เรื่อง : ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย
1.การเมืองไม่ใช่เรื่องสกปรก ตรงกันข้ามเป็นเรื่องที่ประเสริฐเลิศล้ำที่สุด เพราะหัวใจของการเมืองก็คือ การอุทิศตนรับใช้เพื่อนมนุษย์และประเทศชาติให้มีสันติสุข ที่เราเห็นกันว่า การเมืองเป็นเรื่องสกปรกนั้น เป็นเพราะมี “คนสกปรก” เข้าไปสู่วงการเมืองเท่านั้น การเมืองโดยตัวมันเองเป็นสิ่งประเสริฐสุด
2.เกราะป้องกันการทุจริตที่ดีที่สุดไม่ใช่กฎหมายที่ตราไว้อย่างรัดกุม เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่คือการมีค่านิยมไม่ยอมรับการทุจริตอย่างเข้มแข็งของประชาชนต่างหาก เมื่อไหร่ก็ตามที่ประชาชนเห็นว่า การทุจริตคือ “บาปมหันต์” เมื่อนั้นการทุจริตก็จะลดน้อยลงไปเอง
3.คนที่จะได้รับประโยชน์จากการให้อภัยเป็นคนแรกก็คือตัวเราผู้ให้อภัย นั่นเอง คนที่ไม่ยอมให้อภัยก็คือ คนที่กักขังตัวเองไว้ในคุกของความเจ็บปวดอันยาวนาน
4.อย่าด่วนสรุปว่าคนเลวจะต้องเลวตลอดไป ในความเป็นคนเลวนั้น ย่อมมีเหตุผลอันควรรับฟังเสมอ คนเลวก็เป็นเพียงแค่คนที่ทำผิดพลาด ในแง่ของศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์แล้ว เขายังคงมีอยู่ครบทุกประการ การฆ่าคนเลวด้วยความรู้สึกว่าเขาไม่ใช่คน หรือเขาเป็นคนที่สมควรฆ่า เพราะมีค่าแห่งความเป็นคนต่ำกว่าเรา เป็นทัศนคติที่อันตราย
5.การทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงของนักการเมือง คือ ต้นธารของความล้มเหลวร่วมกันของคนทั้งประเทศ ในทางกลับกัน ความสุจริตของนักการเมืองก็เป็นหลักประกันสันติสุขของคนทั้งประเทศร่วมกัน
6.ประเทศที่ประชาชนยอมรับว่าการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นสิ่งสามัญที่ “ควรทำ” เพราะ “ใครๆ เขาก็ทำกัน” คือประเทศที่กำลังย่างบาทก้าวเข้าสู่ความเป็นรัฐที่ล้มเหลว
7.อย่าคิดว่าความรุนแรงจะต้องมาจากปลายกระบอกปืนหรือจากแรงระเบิดเท่า นั้น ความไม่รู้หนังสือ ความอยุติธรรม ความยากจน ภาวะทุพโภชนาการ และการมอมเมาประชาชนด้วยข้อมูลเท็จ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นความรุนแรงทั้งสิ้น และเป็นรากฐานของความรุนแรงที่ปะทุผ่านปลายกระบอกปืนและแรงระเบิดด้วย
8.เราแต่ละคนต่างก็มีส่วนหล่อเลี้ยงให้เกิดความรุนแรงไม่มากก็น้อย การที่เรายึดติดในความคิดเห็นของตัวเองอย่างเข้มข้น จนไม่เปิดใจฟังคนที่คิดต่าง ก็ทำให้เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงได้แล้ว
9.การที่หลักจริยธรรมซึ่งควรเป็นบรรทัดฐานของสังคมถูกเมินเฉยก็เพราะว่า เรามักจะนำเสนอสิ่งเหล่านี้ในฐานะที่เป็นหลักการทางศาสนา และด้วยท่าทีลีลาที่เต็มไปด้วยความน่าเบื่อ หากเราลองเปลี่ยนการนำเสนอแนวทางของจริยธรรมเสียใหม่ โดยชี้ให้เพื่อนมนุษย์ของเราเห็นว่า หลักจริยธรรม ก็คือ หลักประกันความสุขในชีวิตของเราแต่ละคน ซึ่งเป็นเรื่องง่ายๆ ใครทำ คนนั้นก็มีชีวิตที่ดี ใครไม่ทำ คนนั้นก็กำลังปฏิเสธการมีชีวิตที่ดี การมีจริยธรรมควรเริ่มจากการเห็นคุณค่าของจริยธรรม ไม่ใช่เริ่มจากการยัดเยียดมาจากเบื้องบนหรือในนามของการสั่งการโดยอำนาจรัฐ
10.ทุกสิ่งที่เราลงมือทำ ไม่ว่าจะด้วยความมีสติ หรือขาดสติก็ตาม ในที่สุดแล้ว การกระทำของเราจะส่งผลสะเทือนต่อมนุษยชาติในแง่ใดแง่หนึ่งเสมอ หากเธอไม่เชื่อ ก็ลองโยนหินสักก้อนหนึ่งลงในธารน้ำดูสิ
11.ในขณะที่นักหนังสือพิมพ์กำลังตรวจสอบนักการเมืองซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะนั้น สังคมก็กำลังตรวจสอบนักหนังสือพิมพ์ด้วยเช่นเดียวกัน
12.ในบางกรณีเรามักจะคอยสมเพชคนอื่น โดยหารู้ไม่ว่า บ่อยครั้งคนที่ควรสมเพชก็คือ ตัวเราเอง ซึ่งในบางสถานการณ์ทั้งๆ ที่รู้ว่าอะไรดี แต่กลับไม่ทำ และทั้งๆ ที่รู้ว่าอะไรไม่ดี แต่กลับตั้งใจทำลงไปแล้ว
13.ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับคนซึ่งปราศจากสตินั้น เป็นความทุกข์ที่น่าสงสาร เพราะมัน (ทุกข์) จะไม่ได้รับการประเมินค่าอย่างถูกต้อง ในทางพุทธศาสนา เราถือกันว่า ความทุกข์เป็นครูผู้มาปลุกให้ตื่น แต่สำหรับคนขาดสติ เมื่อความทุกข์มาปลุก เขาจะลุกไม่ขึ้นเพราะมัวแต่ “เป็น” ทุกข์ จนมองไม่ “เห็น” ทุกข์
14.การที่สื่อมวลชนได้รับการยกย่องว่าเป็นฐานันดรที่สี่นั้น ไม่ใช่เพราะว่าเป็นผู้มีอิทธิพลที่จะให้ร้าย ตรวจสอบ หรือจะสนับสนุนพรรคการเมืองไหนให้เป็นรัฐบาลก็ได้เท่านั้น แต่การเป็นฐานันดรที่สี่ควรหมายความว่า นักหนังสือพิมพ์สามารถใช้ศักยภาพของตนเปลี่ยนแปลงทิศทางของสังคม ประเทศ และโลก ให้เป็นไปในทิศทางที่ประเสริฐได้อย่างมีพลังมากกว่าคนในวงการอื่นๆ ศักยภาพด้านนี้ สื่อมวลชนในประเทศของเราดูเหมือนจะยังไม่ค่อยตระหนักกันมากนัก สื่อกระแสหลักไม่น้อย จึงเน้นแต่บทบาทเชิงพาณิชย์และการขายชานอ้อยของความคิดเห็นไปแบบวันต่อวัน
15.จิตวิทยาแนวพุทธบอกเราว่า ความคิดจะเกิดขึ้นในหัวของเราทีละเรื่อง ด้วยเหตุนี้ เมื่อเราโกรธ แค่เพียงเราเปลี่ยนไปคิดในเรื่องอื่นซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ชวนให้โกรธ ด้วยวิธีย้ายความคิดง่ายๆ เพียงแค่นี้ ความโกรธก็จะสลายตัวลงโดยอัตโนมัติ
16.คนที่รวยล้นฟ้าด้วยการทำมาหากินอย่างสุจริตนั้น หากเขายังไม่รู้จักแบ่งปันแก่เพื่อนมนุษย์ ก็ยังไม่นับเป็นคนที่ควรยกย่องแต่อย่างใด เขาเป็นได้อย่างดีก็แค่คนที่ครอบครองทรัพยากรเงินมากกว่าคนอื่นเท่านั้น
17.ความมั่นคงทางจิตใจ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่เป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามมากที่สุด
ที่มา: โพสต์ทูเดย์ดิจิตอล/โพสต์ทูเดย์ดอทคอม วิสัยทัศน์-วิสัยธรรม โดย ว.วชิรเมธี * 29 สิงหาคม 2553
No comments:
Post a Comment