หวั่นฐานะซ้ำรอยอียู-สหรัฐ
โยนการเมืองค้ำโครงการกู้
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังมีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาคส่วนต่าง ๆ จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีก แต่ทั้งนี้หากรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาทำนโยบายประชานิยมและใช้งบประมาณจำนวนมาก อาจส่งผลให้การขาดดุลงบประมาณปี 55 สูงเกินกว่ากรอบที่ตั้งไว้ 350,000 ล้านบาท
ทั้งนี้หากรัฐบาลทำงบประมาณขาดดุล อาจส่งผลให้ไทยเกิดปัญหาทำให้ฐานะการคลังอาจไม่ยั่งยืนเหมือนสหรัฐและยุโรป และจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนด้วย
“ความจริงแล้ว วงเงินงบประมาณปี 55 ทางแบงก์ชาติ คิดว่ากรอบวงเงินที่เคยตกลงกันที่ประมาณ 350,000 ล้านบาท เป็นวงเงินที่พอสมควรไม่อยากให้สูงกว่านั้น เพราะเมื่อปี 54 ตัวเลขขาดดุลอยู่ที่ 420,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้ไม่จำเป็นต้องขาดดุลงบประมาณมากขึ้นอีก คือ ไม่จำเป็นที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก เพราะอาจเป็นการส่งสัญญาณให้ตลาดการเงินในทางที่ไม่เหมาะสม ประกอบกับขณะนี้ยังมีความเสี่ยงเรื่องของเงินเฟ้อ แต่อย่างไรก็ตามแล้วคงต้องติดตามแผนบริหารราชการแผ่นดินก่อนว่างบประมาณปี 55 จะเป็นอย่างไร”
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธปท. กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจเดือน พ.ค. ที่ผ่านมายังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากการบริโภคที่ขยายตัว 5.1% และการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัว 11.1% ประกอบกับความต้องการจากต่างประเทศทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวสูง ขณะที่การผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมยานยนต์ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากผลของภัยพิบัติในญี่ปุ่น แต่ผลกระทบดังกล่าวคาดว่าจะเริ่มคลี่คลายลงและน่าจะกลับมาขยายตัวได้ตามปกติในเดือน ก.ค. นี้
นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษากลุ่มจับตานโยบายรัฐบาล (โพลิซี่ว็อช) กล่าวว่า กลุ่มโพลิซี่ว็อช จะทำข้อเสนอถึงพรรคการเมืองทุกพรรคที่เข้ามาบริหารประเทศ และนำเอานโยบายประชานิยม โดยเฉพาะการลดแลกแจกแถมมาใช้ จะต้องนำเอาทรัพย์สินของหัวหน้าพรรค สมาชิกพรรค หรือของบุคคลผู้สนับสนุนพรรคมาค้ำประกันเงินกู้ของภาครัฐที่เกิดจากการดำเนินนโยบายประชานิยม หลังเห็นว่านโยบายการหาเสียงของทุกพรรคไม่ได้คำนึงถึงฐานะการเงินการคลังของภาครัฐ
นอกจากนี้การดำเนินการเช่นนี้ยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบกับผลการดำเนินการตามนโยบาย ที่อาจทำให้ภาครัฐมีปัญหาไม่สามารถชำระคืนหนี้สาธารณะในอนาคตได้
ทั้งนี้จากการตรวจสอบนโยบายการหาเสียงของพรรคต่าง ๆ พบว่า แต่ละพรรคจะใช้วงเงินในการดำเนินโครงการประชานิยม ทั้ง การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ประกันรายได้สินค้าเกษตร และเพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้าน อย่างมหาศาล เช่น พรรคเพื่อไทย จะใช้เงินรวมทุกโครงการกว่า 2 ล้านล้านบาท พรรคประชาธิปัตย์ใช้เงิน 1.7 ล้านล้านบาท พรรคชาติไทยพัฒนาใช้เงิน 7.9-9 ล้านล้านบาท และพรรคภูมิใจไทยใช้เงิน 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งหากพรรคใดดำเนินโครงการทั้งหมดตลอดช่วงเวลา 4 ปี จะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะสูงกว่าเพดานที่กำหนดไว้ 50% ต่อจีดีพีได้
“อยากให้ทุกพรรคยอมรับเงื่อนไขนี้ ซึ่งยังไม่เคยมีใครทำงานก่อน และคงไม่แฟร์หากเข้ามาทำแล้วผลักภาระการใช้หนี้ให้กับประชาชนผู้เสียภาษี ดังนั้นคนที่ออกนโยบายจะต้องเอาทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น สนามกอล์ฟ คฤหาสน์ หรือเหมืองทอง เข้ามาค้ำประกันแทน เพราะถ้าไม่มีพรรคไหนกล้าเสี่ยงทำตามประชาชนก็จะได้รู้ว่านโยบายที่หาเสียงเอาไว้ยังไม่กล้าทำเลย โดยในเรื่องของการหาเสียงตามนโยบายประชานิยมนี้ที่ผ่านมามีตัวอย่างแล้ว ทั้งประเทศกรีซและอาร์เจนตินาที่รัฐบาลไปสร้างหนี้ตามนโยบายลดแลกแจกแถม”
ที่มา: พิษประชานิยมทำขาดดุล เดลินิวส์ออนไลน์ วันศุกร์ ที่ 01 กรกฎาคม 2554
No comments:
Post a Comment