ทีมสำรวจพันธุ์ไม้ของกรมอุทยานฯ พบต้นกะเพราชนิดใหม่ของโลกในภาคอีสานของไทย ซ่อนตัวอยู่ตามภูเขาหินทราย ป่าเต็งรัง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.หนองคาย แต่กลิ่นไม่ฉุนเหมือนกะเพราบ้าน ยังไม่ได้ทดลองกินได้หรือไม่
การตั้งชื่อ “กะเพราศักดิ์สิทธิ์” เพื่อเป็นเกียรติและไว้อาลัยอดีตปลัด ทส. ผู้ล่วงลับ “ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช” พร้อมเผยรายชื่อไม้ตระกูล “โมก” อีก 3 ชนิด “โมกการะเกด- โมกพะวอ-โมกนเรศวร” พบใหม่ครั้งแรกในโลกทางภาคเหนือของไทย
เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2553 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช แถลงข่าวการค้นพบพันธุ์ไม้ใหม่ของโลกในประเทศไทย ว่า ขณะนี้มีเรื่องน่ายินดี เมื่อคณะสำรวจพันธุ์ไม้ของกรมอุทยานฯ นำโดยนายสมราน สุดดี ผู้เชี่ยวชาญไม้วงศ์กะเพราของไทย ได้สำรวจพบกะเพราชนิดใหม่ของโลก วงศ์ Labiatae ที่บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.หนอง คาย ขึ้นอยู่บนดินตื้น ๆ บนภูเขาหินทรายตามป่าเต็งรัง ลำต้นเป็นเหลี่ยม สูงประมาณ 50-60 เซนติเมตร กิ่งมีขนสั้น นุ่ม ใบเดี่ยวเรียงตรงสลับตั้งฉาก ยาว 0.4-1 เซนติเมตร แผ่นใบมีขน สากด้านบน ก้านใบยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร ออกดอกและติดผลเดือน ต.ค.-ธ.ค. แต่กลิ่นไม่รุนแรงเหมือนกะเพราบ้านทั่วไป ส่วนจะรับประทานเป็นอาหารได้หรือไม่ ยังไม่ได้ทดลอง
นายจตุพร กล่าวต่อว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดเตรียมตีพิมพ์ประกาศให้เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก โดยจะให้แล้วเสร็จในปี 2553 นี้ หลังจากที่ใช้เวลาในการตรวจสอบกับตัวอย่างพรรณไม้ต่าง ๆ ที่ใกล้เคียง ในหอพรรณไม้ต่าง ๆ ทั่วโลก และไม่พบ ว่ากะเพราพันธุ์ใหม่ของไทยไปซ้ำหรือใกล้เคียงกับของประเทศอื่น ดังนั้นจึงเป็น กะเพราพันธุ์ใหม่ของโลก ทั้งนี้ จะให้ชื่อว่า “กะเพรา ศักดิ์สิทธิ์ (Platostoma tridechii Suddee)” เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณ และคุณูปการ แก่นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช อดีตปลัดกระทรวง ทรัพยากรฯ ที่ได้ทำหน้าที่ ปกป้อง ดูแล ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาติ อย่างเต็มกำลังความสามารถ จนจบชีวิตขณะ ปฏิบัติหน้าที่
“การตั้งชื่อกะเพราพันธุ์ใหม่ของโลกชื่อกะเพราศักดิ์สิทธิ์ น่าจะเหมาะสมเพราะนายศักดิ์สิทธิ์ ชอบรับประทานผัดกะเพรามาก และกะเพราพันธุ์ใหม่ยังมีอยู่ที่เดียวคือภูวัว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นภาคบ้านเกิดของนายศักดิ์สิทธิ์ โดยกรมอุทยานฯ จะศึกษาเพื่อขยายพันธุ์ เพราะจัดเป็นพืชหายากใกล้สูญพันธุ์” อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าว
นายจตุพร กล่าวต่อว่านอกจากนี้ทีมสำรวจพันธุ์ไม้ของกรมอุทยานฯ นำโดยนายราชันย์ ภู่มา หัวหน้าคณะสำรวจ ยังค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทยในสกุลโมกอีก 3 ชนิด คือ โมกการะเกด พบเพียงแห่งเดียวทางภาคเหนือ ที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ใกล้ชายแดนไทย-พม่า เป็นไม้ต้นสูงประมาณ 5-10 เมตร เปลือกสีน้ำตาลเข้ม มีดอกสวยงาม กลีบดอกเป็นรูปกงล้อ สีแดงสด มีสีเขียวที่โคนด้านนอก ช่อดอกออกสั้น ๆ ตามปลายกิ่ง มีขนละเอียด ก้านช่อดอกยาวได้ประมาณ 2 เซนติเมตร
ออกดอกประมาณเดือน พ.ค. ติดผลประมาณเดือน ก.ย. ต่อมาที่ค้นพบคือโมกพะวอ มีต้นสูงประมาณ 15 เมตร เปลือกสีน้ำตาลเข้ม มีดอกสวยงาม เป็นรูปกงล้อ สีเขียวอมเหลือง ด้านในและด้านนอกมีสีเข้ม หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร กลีบรูปรี ยาวประมาณ 1.3 เซนติเมตร กระบังสีเหลือง เรียงติดกันเป็นวงคล้ายรูปถ้วย พบเฉพาะภาคเหนือบริเวณศาลเจ้าพ่อพะวอ อ.แม่สอด จ.ตาก ขึ้นบนเชิงเขาหินปูนในป่าเบญจพรรณ ออกดอกประมาณเดือน พ.ค. ติดผลประมาณเดือน ส.ค.
อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวอีกว่า โมก ชนิดใหม่ของโลกอีกชนิดหนึ่งคือ โมกนเรศวร ต้นสูงประมาณ 4 เมตร เปลือกสีเขียวปนเทา ดอกเป็นรูปกงล้อ สีส้มอมเหลืองสวยงาม ดอกยาวประมาณ 2.7 เซนติเมตร มีปุ่มเล็ก ๆ ด้านใน กลีบรูปรี ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร พบเฉพาะทางภาคเหนือที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อ.อุ้มผาง จ.ตาก ขึ้นตามสันเขาในป่าเบญจพรรณ ระดับความสูงประมาณ 700 เมตร ออกดอกเดือน พ.ค. ของทุกปี ทั้งนี้ โมกพันธุ์ใหม่ของโลกทั้ง 3 พันธุ์ ได้รับการยืนยันจากนายเดวิด มิดเดิลตัน ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้ในสกุลโมกจากหอพรรณไม้เอดินเบอระ สหราชอาณาจักร และได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารการ์เดนส์ บุลเลติน สิงคโปร์ ซึ่งเป็นวารสารระดับโลกด้านพรรณไม้แล้ว ทำให้ประเทศไทยมีพืชสกุลโมกเพิ่มเป็น 14 ชนิด จากพืชสกุลโมกทั่วโลกทั้งหมด 25 ชนิด ซึ่งถือว่าประเทศไทย กลายเป็นศูนย์กลางการกระจายพันธุ์ของพืชสกุลโมกของโลกไปแล้ว
ที่มา: ค้นพบกะเพรา-โมก ชนิดใหม่ของโลก เดลินิวส์ออนไลน์ วันอังคารที่ 31 สิงหาคม 2553
No comments:
Post a Comment