Wednesday, November 3, 2010

"หาดใหญ่" วิปโยคแสนชีวิตติดเกาะ

"ในหลวง-ราชินี" พระราชทาน 5 ล้าน ซับน้ำตาราษฎร รับสั่งนำเครื่องอุปโภค-บริโภคจากท้องพระคลังช่วย "หาดใหญ่" วิปโยคท่วมหนักสุดในรอบ 22 ปี
วานนี้ (2 พ.ย.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย แจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยผู้ประสบอุทกภัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 5,000,000 บาท เพื่อให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นำไปจัดซื้อไฟฉาย น้ำดื่มสะอาด และเครื่องอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ที่จำเป็น มอบให้แก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่าง ๆ

พ.อ.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการพระราชดำริ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ อ.เมือง จ.นราธิวาส พ.อ.ไพศาล หนูสังข์ ผบ.กรมทหารพรานที่ 46 ได้ร่วมอำนวยการในการเบิกเครื่องอุปโภคและบริโภคจากท้องพระคลังของพระตำหนัก ทักษิณราชนิเวศน์ โดยให้กำลังพลจากกรมทหารพรานที่ 46 พร้อมด้วยกำลังพลจากหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส และเจ้าหน้าที่จากศูนย์ศิลปาชีพ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ นำเครื่องอุปโภคบริโภค อาทิ ข้าวสาร อาหารแห้งรวมทั้งผลไม้ และเครื่องนุ่งห่มมาบรรจุเป็นถุง 5,000 ชุด เพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รวมทั้งจะได้กระจายความช่วยเหลือไปยังประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสตูล

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะได้นำถุงยังชีพพระราชทานทั้งหมดลำเลียงขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า นำไปหย่อนตามจุดที่ประชาชนต้องประสบกับภาวะน้ำท่วมอย่างหนักเป็นการเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้มีผู้ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณกว่า 3 แสนคนแล้ว

"หาดใหญ่" จมบาดาล 3 เมตร
ส่วนสถานการณ์อุทกภัยที่ จ.สงขลา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้า ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่มีกระแสน้ำเชี่ยวกราก ไหลท่วมพื้นที่ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งในเขตเศรษฐกิจถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 ถึง 3 ถนนเสน่หานุสรณ์ ถนนศรีภูมนารถ และถนนรัถการ น้ำท่วมสูงตั้ง แต่ 1-3 เมตร โดยน้ำได้ทะลักจากขอบคลองอู่ตะเภา และคลองต่าง ๆ เข้ามาอย่างรวดเร็วจนประประชนตั้งตัวไม่ทัน ไม่สามารถขนข้าวของออกมาได้ ต่างพากันหนีไปบนชั้นสอง บางจุดที่น้ำท่วมสูงต้องปีนขึ้นหลังคาเพื่อเอาชีวิตรอด หลังเกิดเหตุมีการตัดกระแสไฟฟ้า และสัญญาณโทรศัพท์ จึงทำให้ตัวเมืองหาดใหญ่ถูกตัดจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง ด้าน นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงาน เช่นสำนักงานบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่ อบต.เทศบาล อบจ. และทางจังหวัด ให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่แล้ว
100,000 ชีวิตรอช่วยเหลือ

ด้าน นายไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่ เปิดเผยว่า เบื้องต้นมีผู้ที่ยังหนีออกจากบ้านไม่ได้และติดอยู่ในกระแสน้ำเกือบ 40,000 คน ผู้ได้รับความเดือดร้อนกว่า 100,000 คนปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การขาดแคลนเรือท้องแบน น้ำดื่ม อาหารการกิน การติดต่อสื่อสารพื้นฐานและโทรศัพท์มือถือถูกตัดขาด มีผู้ที่ติดอยู่ในบ้านซึ่งน้ำสูงถึงชั้น 2 มีผู้ติดอยู่บนหลังคาบ้านจำนวนหลายร้อยราย ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องตัดสินใจช่วยผู้ที่เห็นว่าอยู่ในโซนอันตรายก่อน สำหรับชุมชนที่เป็นโซนอันตรายที่สุดขณะนี้ คือชุมชนโคกสมานคุณ ชุมชนรัตนอุทิศ ชุมชนทุ่งเสา ซึ่งอยู่ในที่ลุ่มต่ำ

ขนคนไข้ขึ้นเอลิคอปเตอร์หนีน้ำ
นพ.สุรชัย ล้ำเลิศเกียรติกุล รักษาการ ผอ.รพ.ศูนย์หาดใหญ่ เปิดเผยว่า น้ำได้ไหลทะลักเข้าท่วมโรงพยาบาลซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนมาก จึงต้องประกาศปิดโรงพยาบาลและอพยพคนไข้บางส่วนไปยัง รพ.มอ. โดยโรงพยาบาลสามารถรับส่งน้ำและอาหารได้ทางดาดฟ้า ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ เส้นทางเดียวเท่านั้น
ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยทางภาคใต้ พบว่าโรงพยาบาลที่เข้าขั้นวิกฤติมี 3 แห่ง คือ รพ.ศูนย์หาดใหญ่ รพ.สะเดา และ รพ.สมเด็จฯ นาทวี โดย รพ.ศูนย์หาดใหญ่ ที่มีผู้ป่วยนอนรักษา 559 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 70 ราย ล่าสุด ทางโรงพยาบาลได้ใช้เฮลิคอปเตอร์ ส่งต่อผู้ป่วยหนัก 8 รายไปรักษาที่ รพ.สงขลานครินทร์ หาดใหญ่

12 ชั่วโมงวิกฤติไร้มือช่วย
ขณะเดียวกัน กระแสน้ำยังไหลบ่าเข้าท่วมสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ที่ทำการเทศบาลนครหาดใหญ่ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถออกช่วยเหลือผู้ประสบภัยจำนวนมาก ที่ต่างร้องขออาหารและน้ำดื่ม โดยนับแต่เกิดเหตุน้ำท่วมเฉียบพลันเป็นเวลากว่า 12 ชั่วโมง ทางเทศบาลฯ และจังหวัดสงขลา ยังไม่สามารถตั้งกองบัญชาการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างเป็นทางการ มีเพียงศูนย์บรรเทาสาธารณภัยเท่านั้น ที่เปิดอย่างเป็นทางการ แต่ตั้งอยู่ไกลถึงสนามบินหาดใหญ่ และมีหมายเลขโทรศัพท์เพียงเลขหมายเดียว

นอกจากนี้ยังมีประชาชน นักท่องเที่ยวนับ 1,000 คน ติดอยู่ในโรงแรมต่าง ๆ กว่า 30 แห่ง ได้รับความเดือดร้อน ขาดแคลนอาหาร นำดื่ม และไม่มีไฟฟ้าใช้ มือถือไร้สัญญาณ โดยผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือ ต่างได้รับความเดือดร้อน เพราะโทรศัพท์มือถือใช้ไม้ได้ เนื่องจากเครือข่ายล่มและไร้ไฟฟ้าชาร์จแบตเตอรี่

โดย นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวชี้แจงปัญหาโทรศัพท์มือถือถูกตัดขาดว่า เป็นเพราะเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เสียหาย 80 เสา จากเดิมที่มีอยู่ 200 เสา สาเหตุเป็นเพราะเครื่องปั่นไฟของเสาส่งสัญญาณฯ ชำรุด ได้สั่งการแก้ไขด้วยการส่งรถดาวเทียมเคลื่อนที่ของ บมจ.ทีโอที ไปเชื่อมต่อสัญญาณแล้ว คาดว่าในค่ำวันเดียวกันนี้ การสื่อสารจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

ส่วนพระสงฆ์ตามวัดต่าง ๆ ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ เช่น วัดคลองเรียน วัดหงส์ประดิษฐาราม วัดโคกสมานคุณ ต่างได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักเพราะน้ำท่วมสูง ไม่สามารถบิณฑบาตได้ ส่วนที่โรงเรียนมัธยมหาดใหญ่พิทยาคาร ต.ควนลัง ได้มีนักเรียนกว่า 400 คน ติดอยู่ชั้น 2 ของตัวอาคาร ขาดน้ำดื่มและอาหารตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยและคนแก่ติดอยู่ในบ้านพักหมู่ที่ 1 ต.คลองแห 4 คน โดยมีรายงานว่า มีผู้จมน้ำเสียชีวิต 1 ราย ขณะพยายามเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย

โวยชะล่าใจรับมือน้ำท่วม
อย่างไรก็ตามพบว่าปริมาณฝนตกในพื้นที่ จ.สงขลา ลดน้อยลง แต่น้ำจาก อ.สะเดา อ.นาหม่อม ได้ไหลเข้าสู่ อ.หาดใหญ่ มากขึ้น ทำให้น้ำท่วมในอำเภอรอบนอกลดน้อยลง แต่น้ำในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ กลับเพิ่มสูงขึ้น สร้างความเดือนร้อน และวิตกกังวลให้กับผู้ประสบภัยเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้มีรายงานว่าประชาชนในพื้นที่ต่างไม่พอใจในความช่วยเหลือที่ล่าช้าของ เทศบาล จังหวัด เทศบาล และ อบต. ที่ต่างอ้างว่าไม่มีเรือและน้ำมาเร็วจนเตรียมตัวไม่ทัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำท่วมเมื่อปี 2543 ที่น้ำท่วมหนักเช่นกัน แต่ได้รับการช่วยเหลือที่เร็วกว่า โดยเฉพาะกองทัพภาคที่ 4 ที่มีการตั้งกองบัญชาการ ที่มณฑลทหารบก 42 เพื่อช่วยเหลือผู้คน โดยการใช้เฮลิคอปเตอร์นำอาหารไปทิ้งให้ผู้ที่ติดอยู่ตามที่ต่าง ๆ ทั้งยังระดมเรือและรถจีเอ็มซีออกช่วยผู้ประสบภัยแต่ครั้งนี้ทุกหน่วยงานกลับ ไม่มีความพร้อม และอ้างไปในแนวทางเดียวกันว่า น้ำมาเร็วเกินความคาดหมายจนช่วยเหลือไม่ทัน นอกจากนี้ความช่วยเหลือของหน่วยงานจากส่วนกลางยังมุ่งไปแต่ อ.หาดใหญ่ ทั้งที่พื้นที่อื่นก็ประสบภัยเช่นกัน

"สงขลา"ประกาศภัยพิบัติทั้งจังหวัด
ด้าน นายวิญญู ทองสกุล ผวจ.สงขลา ได้ประกาศให้ทั้ง 16 อำเภอ ของ จ.สงขลา เป็นพื้นที่ภัยพิบัติและสั่งปิดทั้งหมดโดยไม่มีกำหนด โดยอนุมัติให้ทุกอำเภอใช้งบ 1 ล้านบาท และแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ โดยให้ กองเรือที่ 2 สงขลา รับผิดชอบ อ.เมือง สิงหนคร สทิงพระ กระแสสินธุ์ และ อ.ระโนด ส่วนมณฑลทหารบกที่ 42 จะรับผิดชอบพื้นที่ อ.หาดใหญ่ และใกล้เคียง กก.ตชด.ภ.4 รับผิดชอบ อ.จะนะ เทพา นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย และกองบิน 56 รับผิดชอบ อ.คลองหอยโข่ง อ.สะเดา

ส่วนพื้นที่ อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับความเสียหายจากดีเปรสชั่น ที่ขึ้นฝั่ง อ.ระโนด เมื่อกลางดึกวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าได้รับความเสียหายอย่างหนักถนนกาญจวนิช ตั้งแต่ ห้าแยกเกาะยอ ไปถึงแหลมสมิหรา ถูกลมพายุถล่มต้นไม้ริมถนนและเกาะกลาง ป้ายโฆษณา ป้ายสัญญาณไฟจราจร ล้มระเนระนาดกีดขวางทางจราจร ถนนชลาทัศน์เลียบริมหาดสนอ่อนถูกคลื่นถล่ม ต้นสนล้มทับจนต้องปิดการจราจร กระจกหน้าต่างศาลากลางจังหวัดและสถานที่ราชการ อาคารร้านค้าได้รับความเสียหายอย่างหนัก ไฟฟ้าดับ โทรศัพท์เสีย ประปาไม่ไหล ร้านค้าปิดหมด ผู้คนได้รับความเดือดร้อน เพราะไม่มีเครื่องอุปโภคบริโภคจำหน่าย

"มาร์ค" ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตรวจ
ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการด่วนให้ส่งเครื่องบินซี 130 นำเรือท้องแบน พร้อมกับถุงยังชีพ 20,000 ถุง จากกรุงเทพฯ มาลงยังสนามบิน กองบิน 56 อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา เพื่อแจกจ่ายให้กับ หน่วยงานต่าง ๆ นำไปช่วยประชาชน ที่ติดอยู่ในน้ำ ซึ่งจากการสำรวจล่าสุด พบว่านอกจากในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่แล้ว ยังมีประชาชนใน อ.สะเดา เทศบาลตำบลพังลา เทศบาลเมืองบ้านพรุ เทศบาลเมืองคลองแห ประมาณ 1,000 คน ที่ติดอยู่ในบ้าน และร้องขอความช่วยเหลือ แต่ทางเทศบาลและ อบต. ไม่มีเรือเข้าไปในพื้นที่ นอกจากนั้นเรือท้องแบน ที่มีอยู่พื้นที่ 2 ลำ ไม่สามารถผ่านเข้าไปในพื้นที่ได้ เพราะกระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก ต้องใช้เรือติดเครื่องยนต์เข้าไปช่วยเหลือเท่านั้น

ต่อมานายอภิสิทธิ์ และคณะได้ขึ้นเครื่องบินของกองทัพบก มาถึง จ.สงขลา และขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วมที่ รพ.ศูนย์หาดใหญ่ โดยพบว่าน้ำท่วมสูงถึงหัวเข่า ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่หนักที่สุด อย่างไรก็ตามสิ่งที่กำลังอยู่ในวิกฤติ คือ เครื่องปั่นไฟในโรงพยาบาล 3 เครื่อง ซึ่งขณะนี้ใช้งานได้เพียงเครื่องเดียว นายอภิสิทธิ์ จึงสั่งการแจ้งให้วิศวกรเข้ามาซ่อมแซมให้ใช้การได้โดยเร็ว

ห่วงพายุลูกใหม่ซัดซ้ำอีกระลอก
ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ ยังกำชับให้เจ้าหน้าที่หาทางเร่งอพยพผู้ป่วยออกจากพื้นที่ ก่อนที่จะมีพายุลูกใหม่ที่กำลังก่อตัวบริเวณ จ.ชุมพร ซึ่งเกรงว่าอาจส่งผลกระทบต่อ อ.หาดใหญ่ ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักอีกครั้ง

ด้าน นายพินิจ เจริญพานิช ผวจ.ชุมพร กล่าวถึงกรณีมีพายุลูกใหม่ที่กำลังก่อตัวในทะเลจีนใต้ โดยมีแนวโน้มจะพัดเข้าภาคใต้โดยเฉพาะที่ จ.ชุมพร ว่า ตนสั่งการให้ทุกหน่วย เตรียมความพร้อมตามแผนการต่าง ๆ ที่ได้วางไว้ด้วยความไม่ประมาท พร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติอย่างเต็มที่ แต่ตนและชาวชุมพรเชื่อมั่นในพระบารมีของ กรมหลวงชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์ ที่จะคุ้มครองช่วยให้ จ.ชุมพร แคล้วคลาดจากอุทกภัยในครั้งนี้ได้

ท่วมระทมหนักสุดรอบ 22 ปี
นาย วีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประธาน กล่าวว่า แม้จะมีการเตือนภัยล่วงหน้าถึงสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่จังหวัดภาค ใต้ แต่ด้วยระดับน้ำที่เพิ่มอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใน 16 อำเภอของจังหวัดสงขลาและจากการวัดระดับน้ำในเช้าวันเดียวกัน โดยที่คลองอู่ตะเภาวัดได้ 1,623.5 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งถือว่าเป็นระดับน้ำที่สูงที่สุด มากกว่าสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2531 ที่วัดได้ 839 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนปี 2543 วัดได้ 970.8 ลบ.ม.ต่อวินาที จึงถือว่ามากที่สุดในรอบ 22 ปี อย่างไรก็ตามจากการตรวจวัดสถานการณ์ล่าสุด พบแนวโน้มว่าระดับน้ำเริ่มทรงตัวมากขึ้นและถ้าน้ำในตัวเมืองหาดใหญ่ไม่เพิ่ม ขึ้น การบริหารจัดการน้ำจะง่าย ทั้งหากไม่มีฝนตกอีกก็จะไม่ก่อให้เกิดปัญหามากกว่าที่เป็นอยู่

ทั้งนี้กระแสน้ำที่ไหลในพื้นที่มาจาก 3 ทิศ คือ ตะวันตก เหนือและใต้ ทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำที่อยู่นอกเหนือตัวเมืองแม้จะมีมาก แต่ไม่ก่อให้เกิดปัญหา เพราะมีการพร่องน้ำออกไปล่วงหน้าแล้ว เช่นในคลองสะเดา มีระดับน้ำตอนนี้อยู่ที่ 98 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบทำให้เขื่อนแตกอย่างแน่นอน

ขณะที่ นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปริมาณระดับน้ำเข้าท่วม จ.สงขลา ที่วัดได้ขณะนี้ แม้จะสูงกว่าปี 2531 และปี 2548 แต่คลองระบายน้ำ ร.1 ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ตามพระราชดำริ ได้ช่วยแบ่งรับน้ำและระบายน้ำที่ไหลหลาก และท่วมขังได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัตตานีสังเวย 1 ศพ จมหาย 2 คน

ที่ จ.ปัตตานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเกิดพายุดีเปรสชั่นพัดถล่มตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 1 พ.ย. ทำให้สถานที่ราชการหลายแห่งและพื้นที่ริมทะเลของพื้นที่ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งหลังจากพายุสงบ พบว่าต้นไม้เสาไฟฟ้า บ้านเรือนราษฎร สถานที่ราชการได้รับความเสียหายไปตาม ๆ กัน โดยที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีนักศึกษา อาจารย์ติดอยู่ตามตึกเรียนต่าง ๆ นับร้อยชีวิต เพราะไม่สามารถออกมาได้
ส่วนที่บ้านแหลมนก ต.บานา อ.เมือง ประชาชน 800-1,000 คน ต้องเร่งรีบอพยพขึ้นไปบนที่ดอน อาศัยวัด มัสยิดและโรงเรียนเป็นที่หลบภัย เนื่องจากลมพายุได้พัดบ้านเรือนเสียหาย เรือประมงพื้นบ้าน 40-50 ลำจมอยู่ในบ้าน จนรถ จยย.จำนวนมากถูกพายุพัดพังเสียหาย

สำหรับที่ ต.ตันหยงลูโละ อ.เมือง ได้มีต้นไม้ใหญ่ล้มทับบ้านของนายอับดุลมามะ ตาเห อายุ 39 ปี เสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีผู้สูญหายเป็นเด็กอายุ 2 ขวบ และชายวัย 18 ปี อีกรายก็ถูกน้ำพัดพาไปจากริมแม่น้ำปัตตานี ถนนปากน้ำ เขตเทศบาลเมืองปัตตานี ขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม

ด้านนายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล ผวจ.ปัตตานี พร้อมกำลังทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร ได้ออกไปช่วยเหลือประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยประกาศพื้นที่ภัยพิบัติใน 3 อำเภอ คือ ยะรัง หนองจิก และ อ.เมือง

"ยะลา-นราธิวาส" น้ำทะลักจมอ่วม


ที่ จ.ยะลา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปริมาณน้ำยังไหลเข้าสู่ตัวเมืองยะลาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการบินสำรวจพื้นที่น้ำท่วมทางอากาศ พบว่าในพื้นที่ อ.รามัน บริเวณแม่น้ำสายบุรี ปริมาณน้ำได้ไหลท่วมพื้นที่การเกษตร สวนยางพารา สวนผลไม้และที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน เช่นเดียวกับในพื้นที่ อ.ยะหา และ อ.กรงปินัง อย่างไรก็ตาม ภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ขณะนี้ อยู่ในสภาวะที่ควบคุมได้

นายกฤษฎา บุญราช ผวจ.ยะลา กล่าวว่า กรณีที่ชาวบ้านกังวลเรื่องเขื่อนบางลางจะปล่อยน้ำลงพื้นที่ ขอชี้แจงว่าเขื่อนบางลางสามารถบรรจุน้ำได้ 1,400 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีปริมาณน้ำ 900 ลบ.ม. จึงไม่ต้องวิตกกังวล อย่างไรก็ตาม ขอเตือนไปยังประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำปัตตานีและแม่น้ำสายบุรี ที่อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน

ที่ จ.นราธิวาส ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องใน 13 อำเภอ มากว่า 1 วันได้หยุดตก แต่ปริมาณน้ำป่าบนเทือกเขาสันกาลาคีรี ซึ่งมีต้นกำเนิดในพื้นที่ อ.สุคิริน ได้ไหลทะลักเข้ามาสมทบสู่แม่น้ำสายหลัก 3 สาย คือ สุไหงโก-ลก บางนราและแม่น้ำสายบุรี มีปริมาณน้ำล้นตลิ่งกว่า 160 ซม. และเพิ่มระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือน พื้นที่การเกษตรเป็นวงกว้างทั้ง 12 อำเภอ ชาวบ้านเดือดร้อน 11,786 ครัวเรือน

ระทึก!ช้าง 2 เชือกหวิดจมน้ำ
ที่ จ.นครศรีธรรมราช ได้มีน้ำป่าจากภูเขาที่รายล้อม อ.พิปูน ไหลหลากลงมาผสมกับน้ำในแม่น้ำตาปีและคลองพิปูน เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ ต.ยางค้อม มี 7 หมู่บ้านจมมิดใต้บาดาล ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ หมู่ 14 ต.ละอาย อ.ฉวาง น้ำป่าได้เอ่อท่วมช้าง 3 เชือกจนเกือบมิดหัว โชคดีที่นายสุวัฒน์ เพ็ชรชระ สามารถช่วยชีวิตช้างทั้ง 3 เชือกไว้ได้ ล่าสุดทางจังหวัดได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติใน 7 อำเภอ คือ อ.เมือง สิชล ปากพนัง หัวไทร ลานสกา ช้างกลาง และ อ.ชะอวด มีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย

ที่ จ.ตรัง ได้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันใน 8 อำเภอ 4 เขตเทศบาล 54 ตำบล 235 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนเดือดร้อนกว่า 9,000 หลังคาเรือน ปิดโรงเรียนไปแล้ว 42 โรง โดยมีผู้จมน้ำเสียชีวิต 1 คน คือ นายเปลื้อง เหมือนแก้ว อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 49 หมู่ 1 ต.นาชุมเห็ด อ.ย่านตาขาว

ที่ จ.สตูล นายวินัย ครุวรรณพัฒน์ ผวจ.สตูล พร้อมคณะฯ นำถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่หมู่ 8 บ้านดาหลำ อ.ท่าแพ จากนั้นจึงเดินทางไป อ.ควนโดน และ อ.เมือง โดยรายงานสถานการณ์ขณะนี้ มีผู้ประสบภัยกว่า 92,016 คน 23,313 ครัวเรือน

ในส่วนของ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เกิดน้ำท่วมในชุมชนและถนนสายหลักของอำเภอเกาะสมุย มีการประกาศงดเที่ยวบินทุกเที่ยวเนื่องจากทัศนวิสัยไม่ดี อย่างไรก็ตาม สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส แจ้งว่าพร้อมเปิดทำการบิน กรุงเทพฯ-สมุย ตั้งแต่เวลา 19.30 น.

ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ชายหาดบ้านแหลมสน หมู่ 5 ต.ปากแพรก อ.บางสะพานน้อย ได้เกิดคลื่นยักษ์พัดถล่มเขื่อนป้องกันคลื่นพังเสียหายเป็นระยะทางยาว 100 เมตร ความเสียหายประมาณ 2 ล้านบาท เมืองดอกบัวเริ่มคลี่คลาย

ด้านสถานการณ์ในภาคอีสาน เริ่มจากที่ จ.อุบลราชธานี น.อ.เฉลิมชัย ศรีสายหยุด ผู้บังคับการกองบินที่ 21 พร้อมสื่อมวลชนได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ขึ้นดูน้ำในเขตเมืองอุบลราชธานี เรื่อยขึ้นไปถึงบริเวณรอยต่อเชื่อมแม่น้ำมูล และแม่น้ำชีที่บริเวณบ้านท่างอย ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ ต่อเนื่องจนถึงบ้านท่าวารี อ.เขื่องใน ซึ่งจากการบินตรวจสอบพบว่าระดับน้ำยังเอ่อล้นท่วมเข้าในที่ลุ่มชุ่มน้ำริม แม่น้ำมูล และบริเวณที่นาซึ่งอยู่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำมูล โดยพื้นที่การล้นท่วมลดลงเล็กน้อยในลุ่มน้ำมูล ในขณะที่ลุ่มน้ำชีด้าน อ.เขื่องใน ยังล้นท่วมทรงตัว โดยน้ำทั้งหมดจะไหลลงแม่น้ำมูล สู่จุดรวมสุดท้ายที่จังหวัดอุบลราชธานี ช้ากว่าที่คาดการณ์คาดว่าจะเดินทางถึงประมาณ 7-8 พ.ย. และจากการประเมินสถานการณ์น้ำในขณะนี้ไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด

น้ำทะลักเรือนจำ ไม่อพยพ
นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักและเกิดความน้ำท่วมฉับพลันขึ้นในพื้นที่ภาคใต้หลาย จังหวัด ส่งผลให้เรือนจำในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ มีระดับน้ำท่วมสูง กว่า 10 แห่ง ได้สั่งการให้แก้ไขด้วยการใช้เครื่องสูบน้ำออก และใช้กระสอบทรายกั้น ส่วนการคุมขังนักโทษนั้นส่วนตัวไม่ต้องการใช้วิธีอพยพนักโทษออกจากเรือนจำ เพราะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก จึงใช้วิธีขยับนักโทษจากชั้นล่างขึ้นไปรวมกันชั้นบน หรือการย้ายแดนไปอยู่รวมกัน

ชดเชยบ้านน้ำท่วม 3 หมื่น
ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ นายกฯ แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ตามที่ ครม.เศรษฐกิจเสนอแล้ว และให้แต่ละหน่วยงานกลับไปทบทวนงบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็งที่มีอยู่ 4,000 ล้านบาท ให้ปรับใช้ช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วมก่อน และมอบหมายให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำหลักการของโครงการบ้านมั่นคง ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเรื่องที่อยู่อาศัย หากเสียหายทั้งหลัง ให้เงินชดเชย 30,000 บาท เสียหายบางส่วนจ่ายชดเชย 10,000 บาท

ศชอ.เฝ้าระวัง 8 จังหวัดใต้
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย(ศชอ.) แถลงว่า สถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ล่าสุดนั้น พายุดีเปรสชั่นที่เข้ามาเมื่อค่ำวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้ออกไปทางชายฝั่งทะเลอันดามันแล้ว แต่มีอิทธิพลที่ทำให้มีฝนตกต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคใต้ คือ สงขลา นครศรีธรรมราช ตรัง นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล และพัทลุง โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ มีน้ำท่วมสูงประมาณ 2-3 เมตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ ซึ่งเมื่อเช้านี้ ศชอ.ได้ประสานงานกับกองทัพเรือภาคที่ 2 และมณฑลทหารบกที่ 42 ในการส่งกำลังเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยในโรงพยาบาลดังกล่าวที่มีอยู่ประมาณ 559 ราย นอกจากนี้ ศชอ.ได้ปล่อยคาราวานส่งสิ่งของไปช่วยเหลือ อาทิ เรือท้องแบน เรือยาง สุขา และถุงยังชีพไปแล้ว โดยคาดว่าถุงยังชีพ 9,000 ชุด จะไปถึงภายในคืนนี้

ด้าน พล.ร.อ.กำธร พุ่มพิรัญ ผบ.ทร. เปิดเผยว่า ได้ส่งเรือรบจักรีนฤเบศร ออกจากท่าจุกเสม็ด สัตหีบ จ.ชลบุรี เวลา 16.00 น. ไปยัง จ.สงขลา ในเวลาประมาณ 02.00 น. เพื่อนำของไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ทั้งนี้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ประทานถุงยังชีพ 1,000 ชุด ของมูลนิธิอาสา เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ร่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการขอความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ หมายเลข 1696

ด้าน นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ได้จัดเตรียมเรือสปีดโบ๊ทและเรือท้องแบน รวม 8 ลำ ไปช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยจากสถานการณ์น้ำท่วม

สังเวยน้ำท่วม 104 ศพ
ด้าน นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กล่าวว่า จากภาวะฝนตกหนักในระหว่างวันที่ 10 ต.ค. -1 พ.ย. 2553 ส่งผลให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยใน 38 จังหวัด มีผู้เสียชีวิตรวม 104 ราย ใน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา 22 ราย บุรีรัมย์ 6 ราย ลพบุรี 13 ราย ขอนแก่น 4 ราย ระยอง 1 ราย ตราด 1 ราย สระแก้ว 1 ราย ชัยภูมิ 3 ราย สระบุรี 4 ราย นครสวรรค์ 13 ราย อุทัยธานี 1 ราย ชัยนาท 3 ราย นนทบุรี 3 ราย กำแพงเพชร 3 ราย สุพรรณบุรี 6 ราย พิจิตร 1 ราย ปทุมธานี 3 ราย พระนครศรีอยุธยา 7 ราย เพชรบูรณ์ 2 ราย และสิงห์บุรี 7 ราย โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิต ได้แก่ การจมน้ำจากการลงจับสัตว์น้ำ เก็บของในน้ำ การปล่อยให้เด็กลงเล่นน้ำ และการถูกไฟฟ้าดูด ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและเด็ก

เทงบ 176 ล้านช่วยโรงเรียน
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ  เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่ามีสถานศึกษาในภาคใต้ประสบอุทกภัยและเกิดน้ำท่วมฉับพลันจาก พายุดีเปรสชั่น 1,186 โรง จาก 8 จังหวัด และผู้บริหารสถานศึกษาได้สั่งเลื่อนเปิดภาคเรียน 3 วันและ 7 วันตามแต่สถานการณ์ ทั้งนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนแก่สถานศึกษาสังกัด ศธ.ที่ประสบอุทกภัย โดยมอบเงินช่วยเหลือ 100 เขตพื้นที่การศึกษา เขตละ 2 แสนบาท รวมเงิน 20 ล้านบาท จัดสุขาเคลื่อนที่ 1,000 หลัง วงเงิน 10 ล้าน จัดซื้อเรือท้องแบน 1,000 ลำ วงเงิน 10 ล้านบาท จัดสรรเงินเป็นค่าแบบเรียน อุปกรณ์การเรียนและหนังสือเรียนตามโครงการเรียนดีเรียนฟรีอย่างมีคุณภาพ 15 ปีเพื่อทดแทนในส่วนที่เสียหาย 136 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 176 ล้านบาท

ม้าเหล็กสายใต้เป็นอัมพาต
นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมหนักในพื้นที่ภาคใต้ว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ในสังกัด ได้แก่ แขวงการทางทั่วประเทศ สำนักทางหลวงชนบท และสำนักขนส่งจังหวัดทุกแห่ง ประสานความร่วมมือในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในแต่ละพื้นที่ จัดส่งรถของแขวงการทางเข้าไปช่วยลำเลียงประชาชนในพื้นที่ประสบภัย และให้บริการรับซ่อมฉุกเฉินในพื้นที่น้ำท่วม ล่าสุดได้ประสานให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดส่งรถกู้ภัยลงไปช่วยขนย้ายสิ่งของที่เสียหายจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ แล้ว ติดต่อได้ที่ 1356 ตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ปริมาณน้ำท่วมเส้นทางรถไฟเพิ่มสูงหลายจุด เช่น สถานีรถไฟหาดใหญ่ ระดับน้ำสูงประมาณ 2 เมตร สถานีรถไฟห้วยยอด-ที่วัง ทุ่งสง-ตรัง.พัทลุง-หาดใหญ่ ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เส้นทางรถไฟตั้งแต่สถานีทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช–หาดใหญ่-ปัตตานี-ยะลา-สุไหงโก-ลก และทางสายแยกจากทุ่งสง-ตรัง ทางแยกไปนครศรีธรรมราช และทางแยกหาดใหญ่ไปยังปาดังเบซาร์ ไม่สามารถผ่านไปมาได้ ทาง รฟท. ได้ให้ขบวนรถโดยสารต่างๆ หยุดรอที่สถานีรถไฟสุราษฎร์ธานีและชุมทางทุ่งสง และแจ้งไปยัง บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) ส่วนภูมิภาค ดำเนินการจัดรถยนต์ขนถ่ายผู้โดยสารรถไฟที่ต้องการเดินทางไปยังปลายทางแทน
ภัยหนาวซ้ำเหนือ-อีสาน

ส่วนสภาพอากาศที่หนาวเหน็บ ทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนไม่แพ้กัน ที่ จ.น่าน ชนเผ่ามลาบรี หรือเผ่าตองเหลือง ที่บ้านห้วยหยวก หมู่ 6 ต.แม่ขนิง อ.เวียงสา 25 ครอบครัว 148 คน ประสบภัยขาดแคลนเสื้อกันหนาวและผ้าห่ม จนต้องออกมาก่อไฟข้างถนนเพื่อสร้างความอบอุ่น ส่วนที่บริเวณตลาดนัดคลองถม ในเขตเทศบาลเมืองเลย จ.เลย สภาพอากาศเริ่มหนาวเย็น ส่งผลให้บรรยากาศร้านขายเสื้อผ้ากันหนาวมือสองค้าขายกันอย่างคึกคัก มีผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา พากันมาเลือกซื้อกันอย่างเนืองแน่น

ทั้งนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุว่า ขณะนี้หลายพื้นที่เริ่มมีสภาพอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 11 จังหวัด ได้แก่ ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน เลย อุดรธานี หนองคาย สกลนคร และนครพนม จึงจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาว รวมทั้งจัดตั้งศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว ส่วนกลางที่ กรม ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โทรศัพท์ 0-2243-2213

วิงวอนผ่านเดลินิวส์ออนไลน์

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า พบข้อความร้องขอความช่วยเหลือจากญาติผู้ประสบภัยรายหนึ่ง ซึ่งโพสต์เอาไว้ที่ "เดลินิวส์ เฟซบุ๊ก ออนไลน์" จึงติดต่อกลับไปตามหมายเลขที่ทิ้งไว้ ทราบชื่อ นายจักรพงษ์ บุญโรจน์ อายุ 35 ปี ข้าราชการหน่วยงานหนึ่งใน จ.ยะลา กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า พ่อแม่ของแฟนซึ่งมีอายุพอสมควร กับลูกของตนสองคน เป็นลูกสาววัย 7 ขวบและลูกชายวัย 5 ขวบ รวม 4 ชีวิต ติดน้ำท่วมอยู่ในบ้านทาวน์เฮาส์เลขที่ 92 ซอย 7 ถนนราษฎร์อุทิศ ติดวังบูรพาแมนชั่น ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานจากทางภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือ พยายามโทรศัพท์ติดต่อตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พ.ย. แต่เพิ่งได้คุยกันเมื่อช่วงเช้ามืดวันนี้ โดยญาติบอกว่า ระดับน้ำท่วมสูงมาก อีก 3 ขั้นบันไดจะถึงชั้น 2 แล้ว ขณะนี้หวาดผวามาก เพราะไม่มีเสบียงอาหาร ส่วนหน่วยงานราชการได้นำเรือออกช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมขั้นวิกฤติก่อน อย่างไรก็ตามยังมีเพื่อนบ้าน ซึ่งมีทั้งผู้สูงอายุ 60-80 ปี รวมทั้งเด็กอยู่อีกหลายคน ติดอยู่ในบ้านเรือนข้างเคียงอีกกว่า 10 หลัง

"ขอความช่วยเหลือด้วยครับ ตอนนี้ติดต่อไม่ได้แล้ว โทรศัพท์ไปขอความช่วยเหลือตามหมายเลขต่าง ๆ ก็ไม่ได้ คงเพราะน่าจะมีคนโทรเข้าไปเยอะ" นายจักรพงษ์ โพสต์ข้อความทิ้งไว้อย่างร้อนใจ

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์ วันพุธที่ 03 พฤศจิกายน 2553

No comments:

Post a Comment