Tuesday, September 7, 2010

แนะอบรมพ่อแม่แก้ปัญหาเด็กตีกัน

แนะอบรมพ่อแม่แก้ปัญหาเด็กตีกัน

แนะพม.จัดอบรมพ่อแม่เลี้ยงดูลูกถูกวิธีแก้เด็กตีกัน เพิ่มพื้นที่เด็กแสดงออก อย่าใช้อารมณ์-ประชด

วันนี้ (7 ก.ย.2553) นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล(มม.) กล่าวถึงปัญหาเด็กตีกันว่า เด็กกลุ่มเสี่ยงรวมถึงเด็กที่สร้างปัญหาจะมาจากสิ่งแวดล้อมที่มีปัญหา ซึ่งปัญหาที่มาจากการเลี้ยงดูของครอบครัวนั้นควรแก้ไขโดยนำพ่อแม่ผู้ปกครอง เข้ารับการอบรมการเลี้ยงดูบุตรหลานอย่างถูกวิธี อาจจะให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่มีศูนย์พัฒนาครอบครัวกว่า 6,000 แห่งทั่วประเทศเป็นหลักในการอบรม เพราะมาตรการของรัฐในการแก้ปัญหาครอบครัวที่มีถึง 20 ล้านครอบครัวคงไม่ทั่วถึง พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องร่วมแก้ปัญหา นอกจากนี้เด็กกลุ่มนี้ยังต้องการแสดงพลังแต่ไม่มีพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออก ในเชิงสร้างสรรค์ เมื่อเด็กโตแต่ร่างกายแต่ไม่มีวุฒิภาวะจึงเกิดการหล่อหลอมและนำไปสู่การ แสดงออกเชิงลบ

นพ.สุริยเดวกล่าวต่อไปว่า เมื่อเด็กมีพลังก็ควรปลูกฝังเรื่องจิตอาสาเรียนรู้การเป็นผู้ให้ โดยต้องเป็นมาตรการบังคับและทำต่อเนื่อง ไม่ใช่การสร้างภาพ ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการต้องคิดนอกกรอบ โดยการเรียนการสอนปีแรกๆ อาจให้เด็กกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มที่มีปัญหาเรียนรู้มิติเชิงสังคม ให้ออกไปทำกิจกรรมเพื่อผู้ด้อยโอกาส ทำงานกับชุมชน ให้เกิดทักษะการเป็นผู้ให้ และค่อยมาเสริมวิชาการภายหลัง ซึ่งจะทำให้เด็กสามารถใช้วิชาการที่เรียนรู้กลับไปช่วยเหลือสังคมได้อีก โดยเด็กไม่จำเป็นต้องจบหลักสูตรภายในเวลาที่กำหนด นอกจากนี้จะต้องนำวิถีชีวิตมาเป็นโจทย์ในการเรียนรู้ระหว่างครูและนักเรียน มีพื้นที่ให้เด็กได้ปลดปล่อยอารมณ์ แต่ให้อยู่ในกติกาและขอบเขต รวมทั้งมีเครือข่ายเฝ้าระวังทั้งภายในและนอกสถาบันการศึกษา โดยใช้ระบบครูที่ปรึกษา ร่วมกับพ่อแม่ ชุมชนร่วมกันเฝ้าระวังและแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

“ส่วนที่มีการเสนอให้นำเด็กไปอยู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือลงโทษเด็กเทียบเท่าผู้ใหญ่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในตัวเด็กด้วย ไม่ใช่เสนอบทลงโทษด้วยอารมณ์หรือประชดประชัน เพราะแทนที่จะแก้ปัญหาอาจจะเกิดปัญหามากยิ่งขึ้น” นพ.สุริยเดวกล่าว

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์ วันอังคาร ที่ 07 กันยายน 2553
====
ผลวิจัยชี้เด็กตีกันเกิดจากค่านิยม-ศักดิ์ศรี
ผลวิจัยชี้ปัจจัยที่ทำให้วัยรุ่นใช้ความรุนแรงพบว่า 60-80% เกิดจากความคิด ทัศนคติ ค่านิยมความรุนแรง ศักดิ์ศรี

เมื่อ วันที่ 6 ก.ย. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข แถลงภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงปัญหานักเรียนนักเลงในวัยรุ่นไทย โดยเฉพาะสถาบันอาชีวะศึกษาในขณะนี้ว่า ทางกรมสุขภาพจิตได้ทำการวิจัยถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมในการใช้ความ รุนแรงในกลุ่มวัยรุ่นพบว่าส่วนใหญ่ 60-80% เกิดจาก ความคิด ทัศนคติ ค่านิยมความรุนแรง ศักดิ์ศรี ทั้งนี้ 1.หากมีการดื่มสุรา เสพสารเสพติด จะเพิ่มความเสี่ยงใช้ความรุนแรง 2-20 เท่า 2.ถ้าติดเกมเพิ่มความเสี่ยงใช้ความรุนแรง 3.5 เท่า 3.สื่อที่มีการนำเสนอความรุนแรงอาจทำให้เกิดการเลียนแบบ 2.3 เท่า 4.การใช้ความรุนแรงของผู้ใหญ่ในสังคมอาจทำให้เด็กและวัยรุ่นเลียนแบบ 1.7 เท่า และ5.ครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง เข้มงวดส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรง 1.3 เท่า

รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขเห็นควรว่า ควรจะมีการส่งเสริมเรื่องความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิว ควบคู่กับไอคิว ขณะเดียวกันนอกจากไม้แข็งคือการดำเนินการตามกฎหมาย สถานศึกษาที่ปล่อยปละละเลยให้มีการใช้ความรุนแรงก็ควรมีส่วนรับผิดชอบ ทั้งนี้ควรมีการใช้ไม้อ่อนด้วย โดยกระทรวงสาธารณสุขจะให้ความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการสร้างสร้าง อีคิวให้แก่เด็ก โดยแนวทางคือ คัดกรองเด็กออกมา จัดหลักสูตรเสริมสร้างอีคิวให้กับกลุ่มเสี่ยง มีโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ทู บี นัมเบอร์ วัน เฟรนด์ คอร์เนอร์ ให้คำปรึกษาวัยรุ่นอายุใกล้เคียงกัน โดยในวันที่ 7 ก.ย. จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในครม.ทางกระทรวงจะเสนอแนวทางช่วยเหลือกระทรวง ศึกษาธิการแก้ไขปัญหานี้ด้วย

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงพฤติกรรมวัยรุ่นมีการก่อเหตุบ่อยครั้งไม่ว่าการปาหิน การใช้เหล็กแป๊บพุ่งใส่รถยนต์ว่า จากการศึกษาเชิงคุณภาพในกลุ่มวัยรุ่นที่ก่อความรุนแรงปาหิน ทำให้ค้นพบสาเหตุของการก่อเหตุมาจากกลไก 3 ด้าน คือ 1.ความคึกคะนองของวัยรุ่น 2.การเรียกร้องความสนใจ เพื่อให้ได้รับการยอมรับในกลุ่มเพื่อน และ 3.ความโกรธแค้น การต่อต้านสังคม

“เมื่อศึกษาลงลึกพบว่า การดื่มสุรา เสพยาเสพติด ร่วมด้วยจะยิ่งทำให้วัยรุ่นขาดความยับยั้งชั่งใจ นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องความสนใจ โกรธแค้นสังคม ยิ่งผู้ใหญ่ในบ้านเมืองให้ความสนใจ มีการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดเมื่อมีการก่อเหตุ และสื่อมวลชนนำเสนอข่าวก็จะยิ่งทำให้ให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ” นพ.วชิระ กล่าวและว่า สำหรับการแก้ คือ ต้องใช้ไม้แข็งคือมาตรการทางกฎหมายอย่างจริงจัง และไม้อ่อน คือ ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ตามวัย โดยครู่ พ่อแม่ และแพทย์ ต้องมีส่วนช่วยด้วย ขณะเดียวกันกรมสุขภาพจิตจะสื่อสารทำความเข้าใจผ่านโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน หรือผ่านครอบครัว ชุมชน องค์กรต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เด็กมีพฤติกรรมรุนแรง

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์ วันจันทร์ ที่ 06 กันยายน 2553

No comments:

Post a Comment