เรื่องขึ้นเงินเดือนเป็นเรื่องของรัฐบาล มีแต่ความเบิกบานใจสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คนพิจารณาทำเรื่องนี้ได้รับความชื่นชม คะแนนนิยมกระฉูด
ส่วนเรื่องเงินเดือนไม่ขึ้นเป็นเรื่องของข้าราชการ
ใครโดนเรื่องนี้เข้าย่อมหมองหม่นทุกข์ใจ มีแต่อารมณ์อยากเตะคนพิจารณา
สุดขั้วกันอย่างนี้แหละครับท่าน
การเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีเป็นสิทธิของข้าราชการทุกคนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่องค์กรกลางบริหารงานบุคคลกำหนด
แวดวงข้าราชการเรียกกันว่าขึ้นเงินเดือนเหมือนกัน ขึ้นหนึ่งขั้น ขั้นครึ่งหรือสุดยอดสองขั้น ถ้าสุดยอดระดับพรวดพราดเจ็ดขั้น เก้าขั้น
อันนี้ก็แรงไปไม่มีใครอยากได้ ผู้ได้รับการปูนบำเหน็จไม่ตายก็เลี้ยงไม่โตกันทั้งนั้น
ส่วนใหญ่ต้องไปประกาศคุณงามความดีที่มีความชอบเก้าขั้นเจ็ดขั้นกันในวันฌาปนกิจที่วัด
การเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาที่จะพิจารณาการเลื่อนขั้นของผู้ใต้บังคับบัญชาตามกฎหมายในเรื่องนั้น ๆ
เมื่อเป็นดุลพินิจของบุคคลที่เป็นเจ้านาย พระเดชพระคุณท่านที่เคารพจึงมีเรื่องราวอันหลากหลายว่าผู้บังคับบัญชาใช้ อำนาจไม่เป็นธรรม เลือกที่รักมักที่ชัง เด็กใครเด็กมัน (อีกแล้ว)
จึงขอนำแนวทางปฏิบัติราชการเกี่ยวกับการเลื่อนขั้นเงินเดือนจากคำพิพากษาของ ศาลปกครองสูงสุดมานำเรียนทั้งท่านผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา
ในโอกาสอันเป็นมงคลที่ได้ขึ้นเงินเดือนจากรัฐบาลและดันอัปมงคลเจ้านายไม่ขึ้นเงินเดือน
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการครู ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งเลื่อนขั้นให้แค่ครึ่งขั้น โดยใช้อำนาจพิจารณาเพียงฝ่ายเดียว ไม่ดำเนินการตามขั้นตอนตามวิธีประเมินความดีความชอบ
อย่างนี้ความอดทนเกินลิมิตแล้ว จึงฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งเลื่อนขั้นดังกล่าว
กฎหมายว่าด้วยการเลื่อนขั้นของข้าราชการครูคือกฎ ก.ค. ฉบับที่ ๒๐ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู พ.ศ. ๒๕๒๓
ข้อ ๙ กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายนำผลการประเมินการ ปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค. กำหนด และข้อมูลเกี่ยวกับการลา พฤติกรรมการมาทำงาน การรักษา วินัย การปฏิบัติตนเหมาะสมกับการเป็นข้าราชการครูและข้อควรพิจารณาอื่น ๆ ของข้าราชการครูผู้นั้นมาประกอบการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วรายงานผลการ พิจารณานั้นพร้อมด้วยข้อมูลดังกล่าวต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปตาม ลำดับจนถึงผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือน
กฎหมายว่าไว้อย่างนี้ ถามว่าในการพิจารณาเลื่อนขั้นของผู้บังคับบัญชาคุณครูผู้ฟ้องคดีท่านทำประการใดบ้าง
ไม่ได้ประมง ประเมินอะไรให้วุ่นวายกับเขาหรอกครับท่าน
ศาลปกครองสูงสุดท่านจึงวินิจฉัยแนวทางปฏิบัติในกรณีนี้ดังนี้ว่า กฎ ก.ค.ตามข้อ ๙ ดังกล่าวได้กำหนดกรอบการใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาว่า ต้องนำผลการประเมินการปฏิบัติงานซึ่งผู้บังคับบัญชาโดยตรงของผู้รับการ ประเมินเป็นผู้ประเมินเบื้องต้นตามหัวข้อที่กำหนด แล้วนำเสนอต่อผู้บังคับบัญชาตามสายการบังคับบัญชา
ทั้งนี้ ให้จัดมีการประเมินอย่างน้อย ปีละสองครั้ง โดยระยะเวลาในการประเมินห่างกันพอสมควร และเมื่อเสร็จการประเมินผลแต่ละครั้ง ผู้ประเมินต้องแจ้งการประเมินและผลการประเมินให้ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ถูก ประเมินทราบเป็นรายบุคคล
เพื่อให้มีการแก้ไขปรับปรุงการปฏิบัติงานรวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับ บัญชาที่ถูกประเมินได้ชี้แจง ให้ความเห็นหรือขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการประเมินและผลการประเมินดังกล่าว
อันจะทำให้การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการครูมีความเป็นธรรม โปร่งใส สามารถตรวจสอบและอธิบายได้
อีกทั้ง ผู้ใต้บังคับบัญชามีโอกาสทราบผลการประเมินเพื่อการโต้แย้งหรือปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น
ผู้บังคับบัญชาไม่ได้ทำดังที่ว่ามานี้สักอย่าง
การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนในกรณีนี้จึง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๔๑/๒๕๔๘)
เมื่อไม่ชอบก็ต้องถูกเพิกถอนคำสั่ง ไปทำคำสั่งใหม่ให้ชอบ ห้ามมั่วมาเหมือนเดิม
(ท่าน ผอ.ใช้กฎ"ก.อ."(กูเอง)หน้าแหกมั๊ย หมออาจไม่รับเย็บเด้อค่ะเด้อ)
ประเด็นต่อมา กฎ ก.ค.ฉบับดังกล่าวตามข้อ ๖ กำหนดว่า ข้าราชการครูที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีหนึ่งขั้น ในรอบปีที่แล้วมาต้องไม่ขาดราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
จึงมีปัญหาว่าท่านผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขตออกคำสั่งเลื่อน ขั้นเงินเดือนให้ข้าราชการครูรายหนึ่ง หนึ่งขั้นเรียบร้อยแล้ว บัดนี้มีคำสั่งตามหลังจากหัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอให้ลงโทษภาคทัณฑ์คุณครู รายนี้กรณีขาดราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรในรอบปีที่แล้วมา
คำสั่งลงโทษมาทีหลังคำสั่งเลื่อนขั้น และเข้ากรณีเลื่อนขั้นให้คุณครูรายนี้ไม่ได้จะเพิกถอนแก้ไขคำสั่งเดิมได้ไหม
ได้ไม่ได้ ท่านผอ.เขตออกคำสั่งแก้ไขคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนเดิมโดยถอนชื่อคุณครูผู้ ถูกลงโทษออกจากคำสั่งเดิมดังกล่าวเรียบร้อยแบบไม่ต้องมีคุณครูวิวัฒน์
จึงเป็นคดีที่ศาลปกครองตามธรรมเนียม ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้คุณครูผู้ฟ้องคดี หนึ่งขั้น ขัดต่อข้อ ๖ แห่งกฎ ก.ค.ดังกล่าว เป็นการออกคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนที่เกิดจากข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง
การออกคำสั่งเพิกถอน ชื่อคุณครูผู้ฟ้องคดีจึง ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาที่ อ.๙๗/๒๕๔๗)
เป็นการแก้ไขคำสั่งทางปกครองที่เกิดจาก"ข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง"โดยหน่วยงาน ทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ครับท่าน (สรุปกรณีนี้เงินเดือนไม่ขึ้น)
พิสิษฐ์ พลรักษ์เขตต์
praepim@yahoo.com
ที่มา: ขึ้นเงินเดือนแต่เงินเดือนไม่ขึ้น กฎหมายข้างตัว เดลินิวส์ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม 2553
No comments:
Post a Comment