เหตุเพราะต้นยาง 100 ปี
คิดว่าหลายท่านคงเคยใช้เส้นทางเชียงใหม่ – ลำพูน ทัศนียภาพสองข้างทางสวยงามด้วยต้นยางอายุกว่า 100 ปี
ดูแล้ว ชุ่มชื่นหัวใจ (ตามประสาผู้สูงอายุ....) ผู้เขียนก็เคยเช่นเดียวกัน เมื่อเข้าทำงานกรมทางหลวงใหม่ ๆ และได้เดินทางไปราชการที่จังหวัดลำพูนจะใช้เส้นทางเชียงใหม่ – ลำพูน ซึ่งชื่นชอบเป็นพิเศษเพราะสองข้างทางจะเขียวครึ้ม ร่มเย็น
แต่ ผู้ฟ้องคดีนี้คงไม่คิดเช่นนั้น เพราะบ้านของผู้ฟ้องคดีถูกต้นยาง 100 ปี โค่นล้มทับ ทำให้อาคารที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและเป็นสำนักงานธุรกิจได้รับความเสียหาย
ทั้ง หลัง ตัวผู้ฟ้องคดีก็ได้รับบาดเจ็บ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ ให้กรมทางหลวงชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 8,146,450 บาท ฐานละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
กรม ทางหลวงได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่า กรมทางหลวงมีหน้าที่รับผิดชอบ ดูแล ลิดรานกิ่งไม้แห้งของต้นยางเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทางหลวงเป็นประจำเท่า นั้น และได้ให้แขวงการทางลำพูน และแขวงการทางเชียงใหม่ที่ 2 ดูแลทาสีน้ำปูนขาวบริเวณโคนต้นเพื่อป้องกันเชื้อรา ปลวก และแมลงอื่น ๆ ที่จะทำลายต้น การตัดต้นยางเป็นหน้าที่ของป่าไม้เขตเชียงใหม่โดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นผู้พิจารณาทำไม้ออกตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 เหตุตามคดีนี้เกิดจากอุบัติภัยทางธรรมชาติ มีพายุฝนฟ้าคะนองนอกฤดูกาลประกอบกับมีลมกระโชกแรง จึงเป็นเรื่องเหตุสุดวิสัยไม่สามารถป้องกันได้ และต้นยางพิพาทปลูกอยู่บริเวณหน้าสำนักงานผู้ฟ้องคดี และเคยมีอุบัติเหตุเกี่ยวกับต้นยางเกิดขึ้น หากผู้ฟ้องคดีเห็นว่าต้นยางดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายก็ควรจะแจ้งเจ้า หน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้แก้ไขก่อนจะก่อให้เกิดความเสียหาย เห็นว่าผู้ฟ้องคดีมีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายด้วยเช่นกัน
ศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษาด้วยเหตุผลดังนี้......
ศาล พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การดำเนินการเกี่ยวกับทางหลวงเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของกรมทางหลวงโดยเฉพาะ ซึ่งได้แก่การก่อสร้าง การขยาย การบูรณะหรือการบำรุงรักษา ซึ่งรวมถึงการดูแลต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในเขตทางหลวง มิให้เป็นภยันตรายหรืออาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้รถ ตัวถนน รวมถึงบ้านเรือนราษฎรที่ตั้งอยู่สองฝั่งทางหลวงด้วย ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2545 ประกอบกับพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 ดังนั้น โดยที่อำนาจหน้าที่ของกรมทางหลวงเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้อง ปฏิบัติ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมทางหลวงโดยตรงที่จะต้องตรวจตรา ดูแลบำรุงรักษา หรือแจ้งแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำไม้ยางออกเพื่อมิให้เกิดอันตรายต่อ บุคคลหรือ ทรัพย์สิน และแม้กรมทางหลวงอ้างว่าไม่มีอำนาจในการตัดต้นยาง ผู้มีอำนาจพิจารณาตัดต้นยางคือผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นผู้ดำเนินการทำไม้ออกก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวเป็นเพียงขั้นตอนภายในของหน่วยงานซึ่งไม่ทำให้หน้าที่ ในการตรวจตรา บำรุง ดูแลรักษาต้นยางของกรมทางหลวงหมดไปแต่อย่างใด และศาลเห็นว่าการเกิดฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในบริเวณที่เกิดเหตุ แต่ไม่ปรากฏว่าต้นยางอื่น ๆ ที่อยู่บริเวณสองข้างทางหลวงดังกล่าวได้หักโค่นแต่อย่างใด มีเพียงต้นยางที่พิพาทเพียงต้นเดียวที่โค่นล้มทับบ้านผู้ฟ้องคดี ประกอบกับศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือได้ชี้แจงต่อศาลว่า ในวันเกิดเหตุความเร็วลมเพียง 15 น็อต (28 กิโลเมตร/ชั่วโมง)เท่านั้น จึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่กรมทางหลวงจะยกขึ้นอ้างเพื่อให้พ้นความรับผิดชอบ
กรม ทางหลวงจึงย่อมต้องทราบดีว่าต้นยางพิพาทเป็นไม้เนื้ออ่อนที่มีอายุกว่า 100 ปี ลำต้นสูงประมาณ 50 เมตร อีกทั้งยังเป็นต้นไม้อนุรักษ์ กรมทางหลวงต้องดูแล บำรุงรักษา เอาใจใส่ต้นยางบริเวณสองข้างทางหลวงเป็นพิเศษยิ่งกว่าต้นไม้ธรรมดาทั่วไป การที่เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงเพียงแต่ทาสีน้ำปูนขาวบริเวณโคนต้นยางเพื่อ ป้องกันเชื้อรา ปลวก และแมลงอื่น ๆ ทำลายต้น หาใช่เป็นการดูแลบำรุงรักษาอย่างเพียงพอที่จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิด อันตรายต่อบุคคลและทรัพย์สินได้ เมื่อกรมทางหลวงซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจตรา บำรุง ดูแลรักษาต้นยางพิพาทแต่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลบำรุงรักษาต้นยางพิพาท อย่างเพียงพอ เป็นผลให้ต้นยางพิพาทโค่นล้มทับบ้านของผู้ฟ้องคดีและทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับ บาดเจ็บ ความเสียหายที่ได้รับจึงเป็นผลโดยตรงจากการละเลยต่อหน้าที่ของกรมทางหลวง จึงเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี พิพากษาให้กรมทางหลวงชำระเงินค่าสินไหมทดแทนทั้งสิ้น 2,676,034 บาท
เรา จะเห็นได้ว่าดุลยพินิจของศาลในคดีนี้ ศาลท่านวินิจฉัยโดยอาศัยข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า อำนาจหน้าที่ของกรมทางหลวงตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2545 ประกอบกับพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มีว่าอย่างไร ซึ่งเราไม่อาจปฏิเสธหน้าที่ความรับผิดชอบตามกฎหมายได้เลย แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการตามหน้าที่ที่เคยปฏิบัติมาโดยตลอด แต่ศาลท่านยังเห็นว่ากรมทางหลวงต้องดูแลบำรุงรักษา เอาใจใส่ต้นยางบริเวณสองข้างทางหลวงสายเชียงใหม่ – ลำพูน เป็นพิเศษยิ่งกว่าต้นไม้ธรรมทั่วไป เพราะเป็นต้นยางอายุกว่า 100 ปีนี่เอง (ตามนัยคำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ คดีหมายเลขแดงที่ 78/2551)
เหตุเพราะต้นยาง 100 ปี จาก : วารสารทางหลวงปีที่ 48 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2554
No comments:
Post a Comment