รู้มั้ยว่า ในอาหารสำเร็จรูปที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่มีส่วนผสมที่ไม่ใช่อาหารปะปนอยู่ด้วย เช่น สารกันเสีย สารกันบูด สารกันรา สีผสมอาหาร
สารที่ใช้ในอาหารส่วนใหญ่นี้ ผู้ประกอบการมักจะเลือกใช้ด้วยความเคยชิน ใส่ในปริมาณที่เคยใส่ กะเอา ไม่มีการคำนวณ ชั่งตวงวัด ที่รู้ปริมาณที่แน่นอน หยิบได้เท่าไร ใส่เท่านั้น จนลืมคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค
ดินประสิว เป็นสารกันเสียที่นิยมใช้ในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน แฮม กุนเชียง แหนม หมูยอ ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อยืดอายุ และทำให้มีสีสันออกแดงหรือชมพู ชวนให้น่ารับประทาน
กฎหมายบ้านเราอนุญาตให้ใช้ดินประสิวผสมในอาหารได้ แต่ต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนด
ทว่า ผู้ผลิตบางรายนำดินประสิวมาใช้เพื่อปิดสภาพที่แท้จริง หรือปกปิดสีที่เกิดจากการเน่าเสียของเนื้อสัตว์ให้ดูมีสีแดง ชมพูเหมือนธรรมชาติของเนื้อสัตว์ เพื่อผู้บริโภคอย่างเราๆ คิดว่าเป็นของสดใหม่น่าซื้อ อันตรายของดินประสิวคือ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำปฏิกิริยากับเอมีน ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบมากในเนื้อสัตว์แล้วทำให้เกิดสาร ไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง
แน่นอนว่า ผู้บริโภคอาหารเหล่านี้เป็นประจำ โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งจึงมีสูง
ยังไม่นับอาการอื่นๆที่เกิดจากการได้รับดินประสิวมากเกินไป เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
วันนี้ สถาบันอาหารจึงสุ่มตัวอย่างไส้กรอกไก่ ที่จำหน่ายในตลาดจำนวน 5 ตัวอย่าง วิเคราะห์หาการตกค้างของดินประสิว
ปรากฏว่า พบตกค้างทุกตัวอย่าง
แต่ยังไม่เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดจึงยังปลอดภัยอยู่ แต่ถ้าใน 1 วัน กินหลายๆครั้ง หรือกินมากกว่า 1 กิโลกรัม ก็ไม่แน่ว่าจะปลอดภัย
อย่าซื้ออาหารที่มีสีแดงผิดธรรมชาติ ไม่กินอาหารซ้ำชนิดกันบ่อยครั้ง ปลอดภัยแน่นอน
ที่มา: ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย 29 กรกฎาคม 2554
No comments:
Post a Comment