Monday, February 7, 2011

เนเธอร์แลนด์ส่งทีมจัดการน้ำ สำรวจอ่าวไทยแก้กัดเซาะชายฝั่ง

เนเธอร์แลนด์ ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ สำรวจพื้นที่อ่าวไทยแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง แผ่นดินยุบตัว พร้อมเสนอแผนจัดการน้ำทั้งระบบ...

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานเปิดงานการประชุมเชิงปฏิบัติการ "การศึกษากำหนดเพื่อกำหนดเป้าหมายด้านการจัดการพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำของประเทศเนเธอร์แลนด์" โดยนายวีระชัย กล่าวว่า วท.ได้หารือกับเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เพื่อพัฒนาพื้นที่อ่าวไทยตอนบนซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติตามธรรมชาติ เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง แผ่นดินยุบตัว โดยเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่ประสบปัญหาใกล้เคียงกับประเทศไทย อีกทั้งมีรูปแบบการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2461

นาย วีระชัย กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นจำเป็นต้องใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ตลอดจนระบบบริหารจัดการพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อให้พื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยและปากแม่น้ำ สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นได้

ด้านนาย Tjaco vanden Hout เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า พื้นที่กว่าร้อยละ 27 หรือกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศเนเธอร์แลนด์อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 4-7 เมตร ทำให้รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหาอุทกภัย โดยอาศัยเทคโนโลยีและการจัดการอย่างเป็นระบบมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ที่มีประชากรอยู่อาศัยราวร้อยละ 60 ทั้งนี้ทีมวิศวกรของเนเธอร์แลนด์ได้เสนอแนวคิดในการแก้ไขทั้งเทคโนโลยีงาน ก่อสร้างเขื่อน ผนังกั้นน้ำ และการจัดการอย่างเป็นระบบ โดยรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้กำหนดให้เป็นพระราชบัญญัติจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำ ตลอดจนงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาปากแม้น้ำหลายล้านยูโร ซึ่งการจัดการปัญหาลุ่มน้ำจำเป็นต้องติดตามและดำเนินการอย่างเป็นระบบทุกภาค ส่วน โดยนอกจากเทคโนโลยีที่เหมาะสมแล้ว งบประมาณยังเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการจัดการปัญหาภาพใหญ่ของประเทศ

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.ศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ศรภอ.) กล่าวว่า เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่ริเริ่มเทคโนโลยีแก้ปัญหาอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีมาจนถึงปัจจุบัน จากเขื่อนและผนังกั้นน้ำมาเป็นอาคาร หรือบ้านลอยน้ำที่เหมาะสมต่อการใช้ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศไทยนั้น ต้องทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ สภาพความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างแตกต่างในพื้นที่เดียวกัน ทั้งนี้ชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน เช่น สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี รวมถึงกรุงเทพมหานคร มีหลายพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ซึ่งที่ผ่านมาการจัดการเป็นไปอย่างกระจัดกระจาย แต่ละพื้นที่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง และขาดการจัดการอย่างเป็นระบบ ซึ่งปัญหาและปัจจัยแวดล้อมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ประเทศไทยจะถูกนำมารวบรวม โดยทีมวิศวกรชาวเนเธอร์แลนด์และทีมงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการพิจารณาและกำหนดแนวทางในการจัดการปัญหาที่เหมาะสมต่อไป

ที่มา: ทีมข่าวการศึกษา ไทยรัฐออนไลน์ วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554

.

No comments:

Post a Comment