็น ธรรมมุ่งเป็นบ่อน้ำที่บำบัดความกระหายใคร่รู้ของราษฎรไทยทุกขณะ
เพราะฉะนั้น เราท่านทั้งหลายรวมทั้งศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันจงอย่าได้แปลกใจ ตกใจ เสียใจ ช็อคเมื่อเห็นกำลังทหารมาตั้งแคมป์ใน ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์เมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม ในปีนี้ ในช่วงที่มีม็อบสีแดงเต็มพื้นที่ราชดำเนิน
เพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองวันนี้มิใช่มหาวิทยาลัยของปวง ชน มหาวิทยาลัยที่เป็นเสมือนหนึ่งหัวหอกการต่อสู้ของมวลมหาประชาชนเฉกเช่นใน อดีตกาลเพียงไม่ถึง 4 ทศวรรษที่แล้วอีกต่อไปแล้ว
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองในวันนี้เหลือเพียงแต่ชื่อเสียงอัน งดงามในอดีตกาลเท่านั้น แม้การจัดอันดับของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกอย่างเป็นทางการ ม.ธรรมศาสตร์ยังหลุดจาก 500 อันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลกไปแล้ว
ฤๅมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองตาย...แล้วจากจิตวิญญาณดั้งเดิม ที่ท่านผู้ประศาสน์การ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้อุตสาหะลงทุนลงแรงปลูกสร้างขึ้นไว้ให้เป็นสาธารณประโยชน์ต่อบ้านเมืองไทย เพียงเพราะผู้บริหารบางคนฝักใฝ่แสวงหาอำนาจแสวงหาผลประโยชน์ต่างตอบแทนจาก ผู้ทรงเกียรติภายนอกรั้วมหาวิทยาลัยที่ได้รับเทียบเชิญให้เข้ามาดำรงตำแหน่ง ในสภาอันทรงเกียรติเพื่อสืบทอดระบอบอุปถัมภ์ให้ยั่งยืนยาวนานตราบกัลปาวสาน
อนิจจา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองของประชามหาชนคนไทย เจ้าก็หนีไม่พ้นกฎธรรมชาติแห่งพระพุทธศาสนาที่ว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
สโลแกนต่อไปนี้ก็จะเป็นสโลแกนดาดๆ ที่ไร้ความหมายใดๆ ในเชิงวาทกรรมอีกแล้ว อาทิ
"หากขาดโดม เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ เสมือนขาดสัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม"
"ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน"
ที่มา: ข่าวการศึกษา มติชนออนไลน์ วันที่ 02 กันยายน พ.ศ. 2553
====
:: กรรมการสภามหาวิทบาลับธรรมศาสตร์ เหม็นฉาวโฉ่ว ไม่เคยรับผิดชอบต่อความฉิบหายที่ได้ทำไว้ในการเลือกผู้บริหารแต่ละหน่วยงาน มีแต่การเล่นเส้นเล่นสาย ที่เขียนไว้ในหัวข้อ"ควันหลง" ไม่ผิืดเลย แม้แต่นายกสภาฯ ก็ไม่ได้วางตัวเป็นกลางอย่างสมบูรณ์แบบ แต่คอยเลียแข้งขาผู้บริหาร กลัีวจะไม่ได้อยู่วาระสี่วาระห้าหรือไงอ่ะ
===
มธ.โต้ดุสรรหาอธิการบดีไม่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ ซัดPublic Intellectualมั่วให้ร้าย จิตใจคับแคบ
มธ.โต้ดุสรรหาอธิการบดีไม่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ ซัดPublic Intellectual มั่วให้ร้าย จิตใจคับแคบ
รองศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ท่าพระจันทร์ปฏิบัติราชการแทอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.)ทำหนังสือ ชี้แจง"มติชน"กรณีที่มีผู้ใช้นามแฝงว่า “Public Intellectual”เขียนบทความเรื่อง“ควันหลงการลงคะแนนเสียงสรรหาอธิการบดีธรรม ศาสตร์”ลงในหนังสือมติชนรายวัน วันที่ 2 กันยายน 2553 วิพากษ์วิจารณ์กระบวนการสรรหาอธิการบดี มธ.ว่า ไม่เป็นโปร่งใสและสภามหาวิทยาลัยใช้อำนาจเบ็ดเสร็จว่า เป็น การแสดงข้อเขียนในลักษณะเหมารวมให้ร้ายสภามหาวิทยาลัย ดูแคลนความรับผิดชอบของผู้ใหญ่หลายท่านที่คนธรรมศาสตร์เคารพนับถือ มีจิตใจคับแคบ ไม่สมกับการเป็นคนธรรมศาสตร์เป็นอย่างยิ่งโดยมีรายละเอียดดังนี้
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตรวจสอบข้อความตามที่ผู้เขียนกล่าวถึงแล้ว เห็นว่าการให้ข้อมูลและความเห็นในข้อเขียนดังกล่าว อาจทำให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจผิดในกระบวนการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จึงใคร่ขอให้ข้อมูลบางประการเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องดังนี้
1.ในการได้มาซึ่งผู้บริหารระดับต่างๆ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำหนดไว้อย่างชัดเจนให้เป็นเรื่องของการ “สรรหา” ไม่ใช่การ “เลือกตั้ง” และในขั้นตอนการสรรหาที่สภามหาวิทยาลัยกำหนดไว้นั้นจะมีหลายขั้นตอน ซึ่งการเสนอชื่อผู้เหมาะสมของประชาคมเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายขั้นตอนที่คณะกรรมการสรรหาจะต้องดำเนินการพิจารณากลั่นกรอง เพื่อให้ได้ผู้เหมาะสมเสนอสภามหาวิทยาลัยพิจารณา
อย่างไรก็ดี การกำหนดให้หน่วยงานต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยจัดให้บุคคลในสังกัดหย่อนบัตรเสนอชื่อเพื่อรวบรวมความคิดเห็น เสนอต่อคณะกรรมการสรรหา ก่อนที่จะมีการลงความเห็นว่าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อคนใดมีความเหมาะสมอาจ เป็นเหตุให้ผู้เขียนบทความดังกล่าวแสดงทัศนะด้วยความเข้าใจผิด โดยคิดไปว่าการได้มาซึ่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยเป็นการเมืองในระบบเลือกตั้ง และคะแนนนิยมของคนในประชาคมเท่านั้นที่ชี้ขาดผู้ที่เหมาะสม
ในขณะที่สภามหาวิทยาลัยได้พยายามทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยว ข้องตลอดมาว่า ผลการเสนอชื่อบุคคลเป็นตัวชี้วัดความเหมาะสมประการหนึ่ง คณะกรรมการสรรหาและสภามหาวิทยาลัยยังต้องพิจารณาคุณสมบัติและความเหมาะสม ประการอื่นของผู้ได้รับการเสนอชื่อประกอบด้วย
2.การกลั่นกรองบุคคลที่เหมาะสมจะได้รับการ แต่งตั้งเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยนั้น มิได้ดำเนินการด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จของสภามหาวิทยาลัยเพียงองค์กรเดียวดังที่ ข้อเขียนดังกล่าวพยายามทำให้เข้าใจไปเช่นนั้น หากแต่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองจากคณะกรรมการสรรหาที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้ง จากบุคคลฝ่ายต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาที่ผ่านการเลือกตั้งของประชาคมนั้นเอง
คณะกรรมการสรรหาจึงเป็นผู้ที่จะต้องพิจารณากลั่นกรองและลงความเห็น ชั้นต้นในทุกด้าน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการเป็นที่ยอมรับของประชาคมจากผลการเสนอชื่อ ตลอดจนความรู้ความสามารถ และความเหมาะสมในด้านอื่น ๆ ที่ผู้รับการเสนอชื่อให้ข้อมูลหรือแสดงวิสัยทัศน์ให้ปรากฏต่อคณะกรรมการ สรรหา ซึ่งในกรณีที่คณะกรรมการสรรหาไม่อาจตัดสินใจว่า ผู้ได้รับการเสนอชื่อคนใดเหมาะสมที่จะได้รับการแต่งตั้งเพียงคนเดียว จึงจะเสนอรายงานพร้อมรายชื่อบุคคลที่อยู่ในข่ายได้รับการพิจารณาเสนอให้สภา มหาวิทยาลัยพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง และไม่ว่า คณะกรรมการสรรหาจะเสนอรายชื่อผู้ที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเพียงชื่อเดียว หรือมากกว่า สภามหาวิทยาลัยซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก มหาวิทยาลัย ผู้แทนผู้บริหาร ผู้แทนคณาจารย์ ผู้แทนข้าราชการ รวมทั้งประธานสภาอาจารย์ รวมทั้งสิ้น 34 คน จะทำหน้าที่รับฟังรายงานของคณะกรรมการสรรหาและตรวจสอบความถูกต้องชอบด้วยกฎ ระเบียบ และความเหมาะสมด้านอื่นๆ
ทั้งนี้ สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งบุคคลใด บุคคลนั้นจะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสภามหาวิทยาลัย ทั้งหมด เว้นแต่ไม่อาจมีเสียงข้างมากเช่นนั้นได้ ผู้ได้รับคะแนนเสียงข้างมากในผู้เหมาะสมสองลำดับแรกในการลงคะแนนรอบสองจะ เป็นผู้ได้รับการแต่งตั้ง
3.ในส่วนที่ข้อเขียนดังกล่าวให้ข้อมูลว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคยมีมติแต่งตั้งผู้ได้รับคะแนนเสียงเพียง 1 เสียงจากผู้เสนอชื่อ ในการสรรหาผู้บริหารวิทยาลัยนวัตกรรม และผู้บริหารสถาบันประมวลข้อมูลเพื่อการศึกษาและการพัฒนา หรือแต่งตั้งคณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน และคณบดีคณะศิลปศาสตร์ จากผู้ที่ไม่ได้รับคะแนนเสนอชื่อมากที่สุดในสายอาจารย์ สายข้าราชการ หรือสายนักศึกษา โดยไม่ให้ความสำคัญกับการเสนอชื่อของประชาคมในมหาวิทยาลัยนั้น
มหาวิทยาลัยเห็นว่า ข้อเขียนดังกล่าวให้ข้อมูลเพียงบางส่วนที่อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่าการให้บุคคลในประชาคมเสนอชื่อนั้นเป็นเพียง ขั้นตอนหนึ่งในอีกหลายขั้นตอนที่คณะกรรมการสรรหาจะต้องดำเนินการเพื่อให้ได้ ข้อมูลรายละเอียดที่ครบถ้วนรอบด้านเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยพิจารณาในขั้นสุด ท้าย
อนึ่ง มีข้อพิจารณาว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในแต่ละชุดซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปีได้ทำหน้าที่พิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยตามรายงานผลการพิจารณา กลั่นกรองของคณะกรรมการสรรหาตามระเบียบข้อบังคับตามปกติ ในหลายกรณีสอดคล้องกับการเสนอชื่อในกระบวนการสรรหาครั้งนั้นๆ และในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย มิได้มีปัญหาข้อโต้แย้งอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด
ทั้งนี้ เนื่องจากสภามหาวิทยาลัยตระหนักดีว่า การบริหารมหาวิทยาลัยเกี่ยวข้องกับระบบงานราชการตามสายบังคับบัญชาที่ผู้ บริหารต้องผูกพันรับผิดชอบต่อแผนงานและเป้าหมายที่ตนนำเสนอ อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงระบบธรรมาภิบาลในองค์กรเพื่อสร้างความร่วมมือในการทำ งานร่วมกันระหว่างผู้บริหารกับบุคลากร นักศึกษาในประชาคม รวมถึงศิษย์เก่า
ดังนั้น การแต่งตั้งบุคคลที่มีความเหมาะสมเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงเป็นภารกิจที่ สภามหาวิทยาลัยให้ความสำคัญทั้งในเรื่องความถูกต้องชอบธรรมตามหลักกฎหมายและ ความเหมาะสมตามสภาพความเป็นจริงในแต่ละกรณี
การแสดงข้อเขียนในลักษณะเหมารวมให้ร้ายสภา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า มีการล็อบบี้ให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยคล้อยตามความเห็นที่ขัดแย้งกับเสียง ของประชาคมได้จึงเป็นการกล่าวหาที่ดูแคลนความรับผิดชอบของผู้ใหญ่หลายท่าน ที่คนธรรมศาสตร์เคารพนับถือ และหากผู้เขียนเป็นบุคลากรในประชาคมธรรมศาสตร์ ย่อมเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ เพราะจัดอยู่ในพวกที่มีจิตใจคับแคบ ไม่สมกับการเป็นคนธรรมศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ชื่อว่าเป็นดินแดน แห่งเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างย่อมเป็นเรื่องปกติ หากการวิพากษ์วิจารณ์เป็นไปในลักษณะสร้างสรรค์บนพื้นฐานของความจริง คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม โดยไม่มีประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง และไม่ว่ากรณีจะเป็นเช่นใด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะองค์กรบริการสาธารณะของรัฐ ถือเป็นหน้าที่ที่จะรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อแสวงหาแนวทางในการพัฒนางานของมหาวิทยาลัยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
ที่มา: มติชนออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 05 กันยายน พ.ศ. 2553
No comments:
Post a Comment