Wednesday, November 3, 2010

ธุรกิจ"ไก่ตาแตก" เสรีอาเซียน

เกษตรกร 100% ไม่รู้จัก ชี้เอสเอ็มอีแข่งลำบาก

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหา วิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการ 500 รายใน 11 กลุ่มธุรกิจ เกี่ยวกับความพร้อมและความเข้าใจต่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ว่า มีผู้ประกอบการเข้าใจเออีซีในปี 53 เพิ่มขึ้นจากปี 52 เพียงเล็กน้อย 5.1% และที่สำคัญภาคเกษตรกรยังไม่รู้จักและไม่เข้าใจเออีซีถึง 100% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมไม่เข้าใจ 82.9% ภาคบริการไม่เข้าใจ 74.8%

ทั้งนี้ประเด็นที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ไม่เข้าใจ 3 อันดับ แรกได้แก่ การเปิดเสรีภาคบริการ มาตรฐานสินค้าร่วมของอาเซียน และกรอบการลดอัตราภาษีศุลกากรหรือการเปิดเสรีการค้าสินค้า ขณะที่ประเด็นผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่เข้าใจ ได้ แก่ การเปิดเสรีภาคบริการ กรอบการลดอัตรา ภาษีศุลกากรหรือการเปิดเสรีการค้าสินค้า และการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ ทำให้หลังจากนี้ รัฐต้องเร่งประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจเชิงรุกอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ไทย พร้อมแข่งขันเออีซีโดยสมบูรณ์ในปี 58

“ความเห็นต่อประโยชน์การเข้าเป็นเออีซีต่อธุรกิจไทย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 59.4% คิดว่าจะได้ประโยชน์ ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ 72.8% เห็นว่าจะได้ประโยชน์เช่นกัน แต่จากสัดส่วนธุรกิจที่เข้าใจเออีซีช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 5.1% ยังถือว่าน่าเป็นห่วงเพราะหากในปี 58 สัดส่วนผู้เข้าใจเออีซีไม่เพิ่มขึ้นถึง 50% เป็นสัญญาณว่าธุรกิจไทยจะแข่งขันไม่ได้”

ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐต้องเร่งดำเนินการในลำดับแรกคือ เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ข้อดีข้อเสีย กำหนดแผนงานและนโยบายส่งเสริมที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม สร้างความเชื่อมั่นด้านการเมือง จัดงานแสดงสินค้าในต่างประเทศให้มากขึ้น ปรับโครงสร้างการศึกษาให้มีศักยภาพ เร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และพัฒนาทักษะแรงงานและทักษะด้านภาษา

นายอัทธ์กล่าวต่อว่า ภาพรวมการแข่งขันพบว่า เอสเอ็มอีมีความพร้อมแข่งขัน 59.4% ไม่พร้อม 40.6% ด้านเงินทุนเอสเอ็มอีมีความพร้อม 41.6% ไม่พร้อม 58.4% ส่วนด้านการแข่งขันของธุรกิจขนาดใหญ่มีความพร้อม 72.8% ไม่พร้อม 27.2% ด้านเงินทุนพร้อม79% ไม่พร้อม 21% ปัจจัยที่ทำให้ไม่พร้อมได้แก่ ธุรกิจมีทุนจำกัด เข้าถึงเงินทุนยาก อัตราดอกเบี้ยสูง ด้านศักยภาพของบุคลากรระดับบริหารกลุ่มเอสเอ็มอีพร้อม 67.1% ไม่พร้อม 32.9% กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่พร้อม 78.6% ไม่พร้อม 21.4% สาเหตุที่ทำให้ไม่พร้อมได้แก่ บุคลากรด้านบริหาร มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยขาดทักษะภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น จีนและภาษาในประเทศอาเซียน การบริหารงานเป็นแบบครอบครัว

ด้านศักยภาพบุคลากรระดับปฏิบัติการ เอสเอ็มอีพร้อม 42.1% ไม่พร้อม 57.9% ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ พร้อม 74.1% ไม่พร้อม 25.9% ปัจจัยที่ไม่พร้อมได้แก่ บุคลากรขาดความชำนาญ ขาดทักษะด้านภาษา บุคลากรขาดความอดทน เปลี่ยนงานบ่อย ด้านต้นทุนการผลิตและบริการต่อหน่วย เอสเอ็มอีพร้อม 33.3% ไม่พร้อม 66.7% ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่พร้อม 66.8% ไม่พร้อม 33.2% ปัจจัยที่ไม่พร้อมได้แก่ ต้นทุนสูงจากราคาวัตถุดิบสูง อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันผันผวนควบคุมต้นทุนยาก

ส่วนการส่งเสริมของภาครัฐในการใช้ประโยชน์จากการมีเออีซี เอสเอ็มอี พร้อม 36.5% ไม่พร้อม 63.4% ธุรกิจขนาดใหญ่ พร้อม 63.4% ไม่พร้อม 42.1% ปัจจัยที่ไม่พร้อม เพราะรัฐมีความพร้อมด้านพิธีการศุลกา กร วิชาการ การส่งเสริมของภาครัฐทำให้ธุรกิจสามารถขยายฐานการผลิต และบริการจำกัด

นายอัทธ์กล่าวอีกว่า จุดแข็งที่ทำให้ภาคธุรกิจไทยสามารถแข่งขันได้ ด้านระดับการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและการบริหารจัดการ เอสเอ็มอีพร้อม 53.4% ไม่พร้อม 46.6% ธุรกิจขนาดใหญ่พร้อม 75.4% ไม่พร้อม 24.6% ด้านคุณภาพสินค้าและบริการ เอสเอ็มอีพร้อม 75% ไม่พร้อม 25% ผู้ประกอบการขนาดใหญ่พร้อม 85.8% ไม่พร้อม 14.2% ปัจจัยที่มีความพร้อม สินค้ามีคุณภาพตรงความต้องการของลูกค้า ระบบตรวจสอบคุณภาพที่เข้มงวด และได้มาตรฐานระดับสากลซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี


ด้านบริหารจัดการ เอสเอ็มอี พร้อม 65.8% ไม่พร้อม 34.2% ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ พร้อม 81.4% ไม่พร้อม 18.6% ปัจจัยที่ทำให้พร้อมได้แก่ ธุรกิจได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ไอเอสโอ การอบรมพัฒนาบุคลากรด้านการบริหารจัดการสม่ำเสมอ ด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ของประเทศเอสเอ็มอี พร้อม 73.8% ไม่พร้อม 26.2% ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ พร้อม 86.8% ไม่พร้อม 13.2% ปัจจัยที่ทำให้พร้อมได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานมีความสะดวกและเชื่อมต่อกัน ระบบไฟฟ้า ประปา มีความพร้อม มีศูนย์กลาง กระจายสินค้าที่มีมาตรฐาน รัฐมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: ธุรกิจ ไก่ตาแตก เสรีอาเซียน เดลินิวส์ออนไลน์ วันพุธ ที่ 03 พฤศจิกายน 2553

No comments:

Post a Comment