เสียงปีพาทย์เริ่มโหมโรงประสานกับเสียงระนาดเป็นจังหวะพร้อมบรรเลงเพลงเพื่อ ขับกล่อมผู้ชมชาวอินโดนีเซียในการแสดงโชว์โขนราม เกียรติ์ ตอน สีดาหาย ถวายผล ยกรบ ของกรมศิลปากร ณ โรงละคร Gedung Kesenian กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยการจัดงานครั้งนี้ถือเป็นการกระชับสายสัมพันธ์และส่งเสริมการทูตทาง วัฒนธรรม โดยใช้การแสดงเป็นสื่อให้ประชาชนของทั้งสองประเทศได้รู้จักและเกิดความ ผูกพัน ขณะเดียวกันจะได้รับการพัฒนาในด้านต่าง ๆโดยใช้มิติทางวัฒนธรรมเชื่อมระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
หากเอ่ยถึงความสัมพันธ์ทางด้านสังคมและวัฒนธรรมของสองประเทศ ถือได้ว่ามีความสัมพันธ์มาอย่างช้านาน โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับชวา และมีความกระชับแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นในสมัยราชอาณาจักรสยาม เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเยือน ชวาถึง 3 ครั้ง ใน พ.ศ. 2413, 2439 และ 2444 โดยมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นทางด้านวรรณคดี อาหาร ภาษา เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องดนตรี
นอกจากการนำโขนมาแสดงฉลองความสัมพันธ์ครั้งนี้แล้ว ยังได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมการบูรณะศาลาไทย 2 หลังบริเวณน้ำตกดาโก (Dago) เมืองบันดุง ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์การสถาปนาความสัมพันธ์ทาง การทูต เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสดังกล่าว เนื่องจากศาลาไทยทั้งสองหลังนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจารึกอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จปร. เมื่อคราวเสด็จเยือนชวา ในปี 2439 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเยือนชวาเมื่อปี 2472 ก็ทรงจารึกพระปรมาภิไธย ปปร.ไว้เช่นกัน จากนั้นรัฐบาลจึงให้สร้างศาลาไทยครอบศิลาจารึกดังกล่าวไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานที่แสดงถึงสัมพันธไมตรีอันดีของสองชาติ
การจัดงานในครั้งนี้ก็ได้ผ่านพ้นไปแล้วอย่างงดงาม เพราะเมื่อแสงไฟภายในโรงละครดับลง เหลือเพียงแสงไฟบนเวที ผู้ชมต่างเงียบงันเหมือนต้องมนต์สะกด สายตาทุกคู่จับจ้องมองการแสดงลีลาร่ายรำอันอ่อนช้อย ผสมผสานกับเครื่องแต่งกายที่สะท้อนความวิจิตรส่งประกายเจิดจ้าระยิบระยับอัน งดงามด้วยความชื่นชมในท่วงท่าอันสง่างามและคงความเป็นเอกลักษณ์แบบตัวละคร ของไทยได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะฉากการต่อตัวเพื่อยกรบของพระเอกและตัวร้ายในท้องเรื่องที่สร้างความ สนุกสนานและฝากความประทับใจไว้ได้อย่างดีเยี่ยม แม้ระยะเวลาของการแสดงเพียง 1 ชั่ว โมงผ่านไปอย่างรวดเร็วแต่ก็ได้สะกดผู้ชมทั้งชาวไทยและชาวอินโดนีเซียให้อยู่ กับที่ เมื่อการแสดงสิ้นสุดลงผู้ชมพร้อมใจกันปรบมือให้อย่างกึกก้องกระหึ่มทั่วทั้ง โรงละคร
อาจารย์ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ นาฏศิลปินอาวุโส ในฐานะผู้กำกับการแสดงโขนรามเกียรติ์ อธิบายว่า เราใช้เวลาการเตรียมตัวและซักซ้อมการแสดงเป็นเวลาเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น และการเดินทางมาเยือนประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมครั้งนี้เป็นการฉลองสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและอิน โดฯที่มีมาอย่างยาวนาน และสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย เพื่อนำมาเปิดการแสดงในครั้งนี้ก็คงจะเป็นการแสดงอะไรไม่ได้นอกจากการแสดง โขน เพราะถือเป็นมหรสพชั้นสูง แม้ประเทศอินโดนีเซียจะมีการแสดงรามายะณะแบบชวา แต่รูปแบบก็แตกต่างกัน
“การแสดงโขนถือเป็นศิลปะชั้นสูงที่ใช้เป็นการแสดงเพื่อเชิดหน้าชูตาระดับ ประเทศ และก็เชื่อมั่นว่าชาวอินโดฯจะต้องชื่นชมศิลปวัฒนธรรม ที่เป็นเอกลักษณ์แบบไทย ๆ ที่มีรูปแบบไม่เหมือนชาติใดอย่างแน่นอน และเมื่อคณะนักแสดงเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาแล้วชาวอินโดนีเซียจะต้องได้รับ ชมการแสดงที่ดีที่สุดของประเทศไทย และได้รับการกล่าวขวัญอย่างล้นหลาม” อ.ปกรณ์ กล่าวและว่า ณ วันนี้การแสดงผ่านไปแล้วและมีเสียงตอบรับดีมาก ชาวอินโดนีเซียและชาวต่างชาติต่างชื่นชม โดยเฉพาะโครงสร้างการรำที่งดงาม ซึ่งก็ได้สร้างความอบอุ่นให้แก่ชาวไทยที่อาศัยอยู่ในอินโดนีเซียอีกด้วย
นายสุทธิ สุทธิรักษ์ นาฏศิลปิน (ระดับปฏิบัติงาน) สำนักการสังคีต กรมศิลปากร หรือ พี่แบงค์ ผู้แสดงเป็นทศกัณฐ์ เล่าว่า รู้สึกดีใจและประทับใจที่ได้มาเปิดการแสดงที่นี่ และยังทราบอีกว่าการมาเปิดแสดงโขนครั้งนี้ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอินโดนีเซีย ในโอกาสครบ 60 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งพวกเรายกทัพโขนมาเปิดการแสดงอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการพากย์ การร้อง และการเจรจา โดยการแสดงครั้งนี้มีความพิเศษคือ ผู้ชมชาวอินโดนีเซียและต่างชาติ จะได้รับชมการแสดงโขนของคณะนักแสดงจากกรมศิลปากรอย่างแท้จริง พร้อมสัมผัสได้ถึงเสน่ห์ของความสวยงามอย่างไทย และพวกเราก็หายเหนื่อยเมื่อพบว่า ผู้ชมการแสดงต่างพากันชื่นชมและประทับใจอย่างล้นหลาม
Mr.Hendrikus DWI Riyawto ผู้ชมชาวอินโดนีเซีย บอกว่า การแสดงโขนถือเป็นการแสดงออกถึงเอกลักษณ์ในความเป็นไทยได้อย่างงดงาม การดำเนินเรื่องเข้าใจง่ายสามารถติดตามได้ไม่ยากทำให้รู้สึกประทับใจ เพราะหากเปรียบเทียบการแสดงโชว์รามายะณะของอินโดฯถือว่ามีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องเครื่องแต่งกายของนักแสดงมีความสวยงามและดึงดูดผู้คนได้ดี เยี่ยม และหากมีโอกาสก็อยากให้มีการจัดแสดงแบบนี้อีก เพราะเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่จะได้เรียน รู้เรื่องวัฒนธรรมของสองประเทศว่ามีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจในการแสดงโชว์โขนเรื่องรามเกียรติ์ที่ทรงคุณ ค่าของไทย นอกจากจะเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยให้ชาวอินโดนีเซียได้รู้จักอย่างกว้างขวาง แล้ว ยังถือเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชนต่อประชาชน เพื่อเดินหน้าใช้มิติด้านวัฒนธรรมทำให้คนสองชาติผูกพันแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น.
อุทิตา รัตนภักดี
ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม 2553
No comments:
Post a Comment