ลุ้นรัฐจัดงบ 3 หมื่นล้านปั้นนักวิจัย ป.โท เอก 2 หมื่นคน พัฒนาประเทศ ให้คิด ออกแบบ ปั๊มผลิตภัณฑ์ออกขายสร้างรายได้ ชี้มาเลย์แซงหน้าไปแล้ว
ศ.ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผอ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กำลังประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในเชิงบูรณาการในการเสนอของบประมาณจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) 29,000 ล้านบาท ในโครงการพัฒนานักวิจัยระดับปริญญาโทและปริญญาเอก อย่างละ 1 หมื่นคน รวมเป็น 2 หมื่นคน ภายในเวลา 15 ปี ทั้งนี้ ได้มีการเสนอเข้าสู่การประชุม ครม. เมื่อวันที่ 6 มี.ค.แต่ถูกตีกลับให้ออกมาจัดทำบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ อีกครั้ง
งบประมาณการพัฒนาเพื่อสร้างนักวิจัยดังกล่าว ในปีแรกจะผลิต 200 คน ใช้งบประมาณ 300 ล้านบาทและจะเพิ่มขึ้นทุกปี จนถึง 2,700 ล้านบาท โดยค่าลงทุนสำหรับนักวิจัยปริญญาโทหัวละ 3 แสนบาท ปริญญาเอกหัวละ 1.7 ล้านบาท การของบประมาณเพื่อเพิ่มนักวิจัยครั้งนี้ กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยมีจำนวนบุคลากรด้านการวิจัย 15 คนต่อประชากร 10,000 คน ในขณะที่ปัจจุบันมีสัดส่วนบุคลากรด้านการวิจัย 9 คนต่อประชากร 10,000 คน หรือมีอยู่ราว 54,000 คน เทียบกับประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน อัตราส่วนนักวิจัยต่อประชากรราว 30-50 ต่อ 10,000 คน
การเพิ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยครั้งนี้ จะทำให้งบประมาณด้านการวิจัยของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 0.28% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) จากปัจจุบัน ได้รับอยู่ 0.24% ซึ่งน้อยกว่ามาเลเซีย 3 เท่า ห่างจากสิงคโปร์นับสิบเท่า ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กำหนดเป้าหมายว่าจะพยายามผลักดันให้ได้งบประมาณเพื่อการวิจัยเพิ่มเป็น 1% ของจีดีพี ซึ่งเป็นเกณฑ์เฉลี่ยที่ทั่วโลกใช้กัน และก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี มีเป้าหมายให้งบประมาณการวิจัยสูง 1% ต่อมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศจะก้าวไปสู่งบประมาณด้านการวิจัย 2% ทาง สวทน.จึงจะพยายามเร่งรัดให้ได้
ศ.ดร.สวัสดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้สถานการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนไป ประเทศไทยจึงต้องก้าวข้ามการขายแรงงาน และต้องทำพร้อมกันทุกด้าน เพราะมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ที่สามารถพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เกิดนวัตกรรมได้ เช่น สมุนไพร เครื่องสำอาง โดยภาคอุตสาหกรรมกว่า 40 สาขา ก็พร้อมจะใช้งานวิจัยเพื่อการพัฒนาอยู่แล้ว ทั้งนี้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ที่มีจุดมุ่งหมายก้าวสู่ประเทศที่มีรายได้สูง จำต้องมีอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรม สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์เองได้ ทำวิศวกรรมเอง ไม่ต้องซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งต้องอาศัยการวิจัยเป็นฐานรากการสร้างระบบวิจัย
อนึ่ง เมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา ดร.นลินี ทวีสิน รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมวิชาการโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ครั้งที่ 13 ที่โรงแรมจอมเทียน ปาล์มบีช รีสอร์ท พัทยา ระบุว่า โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษกดำเนินการมา 14 ปีแล้ว มีนักศึกษาปริญญาเอกในโครงการมากกว่า 3,500 คน มีดุษฎีบัณฑิตมากกว่า 1,800 คน มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติมากกว่า 4,300 เรื่อง และผลงานที่ยื่นจดสิทธิบัตรทั้งในและต่างประเทศ 64 เรื่อง ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความเข้มแข็งด้านการวิจัยของหลายมหาวิทยาลัย
::ลุ้น 3 หมื่นล้าน ปั๊มนักวิจัยโทเอก 2 หมื่นคน © 2554 บริษัท เดลินิวส์ เว็บ จำกัด วันอังคารที่ 10 เมษายน 2555
No comments:
Post a Comment