Thursday, February 3, 2011

(อเมริกาก็)สองมาตรฐาน

สหรัฐอเมริกา ซึ่งสมัยนี้มองกันว่าเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ ในอดีตเมื่อไม่กี่สิบปีที่แล้วเองก็ยังเป็นดินแดนแห่งสองมาตรฐาน

ไม่ใช่สองมาตรฐานที่ class-based = อยู่บนพื้นฐานของชนชั้น นะครับ เพราะว่าแม้สหรัฐจะมีชนชั้น แต่เส้นที่แบ่งกั้นระหว่างชนชั้นไม่ได้หนามาก ทุกคนเชื่อใน the American dream ที่ว่าถ้าทำงานหนักก็จะได้รับความสำเร็จเป็นรางวัล โดยไม่ขึ้นอยู่กับชาติตระกูลหรือช้อนเงินที่คาบมาตั้งแต่เกิด

แต่ก่อนหน้านี้ราวครึ่งศตวรรษ the American dream เป็นความฝันเฉพาะของคนผิวขาว เพราะสองมาตรฐานในสมัยนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของปัจจัยที่เลือกไม่ได้และติด ตัวมาแต่เกิด นั่นคือ race = เผ่าพันธุ์

สมัยนั้นถ้าคุณเกิดมาเป็นคนผิวดำ ถึงจะทำงานหนักอย่างไรก็ไม่สามารถลบความดำออกจากผิวได้ (นอกจากจะเป็นโรค vertiligo อย่างไมเคิล แจ็คสัน) และแม้ตระกูลของคุณจะเป็นคนผิวขาวหมด มีบรรพบุรุษผิวดำเพียงคนเดียว แค่นั้นก็ถือว่าคุณเป็นคนดำแล้ว แม้ว่าจะดูเหมือนคนขาวก็ตาม (อย่างบารัค โอบามา ยังจัดว่าเป็นคนดำ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วครึ่งดำครึ่งขาว)

ในทางกฎหมาย คนดำได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง และสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในกองทัพ (ในสงครามโลกครั้งที่สอง ยังต้องมีหน่วยทหารผิวดำแยกต่างหาก)

แต่การที่คนดำในสหรัฐเคยเป็นทาสและถูกปฏิบัติราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตที่ sub-human = ต่ำกว่ามนุษย์ (เพื่อจะได้ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญที่ประกาศว่า All men are created equal. = มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาเท่าเทียมกัน) มาเป็นเวลานาน จึงยังต้องกล้ำกลืนความอยุติธรรมสารพัด เช่นห้ามปะปนกับคนขาว ห้ามเข้าร้านอาหารเดียวกัน ห้ามเรียนโรงเรียนเดียวกัน ฯลฯ

จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ. 1954 ศาลสูงสุดตัดสินด้วยคะแนนเอกฉันท์ในคดี Brown v. Board of Education of Topeka, Kansas ว่า segregation = การแยกผิว ในโรงเรียนของรัฐ (คือการห้ามนักเรียนต่างผิวเรียนที่โรงเรียนเดียวกัน) ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

เมื่อปี ค.ศ. 1896 ศาลสูงสุดพิพากษาในคดี Plessy v. Ferguson ว่าการแยกโรงเรียนบนพื้นฐานของผิวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่า separate but equal = แม้จะแยกกันแต่ก็ยังเท่าเทียมอยู่

แต่ศาลเมื่อ ค.ศ. 1954 ตัดสินว่า separate educational facilities are inherently unequal = สถานที่ศึกษาที่แยกกันย่อมไม่เท่าเทียมกันอยู่ในตัวเอง

จุดประกาย civil rights movement ซึ่งเปลี่ยนโฉมสังคมสหรัฐมาเป็นอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้.

บ็อบ บุญหด

ที่มา: (อเมริกาก็)สองมาตรฐาน เดลินิวส์ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 04 กุมภาพันธ์ 2554

.

ศาลยุติ (ความเป็น) ธรรม


คดี Plessy v. Ferguson เป็นคดีที่สมาคมเสรีชนผิวสีแห่งนิวออร์ลีนส์ “จัด” ขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1892 เพื่อทดสอบว่ารัฐเอาจริงแค่ไหนกับหลักการที่ว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่มีการออกบทแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐให้คนดำมีสิทธิ เท่าเทียมพลเมืองทั่วไป

ก่อนหน้านั้น หลังจากสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง รัฐบาลกลางได้ส่งกองกำลังเข้าไปในรัฐภาคใต้เพื่อคุ้มครองคนดำ แต่หลังจากกองกำลังส่วนกลางนั้นได้ถอนออกไป รัฐบาลของรัฐภาคใต้ก็พากันออกกฎหมายที่เรียกว่า Jim Crow laws กีดกันคนดำไม่ให้ใช้บริการสถานร่วมกับคนขาว

(Jim Crow เป็นชื่อตัวละครชายผิวดำซึ่งแสดงโดยคนขาว เป็นตัวละครที่เกียจคร้าน ไม่มีความคิด วัน ๆ มีแต่ร้องรำทำเพลงสนุกสนานไปเรื่อย เป็น stereotype ซึ่งสอดคล้องกับภาพลักษณ์คนดำในสายตาคนขาวยุคนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐภาค ใต้)

Homer Plessy ดูเหมือนคนขาว แต่มีทวดผิวดำอยู่คน ตามกฎหมายรัฐ Louisiana (ลูซีแย้นหน่า) จึงถือว่าเขาเป็นคนดำด้วย เขาซื้อตั๋วรถไฟสำหรับตู้ที่เป็น whites only = สงวนให้เฉพาะคนขาว เมื่อขึ้นไปนั่งเรียบร้อยแล้วก็คุยกับผู้โดยสารคนอื่นและแย้มว่าตนมี บรรพบุรุษเป็นคนดำ

แค่นั้นก็ได้เรื่อง ผู้โดยสารไปแจ้งเจ้าหน้าที่รถไฟ เจ้าหน้าที่รถไฟก็มาไล่เขาลงให้ไปนั่งตู้คนดำ แต่ Plessy ไม่ยอมขยับ จึงถูกจับแล้วลากไปเข้าตาราง ตามที่สมาคมวางแผนไว้เพื่อที่จะได้ฟ้องรัฐได้

คดีนี้อุทธรณ์ฎีกาอยู่หลายชั้นจนขึ้นถึงศาลฎีกาสหรัฐภายใต้ชื่อ Plessy v. Ferguson (ชื่อหลังเป็นชื่อประธานศาลรัฐ Louisiana) และในที่สุดศาลฎีกาสหรัฐก็ตัดสินให้จำเลยชนะ โดยอ้างหลัก separate but equal เท่ากับว่ากฎหมาย Jim Crow ทั้งหลายในรัฐภาคใต้เป็นที่ยอมรับโดยรัฐส่วนกลาง

อีก 58 ปีต่อมา ศาลฎีกาสหรัฐพลิกคำพิพากษาจากครั้งนั้นในคดี Brown v. Board of Education โดยปฏิเสธหลักการ separate but equal และตัดสินว่าการแยกโรงเรียนตามผิวนักเรียนขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งแน่นอนย่อมส่งผลต่อหลักการ segregation = การแยกผิว ที่ฝังอยู่ในกฎหมาย Jim Crow ทั้งหลาย

ทุกวันนี้เรามองว่าสหรัฐเป็นประเทศที่กฎหมายเป็นใหญ่ แต่ไม่ว่าตัวบทกฎหมายจะเขียนไว้อย่างไร ถ้าไม่ได้ถูกนำไปทดสอบในภาคปฏิบัติก็ไร้ความหมาย

ในปีต่อมาหลังจากคำตัดสินคดี Brown v. Board of Education ก็มีเด็กหนุ่มผิวดำคนหนึ่งถูกจับไปฆ่าเพราะบังอาจผิวปากใส่ผู้หญิงผิวขาว ตำรวจจับหนุ่มขาวสองคนได้ แต่คณะลูกขุน (ซึ่งเป็นคนขาวทั้งหมด) ตัดสินว่าไม่มีความผิด และหลังจากนั้นทั้งสองก็ยืดอกให้สัมภาษณ์ว่าตนเป็นคนฆ่าจริง

ที่มา: ศาลยุติ (ความเป็น) ธรรม เดลินิวส์ออนไลน์ วันพุธที่ 02 กุมภาพันธ์ 2554


ผิดเพราะไม่ลุกยืน


หลังจากศาลฎีกาสหรัฐตัดสินในคดี Brown v. Board of Education ว่าการแยกโรงเรียนตามสีผิวของนักเรียนขัดต่อรัฐธรรมนูญ คนดำก็เริ่มทวงสิทธิอันชอบธรรมของตน ในระยะแรกๆ ก็อาจเป็นกรณีโดดๆ แต่เมื่อได้คนที่มีอุดมการณ์แรงกล้า ก็กลายเป็นขบวนการที่เรียกว่า civil rights movement = ขบวนการ (เรียกร้อง) สิทธิพลเมือง

กรณีดังที่บุกเบิกกระแสการทวงสิทธิและศักดิ์ศรีของคนดำเกิดขึ้นที่นคร Montgomery (มอนท์ก๊อมหมะหรี่) รัฐ Alabama (แอลลาแบ๊มหม่า) นั่นคือกรณีของ Rosa Parks หญิงผิวดำผู้ไม่ยอมสละที่นั่งบนรถเมล์ให้กับผู้โดยสารชายผิวขาวเมื่อที่นั่งในรถเต็ม

รถเมล์ทางใต้สมัยนั้นแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหน้าเป็น white section ให้คนขาวนั่ง ส่วนหลังเป็น colored section ให้คน “ผิวสี” นั่ง และตามธรรมเนียมในระบบ Jim Crow ถือว่าเมื่อที่นั่งเต็ม คนดำมีหน้าที่ต้องลุกให้คนขาวนั่ง ไม่ว่า คนดำนั้นจะเป็นหญิงหรือคนชราและคนขาวนั้นเป็นชายหนุ่มก็ตาม และคนขับก็มีสิทธิที่จะเลื่อนป้ายแบ่งเขตระหว่างสองส่วนเพื่ออำนวยความสะดวก ให้กับผู้โดยสารผิวขาว

แต่วันนั้น เมื่อคนขับเลื่อนป้ายแบ่งเขตไปอยู่ข้างหลังแถวที่ Rosa Parks นั่งและสั่งคนดำที่นั่งแถวเดียวกับเธอให้ลุกขึ้นยืน อีกสามคนยอมทำตาม แต่เธอไม่ยอม คนขับขู่ว่าถ้าเธอไม่ยอมเขาก็จะเรียกตำรวจมาจับ เธอก็ตอบว่า You may do that. = คุณทำได้ (การใช้ may เหมือนเป็นการให้อนุญาต) ก็เลยโดนจับไปเข้าตะราง

ในรายการสัมภาษณ์ทางวิทยุภายหลัง เธอถูกถามว่าทำไมถึงไม่ลุกขึ้นยืนซะ ให้หมดเรื่องหมดราว เธอตอบว่า “I would have to know for once and for all what rights I had as a human being and a citizen.” = ฉันต้องรู้ให้สิ้นเรื่องสิ้นราวว่าฉันมีสิทธิอะไรบ้างในฐานะมนุษย์และราษฎร คนหนึ่ง

ความจริงก่อนหน้านั้นก็มีหญิงดำบางคนที่ไม่ยอมลุกขึ้นยืนให้คนขาวและเมื่อคดีไปถึงศาลฎีกาของสหรัฐก็ชนะคดี แต่ Rosa Parks เป็นกรณีแรกที่การไม่ยอม สละที่นั่งรถเมล์ให้คนขาวจุดกระแส civil disobedience = การขัดขืนอำนาจรัฐโดยสันติ (หรือที่บางคนชอบเรียกว่าอารยะขัดขืน ซึ่งสะท้อนถึงความสับสนระหว่าง civil กับ civilized) ครั้งใหญ่ นั่นคือการคว่ำบาตรรถเมล์ในนคร Montgomery

การคว่ำบาตรรถเมล์นี้ดำเนินอยู่นานกว่าหนึ่งปี จนกระทั่งกฎหมายที่ให้แบ่งเขตในรถเมล์ถูกยกเลิก แต่สำคัญตรงที่แสดงว่าคนดำยอมลำบาก แต่ไม่ยอม อีกต่อไปกับการถูกปฏิบัติเยี่ยงพลเมืองชั้นสอง และตรงที่การเคลื่อนไหวได้ผู้นำคนใหม่ เป็นนักเทศน์หนุ่มชื่อ Martin Luther King, Jr.

ที่มา: ผิดเพราะไม่ลุกยืน เดลินิวส์ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 03 กุมภาพันธ์ 2554

No comments:

Post a Comment