Wednesday, July 20, 2011

การใช้ภาษาอังกฤษและภาษาอื่นในภูมิภาค กับ อนาคตของไทยในอาเซียน [1] + [2]

บันทึกอาเซียน | ASEAN DIARY : การใช้ภาษาอังกฤษและภาษาอื่นในภูมิภาค กับ อนาคตของไทยในอาเซียน [1]

กฎบัตรอาเซียนข้อ 34 บัญญัติว่า “The working language of ASEAN shall be English” | “ภาษาที่ใช้ในการทำงานของอาเซียน คือ ภาษาอังกฤษ” ความหมายที่เป็นที่เข้าใจในขั้นต้นก็เป็นเพียงเรื่องของทางราชการและภาคธุรกิจเอกชนเท่านั้น ซึ่งหากเป็นเพียงเท่านี้ก็เป็นเรื่องปรกติธรรมดาของการทำงานในโลกปัจจุบันอยู่แล้ว แม้จะหมายความเพียงว่าเป็นการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารระหว่างกันในการทำงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่รัฐบาล ตลอดจนองค์กรและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทว่าความหมายของบทบัญญัติที่ให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาของอาเซียนสำหรับการทำงานร่วมกันนั้นมีความหมายกว้างไกลไปถึงทุกส่วนของประชาคมอาเซียนด้วย หมายความว่าประชาชนพลเมืองใน 10 ประเทศอาเซียนจะต้องใช้ภาษาอังกฤษกันมากขึ้น นอกเหนือจากภาษาประจำชาติหรือภาษาประจำถิ่นของแต่ละชาติแต่ละชุมชนเอง เพราะไม่เพียงแต่เจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นที่จะต้องไปมาหาสู่ร่วมประชุมปรึกษาหารือและสื่อสารกัน และไม่เฉพาะนักธุรกิจและคนทำมาค้าขายระหว่างประเทศเท่านั้นที่จะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารและการติดต่อธุรกิจระหว่างกัน แต่ในเมื่อทุกคนที่อยู่ในอาเซียนล้วนแล้วแต่เป็นพลเมืองของอาเซียนด้วยกันทุกคน และทุกคนจะต้องไปมาหาสู่ เดินทางท่องเที่ยว ทำความรู้จักคุ้นเคยต่อกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และที่สำคัญทุกคนจะต้องเดินทางข้ามพรมแดนเพื่อหางานทำและแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าให้กับชีวิต ดังนั้นภาษาอังกฤษจึงเป็นเครื่องมืออันดับหนึ่งสำหรับพลเมืองอาเซียน ในการสื่อสารสร้างสัมพันธ์สู่โลกกว้างของภูมิภาคอาเซียน โลกแห่งมิตรไมตรีที่ขยายกว้างไร้พรมแดน โลกแห่งการแข่งขันไร้ขอบเขตภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม

ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษาที่สองของชาวอาเซียน เคียงคู่ภาษาที่หนึ่งอันเป็นภาษาประจำชาติของแต่ละคน

ส่วนภาษาที่สามของชาวอาเซียนนั้นก็คือภาษาอื่นในอาเซียนภาษาหนึ่งภาษาใดหรือมากว่าหนึ่งภาษา เช่นภาษามาเลย์ ภาษาอินโดนีเซีย ภาษาจีน ภาษาลาว ภาษาขแมร์ ภาษาเวียดนาม ภาษาพม่า ภาษาฟิลิปปิโน ภาษาฮินดี และ ภาษาทมิฬ นอกจากนั้นยังมีภาษาของประเทศนอกภูมิภาคอาเซียนที่เป็นประเทศคู่เจรจาสำคัญของอาเซียนอีกแปดประเทศคือ: จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย สหรัฐอเมริกา และ รัสเซีย ซึ่งหมายความว่าจะต้องเรียนรู้ภาษาที่นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ คือ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษารัสเซีย และภาษาที่ใช้ในอินเดียอีกหลายภาษา (ฮินดี, อูรดู, ทมิฬ, เบงกาลี ฯลฯ)

ภาษาอังกฤษ: ในฐานะภาษาสำคัญของโลก ภาษาอังกฤษปัจจุบันคือภาษานานาชาติ เป็นภาษากลางของโลก ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางของมนุษยชาติ เป็นภาษาที่มนุษย์บนโลกใช้ติดต่อระหว่างกันเป็นหลัก ไม่ว่าแต่ละคนจะใช้ภาษาอะไรเป็นภาษาประจำชาติ เมื่อต้องติดต่อกับคนอื่นที่ต่างภาษาต่างวัฒนธรรมกันทุกคนจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ทุกชาติทุกภาษาจึงบรรจุวิชาภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองรองลงมาจากภาษาประจำชาติ เป็นแกนหลักของหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงการศึกษาตลอดชีวิต แต่เมื่ออาเซียนกำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็น “working language” เราจึงต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ตามความหมายของถ้อยคำว่าเป็น “ภาษาทำงาน” ของทุกคนในอาเซียน ทุกคนที่ “ทำงานเกี่ยวกับอาเซียน”, “ทำงานในอาเซียน”, ทำงานร่วมกับเพื่อนอาเซียน”, “มีเครือข่ายประชาสังคมอาเซียน”, “แสวงหาโอกาสทางการศึกษาในอาเซียน”, “มีเพื่อนในอาเซียน” และ “เดินทางท่องเที่ยวในอาเซียน”

ทุกคนต้องเรียนรู้และใช้ภาษาอังกฤษให้ได้ทั้งสิ้น ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ไปจนถึงเกษตรกรชาวไร่ชาวนา ชาวบ้านทั่วไป นักเรียน นักศึกษา เด็กและเยาวชน ฯลฯ

คนทำงานเกี่ยวกับอาเซียน :

คนที่ทำงานโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องของอาเซียน หมายถึงตั้งแต่พนักงาน เจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน ไปจนถึงคนทำงานในสำนักเลขาธิการอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ทุกคนต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก

ข้าราชการไทยทุกกระทรวงทบวงกรม จะต้องมีความสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ และใช้ได้ดีด้วย เพราะงานเกี่ยวกับอาเซียนนั้นเกี่ยวกับทุกกระทรวงทบวงกรม จากนี้ไปควรเป็นนโยบายของรัฐบาลในการบรรจุข้าราชการทุกระดับทุกหน่วยงานโดยคำนึงถึงความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเป็นสำคัญ ไม่ว่าตำแหน่งราชการนั้นๆจะเกี่ยวข้องกับงานอาเซียนโดยตรงหรือไม่ก็ตาม เพราะถึงอย่างไรงานทุกระดับในหน่วยราชการจะต้องเกี่ยวข้องกับอาเซียนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมทั้งสิ้น รัฐบาลควรมี นโยบายระยะสั้นเฉพาะหน้าในช่วงเวลาก่อนถึงปี 2558/2015 อันเป็นปีบรรลุเป้าหมายการสร้างประชาคมอาเซียน ว่าจะปรับขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของข้าราชทุกคนทุกระดับแล้วปรับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนข้าราชการที่พัฒนาขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษได้แล้วให้ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ให้ได้เงินเดือนสูงพอหรือสูงเหนือเงินเดือนปรกติในระบบราชการปัจจุบัน สูงจนเป็นที่ดึงดูดคนที่มีขีดความสามารถสูงหันมาสนใจรับราชการโดยไม่ลังเลว่าจะไปทำงานภาคเอกชนดีกว่าหรือไม่ สูงจนมาตรฐานการตอบแทนภาครัฐเทียบเท่าหรือดีกว่าภาคเอกชน

นโยบายระยะสั้นเฉพาะหน้าของระบบราชการก็คือพัฒนาบุคคลากรที่พัฒนาได้แล้วปรับเงินเดือนส่วนที่พัฒนาได้มาตรฐาน ที่เหลือก็ค่อยๆพัฒนาและปรับผลตอบแทนต่อไปในระยะยาว ข้าราชการที่ไม่ปรับตัวก็ให้อยู่อย่างปรกติธรรมดาเหมือนเดิมแบบชีวิตไม่เปลี่ยนแปลงต่อไป เนื่องจากการเรียนภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศอื่นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะเรียนรู้ได้เสมอเหมือนกันทุกคน ทุกวัย ทุกวัฒนธรรม ไม่เกี่ยวกับภูมิปัญญาพิเศษใดๆ ใครๆก็เรียนภาษาใหม่ได้ ใครๆก็เรียนภาษาอังกฤษได้- ถ้าอยากจะเรียน -ไม่มีข้ออ้างว่ายากจน เรียนไม่ไหว หรืออายุมากแล้ว “ลิ้นแข็ง” เรียนไม่ได้แล้ว ภาษาเป็นทักษะ เรียนรู้ได้ด้วยการฝึกฝน ใช้มากๆ ใช้บ่อยๆ เท่านั้นเอง ถ้าขยันเรียนก็ใช้ภาษาอังกฤษได้ในเวลาไม่นาน วิธีสร้างแรงจูงใจโดยการปรับขึ้นเงินเดือนเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งในระบบราชการจึงเป็นแรงจูงใจอย่างมีเหตุผลดีในการพัฒนาขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของข้าราชไทยยุคประชาคมอาเซียน

นโยบายระยะยาว ก็ควรเป็นการให้ขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเป็นมาตรฐานกลางของระบบราชการโดยปรับเงินเดือนและผลตอบแทนอื่นๆให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ หากทำเช่นว่านี้ได้ก็เป็นเหตุผลที่ชอบธรรมในการปรับฐานเงินเดือนและผลตอบแทนให้ข้าราชการทุกคน

พนักงานประจำสำนักเลขาธิการอาเซียน สำหรับคนที่ต้องการจะไปทำงานเกี่ยวกับอาเซียนโดยตรงในสำนักเลขาธิการอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา หรือสำนักงานสาขาในประเทศอื่นที่จะมีในอนาคต ตลอดจนผู้ที่จะไปทำงานให้กับรัฐบาลประเทศสมาชิกอื่นของอาเซียน กล่าวโดยตรงก็คือคนที่จะไปรับราชการในประเทศอาเซียนอื่น ซึ่งในอนาคตจะเป็นเรื่องจริงที่เป็นไปได้ เพราะแต่ละรัฐสมาชิกจะมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ผู้รู้เกี่ยวกับอาเซียนและรัฐสมาชิกอื่นในระบบการทำงานของราชการ (หรือรัฐการ) ของตน ประเทศในอาเซียนจะมีความต้องการว่าจ้างคนไทยที่มีความรู้ความสามารถเรื่องไทยและเรื่องอาเซียนให้เข้ารับราชการในประเทศของตน ชาวไทยที่แสวงหาโอกาสใหม่ๆให้กับชีวิตก็ต้องเตรียมพร้อมเรื่องภาษาอังกฤษก่อนเรื่องอื่นใด ในยุคอาณานิคม แม้ไทยจะมิได้เป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่รัฐบาลสยามก็จ้างชาวอังกฤษมาเป็นอธิบดีกรมป่าไม้คนแรก และจ้างชาวดัทช์มารับราชการในกรมชลประทาน และ จ้างชาวอังกฤษมาเป็นครูในพระราชวังและในระบบการศึกษาพื้นฐาน ในปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศของไทยและของชาติสมาชิกอาเซียนอื่นก็ล้วนแล้วแต่มีกรมกิจการอาเซียนด้่วยกันทั้งนั้น และย่อมเป็นไปได้ที่แต่ละหน่วยงานจะมีความจำเป็นต้องจ้างชาวไทยเข้าสู่ระบบราชการของแต่ละประเทศด้วย ในทางกลับกันระบบราชการไทยก็จะมีความจำเป็นที่ต้องจ้างชาวลาว เขมร พม่า เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน และ ฟิลิปปินส์ มาทำงานในกระทรวงต่างๆของไทย ทำนองเดียวกันกับที่สถาบันการศึกษาต่างๆจ้างครูชาวต่างชาติ

ถึงเวลาแล้วที่ชาวไทยจะต้องพัฒนาตนเองในการเรียนรู้ให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์ในประชาคมอาเซียน ณ วันนี้เป็นต้นไป

สมเกียรติ อ่อนวิมล

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์ วันพุธ ที่ 13 กรกฎาคม 2554
---------------

บันทึกอาเซียน | ASEAN DIARY : การใช้ภาษาอังกฤษและภาษาอื่นในภูมิภาค กับ อนาคตของไทยในอาเซียน [2]


ภาษาอังกฤษ สำหรับ : คนทำงานในอาเซียน คนทำงานร่วมกับเพื่อนอาเซียน คนมีเครือข่ายประชาสังคมอาเซียน คนแสวงหาโอกาสทางการศึกษาในอาเซียน คนมีเพื่อนในอาเซียน คนเดินทางท่องเที่ยวในอาเซียน

คนทำงานในอาเซียน :
จากนี้ไปจนถึงปี ค.ศ. 2015 หรือ พ.ศ. 2558 แรงงานมีฝีมือหรือมีทักษะและนักวิชาชีพทั้งหลายจะสามารถเดินทางข้ามประเทศในภูมิภาคอาเซียนไปหางานทำได้สะดวกมากขึ้นและจะทำได้โดยเสรีในที่สุด ตามความตกลงว่าด้วยเรื่องมาตรฐานกลางของทักษะและคุณภาพงานของแต่ละอาชีพที่หน่วยงานตัวแทนรัฐบาลทั้งสิบประเทศในอาเซียนจะทยอยรับรองมาตรฐานวิชาชีพต่างๆไปเป็นระยะๆ มาถึงปี 2011/2554 นี้มีการเจรจาตกลงในมาตรฐานกลางของวิชาชีพที่สำคัญไปบ้างแล้วเช่นวิชาชีพ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล บัญชี ช่างสำรวจ และสถาปนิก บางวิชาชีพยังอยู่ระหว่างการประชุมเจรจาต่อรอง บางอาชีพก็จัดทำมาตรฐานเสร็จแล้ว และทุกๆสองปีอาเซียนก็จะประเมินว่าจะมีวิชาชีพใหม่ใดบ้างที่ผ่านการรับรองมาตรฐานกลาง แม้ถึงปี 2015 จะยังเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการรับรองมาตรฐานกลางของทุกอาชีพในอาเซียน แต่อาชีพที่สำคัญๆอาจจะตกลงกันได้มากขึ้น ซึ่งก็จะหมายความว่าการเรียนการสอน การฝึกอบรมเพื่อนำไปสู่การเดินทางข้ามประเทศไปหางานทำในประเทศอื่นในอาเซียนด้วยกันจะต้องทำโดยคำนึงถึงมาตรฐานกลางของอาเซียน เพื่อให้ผู้ที่เรียนจบวิชาแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล บัญชี ช่างสำรวจ สถาปนิก ฯลฯ จากมหาวิทยาลัยในประเทศไทยจะสามารถไปทำงานในสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ ได้อย่างสะดวกโดยไม่ต้องไปสอบใหม่ตามมาตรฐานของแต่ละประเทศต่างหากอีก ทำนองเดียวกันคนจากประเทศอื่นในอาเซียนก็จะสามารถมา สมัครงาน หางานทำ หรือแย่งงานเราไปทำได้ เพราะมีคุณสมบัติตามมาตรฐานวิชาชีพอาเซียน ในเรื่องนี้เองที่ภาษาอังกฤษจะเป็นมาตรฐานกลางที่สำคัญอันจะนำไปสู่การเรียน การฝึกฝนอบรมในทักษะวิชาชีพต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ดังนั้นคนไทยทุกคนจึงจำจะต้องเรียนรู้และใช้ภาษาอังกฤษให้ได้และให้ดีไม่แพ้ชาวสิงคโปร์ มาเลเซีย และชาวชาติอื่นๆในอาเซียน หากทำได้อย่างน้อยก็จะเป็นการปกป้องโอกาสในการทำงานในประเทศไทยของเรามิให้เพื่อนอาเซียนมาแย่งงานของเราไปได้ แต่หากเราไม่เก่งทั้งทักษะภาษาและทักษะวิชาชีพเราก็จะหางานทำในประเทศของเราเองสู้คนชาติอื่นไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่เราจะเข้าไปแข่งขันหางานทำในสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ การมีทักษะวิชาชีพเสมอกันในคุณภาพแต่กลับความอ่อนด้อยในเรื่องภาษาอังกฤษก็เป็นจุดอ่อนที่จะทำให้โอกาสการหางานทำในอาเซียนลดลง แม้จะหางานทำในประเทศไทยเองก็ตามก็จะยากมากขึ้น

คนทำงานร่วมกับเพื่อนอาเซียน :
สำหรับบุคคล องค์กร หรือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในประเทศไทย ต่อไปนี้จะมีการเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงาน การทำธุรกิจ และการแบ่งแยกย่อยส่วนการผลิตสินค้าและการบริการแบบข้ามพรมแดนกันมากขึ้น สินค้าชนิดหนึ่งอาจมีการลงทุนร่วมกันแต่แยกสถานที่ผลิตชิ้นส่วนต่างๆไปในแต่ละประเทศ จากนั้นจึงเอาชิ้นส่วนทั้งหลายมาประกอบเป็นสินค้าหนึ่งชนิดได้ ตามนิยามเขตการค้าเสรีอาเซียนที่ว่าให้อาเซียนเป็น “ตลาดเดียว” และ “ฐานการผลิตเดียว” บริษัทธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆอาจจะจดทะเบียนเป็นบริษััทเดียวกันแต่มีโรงงานผลิตช้ินส่วนแยกอยู่ในหลายประเทศ หรืออาจมีบริษัทต่างๆในหลายประเทศร่วมกันเป็นเครือข่ายการผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน ก็เป็นไปได้ทั้งสองแบบ ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความสามารถในการสื่อสารภาษากลางคือภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี หากทำได้ดังนี้กิจการงานร่วมลงทุกร่วมผลิตร่วมแข่งขันกันหาตลาดก็จะเป็นไปได้ด้วยดี หากเราทำไม่ได้ ย่อมมีคนอื่นบริษัทอื่นที่พร้อมกว่าสามารถทำได้และแย่งงานแย่งตลาดเราได้เสมอ เรื่องนี้เป็นการแข่งขันเสรีตามกฏกติกาที่อาเซียนกำหนดมาตรฐานร่วมกัน คนไทยและนักธุกิจไทยมีมารฐานการทำงาน การผลิตและการค้าบริการไม่เป็นรองใครในอาเซียน และขนาดเศรษฐกิจของไทยก็ใหญ่เป็นอันดับสองในอาเซียน รองลงมาจากอินโดนีเซีย หมายความว่าไทยมีความมั่งคั่งให้ชาวไทยด้วยกันเองได้ฉกฉวยโอกาสได้ก่อน แต่เมื่ออาเซียนเป็นประชาคมเศรษฐกิจเดียวกันแล้วความอ่อนด้อยทางภาษาอังกฤษของเราจะผันแปรให้เรากลายเป็นเพียงลูกจ้างระดับล่างไปมากกว่าที่จะเป็นนายจ้าง หรือเป็นผู้บริหารกิจการแม้ในประเทศของเราเอง

คนมีเครือข่ายประชาสังคมอาเซียน :
ภาคประชาสังคม หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Civil Society เป็นกลุ่มเครือข่ายการทำงานเพื่อปกป้องหรือผลักดันผลประโยชน์สาธารณะ ประชาชนพลเมืองในอาเซียนทุกวันนี้รวมตัวกันในภาคประชาชนพลเมือง หรือ “ประชาสังคม” มากขึ้น การประชุมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกลุ่มพลเมืองในสิบประเทศอาเซีียนมีมากขึ้น การเดินทางไปมาหาสู่ ประชุมสัมมนา และชุมนุมเรียกร้องในประเด็นสาธารณะข้ามพรมแดนจะมีมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น องค์กรพัฒนาภาคเอกชน หรือกลุ่มประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การเมืองและประชาธิปไตย ในอนาคตข้างหน้าอาจมีการรวมตัวกันชุมนุมเรียกร้องในประเทศอาเซียนประเทศใดประเทศหนึ่งโดยมีผู้ชุมนุมมาร่วมกันสนับสนุนจากประเทศอื่นๆในอาเซียนด้วย ดังนั้นภาคประชาสังคมจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้กัน หรือแม้กระทั่งในการชุมนุมประท้วงข้ามชาติร่วมกัน ในอดีตที่ผ่านมาและในปัจจุบันมักจะพบว่าการแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมร่วมขององค์กรพัฒนาเอกชนหรือภาคประชาสัมคมในอาเซียนนั้น ผู้ที่แสดงความคิดเห็นได้มากกว่าและควบคุมกำกับทิศทางของความเห็นในที่ประชุมได้ผลดีกว่า มักจะเป็นกลุ่มคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ดี เช่นจากฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์และมาเลเซีย คนไทยมักจะแสดงความคิดเห็นได้น้อยและได้เพียงสั้นๆ แม้จะมีความคิดเห็นดีแต่พูดไม่ได้ พูดไม่เป็น ใช้ภาษาอังกฤษได้กระท่อนกระแท่น บทบาทของคนไทยในเวทีสาธารณะอาเซียนจึงอ่อนด้อยและอาจถึงเงียบงัน

คนแสวงหาโอกาสทางการศึกษาในอาเซียน :
ในอนาคตอันไม่ไกล โครงการแลกเปลี่ยนนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และ บุคคลากรทางการศึกษาต่างๆจะมีมากขึ้น ทั้งแบบระยะสั้นเช่นการเดินทางศึกษาดูงานหรือร่วมประชุมทางวิชาการ และแบบระยะยาว เช่นการแลกเปลี่ยนครูอาจารย์ในงานสอนและงานวิจัย การให้นักเรียนนักศึกษาโอนหน่วยกิตข้ามไปศึกษาในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยในประเทศอาเซียนอื่นได้เป็นภาคการศึกษาหรือเป็นปีการศึกษาจะเริ่มมีในไม่ช้า การที่จะเรียนจบได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยอื่นในประเทศไทย จะเปิดกว้างให้นิสิตนักศึกษาย้ายไปเรียนเพิ่มหน่วยกิตที่มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฯลฯ ด้วยก็เป็นไปได้ ในที่สุดแล้วการเรียนการสอน หรือการศึกษาในอาเซียนทั้งระบบจะเป็นมาตรฐานเดียวกันเป็นอย่างต่ำ และจะเป็นมาตรฐานสูงระดับนานาชาติเสมอเหมือนกันทุกสถาบัน ความสำเร็จของครู อาจารย์ และนักศึกษา ขึ้นอยู่กับความสารถในการใช้ภาษาอังกฤษในการแสวงหาวิชาความรู้เป็นสำคัญด้วย นอกเหนือจากภาษาประจำชาติต่างๆในอาเซียนที่นับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นเป็นเงาตามตัวกับความสำคัญของภาษาอังกฤษ

คนมีเพื่อนในอาเซียน :
สำหรับคนมีเพื่อนในอาเซียนก็คล้ายกันกับคนที่มีเพื่อชาติอื่นที่จะต้องสื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษเป็นพื้นฐาน ก่อนที่จะสามารถสื่อสารกันด้วยภาษาประจำชาติของแต่ละคน การมีเพื่อต่างชาติ โดยเฉพาะเพื่อนชาวอาเซียนด้วยกัน ในอนาคตจะเป็นเรื่องปรกติธรรมดา อาจจะเป็นเพื่อนที่ได้จากการทำธุรกิจร่วมกัน หรือเป็นเพื่อนทางสังคมและวัฒนธรรมที่ได้จากการมีเครือข่ายประชาสังคม การเป็นเพื่อนกันในวัยเรียนที่เรียนข้ามชาติกัน หรือเป็นมิตรกันมาจากโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมต่างๆ ทั้งหมดนี้จะเป็นรูปแบบการดำเนินชีวิตของพลเมืองอาเซียนในหนึ่งถึงสองทศวรรษหน้าอย่างแน่นอน ความสำคัญของภาษาอังกฤษในเรื่องการผูกมิตรสร้างเพื่อนข้ามพรมแดนรัฐ จะเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องย้ำให้มากมายนักอีกต่อไปแล้ว ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้้าผู้รู้ภาษาอังกฤษจะมีเพื่อนในอาเซียนมากกว่าผู้ที่ด้อยทักษะภาษาอังกฤษ ผู้ทีด้อยทักษะภาษาอังกฤษก็จะมีวิถีการดำเนินชีวิตแบบเดิม ไม่โลดโผนตื่นเต้นหรืออุดมไปด้วยสีสันวัฒนธรรมข้ามชาติเท่ากับผู้ที่มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษดีกว่า

คนเดินทางท่องเที่ยวในอาเซียน :
ด้วยแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง การมีถนน ทางหลวง ทางรถไฟ และเส้นทางคมนาคมทางเรือและทางอากาศ ที่จะเชื่อมโยงสิบประเทศอาเซียนกันมากขึ้นดีขึ้น และสะดวกรวดเร็วปลอดภัยขึ้น นักเดินทางท่องเที่ยวในอาเซียนในอนาคตอันใกล้จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น การเดินทางไปเที่ยวในประเทศอื่นๆในอาเซียนด้วยกันเองจะมีมากจนเป็นเรื่องปรกติธรรมดาที่“ใครว่างสักวันสองวันก็อาจขับรถไปกินข้าวบ้านเพื่อนที่เวียงจันทน์แล้วชวนกันไปเที่ยวฮานอยกันสักสองวัน” ก็ได้โดยไม่ต้องวางแผนอะไรกันมากนัก การเชื่อมโยงอาเซียนจะง่าย สะดวก ประหยัด รวดเร็วปลอดภัยอย่างที่ไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้มาก่อน ความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวในอาเซียนจะทำให้ชีวิตสนุกสานได้เข้าใจรากฐานทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมอันเกิดจากการเดินทางท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ในที่สุดก็จะนำไปสู่การมีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนที่สมบูรณ์

ทักษะภาษาอังกฤษจึงเป็นประตูไปสู่อาชีพการงานที่ก้าวหน้ากว้างไกลในอาเซียน ความสามารถในการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษทำให้ชีวิตมีคุณค่าสนุกสนานมีสีสันวัฒนธรรมร่วมกันในภูมิภาคอาเซียนได้เป็นอย่างดี

ปี 2015/2558 เป็นที่ชาวไทยจะต้องเข้าร่วมประชาคมอาเซียนอย่างไม่มีข้อยกเว้น ภาษาอังกฤษเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะเปิดประตูแห่งประชาคมอาเซียนให้ชาวไทยไปมาหาสู่คบค้าสมาคมกับเพื่อนอาเซียนทั้งหลายได้อย่างสมภาคภูมิ

ภาษาอังกฤษเรียนไม่ยาก สำหรับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย

ปีเดียวก็พัฒนาทักษะภาษาได้...ถ้าต้องการพัฒนา

สมเกียรติ อ่อนวิมล

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์ วันพุธ ที่ 20 กรกฎาคม 2554

No comments:

Post a Comment