Wednesday, July 20, 2011

บทเรียนแห่งความพ่ายแพ้ (ของประชาธิปัตย์)

คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากพ่ายศึกเลือกตั้งให้กับพรรคเพื่อไทยอย่างยับเยิน

เหตุที่ต้องใช้คำว่ายับเยินนั้น ก็เพราะลองไปเทียบกับผลการเลือกตั้งปี 2550 ที่พรรคประชาธิปัตย์แข่งกับพรรคพลังประชาชน โดยใช้คะแนนนิยมของพรรคเป็นดัชนีชี้วัด

ตอนนั้นพรรคประชาธิปัตย์ได้ 12 ล้านคะแนน ไล่ตามติด ๆ พรรคพลังประชาชน

มาคราวนี้พรรคเพื่อไทยได้ 11 ล้านคะแนน แต่พรรคประชาธิปัตย์เหลือแค่ 9 ล้านคะแนน ถอยหลังไป 3 ล้านคะแนน ตรงนี้แหละที่ว่า ยับเยิน เพราะพ่ายแพ้ให้กับตัวเอง

หลังจากคุณอภิสิทธิ์ ลาออก ก็มีเสียงสะท้อนจากกลุ่ม ส.ส.สายสะตอ เรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ปรับกระบวน ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะพรรคประชาธิปัตย์คล้ายกับต้องคำสาป เมื่อได้เป็นรัฐบาลครั้งใด พอจเอการเลือกตั้งรอบต่อไปมักกลับมาเป็นฝ่ายค้านอยู่เรื่อย

เช่น การเลือกตั้งปี 2535/2 พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเลือกตั้งด้วยเสียงมากที่สุด แต่เมื่อเข้าบริหารประเทศก็เกิดปัญหา สปก. 4-01 จนทำให้พ่ายการเลือกตั้งในปี 2538 และ 2539 ซ้อนกันถึง 2 ครั้ง

ต่อมาพรรคประชาธิปัตย์ฟลุ๊กกลับได้มาเป็นรัฐบาลอีกครั้งตอนที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากนายกรัฐมนตรีหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

พอบริหารไปถึงปี 2544 มีการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ก็แพ้ให้กับพรรคไทยรักไทย ต้องไปนั่งอยู่ซีกฝ่ายค้านจนถึงปี 2549 เกิดการรัฐประหาร ก่อนจะมาเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2550

การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ก็แพ้พรรคพลังประชาชนซึ่งกลายร่างมาจากพรรคไทยรักไทย จนกระทั่งพรรคพลังประชาชนถูกยุบนั่นแหละ พรรคประชาธิปัตย์จึงไปจับขั้วกับพรรคการเมืองที่แตกตัวออกมาจากพรรคพลังประชาชน จนมีเสียงข้างมากสามารถตั้งรัฐบาลที่มีคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี

พรรคประชาธิปัตย์ได้รับบทเรียนความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งมาตลอด แต่ก็เหมือนไม่รู้จักจำ

ในครั้งนี้นอกจากคุณอภิสิทธิ์ไม่ค่อยออกไปสัมผัสผู้คนในพื้นที่ชนบทแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ยังถูกตำหนิเรื่องการบริหารบ้านเมืองที่ทำให้สินค้าแพง โดยเฉพาะเรื่องน้ำมันปาล์ม เรื่อยมาจนถึงเรื่องนโยบายชั่งไข่ ซึ่งเป็นนโยบายที่ไร้สาระ ทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ย่ำแย่ในสายตาชาวบ้าน

ตอกย้ำให้เห็นว่าบริหารไม่เก่ง แก้เศรษฐกิจไม่เป็น ทำให้คนหันไปฝากความหวังกับพรรคเพื่อไทยทันที

เมื่อมาเจอกับปัญหาการกำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้ที่ผิดพลาด จึงทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ไปกันใหญ่
พรรคประชาธิปัตย์รู้ดีว่า ไม่สามารถเอาชนะพรรคเพื่อไทยทางภาคอีสานได้ จึงมอบให้พรรคภูมิใจไทยไปสู้แทน แต่กลับไม่ยอมประสานฐานเสียง โดยเทคะแนนไปให้พรรคร่วมรัฐบาลพรรคใดพรรคหนึ่งเพื่อให้มีคะแนนมากกว่าพรรคเพื่อไทยในเขตเลือกตั้งนั้น ๆ

ส่วนทางภาคอื่น ๆ พรรคประชาธิปัตย์ก็วางท่าในทำนองเดียวกัน แถมยังส่งคนลงแข่งทำให้ตัดคะแนนกันเองอีกต่างหาก

ฉะนั้นเมื่อพรรคภูมิใจไทยและพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ แพ้ในแต่ละเขตเลือกตั้ง จึงเท่ากับเสียเก้าอี้ ส.ส.ไปให้กับพรรคเพื่อไทยนั่นเอง

ท้ายสุดพรรคเพื่อไทยจึงมี ส.ส.มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ร่วมร้อยที่นั่ง

ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ เป็นอีกบทเรียนที่พรรคประชาธิปัตย์จะเก็บไปวิเคราะห์ เพราะปัจจัยทางการเมืองเปลี่ยนไปเยอะ โดยเฉพาะการเติบโตของระบบทุนนิยม

จะมาตีฝีปากหาเสียงเหมือนเมื่อ 30-40 ปีก่อนคงลำบาก

ทุกครั้งที่สิ้นสุดการต่อสู้ไปแล้ว จะต้องรู้จักประเมินตัวเองนั่นคือ พึงแสวงหาความพ่ายแพ้ในชัยชนะ และพึงหาชัยชนะในความพ่ายแพ้ให้เจอ

หากแก้ปัญหาแค่เปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค คงจะช่วยอะไรไม่ได้มาก.

ดินสอโดม

ที่มา: บทเรียนแห่งความพ่ายแพ้ เดลินิวส์ออนไลน์ วันจันทร์ ที่ 11 กรกฎาคม 2554

No comments:

Post a Comment