กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนาทั้งทางโลกและทางธรรม
ในทางธรรมเจตนาการกระทำแรงกล้าเพียงใดทั้งก่อนทำ ขณะทำ หลังทำย่อมทำให้บาปบุญที่ทำนั้นมีผลหนักเบาไปตามเจตนานั้น ศิษย์วัดบาปมั่งบุญมั่งอย่างกระผมจำคำจากหลวงพ่ออีกที
ส่วนทางโลก หลักกฎหมายถือว่าการกระทำเป็นเครื่องส่อเจตนา อยากรู้ว่าผู้กระทำมีเจตนาหรือไม่อย่างไร ให้ดูการกระทำของผู้นั้นเป็นหลัก
เมื่อหลักการสั่งมาให้บรรจุในตำแหน่งนี้ตำแหน่งนั้น ก็ต้องตามนั้น ไม่ใช่ไปหาร่องหารูตามสไตล์พี่ไทยแห่งรูออฟลอว์ แต่งตั้งเสร็จจัดการเด้งต่อไปตำแหน่งอื่น
กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา จะตะแบงยังไง ๆ ก็เห็นว่ามีเจตนาไม่ยอมปฏิบัติตามหลักการดังกล่าว
นี่กระผมมิได้หมายความถึงเหตุที่กรมการปกครองนะครับ ไม่บังอาจ ไม่บังอาจ
แต่เหตุเกิดขึ้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่ง มีการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ชดใช้เงินคืนหลวงกรณีประมาทเลินเล่อทำให้ทางราชการเสียหาย
ออกคำสั่งไปแล้วถึงได้รู้ว่าสั่งไปผิดกระบวนการตอนที่ถูกฟ้องเป็นคดีที่ศาลปกครอง
ส่วนคนฟ้องดันไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งตามขั้นตอนก่อนฟ้องซะอีก
สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจงานที่องค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่งแล้วให้คำนิยมมาว่าการก่อสร้างถนนหน้าอบต.นั่นแหละทำให้ทางราชการเสียประโยชน์ต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้ผู้รับเหมาสูงกว่าค่างานขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงด่วน
คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตรวจสอบแล้วเห็นว่าความเสียหายเกิดขึ้นจริงและเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความบกพร่องและประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่รวมสี่นายคือท่านอดีตประธานกรรมการบริหารองค์การส่วนตำบล อดีตปลัดอบต. หัวหน้าส่วนโยธา และผู้ฟ้องคดี หัวหน้าส่วนการคลัง
จึงให้ร่วมกันชดใช้จำนวนเงินดังกล่าวคืนจำนวน ๗๑,๓๕๘.๒๐ บาท
หัวหน้าส่วนการคลังย้ายมาที่องค์การบริหารส่วนตำบลแห่งใหม่ก็ยังมีหนังสือตามทวงกันมาเป็นที่เอิกเกริก
แบบนี้ท่านหัวหน้าส่วนการคลังจึงเป็นผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองอ้างว่าเรื่องการก่อสร้างไม่มีความเชี่ยวชาญในระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินการที่เป็นปัญหา เช่นการตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลาง เพราะไอ้ที่ทำ ๆ กันมาก็ไม่เห็นเคยทำ เพิ่งมาแจ๊กพอตตอน สตง.มาตรวจนี่แหละ แถมการประมาณการกำหนดวงเงินราคาก่อสร้างเป็นเรื่องทางเทคนิคของฝ่ายโยธาล้วน ๆ หนูไม่รู้เรื่อง เสนอเรื่องไปก็ไม่เห็นมีแมว เอ๊ย ใครทักท้วง
แล้วมาหาว่า หนูบกพร่องประมาทเลินเล่อได้ยังไงฮ้า
ความมาปรากฏในการพิจารณาว่า การให้รับผิดทางละเมิดในครั้งนี้ ท่านประธานกรรมการบริหารรับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงมาแล้วก็ให้ความเห็นชอบโดยมิได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ เนื่องจากท่านเห็นว่าเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างไม่ร้ายแรง
ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่า เรื่องนี้วงเงินเกินกว่าห้าหมื่นบาทจึงไม่ได้รับการยกเว้นตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ต้องรายงานกระทรวงการคลังตรวจสอบ
ต้องรายงาน แต่ไม่รายงานจึงเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญของการออกคำสั่งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีและหลักเกณฑ์ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดซึ่งเป็นขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญของการออกคำสั่งดังกล่าว และสาระสำคัญของคำสั่งไม่ระบุว่าให้ผู้ใดชดใช้ส่วนของตนเท่าใด ไม่พิจารณาว่ากระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ขัดกับมาตรา ๘ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๒ แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งให้ชดใช้เงินดังกล่าว
คดีถึงศาลปกครองสูงสุด
ท่านว่า ทั้งนี้คณะกรรมการชุดที่สอบสวนมีความเห็นให้ลงโทษภาคทัณฑ์อันเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรงและยอมรับว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีกับพวกเป็น การประมาทเลินเล่อไม่ร้ายแรง อันเป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังยุติมาแต่ต้นว่าความเสียหายของผู้ถูกฟ้องคดีมิได้เกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ฟ้องคดี
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะออกคำสั่งให้ชดใช้เงินต้องปรากฏข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญคือผู้ฟ้องคดีต้องกระทำจงใจกระทำละเมิดหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่มี อำนาจเรียกให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว
เมื่อผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งให้ชดใช้เงินอันเป็นคำสั่งทางปกครองไม่ชอบก็ต้องอุทธรณ์ต่อผู้ทำคำสั่งนั้นโดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
คดีมีปัญหาว่าเมื่อคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีต้องยื่นอุทธรณ์ก่อนยื่นฟ้องหรือไม่
ท่านว่านอกจากผู้ฟ้องคดีไม่ต้องรับผิดดังกล่าวแล้วและปรากฏด้วยว่าผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้รายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบตามประกาศกระทรวงการคลังเรื่องความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ (ปัจจุบันกำหนดวงเงินเป็น ๑๐๐,๐๐๐ บาท)
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้เงินจึงเป็นการกระทำที่มีลักษณะผิดพลาดอย่างชัดแจ้งและร้ายแรงในทางกฎหมายจึงถือเสมือนว่าไม่มีการออกคำสั่งทางปกครอง
ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ต้องยื่นอุทธรณ์ก่อนฟ้องคดี อย่างไรก็ตามเพื่อมิให้เกิดในการนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองในปัญหาที่ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยว่าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งที่ถือเสมือนว่าไม่มีการออกคำสั่งทางปกครองเช่นเดียวกับคดีนี้หรือไม่ คู่กรณีจึงชอบที่ยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่ง ตามขั้นตอนและวิธีการตามพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯหรือที่กฎหมายอื่นกำหนดไว้เป็นการเฉพาะก่อน
เมื่อได้วินิจฉัยว่าเป็นคำสั่งซึ่งถือเสมือนว่าไม่มีการออกคำสั่งทางปกครองจึงไม่จำต้องเพิกถอนคำสั่งเพราะ คำสั่งย่อมไม่มีผลบังคับตามกฎหมายอยู่ในตัว
พิพากษาแก้เป็นไม่เพิกถอนคำสั่งและให้ผู้ถูกฟ้องคดีระงับการกระทำเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้เงิน (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๔๗ / ๒๕๔๖)
พิสิษฐ์ พลรักษ์เขตต์
www.naipisit.com, praepim@yahoo.com
ที่่มา: สั่งผิดเสมือนว่าไม่ได้สั่ง กฎหมายข้างตัว เดลินิวส์ออนไลน์ วันเสาร์ ที่ 18 มิถุนายน 2554
No comments:
Post a Comment