RoboCup 2011 - Istanbul - TURKEY
เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2554 ผู้สื่อข่าว “เดลินิวส์” รายงานจากอาคารอิสตันบูลเอ็กซ์โปเซ็นเตอร์ ประเทศตุรกี ในการจัดแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย “เวิลด์โรโบคัพ” ซึ่งเป็นการแข่งขันเพื่อชิงความเป็นหนึ่งในการสร้างสรรค์ด้านวิศวกรรมเครื่องกลที่จัดอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 15 โดยมีการแบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ฟุตบอลหุ่นยนต์ หุ่นยนต์กู้ภัย หุ่นยนต์ทำงานบ้าน และหุ่นยนต์ระดับเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี (RoboCupSoccer, RoboCupRescue, RoboCup@Home, and RoboCupJunior) ซึ่งมีผู้สมัครเข้าร่วมรวมทุกประเภทกว่า 3,000 คน จาก 43 ประเทศทั่วโลกสำหรับผลการแข่งขันปรากฏว่าทีม “ไอราป_จูดี้” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สามารถคว้าแชมป์ในประเภทหุ่นยนต์กู้ภัย หลังทำคะแนนในรอบสุดท้ายได้อย่างดีเยี่ยม โดยนำโด่งมาตั้งแต่เริ่มต้น เพราะสามารถค้นหาผู้ประสบภัยได้ถึง 25 ราย รวม 835 คะแนน อันดับ 2 ได้แก่ ทีม “เอ็มอาร์แอล” จากประเทศอิหร่าน ซึ่งสามารถค้นหาผู้ประสบภัยได้เพียง 12 ราย ทำได้ 430 คะแนน
ส่วนอันดับ 3 ตกเป็นของทีม “สเตบิไลซ์” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ซึ่งสามารถค้นหาผู้ประสบภัยได้ 11 ราย ทำได้ 410 คะแนน ในส่วนของทีมซักเซส จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ตัวหุ่นเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ระบบเซ็นเซอร์การตรวจจับเพื่อบอกสถานะของผู้ประสบภัยชำรุดทั้งหมด แต่ยังไว้ลายค้นหาผู้ประสบภัยได้มากถึง 18 ราย ทำไปได้เพียง 395 คะแนน จึงทำได้ดีที่สุดแค่อันดับ 4 เท่านั้น
นายกัญจนัศ หรือน้องแตม แสนบุญศิริ ผู้บังคับหุ่นของทีม “ไอราป_จูดี้” กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่สามารถนำความภาคภูมิใจมาให้คนไทยได้อีกครั้ง ทำให้ไทยครองแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยโลกติดต่อกันเป็นสมัยที่ 6 แล้ว ส่วนตัวไม่รู้สึกกดดันมากนัก เนื่องจากในรอบที่ผ่านมาทำคะแนนได้ดีมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะต้องพัฒนาต่อไปคือหุ่นยนต์อัตโนมัติ และการทำแผนที่สามมิติ เพราะมีการให้ความสำคัญกับจุดนี้ด้วย ทั้งนี้ตนกับเพื่อนร่วมทีมมีแผนจะเดินทางกลับถึงไทยในช่วงบ่ายของวันที่ 12 ก.ค.นี้
ด้าน ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทรากรณ์ ที่ปรึกษาอาวุโสสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย และกรรมการบริหารการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าสมรรถนะหุ่นของเยาวชนไทยถือได้ว่าแข็ง แกร่งมาก เพราะสามารถเคลื่อนที่ไปในจุดที่มีอุปสรรคได้ดี แต่ยังมีจุดด้อยเรื่องการทำแผนที่ เพื่อระบุตำแหน่งผู้ประสบภัย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องเร่งพัฒนาต่อไป
“ทางคณะผู้จัดการแข่งขันได้ร่วมกันหารือเพื่อวางทิศทางการแข่งขันในปีถัดไป โดยได้มีการพิจารณาเรื่องการนำหุ่นยนต์ไปใช้จริงให้มากขึ้น เพราะในพื้นที่ประสบภัยจริงจะมีอุปสรรคเรื่องความชื้น ฝุ่น และน้ำเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมีการออกแบบให้ตัวหุ่นในอนาคตต้องสามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น” ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ กล่าว
ส่วนการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ รุ่นสมอลไซซ์ ทีมสคูบ้า จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สามารถเอาชนะทีมคู่แข่งเข้าสู่รอบ 4 ทีมสุดท้าย กับทีมกิ๊ก จากญี่ปุ่น ทีมเอ็มอาร์แอล และทีมอิมมอทอล จากอิหร่าน ทีมสคูบ้ายังได้รับการตัดสินให้ได้รับรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม 2 รางวัล คือ รางวัลระบบนำทางยอดเยี่ยม และรางวัลมิกซ์ทีมยอดเยี่ยม และหากในรอบชิงสามารถเอาชนะได้จะทำให้ประเทศไทยเป็นแชมป์ในรุ่นนี้ 3 ปีซ้อน อย่างไรก็ตามทีมไทยแลนด์ทีม ซึ่งเป็นการรวมตัวของเด็กระดับมัธยมปลาย และลงแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยจูเนียร์ เป็นครั้งแรกของตัวแทนจากประเทศไทยทำได้เพียงผ่านเข้ารอบคัดเลือกเท่านั้น
ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์ วันจันทร์ ที่ 11 กรกฎาคม 2554
No comments:
Post a Comment