Monday, July 4, 2011

กรรมการสอบสวนมีส่วนได้ส่วนเสีย

กรรมการสอบสวนมีส่วนได้เสีย ทำไงเมื่อกรรมการสอบสวนมีส่วนได้ส่วนเสีย

เสาร์ที่แล้ว จากเรื่องคณะกรรมการสอบสวนไม่เป็นธรรม

กระผมได้เรียนปิดท้ายว่า ท่านที่ถูกลงโทษทางวินัยจะฟ้องคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยไม่ได้

เห็นว่าคณะกรรมการบางคนมีเหตุส่วนตัวหรือมีส่วนได้เสียกับข้อกล่าวหาและกระทำการสอบสวนแบบมีวาระซ่อนเร้น

เพราะเป็นเพียงกระบวนพิจารณาซึ่งเป็นการเตรียมการมีคำสั่งทางปกครอง

คำสั่งทางปกครองอยู่ที่คำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งลงโทษทางวินัย

สิทธิการิยะ ท่านว่าต้องฟ้องเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครอง ส่วนพฤติกรรมของคณะกรรมการสอบสวนดังว่าตรงไหนที่ออกแนวเด็กแว้นท่านว่าให้บรรยายเสียให้ละเอียด

นั่นล่ะอาจเป็นเหตุให้กระบวนพิจารณาทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย การออกคำสั่งลงโทษทางวินัยดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วยซึ่งศาลปกครองอาจมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอน

ฉะนั้น จึงขอนำคดีปกครองที่มีข้อเท็จจริงในลักษณะนี้มารายงานเพื่อเป็นแนวทางสำหรับท่านข้าราชการที่เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการที่ถูกลงโทษทางวินัย

ส่วนท่านที่ทำผิดจริงก็รับสารภาพเถิดครับ ถ้าไม่หนักหนาสาหัสถึงไล่ออก ปลดออก ก็ยังกลับเนื้อกลับตัวได้

คดีนี้นำมาจาก“บทวิเคราะห์เหตุแห่งการฟ้องคดีปกครองเกี่ยวกับวินัยข้าราชการ กรณีศึกษาคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลาง ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๕–๒๕๔๘ ของสำนักงานพัฒนาระบบงานคดีปกครอง สำนักงานคดีปกครอง มีบทวิเคราะห์มาพร้อมกระผมจึงขออนุญาตนำมารายงานเพราะตรงกับแนวทางในเรื่องและมีประโยชน์ทั้งต่อผู้บังคับบัญชาและผู้ถูกกล่าวหา

เรื่องนี้เกิดขึ้นสมัยยังมีสุขาภิบาล เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี ๓ ของสำนักงานสุขาภิบาล ถูกกล่าวหาว่าละเลยต่อหน้าที่ ไม่ทำหลักฐานส่งใช้เงินยืมทดรองราชการที่สุขาภิบาลอนุมัติให้ยืมตามโครงการศึกษาและดูงานการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ประธานคณะกรรมการสุขาภิบาลมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง

ผลการสอบสวนฟังได้ว่าเจ้าหน้าที่ผู้นี้ทำผิดวินัย ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย

จุดเกิดเหตุอยู่นี่ ประธานกรรมการสอบสวนทางวินัยก็คือปลัดสุขาภิบาล และกรรมการอีกหนึ่งคนมีส่วนได้เสียในเรื่องนี้

ท่านปลัดสุขาฯประธานกรรมการเป็นผู้ยืมเงินทดรองเพื่อใช้จ่ายในโครงการ แต่ไม่ส่งคืนเงินยืมในฐานะผู้ยืม ส่วนกรรมการอีกคนดังกล่าวเป็นผู้ร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานตามโครงการ

เจ้าหน้าที่ผู้ถูกกล่าวหาจึงยื่นคำร้องคัดค้านขอให้เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการด้วยเหตุดังกล่าว

ผู้ว่าราชการจังหวัดยกคำร้องคัดค้านโดยเหตุผลว่า การให้ผู้ถูกคัดค้านซึ่งเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์เป็นกรรมการสอบสวนด้วยจะเป็นประโยชน์เพราะจะทำให้ได้รับความจริง

คัดค้านไปอีกครั้งท่านผู้ว่าฯก็ยังยืนยันเหมือนเดิม

แน่นอน หวยต้องออกว่า เจ้าหน้าที่การเงินฯผู้นี้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาควรไล่ออกจากราชการ จากความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยครับท่าน

เจ้าหน้าที่ผู้นี้ย้ายไปอีกเทศบาลหนึ่ง ท่านนายกเทศมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอีกโดย ใช้สำนวนการสอบสวนเดิม โดยให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและสรุปความเห็นให้ ลงโทษไล่ออกจากราชการ

ในชั้น อ.ก.ท.จังหวัดมีมติให้ลดโทษเป็นปลดออกจากราชการ ผู้ถูกลงโทษจึงฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษดังกล่าว

คดีถึงที่สุดในชั้นศาลปกครองกลาง โดยศาลได้วินิจฉัยดังนี้

ปลัดสุขาภิบาลและผู้ฟ้องคดี มีข้อโต้แย้งกันว่าผู้ใดมีหน้าที่ในการจัดทำเอกสารหลักฐานเพื่อหักล้างเงินยืมทดรองราชการ การพิจารณาว่าใครมีหน้าที่จัดทำเรื่องเพื่อส่งคืนเงินยืมทดรองจึงเป็นประเด็นสำคัญในการสอบสวนวินัยผู้ฟ้องคดี

ปลัดสุขาภิบาลจึงเป็นผู้มีประโยชน์ได้เสียในประเด็นสอบสวนดังกล่าว ตามข้อ ๕ วรรคหนึ่ง(๒)ของกฎ ก.สภ.ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๓๑)ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา

การให้ปลัดสุขาภิบาลเป็นประธานสอบสวนต่อไปย่อมทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ฟ้องคดี และเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิได้คำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการสอบสวนที่ต้องการให้ได้ความจริงและเป็นธรรมแก่ผู้ที่ถูกกล่าวหา

การใช้ดุลพินิจยกคำคัดค้านของผู้ว่าราชการจังหวัดจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

และเมื่อไม่มีคำสั่งให้เปลี่ยนกรรมการสอบสวนที่ถูกคัดค้าน คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้ฟ้องคดีจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมไม่อาจนำมารับฟังเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดีได้

คำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดี (คำพิพากษาศาล
ปกครองกลางที่ ๘๖๕/๒๕๔๗)

เรื่องนี้มีข้อวิเคราะห์ประกอบว่า จากข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวเมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลแล้วทำให้วิเคราะห์ได้ว่า การฟ้องคดีนี้เป็นผลมาจากการใช้ดุลพินิจยกคำคัดค้านกรรมการสอบสวนของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งอาจสืบเนื่องมาจากการไม่ให้ความสำคัญต่อ หลักความเป็นกลางของเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่พิจารณาทางปกครอง ตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙

กระผมขออภัยที่นำข้อมูลรายละเอียดคดีต่างๆ ลงในเว็บไซต์ข้างล่างตามที่ได้เรียนไว้ยังไม่เรียบร้อย ขอเวลาอีกนิดครับตามประสามือใหม่และแก่หัดขับ ยะการยะงานละก้อช้า ๆ เนิบ ๆ.

พิสิษฐ์ พลรักษ์เขตต์

www.naipisit.com

praepim@yahoo.com

ที่มา: กฎหมายข้างตัว เดลินิวส์ออนไลน์ วันเสาร์ ที่ 28 พฤษภาคม 2554

No comments:

Post a Comment