Tuesday, October 5, 2010

ทศลักษณ์ของผู้นำ

ทศลักษณ์ของผู้นำ

ผู้นำขั้นสูงที่ควรแก่การกล่าวว่าเป็น “วินายโก” (ผู้นำเหนือผู้นำ) ก็คือ ผู้นำที่มีธรรมชาติของการเป็นผู้นำอยู่ในจิตสำนึกสูง เพียงเห็น “แวว” ของปัญหาก็ลุกขึ้นมานำ...

โดย...ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย

ความหมาย

ผู้นำ (Leader/นายก) หมายถึง ผู้อำนวยการให้คนมาทำงานร่วมกัน โดยที่เมื่อทำงานแล้ว ก่อให้เกิดบรรยากาศ “คนก็สำราญ งานก็สำเร็จ” หรือ

ผู้นำ ก็คือ ผู้นำในการแก้ปัญหาฝ่าวิกฤตโดยที่เมื่อแก้ปัญหาฝ่าวิกฤตสำเร็จแล้ว ปัญหาก็ได้รับการแก้ไข คนส่วนใหญ่ก็ยอมรับในภาวะแห่งการเป็นผู้นำของตน

ผู้นำ ก็คือ ผู้ที่มีศักยภาพแห่งการนำอยู่ในตนเองสูง จนก่อให้เกิดแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ อยากเดินตามเพื่อมาร่วมทำงานด้วย และเมื่อทำงานด้วยแล้วก็ก่อให้เกิดภาวะ “งานก็สัมฤทธิ์ ชีวิตก็รื่นรมย์” และ/หรือแม้ไม่ได้ร่วมงานด้วย แต่ภาวะผู้นำของเขาก็ก่อให้เกิดแรงดลบันดาลใจในการอยากดำเนินรอยตาม

นิยามที่หนึ่ง เป็นนิยามที่ปรากฏโดยทั่วไปตามทฤษฎีภาวะผู้นำของปราชญ์ตะวันตก นิยามที่สองและสาม เป็นบทนิยามที่เขียนขึ้นใหม่เฉพาะในที่นี้ ซึ่งนิยามดังกล่าวนี้ กลั่นกรองมาจากการสังเกตภาวะผู้นำของผู้นำคนสำคัญๆ ระดับโลกทั้งในอดีตและปัจจุบัน

กล่าวเฉพาะคำนิยามที่สองนั้น หมายถึง ภาวะผู้นำที่จะปรากฏออกมาต่อสาธารณะก็ต่อเมื่อได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมาย ให้ขึ้นมาเป็นผู้นำ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ผู้นำในการแก้วิกฤตการณ์ ซึ่งเป็นบทบาททั่วไปของคนที่เป็นผู้นำอยู่แล้ว ส่วนนิยามที่สามเป็นนิยามของผู้นำตามธรรมชาติ ที่ไม่ต้องรอให้มีการแต่งตั้ง แต่ศักยภาพแห่งการเป็นผู้นำ (Leadership) ก็เปล่งประกายเป็นที่ยอมรับของผู้ตามโดยอัตโนมัติ ยิ่งเมื่อลุกขึ้นมาทำหน้าที่ผู้นำก็ยิ่งแสดงภาวะผู้นำโดดเด่นจนเป็นที่ยอม รับอย่างกว้างขวาง เช่น เนลสัน แมนเดลา ที่แม้จะอยู่ในคุกถึง 27 ปีเต็ม แต่ประชาชนที่อยู่นอกคุกก็ยังคงรักและศรัทธาในตัวเขา หรือ จอห์น เอฟ เคเนดี และ/หรือ ดาไล ลามะ ที่ไม่ว่าจะปรากฏกายทำอะไรที่ไหน ก็มีแต่ผู้รัก ศรัทธา ปรารถนาจะดำเนินรอยตาม ผู้นำชนิดนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็น “ผู้นำที่เป็นคนดลใจ” หรือ Charismatic Leader

ความสำคัญ

“ผู้นำ” เป็นผู้กำหนดชะตากรรมของคน ขององค์กร ของประเทศ คน องค์กร ประเทศ จะเป็นอย่างไร จึงขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำของคนที่เป็นผู้นำเป็นสำคัญ ความสำคัญของผู้นำ มีอยู่อย่างไร จะเห็นได้จากพุทธดำรัสของพระพุทธองค์ที่ตรัสว่า “ผู้นำ เหมือนโคจ่าฝูง หากโคจ่าฝูงนำไปคด ผู้ตามก็คด หากโคจ่าฝูงนำไปตรง ผู้ตามก็ตรง” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า “ผู้นำเป็นอย่างไร ผู้ตามก็เป็นอย่างนั้น”

ประเภทของผู้นำ

ก.ทฤษฎีของผู้รู้

1.ผู้นำแบบคนขับรถไฟ (ทำงานตามระบบที่วางไว้ - - ไม่สร้างสรรค์)

2.ผู้นำแบบนายแพทย์ (มีปัญหาจึงลุกขึ้นมานำ)

3.ผู้นำแบบชาวนา (นำเฉพาะที่ - - รอให้มีคำสั่งจากหน่วยเหนือ)

4.ผู้นำแบบชาวประมง (กล้าคิด กล้าทำ กล้านำ กล้ารับผิดชอบ)

ข.ทฤษฎีของ ว.วชิรเมธี

1.ผู้นำ คือ ผู้อาวุโส

2.ผู้นำ คือ ผู้ดำรงตำแหน่ง

3.ผู้นำ คือ นอมินี (ร่างทรง)

4.ผู้นำ คือ ผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ทศลักษณ์ของผู้นำ

1.มีความรู้ดี

1.1 รู้เหตุ (รู้หลักการ/What)

1.2 รู้ผล (รู้วัตถุประสงค์/Why)

1.3 รู้ตน

1.4 รู้ประมาณ

1.5 รู้กาล

1.6 รู้สังคม

1.7 รู้บุคคล (ความแตกต่างระหว่างบุคคล)

2.มีความสามารถดี

3.มีวิสัยทัศน์ดี

4.มีจิตสำนึกดี

5.มีบุคลิกภาพดี

6.มีการบริหารจัดการดี

7.มีเพื่อนร่วมงานดี

8.มีมนุษยสัมพันธ์ดี

9.มีสุขภาพดี

10.มีประวัติดี

ผู้นำที่พึงประสงค์ ก็คือ ผู้นำที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้นำชนิดนี้ จะมีภาวะผู้นำอยู่ในตัวเอง กล่าวคือ เขาจะลุกขึ้นมานำโดยที่ไม่ต้องรอให้มีใครมาแต่งตั้ง หากแต่การนำนั้นเกิดจากการมีวิสัยทัศน์และการมีจิตสำนึกสูงอันเนื่องมาจาก การตระหนักรู้ว่า หากไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ปัญหาไม่เพียงแต่จะไม่ได้รับการแก้ไข แต่จะลุกลามใหญ่โตทำให้เดือดร้อนกันไปทั่ว ผู้นำชนิดนี้ก็เช่น มหาตมะ คานธี หรือ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ จูเนียร์ ทั้งสองท่านเป็นผู้นำในการเรียกร้องสิทธิพลเมืองให้แก่คนผิวดำ (คานธีที่แอฟริกาใต้, ลูเธอร์ คิงส์ ที่สหรัฐอเมริกา) จนคนผิวดำมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ทัดเทียมกับคนผิวขาว เฉพาะที่อเมริกานั้น ก้าวหน้าไปไกลจนถึงขั้นที่ปัจจุบันมีประธานาธิบดีผิวสีเป็นคนแรกนั่นก็คือ บารัก โอบามา ซึ่งหากไม่ใช่เพราะอานิสงส์ของการลงแรงมาอย่างยากลำบากของ ลูเธอร์ คิงส์ แล้ว บารัก โอบามา ก็คงยากที่จะประสบความสำเร็จจนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของประเทศมหาอำนาจ อันดับหนึ่งของโลกได้

ผู้นำทั่วไปนั้น จะนำก็ต่อเมื่อได้รับการมอบหมายให้นำ นี่นับเป็นผู้นำธรรมดาที่มีอยู่อย่างดาษดื่น ผู้นำขั้นสูงที่ควรแก่การกล่าวว่าเป็น “วินายโก” (ผู้นำเหนือผู้นำ) ก็คือ ผู้นำที่มีธรรมชาติของการเป็นผู้นำอยู่ในจิตสำนึกสูง เพียงเห็น “แวว” ของปัญหาก็ลุกขึ้นมานำ และเมื่อนำแล้ว ก็ไม่เรียกร้องต้องการสิ่งใดเป็นการตอบแทน เพราะเขาถือว่า การแก้ปัญหาได้สำเร็จ นั่นแหละคือบำเหน็จที่สูงค่าที่สุดแล้วสำหรับภาวะผู้นำของเขา


ที่มา: โพสต์ทูเดย์ดอทคอม ทศลักษณ์ของผู้นำ โดย ว.วชิรเมธี 05 กันยายน 2553

No comments:

Post a Comment