Sunday, December 5, 2010

(สอนลูกและตัวเองให้รู้จัก)คุณค่าแห่งการรู้คุณค่า

ต้องอ่านเรื่องนี้ "คุณค่าแห่งการรู้คุณค่า"

หนุ่มน้อยเพิ่งจบการศึกษาด้วยผลการเรียนดีเยี่ยมไปสมัครงานในตำแหน่งผู้จัดการในบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง หลังจากผ่านการสอบสัมภาษณ์ครั้งแรกไปแล้ว ผู้อำนวยการได้เรียกเขาไปสัมภาษณ์เป็นครั้งสุดท้ายก่อนตัดสินใจ

ผู้อำนวยการเห็นข้อมูลในประวัติของเด็กหนุ่มคนนี้ว่า มีผลการเรียนเป็นเลิศในทุกวิชาตลอดมา นับตั้งแต่อุดมศึกษาจนจบมหาวิทยาลัย ไม่ปรากฏว่าเขาทำคะแนนตกเลย

ผู้อำนวยการเริ่มคำถามว่า “ เธอเคยได้รับทุนการศึกษาอะไรหรือเปล่า ?”
เด็กหนุ่มตอบว่า “ ไม่เคยครับ ”
ผู้อำนวยการถามต่อว่า “ คุณพ่อของเธอเป็นคนจ่ายค่าเล่าเรียนให้ใช่ไหม? ”
เด็กหนุ่มตอบว่า “ คุณพ่อของผมเสียไปตั้งแต่ผมอายุได้ขวบเดียวครับ เป็นคุณแม่ที่จ่ายค่าเล่าเรียนให้ผม ”
ผู้อำนวยการถามต่อว่า “ คุณแม่ของเธอทำงานที่ไหน? ”
เด็กหนุ่มตอบว่า “ คุณแม่ทำงานซักรีด ”


ผู้อำนวยการขอดูมือของเขา
เด็กหนุ่มยื่นมือที่เรียบลื่นไม่มีที่ติให้ผู้อำนวยการดู

ผู้อำนวยการถามต่อว่า “ เธอเคยช่วยคุณแม่ของเธอทำงานบ้างหรือเปล่า ?”
เขาตอบว่า “ ไม่เคยครับ คุณแม่ต้องการให้ผมเรียนแล้วก็อ่านหนังสือเยอะๆ คุณแม่ซักผ้าได้เร็วกว่าผมด้วยครับ ”
ผู้อำนวยการบอกว่า “ ฉันมีเรื่องให้เธอช่วยทำอย่างหนึ่งนะ วันนี้เธอกลับไปที่บ้าน ช่วยล้างมือของคุณแม่ของเธอแล้วกลับมาพบฉันอีกทีพรุ่งนี้เช้า ”

ด้วยความมั่นใจว่าโอกาสที่จะได้งานทำมีอยู่สูงมาก เมื่อเขากลับไปถึงบ้านเขาจึงรู้สึกเต็มใจที่จะล้างมือให้แม่ของเขา

ฝ่ายแม่รู้สึกประหลาดใจระคนหวั่นใจ เธอส่งมือให้ลูก

หนุ่มน้อยค่อยๆ ล้างมือให้แม่ แล้วน้ำตาไหลก็ออกมา

เขาเพิ่งรู้สึกว่ามือของแม่นั้นช่างเหี่ยวย่น และเต็มไปด้วยริ้วรอยขูดข่วน

ซึ่งบางแผลพอโดนล้างน้ำก็ทำให้แม่เจ็บจนตัวสั่นระริก

นี่เป็นครั้งแรกที่เด็กหนุ่มตระหนักรู้ว่า มือคู่นี้เองที่ซักผ้าทุกวันเพื่อหารายได้มาส่งเสียให้เขาได้เล่าเรียน

รอยแผลเหล่านี้คือราคาที่แม่ต้องจ่ายไปเพื่อความสำเร็จในการศึกษาของเขา

เพื่อผลการเรียนที่ยอดเยี่ยมของเขา

และอาจจะเพื่ออนาคตของเขาด้วย

คืนนั้นสองแม่ลูกได้คุยกันอยู่นาน


เช้าวันต่อมา เด็กหนุ่มก็เดินทางไปที่ออฟฟิศของผู้อำนวยการ

ผู้อำนวยการสังเกตเห็นน้ำตาในดวงตาของเขา จึงถามขึ้นว่า
“ ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าเมื่อคืนที่บ้าน เธอทำอะไรบ้าง แล้วได้บทเรียนอะไร ”
เด็กหนุ่มตอบว่า “ ผมล้างมือให้แม่ครับ แล้วก็เลยช่วยแม่ซักผ้าที่เหลือจนเสร็จ ”
ผู้อำนวยการบอกว่า “ ช่วยเล่าให้ฉันฟังหน่อยว่า เธอรู้สึกยังไง ”

เด็กหนุ่มตอบ

“ ข้อที่หนึ่ง ผมได้รู้ซึ้งถึงคำว่า สำนึกในบุญคุณ ถ้าไม่มีแม่ก็คงไม่มีความสำเร็จของผมด้วย

ข้อที่สอง จากการช่วยแม่ทำงานว่า ผมได้รู้ว่ามันลำบากยากเย็นยังไงกว่าจะทำอะไรออกมาสักอย่างหนึ่ง

ข้อที่สาม ผมได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของความผูกพันในครอบครัว ”

ผู้อำนวยการจึงบอกว่า “ นี่คือสิ่งที่ฉันต้องการ ฉันอยากได้คนที่รู้ค่าของการได้รับความช่วยเหลือ อยากได้คนที่เข้าใจถึงความลำบาก ของใครสักคนในการจะทำอะไรได้มาสักอย่าง และอยากได้คนที่ไม่ได้ตั้งเงิน เป็นเป้าหมายในชีวิตแต่เพียงอย่างเดียว มาเป็นผู้จัดการให้ฉัน

เป็นอันตกลงว่าฉันรับเธอไว้ทำงาน ”

ในเวลาต่อมา เด็กหนุ่มคนนี้ก็ได้ทำงานอย่างหนักและได้รับความนับถือจากผู้ใต้บังคับบัญชา

ลูกจ้างทุกคนทำงานเป็นทีมอย่างขยันขันแข็ง กิจการของบริษัทก็เจริญก้าวหน้าเป็นอย่างดี

เด็กที่ถูกตามใจจนเป็นนิสัยได้รับทุกอย่างที่ต้องการ จะสร้างนิสัยเอาแต่ใจตัวเองและเห็นแก่ตัวเองเป็นอันดับแรก

เขาจะไม่สนใจความเหนื่อยยากของพ่อแม่

เมื่อถึงวัยทำงานเขาก็จะคาดหวังว่า ใครๆ จะต้องเชื่อฟังเขา

เมื่อเขาเป็นผู้จัดการ เขาจึงไม่มีวันรู้ว่าบรรดาลูกจ้างนั้นลำบากอย่างไร และมักจะโทษคนอื่น

คนลักษณะนี้เขาอาจจะทำงานได้ อาจจะประสบความสำเร็จช่วงหนึ่ง

แต่ในที่สุดแล้ว เขาจะไม่สำเหนียกคุณค่าของความสำเร็จ

หากยังคงคร่ำครวญ เคียดขึ้ง และไม่มีวันรู้สึกเพียงพอ

ถ้าเราเป็นพ่อแม่ประเภทที่ปกป้องลูกแบบนี้

จงถามตัวเราว่า

เรากำลังให้ความรักกับลูก

หรือ

กำลังทำลายเขากันแน่ ?

เราให้ลูกๆ มีบ้านใหญ่ ๆ อยู่ กินอาหารดี ๆ เรียนเปียโน ดูทีวีจอใหญ่ แต่เวลาที่เราตัดหญ้า ลองให้ลูกได้ทำด้วย หลังอาหาร ให้เขาล้างถ้วยชามของตัวเองพร้อมๆ กับพี่ ๆ น้อง ๆ

ไม่ใช่ว่าเราไม่มีปัญญาจ้างคนรับใช้ แต่เพราะเราอยากจะให้ความรักกับพวกเขาอย่างถูกวิธี

เราอยากให้เขาเข้าใจว่า ไม่ว่าพ่อแม่จะจนหรือจะรวย วันหนึ่งก็จะต้องผมขาวแก่เฒ่าลงไป เหมือนกับแม่ของเด็กหนุ่มคนนี้

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ลูกของเราจะได้เรียนรู้ คือ รู้คุณค่าของความพยายาม

ได้รู้จักว่า ความยากลำบากมันเป็นยังไง และได้เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นให้เป็น

No comments:

Post a Comment