ถ้าผมมีคู่หมั้น ต่อมาคู่หมั้นไม่ยอมแต่งงานด้วย ในทางกฎหมายจะทำอย่างไรให้เธอแต่งงานด้วย แต่ถ้าทำไม่ได้ผมจะได้ของหมั้นคืนหรือไม่
====
การหมั้นนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้เพียงว่า การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้ แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น และเมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นนั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง ส่วนการบังคับตามสัญญาหมั้นนั้น ในทางกฎหมายการหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ หรือถ้าได้มีข้อตกลงกันว่าจะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ (1438)
อย่างไรก็ตามเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การสมรสในความหมายของกฎหมายไทยนั้นคือการสมรสที่มีการจดทะเบียนสมรสโดยชอบ ด้วยกฎหมาย การสมรส ไม่ได้หมายถึงการจัดพิธีแต่งงาน ดังนั้นการสมรสที่ชอบ ด้วยกฎหมายคือการจดทะเบียนสมรสส่วนจะมีพิธีแต่งงานหรือไม่ไม่สำคัญ และการหมั้นนั้นจะต้องมีของ หมั้นด้วย เพื่อมิให้ถกเถียงกันในภายหลังว่ามีการหมั้นกันหรือยัง
การที่ผู้หญิงและผู้ชายทำสัญญาหมั้นเป็นคู่หมั้นของกันและกันเพื่อเป็นหลัก ฐานว่าจะสมรสกับหญิง ดังนั้นถ้าสัญญาหมั้นนั้นถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วคู่สัญญาหมั้นต่างมี ความผูกพันตามสัญญาหมั้นที่จะต้องทำการสมรสตามระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ หรือแม้การหมั้นจะไม่ได้กำหนดเวลาการสมรสไว้ ในทางกฎหมายจะถือระยะเวลาอันควรที่จะได้ทำการสมรสกัน
โดยปกติทั่วไปถ้าเป็นเรื่องสัญญาชนิดอื่น ๆ หาก มีการผิดสัญญานั้น คู่สัญญาสามารถจะฟ้องบังคับเพื่อให้มีการปฏิบัติตามสัญญาได้ เช่น การผิดสัญญาซื้อขาย คู่สัญญาสามารถฟ้องบังคับฝ่ายผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินที่ขาย หรือฟ้องบังคับให้ผู้ซื้อจ่ายเงินค่าทรัพย์สินที่ซื้อขายได้ เป็นต้น ในขณะที่สัญญาหมั้นมีลักษณะแตกต่างจาก สัญญาอื่น เพราะการบังคับตามสัญญาหมั้นคือการจะบังคับให้ทำการสมรสนั้น ไม่อาจบังคับให้ทำได้ เนื่องจากการสมรสจะต้องเป็นเรื่องที่ผู้หญิงและผู้ชายยินยอมพร้อมใจกระทำ ด้วยความสมัครใจ ดังนั้นถึงแม้เป็นคู่หมั้นกันถ้าไม่เต็มใจจะทำการสมรส คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่อาจฟ้องให้ศาลบังคับให้มีการจดทะเบียนสมรสได้ รวมทั้งข้อตกลงที่ว่าจะให้มีการชดใช้เบี้ยปรับถ้ามีการหมั้นแล้วไม่ยอมสมรส ข้อตกลงเช่นนี้ตกเป็นโมฆะ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการจะบังคับให้ชายหญิงสมรสกันโดยไม่เต็มใจ
สรุป หากมีการหมั้นกันไว้ การหมั้นจะเป็นเรื่องที่จะบังคับให้ทำการสมรสไม่ได้ และถ้ามีข้อตกลงเกี่ยวกับเบี้ยปรับในกรณีที่มีการผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงเรื่องเบี้ยปรับนี้เป็นโมฆะ อย่างไรก็ตามถ้าการหมั้นกันไว้นั้น หากมีการผิดสัญญาหมั้น คู่หมั้นฝ่ายที่ได้รับความเสียหายยังมีบังคับตามสัญญาหมั้นได้ แต่เป็นการบังคับในเรื่องของสิทธิเรียกค่าทดแทนต่าง ๆ ตามกฎหมายได้ รวมทั้งการจะได้ของหมั้นคืน
การผิดสัญญาหมั้น
ในเรื่องของการหมั้นนั้น เงื่อนไขในทางกฎหมายมี 2 อย่าง คือ ชายหญิงมีอายุอย่างต่ำ 17 ปีบริบูรณ์ และต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองถ้าหากเป็นการหมั้นผู้ เยาว์ ดังนั้นผลในทางกฎหมายจึงทำให้การหมั้นที่ชายหญิงอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์จะตกเป็นโมฆะ
นอกจากนี้แบบของการหมั้นจะทำอย่างไรก็ได้ แต่การหมั้นจะเป็นสัญญาหมั้นได้กฎหมายบัญญัติไว้แต่เพียงว่าการหมั้นจะ สมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็น หลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น และเมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง ความสำคัญเรื่องทรัพย์ใดว่าเป็นของหมั้นหรือไม่ เนื่องจากปัญหากรณีมีการผิดสัญญาหมั้นว่า ของหมั้นจะยังคงเป็นของหญิง หรือว่าหญิงจะต้องเอาของหมั้นคืนให้แก่ฝ่ายชาย
ดังนั้นการหมั้นใดจะเป็นสัญญาหมั้นได้ต่อเมื่อฝ่ายชายได้มีการมอบของหมั้น ให้แก่หญิงแล้วฉะนั้นการหมั้นที่มีข้อตกลงเพียงว่าจะเอาทรัพย์สินใดให้เป็น ของหมั้นแต่จะส่งมอบให้ในภายหลังและยังไม่ได้ส่งมอบ ทรัพย์ที่ยังไม่ได้ส่งมอบจะไม่ถือว่าเป็นของหมั้น เช่น ในวันหมั้นฝ่ายชายสวมแหวนหมั้นให้แก่หญิง และสัญญาว่าจะให้เงินสด 1 แสนบาทเป็นของหมั้นในภายหลัง เฉพาะแหวนหมั้นเท่านั้นที่เป็นของหมั้น ส่วนเงินสด 1 แสนบาทที่ยังไม่มีการส่งมอบให้ จะไม่ใช่ของหมั้น เป็นต้น
อย่างไรก็ตามทรัพย์สินที่เป็นของหมั้นนั้นไม่ได้คำนึงถึงราคา ดังนั้นถ้าในวันหมั้นมีการยกพานหมากพลูใส่พานมาเป็นของหมั้นอันเป็นการ จัดการหมั้นตามพิธีหมั้น แม้จะตกลงให้ทรัพย์สินอื่นเป็นของหมั้นด้วยแต่ยังไม่มีการส่งมอบ ทรัพย์สินที่ยังไม่ส่งมอบไม่ถือว่าเป็นของหมั้น แต่ถือว่ามีสัญญาหมั้นแล้วเพราะมีการยกพานหมากพลูเป็นของหมั้นแล้ว ดังนั้นถ้ามีการผิดสัญญาหมั้นก็มีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ และการหมั้นใดที่ไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินใดเพื่อเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเลย จะไม่ถือว่ามีการทำสัญญาหมั้น
ดังนั้นถ้ามีการผิดข้อตกลงจะทำให้ไม่อาจเรียกค่าทดแทนจากการผิดสัญญาหมั้น ได้ เพราะกฎหมายได้บัญญัติเรื่องการหมั้นว่า เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้ คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย” ฉะนั้นหากไม่มีสัญญาหมั้นแล้วทำให้การผิดข้อตกลงเรื่องการหมั้นจะไม่อาจ เรียกค่าทดแทนฐานการผิดสัญญาหมั้นได้
ค่าทดแทนที่อาจเรียกได้จากการผิดสัญญาหมั้น ได้แก่ 1. ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น 2. ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่อง ในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร 3. ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สิน หรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาด หมายว่าจะได้มีการสมรส
ที่มา: คลินิกกฎหมาย เดลินิวส์ออนไลน์ วันอังคาร ที่ 07/14 ธันวาคม 2553
No comments:
Post a Comment