Monday, November 21, 2011

ลูกหนี้สำลักน้ำใจแบงก์พาณิชย์ มึนเงื่อนไขมาตรการช่วยใครกันแน่!!

จะด้วยถูกบังคับหรือสมัครใจ จะด้วยความจริงใจหรือสร้างภาพ ก็ยากที่จะชี้ชัด แต่ภาพหนึ่งที่ได้เห็นกัน ในช่วงที่สถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ รุกคืบเข้าสร้างความเสียหายให้กับประชาชน และภาคธุรกิจ ในช่วงที่ผ่านมานั้น คือการหยิบยื่นน้ำใจไมตรี จากบรรดาธนาคารพาณิชย์ ที่แข่งกันออกหน้าออกตา ประเคนแพ็กเกจช่วยเหลือลูกค้าทุกหมู่เหล่าทั้งรายใหญ่ รายย่อย และเอสเอ็มอี ที่ประสบภัยจากน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นการลดหนี้ พักหนี้ ยืดเวลาชำระหนี้ และอีกสารพัดวิธี ที่คิดทำกันได้

ความช่วยเหลือที่ประกาศออกมาเหล่านี้ ทำเอาบรรดาลูกหนี้ ที่ตัวชื้นจากการแช่น้ำมาหลายเดือน รู้สึกใจชื้นตามมา เพราะด้วยคิดว่า อย่างน้อยจะได้มีเวลาในการฟื้นตัว ให้กลับมาลืมตาอ้าปากได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และน่าจะหยวน ๆ ยอม ๆ กันได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว กลับมีปัญหาให้ลูกหนี้ที่เดือดร้อนอยู่ ต้องขุ่นข้องหมองใจ และตั้งคำถามต่อความจริงใจในการให้ความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยก่อนหน้านี้ ก็มีลูกค้าของธนาคารออมสินร้องเรียนผ่านมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคว่า ธนาคารออมสินออกโฆษณาประกาศพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยช่วยลูกค้าน้ำท่วม แต่เมื่อลูกค้าโดดเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ไปได้สักพัก กลับถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยและเบี้ยปรับย้อนหลัง ในช่วงเวลาพักชำระหนี้ ทั้งที่ผู้บริหารธนาคารอย่าง “เลอศักดิ์ จุลเทศ” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ประกาศโครม ๆ ว่าธนาคารออมสินจะพักชำระหนี้ และลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าที่ถูกน้ำท่วม แบบไม่มีอะไรสอดไส้แน่นอน...

ทั้งนี้ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะลูกหนี้มองโลกในแง่ดีเกินไป หรือบรรดาธนาคารพาณิชย์เกิดอาการใจร้ายเกินเหตุ เพราะจากการพิเคราะห์ข้อมูลของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ จะพบว่า การออกแพ็กเกจการยืดหนี้นั้น กลายเป็นว่า เป็นเพียงการยืดระยะเวลาชำระเงินต้นเท่านั้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังวิ่งฉิวปกติเหมือนไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น

ยกตัวอย่าง กรณีสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ “ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย” ที่พักชำระหนี้ให้สูงสุด 90 วัน และ ขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ให้สูงสุด 12 เดือน ซึ่งดูผิวเผินแล้วเห็นว่าแบงก์ช่วยลูกหนี้ที่กำลังเดือดร้อนให้พอมีเวลาตั้งหลักกลับมาฟื้นตัวได้ แต่การกระทำกลับดูเหมือนว่า เป็นการซ้ำเติมลูกหนี้ และดึงลูกหนี้ ลงสู่ปากเหวเร็วกว่าเวลาอันควรมากกว่า เนื่องจากแพ็กเกจที่ออกมาให้ลูกหนี้ไม่ต้องผ่อนชำระเงินต้นช่วงเวลา 3 เดือน แต่เมื่อเข้าเดือนที่ 4 ปรากฏว่าบรรดาลูกหนี้กลับต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินต้นบวกกับดอกเบี้ยที่คั่งค้างให้แบงก์รวดเดียวหมดเกลี้ยง แล้วอย่างนี้จะมาป่าวประกาศว่าช่วยลูกหนี้ได้อย่างไร?

แน่นอนว่า ถ้าถามว่า สิ่งที่ธนาคารสัญชาติมาเลเซียรายนี้ ทำผิดหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า ไม่ผิด เพราะที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้แต่ขอความร่วมมือให้ช่วยเหลือลูกหนี้ แต่ไม่ได้ขีดเส้นกำหนดชัดเจนว่า จะต้องช่วยอย่างไร แบบไหน ดังนั้น การที่ทางแบงก์จะเลือกที่จะหยิบยื่นน้ำใจให้ด้วยเงื่อนไขแบบนี้ ก็ถือเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ก็ควรจะชัดเจนในการชี้แจงให้ลูกค้าเข้าใจ ถึงรายละเอียดต่าง ๆ อย่างชัดเจนและอย่าสร้างภาพความมีน้ำใจให้ไกลเกินจริง

หันไปดูธนาคารแห่งอื่น ๆ ก็จะพบแนวทางความช่วยเหลือที่แตกต่างกันไปเช่นกัน มากบ้างน้อยบ้างตามความใจป้ำของแต่ละแห่ง โดยในกลุ่มพี่ใหญ่ของวงการ อย่าง “ธนาคารกรุงเทพ” ผ่อนผันสินเชื่อบ้านให้ชำระเฉพาะดอกเบี้ยนานสูงสุด 12 เดือน หรือปรับลดยอดการผ่อนชำระรายดือนลงสูงสุด 40% เป็นเวลา 1 ปี

สอดคล้องกับแนวทางของ “ธนาคารกสิกรไทย” ที่มีเงื่อนไขว่า ลูกค้ารายย่อยที่ใช้บริการสินเชื่อบ้าน ได้ปรับลดยอดผ่อนชำระรายเดือนสูงสุด 40% เป็นเวลา 1 ปี หรือผ่อนชำระดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ให้ลูกค้าขอพักชำระหนี้สูงสุด 6 เดือน และลดดอกเบี้ยสูงสุด 50% เป็นเวลา 3 เดือน ฝั่งธนาคารทหารไทยออกมาตรการช่วยลูกค้าที่ค้างชำระค่างวดบ้านตั้งแต่ 1-30 วัน สามารถขอชำระเฉพาะดอกเบี้ยอย่างเดียว โดยไม่ต้องชำระเงินต้นเป็นเวลา 6 เดือน และสามารถขยายเวลาผ่อนชำระออกไปอีก 6 เดือนหากลูกค้ายังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมต่อเนื่อง

แต่ที่ถือว่าป๋าสุด ๆ เห็นจะเป็นแบงก์ลูกครึ่งอย่าง “กรุงศรีอยุธยา” ที่พักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือนให้กับลูกค้าสินเชื่อบ้าน และเพิ่มมาตรการผ่อนชำระดอกเบี้ยอย่างเดียว นานสูงสุด 6 เดือน หรือลดค่างวดให้เป็นนานสูงสุดถึง 9 เดือน ถ้าลูกค้ารายนั้นได้รับผลกระทบที่รุนแรง

นอกเหนือจากความช่วยเหลือในเรื่องสินเชื่อ ที่เป็นปัญหากันแล้ว การทวงถามหนี้บัตรเครดิต ก็เป็นอีกประเด็นที่ลูกหนี้ผู้ประสบภัย บ่นกันอื้ออึงเช่นกัน เพราะแม้ว่าที่ผ่านมาหลายแบงก์จะมีมาตรการช่วยลูกค้า เช่น ไทยพาณิชย์พักชำระหนี้และลดดอกเบี้ยสูงสุด 50% เป็นเวลา 3 เดือน ขณะที่ผู้ถือบัตรเครดิตกสิกรไทยและผู้ใช้สินเชื่อเงินสด ได้รับการผ่อนผันชำระดอกเบี้ย 50% และปรับลดยอดผ่อนชำระขั้นต่ำให้เป็น 0-10% และลูกค้าบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพ ได้รับการช่วยเหลือด้วยการลดยอดขั้นต่ำชำระเหลือ 0-10% และผ่อนผันการชำระดอกเบี้ยลงจากอัตราปกติ 50%

ทว่า เหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นคู่ขนานไปกับความช่วยเหลือ ก็คือ เสียงการโทรฯ จิก โทรฯ ตาม โทรฯ ทวงหนี้ ที่ฝ่ากระแสน้ำมาหาลูกหนี้ แบบไม่รู้จะตอบโต้กลับไปด้วยภาษาอะไรดี ซึ่งถ้าเป็นลูกหนี้ที่ประวัติการชำระแย่จริง ๆ หรือไม่ได้ประสบภัย และมีศักยภาพที่จะจ่ายหนี้ได้ การโทรฯตามโทรฯทวง ก็เป็นสิ่งที่ดำเนินการได้ตามปกติ แต่ในรายที่เป็นผู้ประสบภัย เข้าข่ายเป็นผู้อพยพนั้น ก็สมควรที่จะได้รับความผ่อนผันและเห็นใจเช่นกัน

จึงเป็นเรื่องที่ธนาคารทั้งหลาย ต้องไปกำชับฝ่ายเร่งรัดหนี้สิน ให้รู้จักใช้วิจารณญาณมากขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ ไม่ใช่เอะอะก็อ้างว่า “ไม่ทราบ” เพราะจ้างให้บริษัทภายนอกเป็นคนติดตามทวงหนี้ให้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นดังที่กล่าวไปข้างต้น ก็ใช่ว่าจะไม่หลุดไปเข้าหูของผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ เสียเลย ในทางกลับกัน นายแบงก์ทั้งหลายต่างก็ทราบดี และเหมือนรู้ดีอยู่แล้ว ว่าต้องมีเรื่องร้องเรียนประมาณนี้เกิดขึ้น เห็นได้จากที่ผ่านมา ผู้บริหารของธนาคารหลายแห่ง ได้ออกโรงชี้แจงเคลียร์ทางไว้ล่วงหน้าว่า การช่วยเหลือของแบงก์แต่ละแห่ง ขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินของแบงก์เป็นหลัก และรายได้ของแบงก์ส่วนใหญ่เกิดจากดอกเบี้ย หากหายไปอาจกระทบต่อการดำเนินงานของธนาคารได้ จึงช่วยลูกค้าได้ตามกำลังที่มีอยู่เท่านั้น

ขณะเดียวกัน นอกจากการช่วยเหลือลูกหนี้แล้ว แบงก์ต้องรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ซึ่งมีทั้งคนไทยและต่างชาติ ด้วยเช่นกัน แต่ละแห่งจึงต้องกำหนดเงื่อนไขที่อยู่บนความสมดุลของทุกฝ่าย และที่ผ่านมา ภาวะน้ำท่วมไม่ใช่กระทบแต่ลูกหนี้ฝ่ายเดียว เพราะสาขาของธนาคารแต่ละแห่ง ได้รับความเสียหายจนต้องปิดให้บริการเช่นกัน

อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าแบงก์ทุกแห่งจะเกิดอาการ “เขี้ยวลากดิน” กันไปเสียหมด แต่ก็มีหลายแบงก์ที่ลูกหนี้แทบไม่ต้องไปติดต่อใด ๆ แต่แบงก์จะเป็นฝ่ายติดต่อมาให้ความช่วยเหลือเอง แบบว่าเห็นใจกันอย่างแท้จริง ที่สำคัญยังสามารถตกลงปลงใจกันได้แบบไม่มีปัญหาอีกต่างหาก

จากเหตุผลที่ออกมา คงต้องบอกว่า การจะไปชี้ว่าใครถูกใครผิด คงต้องถามว่า มองจากมุมไหนและใครเป็นคนมอง แต่จากการกระทำและคำอธิบายที่ออกมาจากคนการเงินทั้งหลาย สรุปได้ว่า มาตรการช่วยเหลือของแบงก์ที่คลอดกันออกมา คงไปคาดหวังไม่ได้ ที่จะมองถึงประโยชน์ของลูกค้าเต็ม 100% เพราะถึงอย่างไรธุรกิจก็ยังคงเป็นธุรกิจ โดยมีกำไร และความอยู่รอดของธนาคารเป็นเป้าหมายหลัก

ลูกหนี้สำลักน้ำใจแบงก์พาณิชย์ มึนเงื่อนไขมาตรการช่วยใครกันแน่!!

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2554
--------------

ต้องฟ้องศาลให้เป็นคดีตัวอย่าง ธนาคารขี้จุ๊ ขี้โกหก บอกว่า ช่วยเหลือ แต่กลับ ช่วยซ้ำเติม เลวมากๆ

=====================
สถ.สั่งลดหย่อนภาษี-บรรเทาน้ำท่วม

อปท หวังคลายทุกข์ หลังจาก ประเทศไทย เผชิญ “ อุทกภัยใหญ่ “ สั่งลดหย่อนภาษีโรงเรือน-ที่ดิน-ป้าย ช่วยปชช.ที่เดือดร้อนจากน้ำท่วม

วันนี้ ( 18 พ.ย. ) ที่กระทรวงมหาดไทย นายขวัญชัย วงศ์นิติกร อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ( สถ. ) เปิดเผยว่า ได้ขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาลดภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้ายให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีที่ได้่รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย โดยการยื่นแบบประเมินการชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินภายในเดือนก.พ.ของทุกปี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น( อปท.) สามารถเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด ให้พิจารณาเลื่อนกำหนดเวลายื่นแบบดังกล่าวออกไปได้ตามที่เห็นสมควรและให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจตรวจสอบทรัพย์สินของประชาชนที่เกิดความเสียหายอันเนื่องมาจากสถานการณ์ดังกล่าวที่ทำให้ทรัพย์สินชำรุดจำเป็นต้องซ่อมแซมส่วนที่สำคัญ หรือสิ่งปลูกสร้างถูกทำลาย และพิจารณาลดค่าภาษีหรือปลดค่าภาษีทั้งหมด หรือพิจารณาลดยอดค่ารายปีของทรัพย์สินนั้นตามส่วนที่ถูกทำลายตลอดเวลาที่ยังไม่ได้ทำขึ้น

นายขวัญชัย ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนกรณีที่อปท.ได้จัดทำแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินแล้วให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นใช้แผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินในการสำรวจความเสียหายของโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการพิจารณายกเว้นภาษีปลดภาษี หรือลดหย่อนภาษีตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายและตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ทั้งนี้ให้อปท.ประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับประชาชนผู้รับประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินในเรื่องการขอลดหย่อนค่ารายปี หรือลดหย่อนภาษี หรือขอยกเว้นทั้งหมด สำหรับป้ายที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และเจ้าขอป้ายได้เสียภาษีป้่ายแล้วหากเจ้าของป้ายติดตั้งหรือแสดงป้ายใหม่แทนป้ายเดิมและมีพื้นที่ ข้อความภาพ และเครื่องหมายอย่างเดียวกับป้ายเดิมที่ได้เสียภาษีป้ายไปแล้ว เจ้าของป้ายสามารถได้รับการยกเว้นภาษีป้ายดังกล่าวได้ในปีนั้น

สถ.สั่งลดหย่อนภาษี-บรรเทาน้ำท่วม

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2554
--------------

Wednesday, November 2, 2011

น้ำท่วม 2554: มหาอุทกภัย พินาศหลายแสนล้าน

คุณจะโทษใครที่ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ มหาอุทกภัย 2554 วิกฤตอุทกภัย น้ำท่วม 2554

1. โทษพายุที่นำเอาน้ำมหาศาลติดมาด้วย นี่เจอแค่หาง ๆ ของพายุ 2 ลูก พายุนาแก

2. โทษกรมชลที่เก็บน้ำไว้เยอะเกินไป เพราะน้ำน้อยก็โดนด่า น้ำเยอะยิ่งโดนด่าหนัก

3. โทษชาวนาไม่ยอมให้กรมชลฯปล่อยน้ำหลาก เลยไปฟ้องศาล และศาลก็ให้ชาวนาชนะซะด้วย

4. โทษนักการเมือง พรรคเพื่อไทย โทษทักษิณ ต้องอั้นน้ำไว้ ให้ชาวนาได้เกี่ยวก่อน เดี๋ยวไม่มีข้าวไปจำนำ น้ำเลยสะสมเยอะเข้าไปอีก

5. โทษผู้มีอิทธิพลเหนือประตูน้ำ ที่กั้นน้ำออกที่ต่างๆ ต่างไม่ยอมให้น้ำเข้าที่ตัวเอง เพราะบางที่อยากทำนาครั้งที่ 4 ครั้งที่ 5

ุ6. โทษแนวกั้นน้ำ แนวกระสอบทรายต่างๆที่ทำให้น้ำ้ไม่สามารถไหลไปได้อย่างอิสระ น้ำไม่สามารถหลากไปได้อย่างอิสระ ทำให้ปริมาณน้ำสะสม

7. โทษ กทม. โทษประชาธิปัตย์ ที่ได้แต่ด่าคนอื่น แต่ก็ไม่สามารถมาร่วมมือ ไม่ช่วยแก้ปัญหาของชาติได้

8. โทษ พรรคพลังธรรม ที่ไปออกบ้านเลขที่ให้คนบุกรุกทางน้ำสาธารณะ สนับสนุนให้มีการมาตั้งรกรากบนทางน้ำ กีดขวางการไหลของน้ำ

9. โทษ ศปภ ว่อนเน็ตเรียกเป็น ศปภ.ศูนย์ปั่นป่วนทั่วพิภพ ที่ไม่สนใจใยดีชาวบ้าน บริหารน้ำท่วมไม่ได้ เก่งแต่บริหารน้ำลาย พอน้ำท่วมนานเข้า่หายหัวหมด ปั๊มน้ำก็ไม่เคยเตรียมล่วงหน้า แม่น้ำคูคลองก็ไม่เคยขุดลอก ผักตบ ขยะ ก็เต็มทางน้ำ กทม.ก็ชุ่ยพอกัน

โทษฟ้า โทษพายุ โทษคน โทษฝน โทษผู้มีอิทธิพลเหนือประตูน้ำ โทษผู้ขวางทางน้ำ โทษชาวน้ำผู้ฟ้องคดีและชนะกรมชลประทาน โทษตัวเอง ที่ต้องเจอ fresh water tsunami คือน้ำนี้ น้ำท่วมซึนามิน้ำจิดแรกของโลก

ที่มา: forwarded mail
-------------------------------

ปริศนา 'ไฉน' น้ำท่วมหนัก 'ฝั่งตะวันตก' จึงตกเป็นลูกเมียน้อย 'ฝั่งตะวันออก' ??


กลายเป็นเรื่องที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันสรรพกำลังทุกภาคส่วน นักวิชาการ สื่อ กระทั่งรัฐบาล ออกไอเดียมากมายไปจัดการแก้ไขปัญหามวลน้ำก้อนมหึมา ทางฝั่งตะวันออกมากกว่าฝั่งตะวันตก ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วมวลน้ำที่กำลังเคลื่อนทัพมาฝั่งตะวันตก มากกว่าฝั่งตะวันออกถึง 2 เท่าตัว...

เรื่องนี้ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญภัยพิบัติมหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อม นานาชาติสิรินธร ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ ก็สงสัยตามข้อสังเกตนี้เช่นกัน

“ผมเป็นห่วงเรื่องการให้ความสำคัญฝั่งตะวันตกมาก ซึ่งก็พยายามชี้ให้รัฐบาลทราบหลายครั้งว่า ตอนนี้ฝั่งตะวันออกไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงมาก เพราะว่าการระบายน้ำ มันเข้าระบบดีอยู่แล้ว ให้หันมาสนใจการระบายน้ำในฝั่งตะวันตกให้มากๆ เพราะว่าแทบจะมันไม่มีคลองระบายน้ำเลย ที่สำคัญมันยังมีคลองขวาง ขวางอย่างเดียว ฉะนั้นขณะนี้มันจะรับ-ส่งก้อนน้ำมหึมาเป็นทอดๆ ท่วมไล่เป็นบล็อคๆ แต่ละพื้นที่จะหนักหนามากกว่าฝั่งตะวันตกมาก เพราะไม่รู้จะระบายน้ำไปไหน จะเอาไปท่าจีนน้ำก็สูง ส่งไปเจ้าพระยาก็สูงอีก แถมขณะนี้คันกั้นน้ำก็แตกหนัก เรื่องนี้รัฐบาลต้องตระหนักให้มากๆ”

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำแห่ง ม.รังสิต สะท้อนสถานการณ์น้ำเคลื่อนตัวมาถล่มฝั่งตะวันตกว่า ขณะนี้น้ำท่วมเกือบเต็มพื้นที่ กทม.แล้ว ซึ่งคาดว่าจะค่อยท่วมไม่ตูมตาม เต็ม 100% บริเวณคลองมหาสวัสดิ์ (ตั้งอยู่ใน ต.มหาสวัสดิ์ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี และเขตอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม) ก็ 100% แล้วลงมาที่กรุงเทพฯ ไล่ท่วมเข้าเขตตลิ่งชั่น เขตทวีวัฒนา ลงมาเรื่อยๆ ถึงเขตบางแค เขตภาษีเจริญ วิ่งเข้าเขตหนองแขม ซึ่งเขตนี้จะโดนแค่บางส่วนแต่ไม่เยอะมาก โดยน้ำสูงสุดประมาณ 1 เมตร (ใช้ความสูงของพื้นถนนเส้นหลักเป็นเกณฑ์วัด)

“จริงๆ แล้วมันไม่ใช่อย่างที่เขาเรียกกัน ไม่มีทัพหน้า ทัพหลวงหรอก ซึ่งตอนนี้น้ำไปกองที่ จ.อยุทธยา ตั้งกี่พันล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะวิ่งเข้ามาที่ฝั่งตะวันตกวันละ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร วิ่งไปทางฝั่งตะวันออก 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งฝั่งตะวันตกวิกฤติกว่าครึ่งๆ จึงเหลือทางเดียวคือ 1. คุณต้องลดการระบายน้ำลงแม่น้ำท่าจีน เจ้าพระยาลดได้แล้ว ตอนนี้ยังปล่อยมามหาศาลทางล่างก็อ่วม อีกอย่างหนึ่งน้ำเหนือมันลดแล้ว จ.นครสวรรค์เบาแล้ว จ.อุทัยธานีเบาแล้ว คุณไม่จำเป็น จ.สิงห์บุรีเบาแล้ว 2. เครื่องสูบน้ำที่มีอยู่ริมท่าจีน ได้ทำงานกันอย่างเต็มประสิทธิภาพแล้วหรือเปล่า จะได้ช่วยลดมวลน้ำที่เข้ามาในคลองมหาสวัสดิ์ 2 ตัวนี้คือวิธีแก้ไขอย่างเร่งด่วนสำคัญ กว่าการแก้ไขทางฝั่งตะวันออกและต้องทำทันที” นักวิชาการเรื่องน้ำที่ได้รับการเชื่อถือกล่าว

ขณะเดียวกัน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นักวิชาการเรื่องโลกร้อนชื่อดัง ทั้งยังเป็นนักวิชาการที่อยู่ในทีมงานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม หรือ ศปภ. กล่าวถึงประเด็นนี้ผ่านไทยรัฐออนไลน์ว่า ไม่ใช่ ศปภ.ให้ความสำคัญน้อยกว่า แต่เนื่องจากรูปแบบ ศักยภาพฝั่งตะวันตกใช้แก้มลิง ฝั่งตะวันออกใช้ระบบคันกั้นน้ำ แบบป้องกัน 100% การแก้ไขจึงต่างออกไป โดยขณะนี้ได้มีการประชุมคณะการทำงานใหม่ ที่ไม่ใช่ของหน่วยใดหน่วยหนึ่ง โดยมีรองผู้ว่าฯ กทม. อธิบดีกรมชลประทาน ปลัดกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และผู้ที่มีความชำนาญเรื่องน้ำในพื้นที่มาย่นระยะทางจ่ายงานและสั่งงานแก้ไขให้ตรงและเกิดความรวดเร็ว

“จริงๆ แล้วก้อนน้ำทางฝั่งตะวันตก เป็นน้ำหลากมาทางจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเราเห็นนานแล้ว และใช้วิธีการแบ่งพื้นที่เป็น 4 โซน เพราะว่าน้ำมันแบ่งเป็น 4 บล็อกใหญ่ๆ ในบางยี่หน จ.สุพรรณบุรี น้ำต้นทางเราพยายามชะลอน้ำให้ได้มากที่สุด ถัดลงมาตรงพื้นที่บริเวณทุ่งพระยาบันลือ ซึ่งมีส่วนของคลองด้วย ก็พยายามเร่งผันข้าม แล้วเอาออกมาลงแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งน้ำทางนี้มันมาเป็นหน้ากระดาน จึงต้องพยายามเอาน้ำตัดลงลำน้ำ ลงแม่น้ำท่าจีนให้มากที่สุด แม่น้ำเจ้าพระยา คลองพระพิมล ยาวมาถึงคลองมหาสวัสดิ์ ก็ใช้หลักการเดียวกัน โดยเขตบางยี่หน พระยาบันลือ ลงมาพระพิมล มีกรมชลประทานดูแลแล้ว ก็ใช้ระบบประตูน้ำ ช่วงไหนน้ำลงก็เปิดประตูน้ำ ซึ่งหลักการเปิด-ปิดต้องสัมพันธ์กับระดับน้ำขึ้น-ลงอย่างเต็มที่ ให้มันเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนทาง กทม. รับหน้าที่ดูแลตั้งแต่คลองมหาสวัสดิ์ลงมา ใช้ระบบของคลอง เช่น คลองภาษีเจริญ คลองมหาชัย คลองทวีวัฒนา ระบายน้ำลงไปยังแก้มลิง คลองมหาชัย คลองสนามชัยอีกทางหนึ่งด้วย แต่ปัญหาตอนนี้ มันมีจุดพนังกั้นน้ำตามแนวชายฝั่งเสียหายไปหลายจุด เป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน อย่างไรก็ดี ได้สั่งการลงไปให้กรมชลประทาน ให้ใช้เครื่องมือ ใช้แรงงาน ใช้วัสดุจัดการซ่อมแซม แต่ก็มีปัญหาอีกคือตอนนี้เหล็ก Sheet Pile ยังมาขาดตลาดอีก จึงมอบหมายให้รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ไปนำมาเหล็กชิบพายมาจากบริษัทนอกพื้นที่ที่ไม่ประสบภัย แล้วส่งมอบให้กรมชลประทานไปจัดการ โดยเร็วที่สุดไม่เกิน 5 วัน จะซ่อมพนังที่เสียหายเสร็จ"

เมื่อถามถึงจำนวนน้ำทางฝั่งตะตก มากกว่าน้ำทางฝั่งตะวันออกถึง 1 เท่าตัว...? ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำผู้นี้บอกว่า จากการคำนวณของตน เชื่อว่าทั้ง 2 ฝั่ง ใกล้เคียงกัน อย่างก็ตาม ด้วยศักยภาพ สูบน้ำรวมกัน แก้มลิงด้วยก็ที่กว่า 10 ลูกบาศก์เมตร แล้วค้างอยู่ในพื้นที่ฝั่งธนฯ ราว 10 ล้านโดยอัตราความสูงจะเพิ่มขึ้น 3-5 เซนติเมตรต่อวัน ขณะที่ฝั่งตะวันออกเข้ากับออกยังน้ำยังสมดุลย์ หมายถึงน้ำออกมากว่าเข้า อย่างน้ำที่ซึมเข้ามา 20-30 ล้านลูกบาศก์เมตรก็ไม่มีปัญหา

เนื่องจากกทม.จัดการได้สบาย เอาแค่คลองหลักสี่ และคลองบางเขนก็เอาอยู่ เพราะระบายได้ถึง 20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันซึ่งภาพรวมแล้ว อาทิตย์หน้าน่าจะคลี่คลายอย่างช้าๆ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คืออาทิตย์นี้มันจะมีทั้งน้ำทะเล น้ำเหนือ ทั้งน้ำท่วมและน้ำไหลหลาก แต่ถ้ารอไปจนถึงอาทิตย์ก่อนวันลอยกระทง (วันลอยกระทงวันที่ 10 พ.ย.) ให้น้ำลดแล้วเอาน้ำออกไปได้ประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเราจะสบายโปร่งกว่านี้

"ตอนนี้ฝั่งธนฯ ท่วมเกือบ 100% หมดทุกที สูงต่ำไม่เท่ากัน ดังนั้นอยากให้เอาเกณฑ์ของถนนเป็นหนัก แต่คาดว่าไม่น่าเกิน 1 เมตรจากถนน อย่าง หนองแขมพื้นที่มันสูงกว่าที่อื่นๆ แถมลาดลงแม่น้ำท่าจีน ลงมาภาษีเจริญ ซึ่งบางแค ภาษีเจริญ และพวกที่อยู่ใกล้แม่น้ำใกล้คลองจะโดนเยอะ ผมมองว่าเขตหนองแขมจะโดนท่วมน้อยกว่าเขตอื่นอย่างที่บอกมันสันอยู่ตรงกลางสูงขึ้นมาแล้วมันเทลงแม่น้ำท่าจีน ผิดกับฝั่งบางพลัดนี้มันก็ลงแม่น้ำเจ้าพระยาโดนมากกว่า"

เมื่อถามย้ำถึงแนวทางของศปภ. กทม และนักการเมืองที่คนภายนองมองว่าขัดแย้งและแก้ไขวิกฤตการไม่เป็นแนวทางเดียวนั้น ดร.อานนท์บอกว่า เท่าที่ประชุมในทางลึกพอสมควรแตกต่างจากที่สื่อนำเสนอว่าน้ำท่วมมีความขัดแย้งของพื้นที่รับผิดชอบของนักการเมือง

“บางคนที่สื่อบอกว่าทะเลาะกัน ตอนประชุมเขายังเสนอให้เอาน้ำผันไปในพื้นที่ของเขาเองเลย จะเรียกว่าขัดแย้งได้ไหม จริงๆ มันเป็นเรื่องของการทำงานการปฏิบัติติดขัด ขาดการประสานงานมากกว่า พอสั่งการไป บางทีรู้แค่ 2 คน ระบบการสั่งการลงไปตามสั่งที่หัวก็แจ้งต่อไป แต่จริงๆ มันต้องให้คนรู้เยอะแล้วให้ทุกคนไปคิดปลายทางแก้ไขตามสถานการณ์ ไม่ใช่ว่าประตูเปิดน้ำ 30 ซ.ม. แล้วเปิดแค่นั้นทั้งที่มันวิกฤต ดังนั้นก็กำชัดกันว่าสิ่งที่สั่งการลงไปนั้นต้องเอาไปปรับใช้ตามสถานการณ์ด้วยเพราะ มันเปลี่ยนแบบวันต่อวัน แต่คิดว่าอาทิตย์ก่อนวันลอยกระทงสถานการณ์จะดีขึ้นอย่างแน่นอน” นักวิชาการผู้ที่ได้รับความเชื่อถืออีกคนกล่าวในที่สุด

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม 2554
--------------
เบื่อคนตอแหล เหม็นขี้ฟัน
--------------

วิกฤติน้ำท่วม 2554 ต้องมีคนรับผิดชอบ?

ทั้งวันของวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เราๆ ท่านๆ คงได้มีโอกาสฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) โดยขุนพลของพรรคประชาธิปัตย์ที่พยายามนำข้อมูลการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด และพฤติกรรมที่ส่อว่ามีการทุจริตมาแฉทุกแง่ทุกมุม

แต่ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นต่อการอภิปรายใน Social Media ก็ดูจะแตกต่างกันไป บ้างก็บอกว่า ประชาธิปัตย์เอาข้อมูลเก่าที่เคยมีการแฉในสื่อต่างๆ และ Social Media มาอภิปราย บ้างก็ว่า อภิปรายคราวนี้ ทำให้เห็นว่า ศปภ.บริหารงานแบบไม่บริหารอย่างชัดเจนขึ้น จนทำให้วิกฤติน้ำครั้งนี้บานปลายเดือดร้อนกันไปทั่ว

ส่วนกลุ่มที่ค่อนข้างจะผิดหวังกับการอภิปรายครั้งนี้ ก็จะสะท้อนออกมาว่า ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านยังต่างฝ่ายต่างเล่นการเมือง ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากกำลังได้รับความเดือดร้อน

จะว่าไปแล้ว ความเดือดร้อนจากมหาอุทกภัยครั้งนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงกับประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่น้ำท่วมแล้ว ยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่แน่ใจว่าน้ำจะเข้ามาถึงยังพื้นที่ของตนหรือไม่ เพราะหลายคนต้องเสียเงินลงทุนทำระบบป้องกันน้ำท่วมไปมากมาย ยังไม่นับรวมผลกระทบทางจิตใจที่ต้องหวาดผวากับน้ำที่ยังมาไม่ถึง และไม่มีใครบอกได้ว่าจะมาถึงหรือไม่

ขณะนี้ หลายฝ่ายกำลังวุ่นวายกับการฟื้นฟูเยียวยาที่ประเมินแล้วคงจะเกิดความยุ่งยากพอสมควร กับปัญหาการจัดการที่ไม่เป็นระบบของรัฐบาล อีกทั้งพฤติกรรมการทุจริตคอรัปชัน ที่ยังคงส่อแววให้เห็นอยู่ตลอด แต่สิ่งที่ยังเป็นคำถามของคนไทยจำนวนมากรวมทั้งนักลงทุนต่างชาติในไทย คือ อุทกภัยเช่นนี้ จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่

ทั้งนี้ ก่อนที่เราจะก้าวไปถึงการป้องกันปัญหาอุทกภัยในระยะยาว เรามีความจำเป็นต้องค้นหาสาเหตุของอุทกภัยครั้งนี้ ให้ได้เสียก่อน เพราะยังมีข้อสงสัยกันอยู่ว่า สาเหตุที่แท้จริงของมหาอุทกภัยครั้งนี้มาจากเรื่องใดกันแน่ ระหว่างปริมาณฝนที่ตกลงมามากกว่าทุกปี หรือหน่วยงานของรัฐบริหารจัดการน้ำผิดพลาด หรือทั้งสองเรื่อง

แน่นอนว่า ฝ่ายการเมืองคงไม่ต้องการยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของฝ่ายตน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายค้านที่เป็นพรรคการเมืองที่บริหารราชการกรุงเทพมหานครอยู่ในปัจจุบัน

แต่จากข้อมูลที่นักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญต่างสรุปตรงกันคือ ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในปีนี้นั้น มีมากกว่าปกติเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น แต่ด้วยความอ่อนด้อยในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ ที่มัวแต่เร่งหาเสียงด้วยนโยบายประชานิยม จนไม่สนใจปัญหาน้ำที่เริ่มก่อตัวตั้งแต่ช่วงที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ จึงทำให้ปัญหารุนแรงกว่าที่จะควบคุมได้ ซึ่งยังไม่นับปัญหาทางการเมืองอื่นๆ ในพรรคร่วมรัฐบาล ที่ทำให้ตัดสินใจระบายน้ำผิดพลาด

ข้างฝ่ายกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำเกือบสุดท้ายก่อนที่น้ำจะไหลลงทะเล ฝ่ายบริหารของ กทม. ที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ ก็ขาดการเตรียมพร้อม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็บริหารจัดการกันแบบรูทีนไปวันๆ ไม่มีการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำจำนวนมหาศาลที่จะเข้ามา ดังจะเห็นได้จากการปล่อยปละละเลยให้คูคลองตื้นเขิน เต็มไปด้วยขยะและวัชพืชที่เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ

การป้องกันน้ำท่วมในเขต กทม. จึงทำได้เพียงการก่อกระสอบทรายยันน้ำเอาไว้ แต่ไม่สามารถระบายออกไปได้ตามระบบการระบายน้ำที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะนอกเหนือจากความสำเร็จในการสกัดน้ำไม่ให้ทะลักผ่านคลองบางซื่อ ตรงบริเวณถนนรัชดาภิเษก วิภาวดีรังสิต และพหลโยธินแล้ว เราก็จะเห็นการระบายน้ำเข้าสู่ระบบระบายน้ำในเมืองที่จะออกสู่ทะเลและแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งอุโมงค์ระบายน้ำและคูคลองชั้นใน ไม่เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น

สภาพคูคลองชั้นในที่ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งระหว่าง 1-2 เมตร เช่น ที่คลองแสนแสบและคลองเปรมประชากร ขณะที่น้ำทางตอนเหนือของ กทม.และปริมณฑล ยังคงท่วมขังอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 1 เดือน ย่อมแสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำของ กทม.อย่างชัดเจน

ทั้งหมดนี้ เป็นบางตัวอย่างของสาเหตุที่ทำให้ปัญหาอุทกภัยครั้งนี้ เลวร้ายกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ปัญหาทุจริตคอรัปชันของข้าราชการประจำและนักการเมืองที่มีมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติภัยธรรมชาติเช่นนี้ รุนแรงเกินกว่าที่จะควบคุมได้

ดังนั้น ก่อนที่จะเราเดินไปสู่กระบวนการป้องกันปัญหาในระยะยาว ก็จำเป็นที่จะต้องเข้าใจสาเหตุแห่งปัญหาเสียก่อน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเราทราบสาเหตุของปัญหาว่าไปพาดพิงถึงนักการเมืองและข้าราชการประจำคนใดบ้าง ก็จำเป็นที่จะต้องมีผู้รับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น

ไม่ใช่เมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว ใช้เสียงข้างมากลากกันมาลงมติไว้วางใจ โดยไม่สนใจว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมจะรู้สึกอย่างไร จากนั้นก็ลอยตัวหนีปัญหาไปเรื่อยๆ ด้วยการปัดความรับผิดชอบไปวันๆ เพราะมั่นใจว่าฐานเสียงสำคัญไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

ถ้าคิดได้แค่นี้ ก็วังเวงเต็มทีแล้วกับประเทศไทย...

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ โดย ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี 30 พฤศจิกายน 2554
-------------

สื่อนอกตีข่าวน้ำท่วมไทย สังเวยอย่างน้อย 657 ศพ อยุธยาตายเยอะสุด


สื่อต่างประเทศรายงานยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุด ในรอบมากกว่าครึ่งศตวรรษของไทย ได้เพิ่มจำนวนเป็นอย่างน้อย 657 รายแล้ว โดยพบข้อมูลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมืองหลวงเก่าของไทย ถือเป็นจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ขณะที่ "เดวิด แม็คคอลีย์" ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ประจำธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ระบุ ถึงเวลาแล้วที่ประเทศในเอเชีย จะต้องเตรียมแผนรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติในระยะยาว แทนการคอยแก้ปัญหาแบบปีต่อปี...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบมากกว่าครึ่งศตวรรษของไทย ได้เพิ่มจำนวนเป็นอย่างน้อย 657 รายแล้ว โดยพบข้อมูลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมืองหลวงเก่าของไทย ถือเป็นจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด

รายงานข่าวของสื่อต่างประเทศหลายสำนักระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่กินระยะเวลานานกว่า 4 เดือนและสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ 64 จาก 77 จังหวัดในประเทศไทย ได้เพิ่มเป็นอย่างน้อย 657 รายแล้ว และยังมีผู้สูญหายอีกอย่างน้อย 3 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นผู้เสียชีวิตในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มากที่สุดถึง 139 คน รองลงมาคือ จังหวัดนครสวรรค์ ที่มีผู้เสียชีวิต 72 คน

ขณะที่ เดวิด แม็คคอลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ประจำธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ออกมาระบุว่า เหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศไทย ถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคให้หันมาตระหนักถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติให้มากยิ่งขึ้น และถึงเวลาแล้วที่ประเทศในเอเชียจะต้องเตรียมแผนรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติในระยะยาว แทนการคอยแก้ปัญหาแบบปีต่อปี

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ 2 ธันวาคม 2554