นักวิจัยม.เทคโนโลยีสุรนารี สุดเจ๋ง คิดค้นเครื่องกำจัดลูกน้ำยุงเครื่องแรกของไทย ได้ผลแน่นอน 100% สามารถตัดวงจรขยายพันธุ์ยุงลาย และลดการระบาดของโรคไข้เลือดออก...
เมื่อช่วงสายของวันที่ 15 ก.ย. ที่อาคารเรียนรวม 1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นักวิจัยมทส.ประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์คิดค้น "เครื่องกำจัดลูกน้ำยุงโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม" ลักษณะคล้ายไม้เท้าทำหน้าที่ปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูง จุ่มลงในน้ำ ช่วยตัดวงจรชีวิตลูกน้ำยุง กำจัดยุงลายสาเหตุของโรคไข้เลือดออก ซึ่งกำลังระบาดหนักอยู่ในขณะนี้ โดยมีประสิทธิภาพสูง เนื่องจากสามารถกำจัดได้ตั้งแต่ไข่ ลูกน้ำ และตัวโม่ง ทั้งยังมีความปลอดภัยต่อการใช้งาน ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม และต้นทุนต่ำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย ทองโสภา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หัวหน้าทีมวิจัย ผู้คิดค้นเครื่องกำจัดลูกน้ำยุงโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นนักวิจัยของมทส.ที่ได้ทำการวิจัย มีทีมนักศึกษาปริญญาโทเป็นคณะทำงาน ใช้คลื่นอัลตราโซนิคมาเป็นเครื่องมือกำจัดลูกน้ำยุงได้สำเร็จเป็นเครื่องแรกของประเทศ โดยตั้งชื่อเครื่องนี้ว่า "เครื่องกำจัดลูกน้ำยุงโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม" มีประสิทธิภาพในการกำจัดยุงลายได้ผลเต็ม 100 % แต่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสิ่งมีชีวิตอื่นที่อยู่ภายในแหล่งน้ำ ซึ่งการวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากกองทุนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 3 แสนบาท โดยเริ่มต้นทำการวิจัยและประดิษฐ์อุปกรณ์กำจัดลูกน้ำยุงด้วยคลื่นอัลตราโซนิค ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม53 และประสบความสำเร็จในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ในเบื้องต้นได้ผลิตเครื่องกำจัดลูกน้ำยุง 4 เครื่อง โดยแจกจ่ายไปยังพื้นที่ 4 จังหวัดๆ ละ 1 เครื่อง ประกอบด้วย สสจ.นครราชสีมา, สสจ.ชัยภูมิ, สสจ.บุรีรัมย์ และสสจ.สุรินทร์ และภายในปี 2553 จะได้เร่งผลิตเครื่องกำจัดลูกน้ำยุงอีก 300 เครื่อง เพื่อแจกจ่ายให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจ.นครราชสีมา และจะขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ เพื่อลดอัตราการระบาดของโรคไข้เลือดออก
ผช.ของ ผศ.ดร.ชาญชัย เปิดเผยว่า การวิจัยครั้งนี้ ทีมวิจัยได้ทดลองนำเอาคลื่นความถี่สูงอัลตราโซนิค ที่มีคุณสมบัติในการสร้างคลื่นใต้น้ำ ทำให้เกิดแรงกระแทกที่รุนแรงมากพอจะทำให้ลูกน้ำยุงที่มีขนาดเล็กได้รับผลกระทบและตายได้ในทันที ตัดวงจรการเจริญเติบโตของยุง แต่ไม่ทำอันตรายสิ่งมีชีวิตอื่นในแหล่งน้ำเดียวกัน ซึ่งจากการลองผิดลองถูกมากว่า 5 เดือน จึงได้ข้อสรุปเกี่ยวกับกำลังความถี่ที่เหมาะสมในการกำจัดลูกน้ำยุงโดยเฉพาะ และได้ผลการกำจัดเต็มประสิทธิภาพ 100 % ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวพัฒนาขึ้นโดยดัดแปลงจากไม้เท้าผู้สูงอายุ ติดตั้งเครื่องปล่อยคลื่นเสียงย่านอัลตราโซนิคไว้บริเวณส่วนปลายของไม้เท้า คลื่นเสียงนี้มีประสิทธิภาพสูงในการทำลายลูกน้ำ เพียงจุ่มปลายไม้เท้าลงในน้ำที่มีลูกน้ำยุงอาศัยอยู่ แล้วเปิดเครื่อง จากการทดสอบพบว่า คลื่นเสียงดังกล่าวสามารถกำจัดลูกน้ำภายในเวลาเพียง 1 วินาที รัศมีการกระจายตัวของคลื่นไปได้ไกลประมาณ 1 ฟุต หากต้องการกำจัดลูกน้ำจำนวนมาก ก็เปลี่ยนจุดจุ่มไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ผู้ใช้สามารถปรับความถี่ได้ระหว่าง 20-100 กิโลเฮิรตซ์ และปรับความแรงของคลื่นเสียงได้ระหว่าง 100-400 วัตต์ ความถี่และความแรงดังกล่าวไม่มีผลต่อสัตว์น้ำอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่าลูกน้ำ
"วิธีทำลายลูกน้ำยุงโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงนี้ เป็นวิธีการแบบใหม่ที่ใช้กำจัดลูกน้ำยุง โดยสามารถทำลายและตัดวงจรชีวิตของยุงตั้งแต่ในช่วงไข่ ตัวลูกน้ำ จนถึงตัวโม่ง เพียงจุ่มเครื่องกำจัดลูกน้ำยุงลงในน้ำที่มีลูกน้ำยุงอาศัยอยู่ แรงดันของคลื่นจะกระแทกลูกน้ำยุง ทำให้ลูกน้ำยุงตาย ในขณะที่สัตว์น้ำอื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่ายุงจะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ไม่มีสารเคมีตกค้าง ทั้งยังช่วยลดการนำเข้าอุปกรณ์และสารเคมีกำจัดยุงได้เป็นอย่างดี เป็นทางเลือกใหม่ในการกำจัดยุงด้วยการตัดวงจรเติบโต ตั้งแต่ช่วงลูกน้ำถึงช่วงตัวโม่ง ซึ่งต้นทุนสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ประมาณ 4,000-5,000 บาท แต่ราคาเชิงพาณิชย์ที่มีการผลิตระดับอุตสาหกรรมจะต่ำกว่านี้มาก ทั้งยังสามารถดัดแปลงเพิ่มคลื่นความถี่ให้แรงขึ้นสำหรับกำจัดสัตว์น้ำชนิดอื่นได้เช่นกัน ถือเป็นนวัตกรรมกำจัดยุงด้วยคลื่นเสียงเครื่องแรกของโลก ซึ่งขณะนี้สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวได้จดสิทธิบัตรในนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะส่งต่อความรู้ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมหรือหน่วยงานภาครัฐที่สนใจนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์" ผช. ศ. ดร.ชาญชัย กล่าว
สำหรับส่วนประกอบของเครื่องกำจัดลูกน้ำยุงนั้น จะมีส่วนประกอบที่สำคัญ 4 ส่วนหลักคือ 1.ต้นกำเนิดพลังงาน ที่จะใช้เป็นแบตเตอร์รี่ขนาด 12 โวลท์ 2.ชุดแปลงกระแสไฟฟ้าเป็นกระไฟฟ้าสลับขนาด 220 โวลท์ 3.วงจรกำเนิดคลื่นความถี่สูงย่านอัลตราโซนิค และ 4.หัวพรีโซอิเลคทรอนิกส์ ที่ใช้เป็นตัวปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงอัลตร้าโซนิค ออกไปกำจัดลูกน้ำ
โดยหลักการทำงานก็จะเริ่มจากแรงดันไฟฟ้ากระแสสลับ ผ่านวงจรเรียงกระแสไฟฟ้ากำลังสูง ให้ได้แรงดันไฟฟ้ากระแสตรงที่ประมาณ 15 แอมป์ เพื่อใช้เป็นแหล่งจ่ายที่ภาควงจรสวิทช์และวงจรขยายกำลังภายในวงจรกำเนิดคลื่นความถี่สูงย่านอัลตราโซนิค ที่จะมีความสามารถในการปรับสัญญาณจนได้คลื่นอัลตราโซนิคขนาด 40 กิโลเฮิร์ทซ์ ปล่อยออกผ่านทางหัวพรีโซอิเลคทรอนิกส์ และจะมีรัศมีการทำลายลูกน้ำยุงรัศมีรอบหัวปล่อยคลื่นประมาณ 1 ฟุต เหมาะสำหรับการใช้กำจัดลูกน้ำยุงภายในสถานที่เก็บน้ำในบ้านเรือน เช่น โอ่งน้ำ และอ่างน้ำ เป็นต้น และหากจะนำไปใช้กำจัดในแหล่งนี้ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ก็สามารถที่จะแกว่งหัวปล่อยคลื่นอัลตราโซนิคไปรอบๆ แหล่งน้ำ ซึ่งหากลูกน้ำยุงได้รับแรงกระแทกจากความถี่คลื่นอัลตราโซนิคก็จะตายภายใน 1 วินาที และสามารถใช้อุปกรณ์นี้ติดต่อกันได้นานถึง 1 ชั่วโมง จากนั้นก็ชาร์ทแบตเตอรี่เติมไฟใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง โดยราคาต้นทุนการผลิตอุปกรณ์เครื่องกำจัดลูกน้ำยุงชนิดนี้นั้น ประมาณเครื่องละ 4,000-5,000 บาท ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยกำลังเร่งผลิตเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง เพื่อนำไปใช้กำจัดลูกน้ำยุง ตัดวงจรการแพร่ระบาดของยุง และลดการระบาดของโรคไข้เลือดออก
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ 15 กันยายน 2553
No comments:
Post a Comment