ไข้หวัดนก โรคห่า ยังคงเป็นปัญหาการเลี้ยงไก่ในบ้านเรา...จะให้ปลอดภัยต้องเลี้ยงในโรงเรือนระบบ ปิดหรือที่เรียกกันว่า...อีแวป
แต่วันนี้นักวิจัยไทย โดย นายสุชาติ สงวนพันธุ์, นางภคอร อัครมธุรากุล, น.ส.เรญา ม้าทอง และนางจุฑามาศ จงรุจิโรจน์ชัย จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตสัตว์ปีก สถาบัน
สุวรรณวาจกกสิกิจเพื่อการค้นคว้าและพัฒนาปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน สามารถผสมไก่พันธุ์ใหม่ที่สู้กับโรคเหล่านี้ได้แล้ว
โดยนำไก่พื้นเมืองของไทยพันธุ์ “ตะเภาทอง” ซึ่งทนต่อโรคในพื้นที่ มาผสมกับไก่พื้นเมืองจากจีนพันธุ์ “ซาอี้ หรือ สามเหลือง” ซึ่งมีคุณสมบัติทนต่อโรคไข้หวัดนก จนประสบความสำเร็จและให้ชื่อพันธุ์ใหม่นี้ว่า...ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์
นอกจากทนต่อโรคร้ายได้แล้ว ยังได้ไก่ที่มีรูปร่างสมส่วน มีหงอนแบบจักร หงอนหินแบบไก่พื้นเมือง ขนสีเหลืองทอง แข้งสีเหลือง จะงอยปากเหลือง หนังเหลืองเรียบเนียน เนื้อนุ่มหวานเป็นเอกลักษณ์การเลี้ยงง่ายไม่ยุ่งยาก ระยะแรกเกิดต้องกกให้ความอบอุ่นประมาณ 1-2 สัปดาห์ ให้อาหารในปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ลูกไก่กินอาหารได้ดี อายุประมาณ 15-20 วัน... ควรขยายพื้นให้ได้ขนาด 3×4 เมตร=12 ตารางเมตร ต่อการเลี้ยง 100 ตัว อายุได้ 3-4 สัปดาห์ เริ่มปล่อยออกนอกโรงเรือน และเมื่อไก่เริ่มจิกกินใบไม้ใบหญ้า สามารถนำหนวดข้าวโพดฝักอ่อน, ฝรั่ง, ชมพู่, ผักบุ้ง, แตงกวา, หยวกกล้วย, แหน, หญ้าขน ฯลฯ ที่อยู่ในท้องถิ่น มาสับผสมกับรำทำเป็นอาหารเสริมให้ไก่กิน เพื่อลดต้นทุนค่าอาหารและเพิ่มมูลค่าทรัพยากรในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย
ใช้เวลาเลี้ยงแค่เพียง 3–4 เดือน ไก่จะมีน้ำหนักเฉลี่ยตัวละ 2.2 กก. ขายได้ กก.ละ 80–100 บาท...ในขณะที่ไก่พื้นบ้านต้องเลี้ยงนานถึง 6 เดือนกว่าจะขายได้
สนใจจะเลี้ยงไก่พันธุ์ใหม่นี้ ติดต่อภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน 0—3428—1078—9 ในเวลาราชการ.
ไชยรัตน์ ส้มฉุน
ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ ลูกครึ่งไทย-จีน..ทนหวัดนก ไทยรัฐออนไลน์ วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556
Friday, February 1, 2013
กำนัน-ผญบ-อส.ถอดเครื่องแบบทิ้ง ประท้วงพิจารณา'แหนบทองคำ'
กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน-อส. แต่งเครื่องแบบเต็มยศ ก่อนประท้วงถอดเครื่องแบบทิ้งที่หน้าอำเภอ อ้างไม่พอใจ มีการเล่นพรรคเล่นพวก ในการพิจารณารางวัลกำนัน ผู้ใหญ่บ้านดีเด่น หรือรางวัลแหนบทองคำของ จ.นครศรีธรรมราช...
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 1 ก.พ. 56 ที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช นายกวี ศรีวิสุทธิ์ กำนันตำบลหัวตะพาน อ.ท่าศาลา พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านในตำบล แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. และกรรมการหมู่บ้านทั้งชายและหญิง จำนวน 50 คน ซึ่งทั้งหมดนอกจากจะเป็นผู้นำท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) ด้วย แต่งเครื่องแบบเต็มยศ มาประท้วงบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอ
นายกวี กล่าวว่า ที่มาประท้วงวันนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมของคณะกรรมการพิจารณารางวัล กำนัน ผู้ใหญ่บ้านดีเด่นหรือรางวัลแหนบทองคำของ จ.นครศรีธรรมราช ประจำปีนี้ มีการเล่นพรรคเล่นพวก พิจารณาตามใบสั่งนักการเมือง ผู้ที่ได้รางวัลเป็นคนของนักการเมือง คนที่ทำงานจริงๆ ตั้งใจทำงานจริงๆ ไม่ได้รับการพิจารณาให้ได้รับรางวัล ยุคนี้เป็นยุคที่ข้าราชการถูกครอบงำจากนักการเมืองมากที่สุด ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ตกอยู่ในการครอบงำของนักการเมือง รูปแบบการปกครองบ้านเมืองผิดเพี้ยนไปแล้ว โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย
ทั้งนี้ ที่ตำบลของตน ผู้นำท้องถิ่นทุกคนเป็นอาสาสมัครรักษาดินแดนทั้งหมด ทำงานอาสาสมัครทุกหน้าที่ทุกด้าน ทำงานอย่างเข้มแข็ง ทั้งกลางวันกลางคืน จนได้รับคำชมจากผู้แทนหน่วยงานต่างๆ แทบทุกองค์กร นักวิชาการ ประชาชนทั่วไป รวมทั้งผู้นำท้องถิ่นจากจังหวัดอื่นๆ ภาคอื่นๆ มาเยี่ยมชมดูงานทัศนศึกษา แต่ไม่มีผู้นำท้องถิ่นในตำบลได้รับการเสนอชื่อ เพื่อพิจารณาเข้ารับรางวัล แม้แต่คนเดียว ทั้งๆ ที่ผู้นำท้องถิ่นทุกคน มีจิตอาสา เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายดูแลความสงบเรียบร้อยทุกรูปแบบ
พวกเราไม่มีเงินเดือนจากกากรทำหน้าที่ อส. แม้แต่ สลึงเดียว ไม่มีเบี้ยเลี้ยง ไม่มีเงินตอบแทน ไม่มีค่าน้ำมันรถ ไม่มีค่ากาแฟ พวกเราไม่เคยคิดเรียกร้อง แต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งในระดับกระทรวง ระดับกรม ระดับจังหวัด ไม่เคยมองเห็นถึงความเสียสละของราษฎร และคนที่ทำหน้าที่ผู้นำท้องถิ่นที่ดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิดอย่างแท้จริง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาความดีความชอบของผู้นำท้องถิ่น คำนึงถึงแต่เก้าอี้ ตำแหน่งของตัวเอง ชเลียร์นักการเมืองหวังเพียงได้เลื่อนตำแหน่งหรือรักษาหัวโขนตัวเองเท่านั้น ยอมทำทุกอย่างตามคำบงการนักการเมือง ผลการตัดสินรางวัลผู้นำท้องถิ่นที่ออกมาในปีนี้จึงอัปยศอย่างที่สุด
ต่อมา นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว นายอำเภอท่าศาลา ได้ออกมาพบผู้นำชุมนุมและขอร้องให้ผู้นำท้องถิ่นที่มาประท้วงใจเย็นๆ แต่ปรากฏว่า ไม่สามารถดับความเดือดดาลของบรรดาผู้นำท้องถิ่นได้ โดยผู้นำท้องถิ่นที่อยู่ในชุดเครื่องแบบ อส. ได้ยื่นหนังสือบัญชีหางว่าวลาออกจากการเป็น อส.ต่อนายถาวร ก่อนพากันถอดเครื่องแบบทิ้งกองวางไว้ที่สนามหน้าอำเภอ จากนั้นผู้นำท้องถิ่นที่เป็นผู้ชายก็พากันนุ่งผ้าขาวม้าแทนกางเกงที่เป็นเครื่องแบบ ส่วนผู้หญิงก็นำผ้าถุงมาผลัดเปลี่ยน แล้วเดินทางกลับบ้านในเวลาต่อมา ทั้งนี้ นายกวีได้แจ้งต่อนายอำเภอก่อนเดินทางกลับว่า พวกเราทุกคนขอลาออกจากการเป็น อส. เลิกเป็น อส.กันหมดทั้งตำบล นับจากวันนี้เป็นต้นไป
ด้านนายถาวรวัฒน์ กล่าวว่า การประท้วงที่เกิดขึ้น เป็นความน้อยใจของผู้นำท้องถิ่นใน ต.หัวตะพาน ที่ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทั้งการช่วยเหลือผู้ประสบภัย การปราบปรามยาเสพติด การปราบปรามอาชญากรรม การพัฒนาท้องถิ่นด้านต่างๆ อย่างทุ่มเท จริงจัง โดยไม่มีสิ่งตอบแทนใดๆ ซึ่งตนจะรายงานเรื่องนี้ให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงทราบต่อไป
ขณะที่ นายกวี กล่าวก่อนเดินทางกลับว่า พวกเราผู้นำท้องถิ่น ปฏิญาณตนกันแทบทุกวันว่า หัวใจราชสีห์ ต้องมี 3 ประการ คือประการแรก ต้องไม่กลัวโจร ประการที่สอง ต้องไม่เกรงใจโจร และประการที่สาม ไม่รับใช้คนชั่ว ซึ่งสองข้อแรกเราทุกคนพิสูจน์ให้เห็นมาแล้วว่าเราทำได้ ทำอย่างเต็มที่ แต่ข้อที่สามที่เราปฏิญาณนั้น ข้าราชการใหญ่ในเมืองนี้กลับมีพฤติกรรม กระทำตรงกันข้าม กับปฏิญาณข้อนี้ เพราะรับใช้คนชั่วเสียเอง การปลดเครื่องแบบออกจากร่างของเราในวันนี้ หวังว่าอาจจะทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่บางคนเกิดมีสามัญสำนึกในการเป็นข้าราชการที่มีเกียรติยศ มีศักดิ์ศรีขึ้นมาบ้าง และหยุดรับใช้คนชั่วเสียที
=======================
** ใครชั่ว ใครเลว ดูเอา ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกรัฐมนตรีควรตั้งกรรมการสอบสวน กำหราบคนที่ข่มเหงน้ำใจคนทำความดี แค่มันคอรับชั่นยังไม่พอ ยังทำให้คนดีหมดกำลังใจอีกต่างหาก เลวโครต โครตเลว ..
Subscribe to:
Posts (Atom)