เวลาราชการ ย่อมเข้าใจกันดีว่าตั้งแต่เช้าแปดโมงครึ่งพักเที่ยงถึงบ่ายโมงแล้วต่อไปถึงเย็นสี่โมงครึ่ง
ราบและถือปฏิบัติทั้งรัฐทั้งชาวบ้านแบบไม่ต้องอ้างกฎหมาย
เรื่องนี้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๒ กำหนดเวลาทำงานของข้าราชการทั่วไปให้เริ่มทำงานตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐ นาฬิกาถึงเวลา ๑๖.๓๐ นาฬิกา หยุดกลางวันเวลา ๑๒ นาฬิกาถึงเวลา ๑๓ นาฬิกา
ฉะนั้นมาทำงานหลังแปดโมงครึ่งถือว่ามาสายตามกฎหมาย ทำบ่อย ๆ ในวงการเขาจะแอบขนานนามว่าเจ้าชายสายเสมอหรือคุณนายสายเสมอ กลับก่อนสี่โมงครึ่งถือว่ากลับก่อนเวลา
ทั้งมาสายและกลับก่อนเวลาไม่เป็นมงคลทั้งคู่แต่กลับก่อนสี่โมงครึ่งไม่ซีเรียสเหมือนมาทำงานสาย
มาสายบ่อย เจ้านายย่อมเพ่งเล็ง และอาจเอาขั้นเงินเดือนไปแพลงกิ้งได้
เวลาการทำงานเป็นกระบวนการพัฒนาประสิทธิภาพของข้าราชการในการให้บริการประชาชนได้อย่างหนึ่ง
ฉะนั้น ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับดังกล่าวจึงให้อำนาจส่วนราชการต่าง ๆ ที่จะกำหนดเวลาการทำงานได้ตามความจำเป็น
กล่าวถึงคุณครูท่านต้องทำหน้าที่ดูแลการมาหรือไม่มาโรงเรียนของนักเรียน การเข้าแถวเคารพธงชาติ การปลูกฝังความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การอบรมบ่มนิสัย ปลูกฝังระเบียบวินัย ความตรงต่อเวลาต่อหน้าที่ ให้ความรู้ ข่าวสารต่าง ๆ รวมถึงการป้องกันภัยหรือเหตุร้ายต่าง ๆ ที่จะเข้าสู่โรงเรียน
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการของสถานศึกษา พ.ศ. ๒๕๒๐ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๖ จึงกำหนดให้ข้าราชการที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษามาถึงสถานศึกษาก่อนเวลาทำงานปกติอย่างน้อย ๑๕ นาทีและกลับหลังเวลาปกติไม่น้อยกว่า ๑๕ นาที
คุณครูท่านหนึ่งลงเวลาทำงานหลังเวลา ๐๘.๑๕ น.เกินโควตาที่คณะกรรมการกลั่นกรองและเสนอแนะการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างประจำของโรงเรียนกำหนดไว้ ๘ ครั้ง
ถึงเวลาให้ความดีความชอบ คุณครูท่านนี้ไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนเนื่องจากมาทำงานสายเกิน ๘ ครั้ง
ก็ต้องเป็นคดีปกครองตามธรรมเนียม คุณครูยื่นฟ้องผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่หนึ่งขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาผู้ถูกฟ้องคดีที่สองที่ไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนดังกล่าว ให้ประเมินผลงานให้ชอบด้วยกฎหมาย
อ้างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับดังกล่าวที่กำหนดเวลาทำงานแปดโมงครึ่งถึงสี่โมงครึ่ง
ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอุทธรณ์
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดเวลาทำงานดังกล่าวอาศัยอำนาจตามข้อ ๓ ของประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการฯ ดังกล่าวซึ่งกำหนดว่า สำหรับสถานศึกษาให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
เนื่องจากลักษณะของงานและภารกิจของข้าราชการในสถานศึกษามีลักษณะแตกต่างกับข้าราชการทั่วไป
นอกจากภารกิจในด้านการเรียนการสอนแล้วยังมีภารกิจในการดูแลความปลอดภัยและควบคุมความประพฤติ อบรมปลูกฝังระเบียบวินัยของนักเรียนทั้งก่อนเข้าห้องเรียนและในห้องเรียน อันเป็นภารกิจที่ต้องปฏิบัติมากกว่าการทำงานของข้าราชการทั่วไป
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการของสถานศึกษา พ.ศ. ๒๕๒๐ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๖ ข้อ ๘ จึงกำหนดให้ข้าราชการที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษามาถึงสถานศึกษาก่อนเวลาทำงานปกติอย่างน้อย ๑๕ นาที และกลับหลังเวลาทำงานปกติไม่น้อยกว่า ๑๕ นาที เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะงาน
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้แจ้งในที่ประชุมครูเกี่ยวกับการลงเวลาปฏิบัติราชการขีดเส้นแดง ๘.๑๕ นาฬิกาใต้เส้นแดงถือว่ามาสาย ถือได้ว่าเป็นการแจ้งให้ข้าราชการครูมาปฏิบัติงานให้ถูกต้อง
การกำชับให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามระเบียบ มิใช่เป็นการกำหนดเวลาทำงานขึ้นใหม่ที่จะต้องขออนุญาต ต่อผู้มีอำนาจตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่อง หลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการ ถือว่าการมาทำงานสายเนือง ๆ คือมาทำงานสายเกิน ๘ ครั้ง
ผู้ฟ้องคดีมาทำงานสายจำนวน ๑๘ ครั้งในครึ่งปีที่แล้วจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามกฎ ก.พ.ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๔๔ ที่กำหนดว่าข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งจะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นครึ่งขั้นในแต่ละครั้งต้องไม่ลา หรือมาทำงานสาย เกินจำนวนครั้งที่อธิบดี ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายกำหนดเป็นหนังสือไว้ก่อนแล้ว
คำสั่งไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงชอบด้วยกฎหมาย พิพากษากลับให้ยกฟ้อง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๔๓๗ / ๒๕๕๐)
เงินเดือนจึงถูกแฮงกิ้งโดยชอบด้วยกฎหมาย
พิสิษฐ์ พลรักษ์เขตต์
www.naipisit.com praepim @ yahoo.com
ที่มา: กฎหมายข้างตัว สายเสมอ เดลินิวส์ออนไลน์ วันเสาร์ ที่ 25 มิถุนายน 2554
No comments:
Post a Comment