Tuesday, April 10, 2012

เผยหนี้สาธารณะสิ้น ม.ค. 55 พุ่ง 6 หมื่นกว่าล้าน

ผอ.สำนักบริหารหนี้สาธารณะเผยหนี้สาธารณะสิ้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 41.06 ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้านี้สุทธิ 6 หมื่นกว่าล้านบาท...

เมื่อวันที่ 10 เม.ย. นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 ม.ค. 2555 มีจำนวน 4,362,357.32 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.06 ของจีดีพี แยกเป็นหนี้ของรัฐบาล 3,117,186.74 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,077,900.35 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 167,270.23 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้ จะมียอดหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 64,460.24 ล้านบาท โดยหนี้ของรัฐบาล หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) เพิ่มขึ้น 28,665.38 ล้านบาท 16,888.72 ล้านบาท และ 18,906.14 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และหน่วยงานอื่นของรัฐนั้นไม่มีหนี้คงค้าง

:: ไทยรัฐออนไลน์ วันอังคารที่ 10 เมษายน 2555
--------------------------

เงินกู้บริหารจัดการน้ำดันหนี้สาธารณะเพิ่ม 48.6 %

ครม.อนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 55 ครั้งที่ 2 รองรับหนี้ใหม่จากการกู้เงินบริหารจัดการน้ำท่วม คาดหนี้สาธารณะปีนี้อยู่ที่ 48.6 % ...

เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2555 นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2555 ครั้งที่สอง โดยคาดการณ์ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ สิ้นปีงบประมาณ 2555 จะมีสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพีอยู่ที่ 48.6 % และมีภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ที่ 9.3% ซึ่งไม่เกินจากกรอบความยั่งยืนที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะ ต่อจีดีพีต้องไม่เกิน 60% และมีภาระหนี้ต่องบประมาณต้องไม่เกิน 15%

สำหรับแผนการก่อหนี้ใหม่ จากกรอบวงเงินเดิมประมาณ 738,000 ล้านบาท ปรับเพิ่มอีกประมาณ 447,000 ล้านบาท รวมเป็นประมาณ 1,186,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังขอปรับเพิ่มวงเงินการก่อหนี้ใหม่ในประเทศอีก 450,000 ล้านบาท จากวงเงินเดิม 350,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 8 แสนล้านบาท เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 เงินกู้เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ วงเงิน 350,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการกู้เงินตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ และเงินกู้เพื่อนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ โดยกระทรวงการคลังขอบรรจุการกู้เงิน ดังกล่าววงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ

ส่วนในปีงบประมาณ 2556 คาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 50.4% และมีภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ที่ 7.6% และปีงบประมาณ 2557 คาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดดีพีจะอยู่ที่ 52.1% และมีภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ที่ 11.6% เป็นต้น

::ไทยรัฐออนไลน์ 14 มีนาคม 2555
--------------------------

สบน.การันตีหนี้สาธาณะไทยไร้กังวล

สบน.มั่นใจหนี้สาธารณะไม่สูงอย่างที่หลายฝ่ายคิด เชื่อภายใน 2 ปีรัฐบาลกู้เงินบริหารจัดการน้ำไม่ถึง 350,000 ล้านบาท เพราะทุกขั้นตอนต้องผ่านมติครม....

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือสบน. กล่าวว่า หนี้สาธารณะของรัฐบาลในปี 2555-2556 จะไม่เกิน 50% ของจีดีพี หากรัฐบาลไม่กู้เงินเต็มเพดาน พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อลงทุนวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ 350,000 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าภายใน 2 ปีนี้ การกู้เงินของรัฐบาลไม่น่าจะถึง 350,000 ล้านบาท เพราะแต่ละโครงการต้องมีขั้นตอนการจัดทำรายละเอียดและผ่านมติครม.ก่อน

ทั้งนี้ เชื่อว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล มีแนวโน้มเข้าสู่สมดุลในระยะเวลา 5 ปี หรือในปี 2560 เพราะตั้งแต่ปี 2556 รัฐบาลจะลดการขาดดุลเหลือ 300,000 ล้านบาท และปี 2557 วางกรอบไว้ 270,000 ล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะ จะไม่สูงอย่างที่หลายฝ่ายกังวลอย่างแน่นอน

::ไทยรัฐออนไลน์ 21 มีนาคม 2555
==============

ค่าครองชีพพุ่ง ดึงหนี้ครัวเรือนปี55 สูงขึ้น 5.7%


ม.หอการค้าไทย ชี้ หนี้ครัวเรือนปี 55 สูงขึ้น 5.7% หลังค่าครองชีพพุ่ง ประชาชนต้องกู้เงินมาใช้ในชีวิตประจำวัน ระบุขึ้นค่าแรง 300 บาท อาจทดแทนรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ แนะรัฐ ลดภาระราคาสินค้า หาสินค้าทางเลือกลงถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจภาวะหนี้ภาคครัวเรือน จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชน 1,237 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 22-26 มี.ค.55 ว่า จำนวนหนี้เฉลี่ยของครัวเรือนในปี 55 อยู่ที่ 168,517 บาทต่อครัวเรือน หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.7% จากปีก่อนที่ระดับ 159,432 บาทต่อครัวเรือน แต่กลับมีความสามารถผ่อนชำระเฉลี่ย 10,978 บาทต่อเดือน โดยกลุ่มตัวอย่าง 79.8 % ระบุว่ามีปัญหาในการชำระหนี้ ส่วน 46.4% ระบุอาจก่อหนี้นอกระบบมากขึ้น เพราะค่าครองชีพสูงขึ้น

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า ภาระหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่มาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเป็นการใช้จ่ายทั่วไป 60.2% ราคาสินค้าที่แพงขึ้น 18.5% และมองว่าสภาพเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ฟื้น จึงยังไม่เชื่อมั่นในการบริโภค ทำให้การออมของภาคครัวเรือนลดลง และมีแนวโน้มหันไปก่อนหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน

"จากผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นว่า หนี้ภาคครัวเรือนยังไม่น่าเป็นห่วง แต่ห่วงเศรษฐกิจประเทศจะไม่ฟื้นมากกว่า ส่วนระยะยาวห่วงว่าจะเกิดปัญหาหนี้สาธารณะต่อสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องระมัดระวังในการใช้เงิน เพราะการลงทุนในโครงการต่างๆ ของรัฐบาลจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นไปถึง 51% ของจีดีพี จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 41% ของจีดีพี และห่วงว่าจะเกิดปัญหาว่างงานตามมา" นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับทรรศนะต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันนั้น จะมีผู้ที่ได้รับประโยชน์ 3.5-5 ล้านคน ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น 1,800 บาทต่อคนต่อเดือน หรือมีเงินสะพัดในระบบ 7,000-9,000 ล้านบาท มีผลให้จีดีพีเพิ่มขึ้นเพียง 0.05-0.07% เท่านั้น แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นจะสามารถลดปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้นได้ ซึ่งภาครัฐจะต้องดูแลค่าครองชีพให้ลดลง ผ่านโครงการสินค้าราคาถูก หรือหาสินค้าทางเลือกให้กับกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยได้เข้าถึง โดยไม่เข้าไปแทรกแซงจนกลไกตลาดบิดเบือน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าจะเห็นการย้ายฐานไปลงทุนในต่างประเทศ การจ้างงานชะลอตัวลง เพราะผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรแทน ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง

:: ไทยรัฐออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ี 29 มีนาคม 2555

No comments:

Post a Comment