Friday, August 19, 2011

ฮือฮา โชว์แผนที่ประเทศไทยบนเส้นผม

ฮือฮาโชว์ “แผนที่ประเทศไทยบนเส้นผม” ฝีมือนักวิทยาศาสตร์เนเธอร์แลนด์ มอบเป็นของขวัญให้ประเทศไทยในงาน “เทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปค ครั้งที่ 4”

เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2554 นายธนากร พละชัย รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ(อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตรและเทคโนโลยี เปิดเผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพจัด “เทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปค ครั้งที่ 4” (APEC Youth Science Festival - AYSF) ระหว่างวันที่ 20 - 26 ส.ค.นี้ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร และภายในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ



โดยมีนักวิทยาศาสตร์จาก 16 เขตเศรษฐกิจจากกลุ่มสมาชิกเอเปค อาทิ ไทย สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐประชาชนจีน เวียดนาม สิงคโปร์ เกาหลีใต้ บรูไน อินโดนีเชีย เป็นต้น ประมาณ 666 คน เข้าร่วมงานและถือเป็นการชุมนุมนักวิทยาศาสตร์ครั้งใหญ่ที่สุดของเอเชีย เพื่อมาร่วมกันสัมมนาหัวข้อ “จากธรรมชาติสู่เทคโนโลยี - From Nature To Technology” เพื่อสร้างความตระหนักให้เยาวชนเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งผลกระทบที่ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกฝ่ายกำลังให้ความสนใจและคาดว่าจะมีผลกระทบ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อสร้างเครือข่ายในการช่วยแก้ไขและป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อ เนื่องต่อไปในอนาคต ที่สำคัญการจัดงานเทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปค ครั้งที่ 4 นี้ ยังได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรมในคณะกรรมการอำนวย การจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ให้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ อีกด้วย

รอง ผอ.อพวช.กล่าวต่อว่า สำหรับไฮไลท์สำคัญ คือจะมีการสแกนแผนที่ประเทศไทยลงบนเส้นผมของมนุษย์ ด้วยนาโนเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดการ การสร้างหรือการวิเคราะห์ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักรหรือผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ในระดับนาโนเมตรหรือประมาณ 1-100 นาโนเมตร การนำภาพประเทศไทยลงบนเส้นผมของมนุษย์ ที่มีขนาดความกว้างประมาณ 75 ไมโครเมตร ได้ใช้เทคโนโลยีโฟกัส ไอออน บีม ที่ใช้ไอออนของธาตุแกลเลียมกวาดลงบนพื้นผิวของวัตถุ ไอออนบีมสามารถที่จะเจาะลงบนพื้นผิวของวัตถุได้ระดับนาโนเมตร ทำให้สามารถแกะสลักภาพลงบนพื้นที่ผิวที่มีขนาดเล็กมากด้วยความแม่นยำสูง

โดย นายฮันส์ ฮิลเกนแคมป์ นักฟิสิกส์จากสถาบันนาโนเทคโนโลยีเมสา มหาวิทยาลัยทเวนท์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ เจ้าของผลงานจะนำมามอบเป็นของขวัญสำหรับประเทศไทย ที่สำคัญ จะมีการนำเครื่องบินพลังงานแสงอาทิตย์โซลาอิมพัลส์ขนาด 4 ที่นั่งจากประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาสำหรับอนาคตในการประหยัด พลังงานมาโชว์เป็นครั้งแรกของโลกด้วย

ทั้งนี้ เครื่องบินพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องบินโซล่าอิมพัลส์ เป็นเครื่องบินพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีนักบินขับเคลื่อนเครื่องเดียวในโลกที่ สามารถบินได้ตลอดทั้งกลางวันกลางคืนโดยไม่ใช้น้ำมันแม้แต่หยดเดียว ทั้งนี้ในการบินในระยะเวลา 24 ชั่วโมง แผงโซล่าเซลล์ขนาด 1 ตารางเมตร จะสามารถให้พลังงานได้โดยเฉลี่ย 40 วัตต์ (น้อยกว่าพลังงานที่ได้จากน้ำมัน 1ลิตรถึง 25 เท่า) ซึ่งพลังงานขนาด 40 วัตต์นี้จะใช้ในการรับน้ำหนักที่ใช้บินได้ 8 กิโลกรัม ดังนั้นถ้าจะใช้ขับเคลื่อนเครื่องบินและนักบินที่น้ำหนักรวมกัน 1600 กิโลกรัม ต้องใช้พลังงานถึง 8 กิโลวัตต์ หรือใช้แผงโซล่าเซลล์ขนาดรวม 200 ตารางเมตร แผงความกว้างทั้งหมดของปีกโซล่าอิมพัลส์จึงประกอบด้วยแผงโซล่าเซลล์ขนาดความ ยาวกว่า 6 เมตร

ขณะที่นายโซอิจิ โนงูจิ นักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นจากองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานพระพิฆเนศไม้แกะสลัก เมื่อครั้งบินขึ้นสู่อวกาศ จะมาเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการเป็นนักบินอวกาศ และการเดินทางในอวกาศ เป็นต้น

นายธนากร กล่าวอีกว่า ภายในเทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปคจะจัดฐานการเรียนรู้ 9 ฐาน เช่น ฐานหุ่นยนต์ปลา เพื่อเรียนรู้โครงสร้างทางกายภาพและกลไกการว่ายน้ำของปลา, ฐานนักสืบสิ่งมีชีวิตเปล่งแสง เพื่อเรียนรู้กลไกการเปล่งแสงของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ เป็นต้น รวมถึง การนำเสนอผลงานและกิจกรรมของนักเรียนจากประเทศต่างๆ อาทิ ชิ้นงาน สิ่งประดิษฐ์ โปสเตอร์โครงงานวิทยาศาสตร์ รวมทั้ง ผลงานที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ เป็นต้น โดยในวันที่ 21 ส.ค.เวลา 9.30 น.นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ จะเป็นประธานเปิดงานที่ไบเทค บางนา

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม 2554

No comments:

Post a Comment