การฝังเข็ม 6 ขั้นตอน
การรักษาอาการป่วยด้วยวิธีฝังเข็มนั้นไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ระหว่างการรักษาไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดหนักหนานัก และเพื่อคลายกังวล ถ้าต้องถูกฝังเข็ม ‘มุมสุขภาพ’ จึงลำดับขั้นตอนในการฝังเข็มไว้ดังต่อไปนี้...
ขั้นแรก วินิจฉัยโรค แพทย์ จะซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วย วินิจฉัยอาการและโรคเสียก่อน เพื่อให้ทราบโรคที่เป็น อาการใดเป็นอาการหลัก-เป็นรอง อาการใดควรรักษาก่อน-หลัง ทั้งเพื่อให้ทราบว่า มีโรคแทรกซ้อนหรือไม่
ต่อมา กำหนดแผนการรักษา แพทย์ จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนการรักษา เช่น กำหนดเลือกจุดปักเข็ม ตำแหน่งใด ใช้กี่จุด จุดใดคือจุดหลักที่ต้องปักทุกครั้ง จุดใดเป็นจุดรองที่ปักเป็นบางครั้ง ซึ่งคล้ายกับแพทย์แผนปัจจุบันที่ต้องเขียนใบสั่งยานั่นเอง
ตามด้วย จัดท่าผู้ป่วย จะ จัดท่าผู้ป่วยให้อยู่ในท่าที่เหมาะสมกับการปักเข็ม เช่น ใช้ท่านอนคว่ำเมื่อจะปักเข็มบริเวณหลังหรือเอว ใช้ท่านอนหงายเมื่อจะต้องปักเข็มบริเวณใบหน้า หน้าท้อง แขนขา เป็นต้น
ถัดมาเป็นขั้น ปักเข็ม แพทย์ ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคทำความสะอาดบริเวณผิวหนัง ก่อนใช้เข็มขนาดเล็กปราศจากเชื้อ ปักลงบนจุดฝังเข็มที่กำหนดไว้ โดยเข็มจะผ่านชั้นผิวหนังอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บ หากเจ็บจะคล้ายมดกัด โดยผู้ป่วยต้องรู้สึกตื้อ ๆ บริเวณที่ถูกฝังเข็ม ซึ่งเรียกว่า ความรู้สึกได้ลมปราณ
ขั้นรองสุดท้าย กระตุ้นเข็ม เพื่อให้ความรู้สึกได้ลมปราณเกิดขึ้น มี 2 แบบ คือ กระตุ้นด้วยการใช้มือหมุนปั่นเข็มไปทางซ้ายขวาหรือปักและดึงเข็มขึ้นลงสลับ กัน อีกแบบใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ต่อสายไฟติดกับเข็ม แล้วเปิดเครื่องกระตุ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ากล้ามเนื้อบริเวณที่ปักเข็มกระตุกเบา ๆ เป็นจังหวะสม่ำเสมอ
สุดท้าย การถอนเข็ม หลังจากปักเข็มและกระตุ้นรวมเวลาราว 30 นาที แพทย์จึงถอนเข็มออกทั้งหมด ไม่ฝังค้างไว้ ยกเว้นกรณีพิเศษ เช่น ฝังเข็มหู เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกปวดเมื่อยเล็กน้อย เพียงไม่กี่วันจะหายไปเอง.
takecareDD @ gmail.com
ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์ วันพฤหัสบดี ที่ 30 กันยายน 2553
‘ฝังเข็ม’ โรคที่ควร-คนที่ห้าม
วันนี้ ‘ภาษาหมอ’ บอกต่อถึงโรคที่รักษาด้วยวิธีฝังเข็มแล้วให้ผลการรักษาอย่างน่าพึงพอใจ ที่ให้ผลดีเป็นพิเศษ คือ กลุ่มอาการปวดต่าง ๆ อาทิ ปวดจากระบบเคลื่อนไหว ปวดจากความเครียด ปวดจากการเล่นกีฬา ปวดหลังผ่านการผ่าตัด
นอกจากนี้ยังรวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพของแขนและขา เนื่องจากการเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาต ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ งูสวัด เม็ดเลือดขาวน้อยกว่าปกติ สมรรถภาพทางเพศเสื่อม ภูมิแพ้ หอบหืด ไซนัส ลมชัก โปลิโอ อาการนอนไม่หลับ ขากรรไกรค้าง แพ้ท้อง การเลิกเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด
ส่วนกลุ่มอาการที่ฝังเข็มแล้วให้ผลดี ประกอบด้วย อาการเจ็บเฉียบพลันหรือเรื้อรังในลำคอ (ต่อมทอนซิล) การวิงเวียนศีรษะเพราะน้ำในช่องหู สายตาสั้นในเด็ก เด็กในครรภ์มารดาอยู่ในท่าขวางทำให้คลอดยาก อาการผิดปกติของลำไส้เมื่อมีความเครียด สำหรับการฝังเข็มที่ให้พอใช้ อาทิ ท้องผูก ท้องเดิน มีบุตรยาก เรอบ่อย ปัสสาวะขัด หญิงหลังคลอดน้ำนมน้อย
ทั้งนี้ยังมีเพื่อความงาม อย่างการรักษาสิว ฝ้า เพื่อผิวพรรณเปล่งปลั่ง ลดหรือเพิ่มน้ำหนัก ซึ่งโดยรวมแล้วไม่ว่าจะฝังเข็มเพื่อรักษาอาการใด ควรทำควบคู่กับการรักษาร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน เพราะการฝังเข็มเพียงอย่างเดียวอาจให้ผลการรักษาระหว่างร้อยละ 51-94
ข้อห้ามในการฝังเข็ม เพราะอาจทำให้เกิดอันตราย จะห้ามฝังเข็มในสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ เว้นแต่การฝังเข็มเพื่อลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ช่วยคลอดง่าย ห้ามฝังเข็มในผู้ป่วยที่ภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ ห้ามฝังเข็มลงที่ก้อนเนื้อร้ายในผู้ป่วยมะเร็ง และในผู้ป่วยที่ต้องเข้าผ่าตัดรักษาอย่างแน่นอน.
takecareDD @ gmail.com
ที่มา: ‘ฝังเข็ม’ โรคที่ควร-คนที่ห้าม วันอังคารที่ 28 กันยายน 2553 เดลินิวส์ออนไลน
No comments:
Post a Comment