Tuesday, April 10, 2012

การปรับโครงสร้างราคา LPG: ถึงเวลาต้องทำให้ถูกต้องทั้งระบบ

สถานการณ์การนำเข้าก๊าซ LPG ของไทยเลวร้ายลงเรื่อยๆ ครับ ล่าสุดเราต้องนำเข้า LPG สูงถึง 170,000 ตัน/เดือน ราคานำเข้าล่าสุดอยู่ที่ 1,270 เหรียญสหรัฐต่อตัน

สถานการณ์การนำเข้าก๊าซ LPG ของไทยเลวร้ายลงเรื่อยๆ ครับ

ล่าสุดเราต้องนำเข้า LPG สูงถึง 170,000 ตัน/เดือน ราคานำเข้าล่าสุดอยู่ที่ 1,270 เหรียญสหรัฐต่อตัน ในขณะที่เราตรึงราคาขายส่งหน้าโรงแยกก๊าซอยู่ที่ 333 เหรียญสหรัฐต่อตัน เท่ากับรัฐต้องใช้เงินกองทุนน้ำมัน (ซึ่งก็คือเงินที่เก็บจากผู้ใช้น้ำมันนั่นเอง) ไปอุดหนุนถึง 937 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือ 29 บาท/ก.ก.

ถึงแม้เราจะเริ่มมีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ในภาคอุตสาหกรรมและขนส่งกันไปบ้างแล้ว โดยมีการปรับราคาขายในสองภาคนี้ขึ้นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป

แต่ผมก็ยังเห็นว่าโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ยังคงมีการบิดเบือนและยังไม่ได้ทำให้ถูกต้องทั้งระบบ อีกทั้งยังจะสร้างความสับสนและยุ่งยากให้กับการบริหารราคาก๊าซ LPG ที่ขายให้กับภาคส่วนต่างๆมากขึ้น เพราะตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 เป็นต้นมา เรามีราคาขายก๊าซ LPG ถึง 3 ราคา แยกตามแต่ละตลาด คือ

1. ตลาดอุตสาหกรรมที่ได้มีการขึ้นราคาไปแล้ว 9 บาท/ก.ก.และต้องขึ้นในเดือนเมษายนนี้อีก 3 บาท/ก.ก. ตามมติเดิมของกพช.ที่ให้มีการขึ้นราคาก๊าซ LPG ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง 12 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะทำให้ราคาขาย LPG ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 30.13 บาทต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 972 เหรียญสหรัฐต่อตัน

2. ตลาดขนส่งซึ่งจะมีการปรับราคาทุกเดือนๆละ 75 ส.ต./ก.ก.เป็นเวลา 1 ปี รวมทั้งสิ้น 9 บาท/ก.ก. ซึ่งจะทำให้ราคาก๊าซ LPG ภาคขนส่ง ขึ้นไปอยู่ที่ระดับราคาสูงสุดที่ 27.13 บาท/ก.ก. หรือประมาณ 875 เหรียญสหรัฐต่อตัน (ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเสียก่อน)

3. ตลาดครัวเรือนซึ่งจะยืนราคาปัจจุบันที่ 18.13 บาท/ก.ก. หรือประมาณ 585 เหรียญสหรัฐต่อตัน ไปจนถึงสิ้นปี 2555

ซึ่งถ้าเป็นไปตามนี้ก็เท่ากับว่าผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมจะต้องเป็นผู้รับภาระใช้ก๊าซ LPG ในราคาแพงที่สุด โดยอาจจะแพงกว่าราคาในตลาดโลกในบางช่วงเสียด้วยซ้ำไป ซึ่งจะกระทบกับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยที่ยังจำเป็นต้องใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิง

เพื่อให้เข้าใจโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ในบ้านเราว่าเป็นอย่างไร โดยเทียบเคียงราคาในประเทศกับราคานำเข้าก๊าซ LPG ในตลาดโลก ผมขอนำเสนอโครงสร้างราคาก๊าซ LPG เพื่อความชัดเจนทั้งราคาเป็นบาทต่อกิโลกรัม และแปลงเป็นเงินเหรียญสหรัฐต่อตันดังต่อไปนี้


  บาทต่อกิโลกรัม เหรียญสหรัฐต่อตัน
ราคาหน้าโรงแยกก๊าซ
ราคาอ้างอิงในการตั้งราคาก๊าซ LPG ในประเทศ = ราคาหน้าโรงแยกก๊าซ + ภาษีสรรพสามิต+ภาษีเทศบาล+เงินส่งเข้ากองทุนน้ำมัน = 10.26 บาท/ก.ก. + (2.17+0.22+1.04 = 3.43 บาท/ก.ก.)
10.26 333.00
ราคาขายส่ง 13.69 442.00
ราคาขายปลีก (ราคาควบคุม) 18.13 585.00
ราคานำเข้า (เม.ย. 2555) 30.75 992.00
ราคาขายภาคอุตสาหกรรม (มี.ค. 2555) 30.13 972.00
ราคาขายภาคขนส่ง (เมื่อปรับราคาเต็มที่) 27.13 875.00

ตามตารางข้างต้นจะเห็นว่าเมื่อปรับโครงสร้างราคาเต็มที่ ผู้ที่ต้องแบกรับภาระจ่ายค่าก๊าซ LPG ในราคาแพงใกล้เคียงกับราคานำเข้า คือภาคอุตสาหกรรมและขนส่ง ในขณะที่ราคาขายก็แยกออกเป็นหลายราคาตามตลาดและตามช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ซึ่งจะสร้างความสับสนและยุ่งยากในการบริหารเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังไม่สามารถแก้ปัญหาการลักลอบถ่ายเทก๊าซจากตลาดหนึ่งไปสู่อีกตลาดหนึ่ง และการลักลอบส่งออกก๊าซทางชายแดนได้อีกด้วย

ดังนั้นถ้าเราปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ในประเทศเสียใหม่ โดยยึดเอาราคาเฉลี่ยตามแหล่งที่มาของก๊าซ LPG ซึ่งปัจจุบันผลิตจากโรงแยกก๊าซ 50% และผลิตจากโรงกลั่นน้ำมัน (กลั่นมาจากน้ำมันดิบซึ่งต้องนำเข้า) และนำเข้าในรูปก๊าซ LPG สำเร็จรูปรวมกันอีก 50% โดยนำเอาราคาหน้าโรงแยกก๊าซ (333 เหรียญสหรัฐต่อตัน) เป็นฐาน 60% และเอาราคานำเข้าเป็นฐานอีก 40% (ที่ใช้เพียง 40% เพราะราคาก๊าซ LPG ที่ได้จากโรงกลั่นน้ำมันจะถูกกว่าราคานำเข้าเพราะไม่ต้องเสียค่าขนส่ง) มาหารเฉลี่ยกัน เราก็จะได้ราคา LPG ที่จะเป็นต้นทุนจริงๆ ดังนี้
ราคาก๊าซ LPG ตามต้นทุนเฉลี่ย 60:40 = 18.50 บาทต่อกิโลกรัม = 597 เหรียญสหรัฐต่อตัน
+ภาษีสรรพสามิต/กองทุนน้ำมัน = 3.43 บาทต่อกิโลกรัม
ราคาขายส่ง = 21.93 บาทต่อกิโลกรัม = 707 เหรียญสหรัฐต่อตัน
+กำไรและภาษีมูลค่าเพิ่มอีกประมาณ = 4.44 บาทต่อกิโลกรัม
ราคาขายปลีก = 26.37 บาทต่อกิโลกรัม = 851 เหรียญสหรัฐต่อตัน

โดยการเฉลี่ยราคาในประเทศและราคานำเข้าที่สัดส่วน 60:40 ราคาขายปลีก LPG ในประเทศจะปรับขึ้นจากกิโลกรัมละ 18.13 บาท เป็น 26.37 บาทต่อกิโลกรัม (โดยอ้างอิงราคานำเข้าก๊าซ LPG ที่ 992 เหรียญสหรัฐต่อตัน) หรือปรับเพิ่มขึ้น 8.24 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะเป็นราคาเดียวกันทั้งภาคครัวเรือน ขนส่ง และอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐบาลอาจใช้วิธีค่อยๆ ปรับขึ้นทุกไตรมาสๆ ละ 1 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้ผู้บริโภคได้ปรับตัว ในขณะเดียวกันก็ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบผู้มีรายได้น้อยในภาคครัวเรือนด้วยคูปองหรือเงินช่วยเหลือค่าครองชีพรายเดือนให้กับครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำก็ทำได้

และถ้ารัฐบาลไม่ต้องการให้ราคาก๊าซ LPG ขึ้นราคามากถึง 8 บาทต่อกิโลกรัม รัฐบาลก็ยังมีทางเลือกโดยการลดภาษีสรรพสามิตและเงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมันลง ซึ่งจะมีผลให้ลดราคาก๊าซ LPG ลงไปได้อีก 2-3 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นราคาขายปลีกก๊าซ LPG ก็จะขึ้นไปไม่เกิน 5 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะเป็นภาระกับประชาชนมากจนเกินไป และยังจะเป็นการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG อย่างถาวร โดยไม่ต้องแยกออกเป็น 2-3 ตลาดอย่างที่ทำกันอยู่ทกวันนี้ ซึ่งยากต่อการควบคุม และไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ต้นตอ

การปรับราคา LPG ทั้งกระดานแบบนี้ นอกจากจะเป็นการปรับโครงสร้างราคาอย่างแท้จริงแล้ว ยังเป็นการลอยตัวราคาก๊าซ LPG ให้เป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริง เพราะถ้าราคา LPG ในตลาดโลกปรับตัวขึ้นลงอย่างไร ก็จะส่งผลถึงราคาขายปลีก LPG ในประเทศให้ปรับตัวขึ้นลงตามไปด้วย (โดยอาจกำหนดให้มีการปรับราคาอ้างอิงการนำเข้าทุกเดือนก็ได้) ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาโครงสร้างราคา LPG ที่มีมาอย่างยืดเยื้อยาวนานในครั้งเดียว

ไหนๆ จะทำทั้งทีแล้วยอมโดนด่าทีเดียว ทำให้ถูกต้องไปเลยดีกว่าครับ !!!

มนูญ ศิริวรรณ

::การปรับโครงสร้างราคา LPG: ถึงเวลาต้องทำให้ถูกต้องทั้งระบบ สงวนลิขสิทธิ์ © 2554 บริษัท เดลินิวส์ เว็บ จำกัด วันอังคารที่ 10 เมษายน 2555

No comments:

Post a Comment