Thursday, October 15, 2009

ถ้าท่านถูกนำสำเนาบัตรไปก่อหนี้

สาระพัด กลโกงของคนสมัยนี้ มีการแอบนำเอาสำเนาบัตรประชาชนของคนอื่นไป ก่อหนี้ก่อสิน สร้างหนี้ จนเจ้าของบัตรตัวจริงต้องปวดหัวอย่างหนัก การจะแก้ปัญหานี้ทำได้ไม่ง่ายเลย การรู้ว่าถ้าท่านถูกนำสำเนาบัตรไปก่อหนี้ โดยเฉพาะใช้กับหน่วยงานของรัฐ กฎหมายข้างตัว เรื่อง ไม่ตรวจตัวจริง น่าช่วยท่านได้บ้าง

ไม่ตรวจตัวจริง -กฎหมายข้างตัว วันเสาร์ ที่ 26 กันยายน 2552
ดูแต่สำเนาบัตร ไม่ตรวจสอบกับตัวจริง ใครจะนึกว่าเรื่องแค่ นี้ทำให้กรมเจ้าสังกัดต้องจ่ายเงินให้ชาวบ้านเกือบแสนบาท

ส่วนเจ้าหน้าที่ผู้นั้นเตรียมหาเงินมาใช้หลวงตามลำดับต่อไป

จำเลยในคดีฟ้องบังคับจำนองเป็นงงมากเพราะในชีวิตไม่เคยไปจำนองอะไรสักอย่าง

หลังจากสู้คดีกับธนาคารโจทก์แบบสุดชีวิตจนศาลจังหวัดพิพากษายกฟ้อง

ย้อนมาดูต้นสายปลายเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น จึงพบว่ามีมือที่สามแอบปลอมลายมือชื่อไปขอจดทะเบียนสิทธิลงชื่อเป็นผู้ซื้อ และผู้จำนองห้องชุดแห่งหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ ห้องก็ไม่ได้ ได้แต่หนี้จำนองมาติดตัวแล

สืบสาวราวเรื่องให้ลึกลงไปจึงพบว่า เจ้าหน้าที่ของกรมที่ดิน ผู้รับผิดชอบการจดทะเบียนสงสัยงานเยอะ ไม่ตรวจเอกสารเสียให้ดี จนเกิดเหตุความเสียหายขึ้น

จึงเรียกค่าเสียหายจากเหตุครั้งนี้ไปยังกรมที่ดิน ท่านก็ปฏิเสธ ตามสูตร

จั๋งซี่ ต้องเจอกันที่ศาลปกครอง จำเลยเปลี่ยนเป็นผู้ฟ้องคดีฟ้องกรมที่ดินขอให้ชำระค่าเสียหายเบาะ ๆ แค่สามล้านห้าพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดจุดห้าถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปและชำระ ค่าฤชาธรรมเนียมแทนด้วย

ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ ฟ้องคดี และวินิจฉัยค่าเสียหายไว้เป็นแนวทางดังนี้ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ผู้ฟ้องคดีเสียไปในการต่อ สู้คดีฟ้องบังคับจำนองเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีส่วนก่อ ให้เกิดขึ้นจึงต้องรับผิดชดใช้เป็นเงิน ๒๑๘,๐๐๐ บาท แต่ความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับจากการถูกฟ้องคดีดังกล่าวมิได้เกิดจากการ กระทำของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีฝ่ายเดียวและไม่พอฟังว่าเจ้าหน้าที่ได้ ร่วมกันกระทำผิดกับฝ่ายเจ้าของห้องชุดและเจ้าหน้าที่ของธนาคาร พิจารณาแล้วจึงกำหนดความรับผิดของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นจำนวนหนึ่งในสามของค่า เสียหายจริงเป็นเงิน ๗๓,๐๐๐ บาท ค่าเสียหายจากการกระทบกระเทือนทางจิตใจ เครียดกังวลเป็นความรู้สึกทางด้านจิตใจ ไม่มีกฎหมายบัญญัติคุ้มครอง ให้เรียกร้องได้ กรณีขอให้ชำระดอกเบี้ยผู้ฟ้องคดี มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับจากวันทำละเมิด แต่เมื่อฟ้องขอให้ชำระนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องรับผิดนับจากวันฟ้องเป็นต้นไป ส่วน คำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ฟ้องคดีนั้น ไม่มีบทบัญญัติให้ศาลสั่ง

พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระ ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน ๗๓,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระค่าสินไหมทดแทนเสร็จ ค่าธรรมเนียมให้คืนผู้ฟ้องคดีตามส่วน ให้ยกคำขออื่น

กรมที่ดินอุทธรณ์ คราวนี้จึงรู้ว่าทำไมจึงเป็นประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี หรือไม่ เห็นว่า เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีในคดีเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการจด ทะเบียนเกี่ยวกับห้องชุดตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยออกตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. ๒๕๒๒ มีหน้าที่สอบสวนคู่กรณีในสิทธิและความสามารถของบุคคลตลอดถึงความสมบูรณ์ของ นิติกรรมรวมทั้งหลักเกณฑ์อื่น ๆ ก่อนการจดทะเบียนตามมาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๓๐ แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. ๒๕๒๓ ประกอบมาตรา ๗๔ และมาตรา ๗๗ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินและระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยอาคารชุด พ.ศ. ๒๕๒๓ กฎกระทรวงฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๙๗)

ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าเจ้าหน้าที่ (เดิมถูกฟ้องเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓) มิได้ดำเนินการสอบสวน คู่กรณีด้วยตนเอง ไม่ได้ตรวจสอบว่าคู่กรณีที่มาขอจดทะเบียนเป็นบุคคลเดียวกับผู้ที่ลงชื่อใน เอกสาร หรือไม่ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากบัตรประจำตัวต้นฉบับของคู่กรณี ผู้ถูกฟ้องคดีเพียงแต่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่ยื่นประกอบคำขอจดทะเบียนเท่า นั้น เมื่อเห็นว่าครบถ้วนถูกต้องจึงได้จดทะเบียนลงชื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ซื้อและ ผู้จำนอง

ประกอบกับในคดีฟ้องบังคับจำนองศาลจังหวัดฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้ ไปขอจดทะเบียนด้วยตนเองในวันซื้อขายและจำนองห้องชุดดังกล่าวพิพากษายกฟ้อง จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีมิได้ไปร่วมยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและ จำนองในวันดังกล่าว

แม้จะฟังได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีไม่มีเจตนากลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีก็ตาม แต่เมื่อมีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์คู่กรณีที่มาจดทะเบียนโดยละเอียดรอบคอบ การไม่ตรวจสอบบัตรประจำตัวต้นฉบับของผู้ฟ้องคดีจึงถือได้ว่าเป็นการประมาท เลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายถูกฟ้องเป็นคดีแพ่ง

จึงเป็น การกระทำละเมิดเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิด จึงต้องรับผิด ต่อผู้ฟ้องคดี ค่าสินไหมทดแทนไม่มีประเด็นโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย

พิพากษายืน (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๑๔๐/๒๕๔๙)

ไม่พกบัตรประชาชนให้ท่านตรวจถูกปรับร้อยสองร้อย รายนี้ ดันไม่ตรวจเขาโดนซะเจ็ดหมื่นกว่า.

พิสิษฐ์ พลรักษ์เขตต์
praepim @ yahoo.com

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์
http://dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=337&contentID=22432

No comments:

Post a Comment