40-41 องศาเซลเซียสใจกลางกรุงเทพฯ แถวๆ ย่านถนนสีลมในสัปดาห์ที่ผ่านไป
ผมเลยไม่เห็นพนักงานของบริษัท ห้างร้าน
หรือพนักงานธนาคารในย่านสีลมออกมาเดินกินข้าวเที่ยงอย่างหนาตาเหมือนที่เคย
เห็น เพราะร้อนขนาดกว่า 40
องศาอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อนในย่านศูนย์กลางการเงินของเมืองไทย
เลยทำให้หลายคนขอหาที่นั่งกินข้าวในออฟฟิศตัวเองดีกว่า เชื่อมั้ยครับ
คลื่นมนุษย์ทำงานสีลมไม่ออกมากินข้าวเที่ยงเพราะร้อนจัด
พลอยทำให้บรรยากาศตามถนนสีลมลึกเข้าไปตามตรอกซอกซอยที่เตรียมละลายทรัพย์
ซบเซาไปมาก
ผมเกิดความรู้สึกขึ้นมาทันทีว่า
บรรยากาศไร้คนเดินหนาตาย่านสีลมในวันทำการนั้นเคยเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 15
ปีผ่านมาแต่ไม่ใช่เพราะอากาศร้อนจัด(ทะลุเกิน 40 องศาเหมือนปีนี้แน่)
แต่เกิดจากผลกระทบของวิกฤติสถาบันการเงินล้มละลาย ถูกปิดกิจการ
ต้องเร่ขายกิจการครั้งใหญ่ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540
คนในวัยกว่า 40 ปีขึ้นไปเก็บไปนึกถึงเป็นฝันร้าย พลิกหาตำราทำธุรกิจกันใหม่
กลับวิธีคิดวิธีทำจากหางมาเป็นหัว
ถอดความเสี่ยงมาใส่ความกล้าๆกลัวๆอย่างชัดเจน ซึ่งที่น่าแปลกใจ
และรู้สึกห่วงแทน คือ ถึงวันนี้และอีก 3
ปีข้างหน้าที่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC จะสมบูรณ์แบบนั้น
ความกล้าๆกลัวๆของเจ้าของกิจการ นักธุรกิจ นักบริหาร
และองค์กรสถาบันการเงินไทยยังมีอยู่
ทั้งๆที่เพื่อนบ้านแห่เข้ามาเจาะฐานที่มั่นมากขึ้น
วันนี้ใครผ่านไป
แถวถนนรัชดาภิเษก ก็ได้เห็นธนาคารไอซีบีซีจากเมืองจีน
วันนี้นักลงทุนไปซื้อขายหุ้นที่ตึกเซ็นทรัลเวิลด์ ก็ได้เห็นเครือข่ายธนาคาร
เมย์แบงก์จากมาเลเซีย(ที่มีมูลค่าธุรกิจใหญ่กว่ากลุ่มบริษัท
ปตท.ด้วยซ้ำไป)
วันนี้ใครดูหน้าจอทีวีในรายงานข่าวพิเศษเกี่ยวกับเรื่องพลังเศรษฐกิจเออีซี
ช่วงเที่ยง และช่วงเย็นทางช่อง 3
ก็ได้เห็นยี่ห้อธนาคารซีไอเอ็มบีไทยซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายธนาคารชั้นนำ
จากมาเลเซียโผล่ตรงมุมด้านล่างของจอเป็นระยะๆ
วันนี้ใครผ่านไปแถวถนนเยาวราชก็ได้เห็นโฉมหน้าสาขาใหม่ๆ
ที่กล้าลงทุนยกเครื่องออกแบบใหม่ของธนาคารยูโอบีซึ่งเป็นธนาคารจากสิงคโปร์
ผม
ไม่ได้ยกตัวอย่าง
แต่บรรยายให้เห็นสถานที่จริงของธนาคารต่างชาติที่เข้ามาเจาะและเร่งขยายฐาน
ในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ
ในเมื่อตลาดเมืองไทยเป็นที่หอมหวนในการเข้ามาลงทุนของธนาคารต่างชาติ
ซึ่งวันนี้มีความแข็งแกร่งกว่าธนาคารบ้านเรามาก
ที่สำคัญมีความเข้าใจผู้ประกอบการคนไทยรุ่นใหม่มากขึ้นอย่างน่าใจหาย
ในเมื่อวิธีคิดของธนาคารข้ามชาติเหล่านี้ถอดความกล้าๆกลัวๆออกไปแต่ใส่ความ
กล้าเสี่ยงบนระบบบริหารจัดการที่เน้นกระจายความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจใน
เครือ
โดยอาศัยการสร้างเครือข่ายให้กว้างและลึกมากกว่าเน้นการสร้างมูลค่า
ทรัพย์สินให้ใหญ่โตแบบกระจุกอยู่ที่ใดที่หนึ่ง
ในเมื่อวิธีคิดกลับทางอย่างสิ้นเชิงกับธนาคารในบ้านเราด้วยการเข้าไปหา
ลูกค้าใหม่ๆในต่างประเทศมากกว่าที่จะตามลูกค้าของธนาคารตัวเองเข้าไปตั้ง
สาขาในต่างประเทศนั้นๆ
ในเมื่อธนาคารต่างชาติใช้การพัฒนาคนและรู้จักใช้คนในท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ
เป็นคนบริหารสาขาและเชื่อมธุรกิจธนาคารให้ใหญ่โตมากกว่าที่จะส่งคนของตัวเอง
ไปนั่งบริหารในต่างแดน ทั้งหมดนี้
ไม่เพียงแค่ผมเท่านั้นแต่คนไทยอีกจำนวนมากที่เป็นนักธุรกิจ เจ้าของกิจการ
ไปถึงนักท่องเที่ยวล้วนเห็นความแตกต่างชัดเจนเมื่อเดินทางไปในต่างประเทศ
โดยเฉพาะในอาเซียน และนึกย้อนมองกลับมาที่ประเทศไทย
ทุกเสี้ยว
วินาทีของเศรษฐกิจจากวันนี้ไปในอนาคต
ล้วนต้องอาศัยจินตนาการมากกว่าการเก็บฝันร้ายและภาพหลอนของวิกฤติการเงินใน
อดีต ที่มักถูกใช้เป็นเครื่องเตือนใจ
แต่อย่าใช้บ่อยเกินไปจนกลบต่อมจุดจินตนาการทางเศรษฐกิจและการลงทุน
เหมือนเมื่อกาลครั้งหนึ่งนาน นาน นานมาแล้ว
ธนาคารสัญชาติไทยแห่งหนึ่งเคยมีขนาดใหญ่อันดับ 1 ในกลุ่มอาเซียน !!!
บัญชา ชุมชัยเวทย์
:: ไทยรัฐออนไลน์ วันจันทร์ที่ 30 เมษายน 2555
No comments:
Post a Comment